ศาลยกฟ้องวรรณา คดีระเบิดราชประสงค์

วรรณา เผยรู้สึกสบายใจ หลังจากต้องต่อสู้คดีกว่า 7 ปี
นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.11.07
กรุงเทพฯ
ศาลยกฟ้องวรรณา คดีระเบิดราชประสงค์ นางวรรณา สวนสัน (ซ้าย) และทนายชูชาติ กันภัย (ที่ 2 จากซ้าย) ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวคดีอาญากรุงเทพใต้ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2567
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ศาลอาญากรุงเทพใต้ พิพากษายกฟ้อง นางวรรณา สวนสัน จำเลยในคดีระเบิดศาลพระพรหมเอราวัณ สี่แยกราชประสงค์ ปี 2558 เนื่องจากพยานและหลักฐานมีน้ำหนักไม่เพียงพอจะยืนยันว่า จำเลยเป็นผู้ร่วมกระทำผิด 

“ไม่พบว่า ลายนิ้วมือ สารพันธุกรรมในห้องพัก รวมถึงที่เกิดเหตุ เกี่ยวข้องกับจำเลย ไม่พบธุรกรรมทางการเงิน หรือโทรศัพท์ติดต่อระหว่างจำเลยกับ ไมไรลี หรือบิลาล ซึ่งเป็นผู้ต้องสงสัย ทั้งจำเลยยังเดินทางไปต่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2558 ไม่พบหลักฐาน หรือพยานที่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ว่า จำเลยมีความผิด พิพากษายกฟ้อง” ตอนหนึ่งของคำพิพากษา

นางวรรณา ถูกกล่าวหาว่า มีส่วนร่วมกับเหตุระเบิดที่ศาลพระพรหมเอราวัณ เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2558 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 20 ราย และบาดเจ็บกว่า 120 ราย เพียงไม่กี่สัปดาห์หลังจากที่ทางการไทยใช้กำลังส่งชาวมุสลิมอุยกูร์เกือบ 100 คน ไปยังประเทศจีน

“เรารอคอยวันนี้มา 7 ปีแล้ว ตั้งแต่เดินทางกลับมา มันไม่มีข่าวคราวว่าจะจบเมื่อไหร่ วันนี้ต้องขอบคุณศาลที่ยกฟ้องคดีนี้ ก่อนหน้านี้ เรารู้สึกท้อ เพราะเหมือนไม่ได้รับความยุติธรรม สถานะครอบครัวก็แย่ เพราะพอเรามีภาวะไม่ปกติ ลูกเราสามคนก็ได้รับผลกระทบตรงนี้ไปด้วย ศาลยกฟ้อง เราก็สบายใจขึ้น” นางวรรณา กล่าวต่อสื่อมวลชน หลังทราบคำพิพากษา

นางวรรณา มีชื่อเป็นผู้ต้องสงสัยร่วมก่อเหตุดังกล่าว และถูกควบคุมตัวที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2560 หลังจากเดินทางมาจากประเทศตุรกี กระทั่งได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในเดือน ธ.ค. ปีเดียวกัน โดยใช้โฉนดที่ดินมูลค่า 1 ล้านบาทค้ำประกัน

“คุณวรรณาอาจจะได้มีการโทรศัพท์ได้จองห้องพักให้จำเลยคนอื่นจริง ซึ่งมันนานหลายปีก่อนเกิดเหตุ เขาก็ได้ออกจากราชอาณาจักรไทยไปก่อนเกิดเหตุ 2 เดือน เขามีสามีชาวต่างชาติ และให้การช่วยเหลือคนมุสลิมด้วยกัน แต่ในส่วนการกระทำผิด เขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง” นายชูชาติ กันภัย ทนายความของนางวรรณา กล่าว

IMG_3670.jpg
นางวรรณา สวนสัน จำเลยในคดีระเบิดศาลพระพรหมเอราวัณ สี่แยกราชประสงค์ ปี 2558 เดินทางมาฟังคำพิพากษา ณ ศาลอาญากรุงเทพใต้ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2567 (นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์)

คดีนี้สืบเนื่องจากเหตุระเบิดบริเวณศาลท้าวมหาพรหม โรงแรมแกรนด์ไฮแอท เอราวัณ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ในค่ำวันที่ 17 ส.ค. 2558 ตามภาพทีวีวงจรปิด มีผู้ชายใส่เสื้อสีเหลือง นำกระเป๋าซึ่งเชื่อว่าบรรจุระเบิดมาวางเอาไว้บนที่นั่งภายในบริเวณศาลฯ และมีการระเบิดขึ้น

ปลายเดือนสิงหาคม 2558 เจ้าหน้าที่ได้จับกุมตัวนายอาเด็ม คาราดัก หรือบิลาล โมฮัมเหม็ด ที่พูนอนันต์อพาร์ทเม้นต์ ย่านหนองจอก ต่อมานายไมไรลี ยูซูฟู ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมที่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ทั้งคู่เป็นคนเชื้อสายอุยกูร์ มีภูมิลำเนาอยู่เมืองอุรุมชี เขตปกครองพิเศษซินเจียง อุยกูร์ (XUAR) ประเทศจีน ถูกจับกุมในฐานะผู้ต้องสงสัยร่วมกันก่อเหตุ 

ขณะที่ นางวรรณาตกเป็นผู้ต้องสงสัยด้วย เนื่องจากเจ้าหน้าที่อ้างว่า พบความเชื่อมโยงกับผู้ต้องสงสัยชาวอุยกูร์ในฐานะเป็นธุระจัดหาห้องพักให้ คนทั้งหมดถูกตั้งข้อหาร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่ออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง และใช้วัตถุระเบิดในการกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่น และข้อหาอื่นๆ ซึ่งหากถูกตัดสินว่ามีความผิดจริง มีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต

ตำรวจอ้างว่า ระหว่างการสอบสวน ผู้ต้องหาชาวอุยกูร์สารภาพว่า เป็นผู้ก่อเหตุจริง กระทั่ง ก.พ. 2559 นายอาเด็ม และนายไมไรลี ได้ขึ้นศาลทหาร กรุงเทพฯ ครั้งแรก โดยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา อ้างว่า การสารภาพในชั้นสอบสวน เกิดขึ้นเพราะถูกทำร้ายร่างกาย 

ในปี 2560 นางวรรณา เดินทางกลับประเทศไทย และถูกจับกุมตัวเข้าสู่กระบวนการสอบสวน และคดีถูกพิจารณาโดยศาลทหาร แต่แยกเป็นคนละคดีกับกรณีชาวอุยกูร์ กระทั่งปี 2562 รัฐบาลให้โอนคดีพลเรือนในศาลทหารกลับมาพิจารณาในศาลปกติ คดีของจำเลยทั้ง 3 คน จึงเข้าสู่การพิจารณาของศาลอาญากรุงเทพใต้

ปัจจุบัน คดีของนายอาเด็มและไมไรลี อยู่ระหว่างการสืบพยานโจทก์ โดยนายชูชาติ ซึ่งเป็นทนายของนายอาเด็มระบุว่า ปัจจุบัน สามารถสืบพยานไปแล้วกว่าร้อยปาก และยังเหลืออีกกว่าร้อยปากเช่นกัน 

คดีของจำเลยชาวอุยกูร์จะมีการนัดสืบพยานอีกครั้งในเดือน มี.ค. 2568 ที่ผ่านมาคดีนี้ ล่าช้าจากกระบวนการหาล่ามภาษาอุยกูร์ และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ขณะที่จำเลยทั้งคู่ต้องเผชิญสภาพยากลำบากในเรือนจำ เนื่องจากพวกเขาอ้างว่า ไม่ได้รับอาหารฮาลาลตามความเชื่อทางศาสนา และมีปัญหาสุขภาพ 

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง