เอ็นจีโอร้องรัฐสภาให้ช่วยอุยกูร์ 50 กว่าราย ออกมาอยู่ตามปอเนาะ

ภิมุข รักขนาม
2022.06.15
กรุงเทพฯ
เอ็นจีโอร้องรัฐสภาให้ช่วยอุยกูร์ 50 กว่าราย ออกมาอยู่ตามปอเนาะ นายรังสิมันต์ โรม กรรมาธิการการต่างประเทศรัฐสภา (ซ้ายมือ) รับหนังสือร้องเรียนจาก นายพอลัต ซายิม (คนที่สองจากซ้ายมือ) ชาวอุยกูร์ในออสเตรเลีย โดยมี นางชลิดา ทาเจริญศักดิ์ (คนที่สองจากขวามือ) ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน ร่วมในการร้องเรียน วันที่ 15 มิถุนายน 2656
เบนาร์นิวส์

ในวันพุธนี้ กลุ่มองค์กรเอ็นจีโอไทย 14 องค์กร ได้ยื่นหนังสือผ่านกรรมาธิการการต่างประเทศของรัฐสภา เพื่อเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้พิจารณาปล่อยตัวชาวอุยกูร์ที่ถูกกักกันตัวมาเป็นเวลาเกือบสิบปี โดยให้ออกมาพักพิงอยู่ตามโรงเรียนปอเนาะ แทนการกักขังในศูนย์กักกันตัวของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และจะต้องไม่ส่งตัวพวกเขาไปให้ทางการจีน

นางชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน และเอ็นจีโออื่น ๆ ได้นำหนังสือไปยื่นให้กับนายรังสิมันต์ โรม ส.ส. พรรคก้าวไกล และกรรมาธิการการต่างประเทศ รัฐสภา ในตอนเช้าวันนี้ เพื่อขอให้รัฐบาลแสดงนโยบายที่ชัดเจนมากขึ้นว่าจะทำอย่างไรกับชาวอุยกูร์เหล่านี้ ซึ่งนายรังสิมันต์ กล่าวรับปากว่าจะเสนอเรื่องต่อคณะกรรมาธิการฯ เพื่อดำเนินการผ่านกระบวนการรัฐสภา และนำเสนอให้รัฐบาลรับทราบ

หนังสือร้องเรียน ระบุข้อเรียกร้องสำคัญสองประการ คือ หนึ่ง “ขอให้รัฐบาลไทยดูแลให้ความเป็นธรรม ความปลอดภัย และเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของชาวอุยกูร์ ไม่ส่งกลับไปประเทศจีน” และสอง “หากเป็นไปได้ขอให้มีการสร้างโรงเรียนปอเนาะ เพื่อเป็นที่ควบคุมตัวชาวอุยกูร์ทั้งหมด โดยให้สำนักจุฬาราชมนตรี, สำนักตรวจคนเข้าเมือง, มหาดไทย และ สำนักงานตำรวจเป็นเจ้าพนักงานดูแล” 

“ทั้งหมดนี้ถูกควบคุมตัวใน ตม. มานานเกือบสิบปีแล้ว เพราะฉะนั้น อยากให้รัฐบาลพิจารณาว่าให้ปล่อยตัวเขาจาก ตม. หาที่อยู่ที่เหมาะสมให้กับเขาในประเทศไทย... ต้องไม่ส่งตัวพี่น้องอุยกูร์ที่อยู่ในประเทศไทยไปประเทศจีนอย่างเด็ดขาด เพราะมันคือการส่งกลับไปตาย” นางชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน กล่าวในระหว่างการยื่นหนังสือ

“หรือถ้ารัฐบาลไทยจะอนุญาตให้เขาไปตั้งรกรากในประเทศที่สามได้ ก็จะเป็นเรื่องที่ดีมาก ซึ่งหลายประเทศยินดีที่จะรับตัวพี่น้องอุยกูร์ไป ตอนนี้ มันติดอยู่ที่รัฐบาลไทยไม่อนุญาต เนื่องจากการกดดันของรัฐบาลจีน” นางชลิดา กล่าวเพิ่มเติม

นางชลิดา กล่าวว่า มีชาวอุยกูร์ถูกกักตัวอยู่ระหว่าง 52 ถึง 56 คน ในศูนย์กักตัวสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองทั่วประเทศ ในขณะนี้

ด้าน นายรังสิมันต์ โรม ส.ส. พรรคก้าวไกล และกรรมาธิการการต่างประเทศ กล่าวว่า ตนจะนำหนังสือเรียกร้องนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการการต่างประเทศของรัฐสภา และจะเชิญตัวแทนฝั่งรัฐบาลไทย เช่น สภาความมั่นคงแห่งชาติ, กระทรวงการต่างประเทศ และผู้ร้องเรียนมาชี้แจงในเรื่องนี้

“ผมเห็นด้วยว่าในระหว่างที่เราต้องรอเจรจาในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่าง ๆ เข้าใจว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แต่ ณ ปัจจุบัน เราสามารถให้ความช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ไม่ใช่แค่คนอุยกูร์ที่เข้ามาอยู่ในประเทศตอนนี้ แต่รวมถึงภาพลักษณ์ของประเทศไทยต่อสายตาของต่างประเทศที่กำลังมองเรา... ข้อเรียกร้องแบบนี้ไม่ได้เป็นข้อเรียกร้องที่มากเกินไปที่รัฐบาลไทยจะทำไม่ได้” นายรังสิมันต์ กล่าว

ในวันดียวกันนี้ นายพอลัต ซายิม ชาวอุยกูร์ในออสเตรเลียที่ได้เดินทางมากรุงเทพฯ เพื่อติดตามการช่วยเหลือชาวอุยกูร์ กล่าวว่า ทางการไทยควรทำอะไรสักอย่างเพื่อเห็นแก่มนุษยธรรม

“พวกเขาถูกกักตัวในศูนย์ ตม. มานานเกือบ 10 ปีแล้ว ในสภาพที่เลวร้าย ไม่มีอาหารฮาลาล รัฐบาลไทยจึงควรที่จะเปิดประตูให้เขาออกไป เขาเป็นผู้บริสุทธิ์ หลังจากถูกจับกุมก็ได้ถูกลงโทษจองจำแล้ว เขาควรจะได้รับอิสรภาพได้แล้ว และให้ไปประเทศที่สาม ประเทศที่ปลอดภัย” นายพอลัต กล่าว

ชาวอุยกูร์ เป็นชนกลุ่มน้อยที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามอยู่ในแคว้นซินเจียง ซึ่งเป็นเขตปกครองพิเศษของประเทศจีน ซึ่งถูกกล่าวหาว่า “มีความเชื่อทางศาสนาที่เข้มข้น” และมีความคิด “ที่ไม่ถูกต้องในแง่การเมือง” ทางการจีนจึงควบคุมชาวอุยกูร์ รวมทั้งชนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาอิสลามกลุ่มอื่น ๆ อีก ถึง 1.5 ล้านคน ไว้ในค่ายกักกันตั้งแต่ปี 2560 รวมทั้งได้บังคับให้แต่งงานกับชาวฮั่น เพื่อกลืนชาติพันธุ์

ในห้วงปี 2556 ถึง 2557 ชาวอุยกูร์กว่าสี่ร้อยคนได้หนีเข้ามายังประเทศไทย ผ่านทางประเทศลาวและกัมพูชา โดยเชื่อว่ามีขบวนการนำพาคนต่างด้าวให้ความช่วยเหลือ เพื่อเดินทางไปยังภาคใต้ของไทย มุ่งหน้าไปมาเลเซีย หรือประเทศมุสลิมอื่น ๆ เช่น ตุรกี ซึ่งเป็นเชื้อสาย Turkic เหมือนกัน 

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสามารถจับกุมชายอุยกูร์ได้กว่าสามร้อยคน ซึ่งส่วนหนึ่งหลบซ่อนในสวนยางในจังหวัดสงขลา และในปลายเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2558 ทางการไทยส่งตัวผู้หญิงและเด็กไปยังตุรกีกว่า 170 คน แต่เมื่อถึงวันที่ 8 กรกฎาคม 2558 ไทยกลับอนุญาตให้เครื่องบินจากประเทศจีนเข้ามารับตัวชายชาวอุยกูร์ประมาณ 109 คน กลับประเทศ โดยไม่มีใครทราบถึงชะตากรรมของพวกเขาหลังจากนั้น

ผลพวงการส่งตัวครั้งนี้ ทำให้เกิดเหตุวางระเบิดที่บริเวณศาลพระพรหม ที่สี่แยกราชประสงค์ ตามมาในเดือนสิงหาคม 2558 เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 20 ราย บาดเจ็บกว่า 120 ราย หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมตัวผู้ต้องหาชาวอุยกูร์สองราย คือ นายอาเด็ม คาราดัก (หรือ นายบิลาล โมฮัมเหม็ด) และนายไมไรลี ยูซุฟู ขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอาญากรุงเทพใต้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง