จำเลยคดีระเบิดราชประสงค์ บรรยายสภาพน่าสลดใจในเรือนจำหลักสี่
2022.01.17
กรุงเทพฯ
นายอาเด็ม คาราดัก และนายไมไรลี ยูซุฟู จำเลยทั้งสองคนในคดีวางระเบิดศาลพระพรหม สี่แยกราชประสงค์ เมื่อปี 2558 เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ว่า ในเรือนจำไม่อนุญาตให้ติดต่อกับญาติ พวกเขาไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากอาคารที่คุมขัง ไม่เคยเห็นเดือนเห็นตะวัน และบางครั้งก็จัดอาหารที่เป็นเนื้อหมู แม้ว่าพวกเขาจะนับถือศาสนาอิสลามก็ตาม
นายอาเด็ม และนายไมไรลี มายังศาลในชุดนักโทษสีน้ำตาล ถูกใส่กุญแจมือ และกุญแจเท้า ได้กลับมาขึ้นศาลอีกครั้งในวันจันทร์นี้ หลังจากการพิจารณาถูกเลื่อนมากว่า 2 ปี เนื่องด้วยปัญหาโควิด-19 และการไม่มีล่ามแปลภาษา หลังจากเสร็จสิ้นการนัดพร้อมในศาลอาญา ทั้งสองเปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ผ่านล่ามว่า
“ในเรือนจำชั่วคราวหลักสี่ ไม่แออัดแบบเรือนจำที่อื่น โดยในห้องขังมีเพียงแค่เขาสองคน แต่ความยากลำบากคือ เขาไม่ได้รับอนุญาตให้ออกจากอาคารไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน"
“เรือนจำไม่อนุญาตให้ใช้โทรศัพท์ ไม่มีหนังสือให้อ่าน ไม่สามารถเขียนหนังสือ หรือเขียนจดหมายติดต่อกับภายนอกได้ ทำให้ตั้งแต่ถูกควบคุมตัวมาพวกเขาไม่สามารถติดต่อกับญาติได้ ครอบครัวจึงไม่ทราบข่าวของพวกเขา นับตั้งแต่ที่พวกเขาถูกควบคุมตัวในปี 2558” ล่ามแปลคำพูดของจำเลยทั้งสอง ๆ บอกอีกว่า
"อาหารที่ได้รับจากเรือนจำบางครั้งมีเนื้อหมู ทั้งที่พวกเขานับถือศาสนาอิสลาม”
นายอาเด็ม และนายไมไรลี ถูกพาตัวจากเรือนจำชั่วคราวหลักสี่ มายังศาลอาญากรุงเทพใต้ เพื่อมาตามนัดพร้อมของศาลในเวลา 13.30 น. โดยภายในห้องพิจารณาคดีมีผู้สังเกตการณ์จากองค์กรสิทธิมนุษยชน และสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทย รวมกว่า 10 คน โดยนับเป็นการขึ้นศาลพลเรือนครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมกราคม 2563
นายชูชาติ กันภัย ทนายความของนายอาเด็ม เปิดเผยว่า ในการนัดพร้อมวันจันทร์นี้ ศาลได้นัดสืบพยานจำนวน 10 นัด โดยจะนัดเดือนละ 2 ครั้ง
“ฝ่ายโจทก์ได้แจ้งต่อศาลว่า มีความประสงค์ที่จะสืบพยานรวม 424 ปาก ขณะที่ฝ่ายทนายความจำเลย แถลงว่า ฝ่ายโจทก์ได้มีการสืบพยานไปบางส่วนแล้ว (ในการพิจารณาของศาลทหาร กรุงเทพฯ) จึงขอให้สืบพยานอีกแค่เพียงบางส่วน โดยจะนัดสืบพยานครั้งต่อไปในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565” นายชูชาติ กล่าว
ขณะที่ นายจำเริญ พนมภคากร ทนายความของนายไมไรลี เปิดเผยว่า ฝ่ายจำเลยจะยื่นขอสืบพยานประมาณ 5-10 ปากเท่านั้น โดยการสืบพยานถูกวางไว้ในวันที่ 1-2 พฤศจิกายน, 22-25 พฤศจิกายน, 6-9 ธันวาคม 2565
คดีล่าช้า
ในวันเดียวกันศาลแจ้งจำเลยว่าจะใช้ล่ามภาษาอุยกูร์ ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตจีนจัดหามาให้ ซึ่งแม้ว่าฝ่ายทนายความจำเลยจะได้คัดค้านการใช้ล่ามจากจีน โดยให้เหตุผลว่า ล่ามจากจีนอาจทำหน้าที่ไม่เป็นกลาง และขอใช้ล่ามซึ่งฝ่ายตนหามา แต่ศาลยืนยันจะให้ใช้ล่ามจากจีน โดยล่ามจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ในการสืบพยานครั้งแรก
ด้าน นางชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน เห็นว่า กระบวนการใช้ล่ามในคดีนี้มีปัญหา
"เรารู้สึกว่า มีปัญหาเรื่องล่าม เราในฐานะองค์กรสิทธิเห็นว่า จำเลยควรมีสิทธิพื้นฐานในการเลือกล่าม เพราะมันมีผลต่อคดีของเขามาก มีผลกับความเป็นความตายของเขา"
"เราเห็นว่า ศาลไม่เข้าใจการเมือง เรื่องอุยกูร์กับจีน เพราะถ้าเข้าใจบริบทการเมือง ศาลไม่ควรใช้ล่ามที่มาจากรัฐบาลจีน ซึ่งแสดงให้เห็นความไม่สมเหตุสมผลในกระบวนการจัดหาล่าม" นางชลิดา กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ความเป็นมา : คดีระเบิดบริเวณศาลท้าวมหาพรหม และกระบวนการศาล
คดีของนายอาเด็ม และนายไมไรลี ถูกโอนย้ายจากศาลทหารมายังศาลอาญากรุงเทพใต้ในปลายปี 2562 และได้ขึ้นศาลครั้งแรกในเดือนมกราคม 2563 ต่อมาศาลได้นัดเพียงทนายความเพื่อตกลงเรื่องวันนัดพร้อมในเดือนสิงหาคม 2564 แต่การพิจารณาคดีต้องเลื่อนมาโดยตลอดด้วยปัญหาที่ยังไม่สามารถหาล่ามภาษาอุยกูร์ ที่จำเลยทั้งสองคนยอมรับได้ และการแพร่ระบาดของโควิด-19
คดีของ นายอาเด็ม และนายไมไรลี สืบเนื่องจากการเกิดเหตุระเบิดบริเวณศาลท้าวมหาพรหม โรงแรมแกรนด์ไฮแอท เอราวัณ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ในค่ำวันที่ 17 สิงหาคม 2558 ตามภาพทีวีวงจรปิด มีผู้ชายใส่เสื้อสีเหลืองวางกระเป๋าซึ่งเชื่อว่าบรรจุระเบิดเอาไว้ตรงม้านั่ง ภายในบริเวณศาลฯ ต่อมาฉนวนระเบิดถูกจุดแรงระเบิดทำให้มีผู้เสียชีวิต 20 คน และบาดเจ็บกว่า 120 ราย และในวันถัดมาเกิดเหตุระเบิดบริเวณท่าเรือสาทร แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต
ปลายเดือนสิงหาคม 2558 เจ้าหน้าที่ได้จับกุมตัวนายอาเด็ม หรือ นายบิลาล โมฮัมเหม็ด ที่พูนอนันต์อพาร์ทเม้นต์ ย่านหนองจอก ต่อมานายไมไรลี ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมที่ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ขณะกำลังจะข้ามแดนไปยังประเทศกัมพูชา เนื่องจากทั้งคู่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีระเบิดดังกล่าว โดยทั้ง 2 คนมีเชื้อสายอุยกูร์ มีภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองอุรุมชี เขตปกครองพิเศษซินเจียง อุยกูร์ (XUAR) ประเทศจีน โดยในชั้นพนักงานสอบสวนทั้งคู่ให้การรับสารภาพว่าเป็นผู้ก่อเหตุ
อัยการทหารส่งฟ้องจำเลยในหลายข้อหาสำคัญประกอบด้วย ข้อหาร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่ออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง และใช้วัตถุระเบิดในการกระทำผิดฐานฆ่าผู้อื่น, ร่วมกันพยายามกระทำให้เกิดระเบิด, ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และร่วมกันกระทำให้เกิดระเบิด จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เป็นต้น ซึ่งหากถูกตัดสินว่ามีความผิดจริง มีโทษสูงสุดถึงประหารชีวิต
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 นายอาเด็ม และนายไมไรลี ได้ขึ้นศาลทหาร กรุงเทพฯ ครั้งแรก ทั้งคู่ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และอ้างว่า เหตุผลที่ยอมสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นเพราะถูกทำร้ายร่างกาย ต่อมาการพิจารณาในชั้นศาลทหารเป็นไปด้วยความล่าช้า เนื่องจากติดปัญหาเรื่องการหาล่ามภาษาอุยกูร์ และพยานบางคนไม่มาศาลตามนัด
ในคดีเดียวกัน เจ้าหน้าที่ยังได้ทำการออกหมายจับผู้ต้องสงสัยอีก 15 คน โดยในปี 2560 ตำรวจได้จับกุมตัว น.ส. วรรณา สวนสัน หรือ ไมซาเราะห์ ชาวจังหวัดพังงา หนึ่งในผู้ต้องสงสัย ซึ่งภายหลัง น.ส. วรรณา ถูกตั้งข้อหาร่วมกันมียุทธภัณฑ์และครอบครองวัตถุระเบิด เพราะเช่าห้องให้แก่นายอาเด็ม และนายไมไรลี
ในเดือนกรกฎาคม 2562 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้โอนคดีพลเรือนในศาลทหาร กลับมาพิจารณาในศาลปกติ คดีของนายอาเด็ม และนายไมไรลี จึงถูกโอนมายังศาลอาญากรุงเทพใต้
นายชูชาติ กันภัย ทนายความของนายอาเด็ม กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า เมื่อเข้าสู่การพิจารณาของศาลพลเรือน คดีก็ยังมีความล่าช้า เนื่องจากไม่มีล่ามแปลภาษาอุยกูร์ ที่จำเลยยอมรับ กระทั่งในเดือนสิงหาคม 2564 จำเลยทั้งคู่ยินยอมที่จะใช้ล่ามซึ่งสถานเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศไทยเป็นผู้จัดหาให้ แต่ด้วยขั้นตอนการเข้าประเทศช่วงการระบาดของโควิด-19 ทำให้การนัดพร้อมถูกเลื่อนจากกำหนดเดิมในตุลาคม 2564 เป็นเดือนมกราคม 2565