ตำรวจเร่งตามหาอุยกูร์ 3 คนแหกห้องกักที่ประจวบคีรีขันธ์
2022.07.14
กรุงเทพฯ
เจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งตามหาชายชาวอุยกูร์ 3 คน ซึ่งหลบหนีออกจากสถานที่กักตัวสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อก่อนรุ่งเช้าของวันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา
พ.ต.อ. รัชธพงษ์ เตี้ยสุด รองผู้บังคับการ กองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 3 (รอง ผบก. ตม. 3) กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ยังไม่สามารถนำตัวชาวอุยกูร์ทั้ง 3 คน กลับมาได้
“กรณีคนอุยกูร์ ขณะนี้กำลังดำเนินการติดตามอยู่ ผมกำลังตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งรอเขารายงานขึ้นมา ส่วนหนึ่งก็เพราะติดช่วงวันหยุดยาวด้วย” พ.ต.อ. รัชธพงษ์ กล่าวผ่านโทรศัพท์
ชาวอุยกูร์ทั้ง 3 ราย ประกอบด้วย นายอาลี อายุ 23 ปี ถูกส่งตัวมาจาก สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองกาญจนบุรี เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563, นายอับดุลเลาะห์ อายุ 29 ปี ถูกส่งตัวมาจาก สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองนนทบุรี เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 และนายอับดุลละ อายุ 28 ปี ถูกส่งตัวมาจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสงขลา เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2563 โดยทั้งหมดถูกคุมตัวด้วยข้อหาหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย เอกสารระบุว่า คนทั้งหมดมีสัญชาติตุรกี
เมื่อเวลาประมาณ 02.20 น. ของวันจันทร์ที่ผ่านมานี้ ทั้งหมดได้หลบหนีออกจากสถานกักตัวเพื่อรอการส่งกลับตรวจคนเข้าเมือง อาคาร 2 ต.คลองวาฬ อ.เมือง จ.ประจวบคีรีขันธ์
นางชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน ซึ่งให้การช่วยเหลือชาวอุยกูร์ในประเทศไทย ระบุว่า ปัจจุบัน มีชาวอุยกูร์ถูกควบคุมตัวอยู่ในสถานกักตัวสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในระหว่าง 52 ถึง 56 ราย จากข้อหาหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย ขณะที่ประเทศจีนต้องการนำตัวชาวอุยกูร์กลับประเทศ ส่วนรัฐบาลไทยยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะดำเนินการกับชาวอุยกูร์เหล่านี้อย่างไร
นางชลิดา ระบุว่า ชาวอุยกูร์จำนวนมากหลบหนีเข้าประเทศไทยทางภาคเหนือและภาคตะวันออกของประเทศไทย ผ่านชายแดนเมียนมา ลาว รวมถึงกัมพูชา เพื่อที่จะเดินทางต่อไปยังประเทศมาเลเซีย ส่วนมากเดินทางลงสู่ภาคใต้ของไทยโดยใช้รถยน์ แต่ต้องเดินเท้าผ่านพื้นที่ป่าเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกจับกุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ตั้งด่านตามถนน มีชาวอุยกูร์จำนวนมากถูกคุมตัวในพื้นที่จังหวัดสงขลาในห้วงปี 2556 ถึง2557และมีส่วนหนึ่งที่สามารถหนีเข้าประเทศมาเลเซียได้
เจ้าหน้าที่ไทย กล่าวว่า ในห้วงปีนั้น มีชาวอุยกูร์กว่า 400 คน หลบหนีจากประเทศจีนเข้ามายังประเทศไทย โดยมีความต้องการที่จะลี้ภัยต่อไปยังประเทศตุรกี
คำแถลงวันครบรอบ 7 ปี
เมื่อต้นเดือนนี้ สภาอุยกูร์โลกประกาศว่า เป็นหนึ่งในองค์กรระหว่างประเทศ 52 แห่งที่เรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการกักขังชาวอุยกูร์เป็นเวลานาน
คำแถลงที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม เป็นวันครบรอบ 7 ปี ของการบังคับเนรเทศชาวอุยกูร์ประมาณ 100 คน รวมทั้งผู้หญิงและเด็กไปยังประเทศจีน การเนรเทศเกิดขึ้นหลังจากประเทศไทยส่งผู้หญิงและเด็กประมาณ 170 คน ไปยังตุรกี ประเทศที่หมายของชาวอุยกูร์ที่หนีการกดขี่ในซินเจียง เพื่อเดินทางไป
ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา นางชลิดา รวมถึงองค์กรสิทธิมนุษยชน ได้ส่งหนังสือเรียกร้องถึงกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ผลักดันให้รัฐบาลปล่อยตัวผู้ต้องกักชาวอุยกูร์จากสถานกักตัวฯ ทั่วประเทศ และอนุญาตให้ชาวอุยกูร์เหล่านั้นไปอาศัยอยู่ในโรงเรียนปอเนาะ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
“ทั้งหมดนี้ถูกควบคุมตัวใน ตม. มานานเกือบสิบปีแล้ว เพราะฉะนั้น อยากให้รัฐบาลพิจารณาว่าให้ปล่อยตัวเขาจาก ตม. หาที่อยู่ที่เหมาะสมให้กับเขาในประเทศไทย... ต้องไม่ส่งตัวพี่น้องอุยกูร์ที่อยู่ในประเทศไทยไปประเทศจีนอย่างเด็ดขาด เพราะมันคือการส่งกลับไปตาย หรือถ้ารัฐบาลไทยจะอนุญาตให้เขาไปตั้งรกรากในประเทศที่สามได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดีมาก ซึ่งหลายประเทศยินดีที่จะรับตัวพี่น้องอุยกูร์ไป ตอนนี้ มันติดอยู่ที่รัฐบาลไทยไม่อนุญาต เนื่องจากการกดดันของรัฐบาลจีน” นางชลิดา กล่าว
ชาวอุยกูร์ เป็นชนกลุ่มน้อยที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม อยู่ในแคว้นซินเจียง ซึ่งเป็นเขตปกครองพิเศษของประเทศจีน ถูกรัฐบาลจีนกล่าวหาว่า “มีความเชื่อทางศาสนาที่เข้มข้น” และมีความคิด “ที่ไม่ถูกต้องในแง่การเมือง” ทางการจีนจึงควบคุมชาวอุยกูร์ รวมทั้งชนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาอิสลามกลุ่มอื่น ๆ อีกถึง 1.8 ล้านคน ไว้ในค่ายกักกันตั้งแต่ปี 2560 รวมทั้งได้บังคับให้แต่งงานกับชาวฮั่น เพื่อกลืนชาติพันธุ์ องค์กรสิทธิมนุษยชนบางแห่งระบุว่า ชาวอุยกูร์ในค่ายกักกันจำนวนหนึ่งถูกล่วงละเมิด ทารุณ ข่มขืน รวมถึงบังคับใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรมอีกด้วย