เอ็นจีโอกังวล ไทยอาจเตรียมส่งชาวอุยกูร์ไปให้จีน
2022.07.27
กรุงเทพฯ
กลุ่มองค์กรเอ็นจีโอและสำนักจุฬาราชมนตรี เรียกร้องให้ทางการไม่ส่งตัวชาวอุยกูร์ที่ถูกกักขังกลับไปเผชิญอันตรายในประเทศจีน หลังจากที่ทางการไทยได้นำตัวชาวอุยกูร์มารวมกันในศูนย์กักกันในกรุงเทพในห้วงสัปดาห์นี้ ขณะที่ประธานที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาลระบุว่า เป็นเพียงการย้ายที่กักขังเพื่อให้มีสภาพแวดล้อมดีขึ้นเท่านั้น
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่มีผู้ต้องกักชาวอุยกร์ที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย 3 คน ได้หลบหนีออกไปจากสถานที่กักตัวสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อวันที่ 11 กรกฏาคม ที่ผ่านมานี้ ตามคำกล่าวของ นางชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน หนึ่งในเอ็นจีโอ 7 องค์กรที่ได้มีแถลงการณ์เรียกร้องให้ทางการไทยไม่ตอบสนองแรงกดดันของจีน
“แหล่งข่าวบอกกับเราว่าเจ้าหน้าที่ ตม. ได้นำชาวอุยกูร์ที่กักขังไว้ทั่วประเทศมาไว้ที่ ตม. สวนพลู กลัวว่าจะถูกส่งตัวกลับไปให้ทางการจีน แต่เท่าที่ทราบตอนนี้ยังไม่มีการส่งตัวไป” นางชลิดากล่าวกับเบนาร์นิวส์
นางชลิดากล่าวว่า มีชาวอุยกูร์ถูกควบคุมตัวอยู่ในสถานกักตัวสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในระหว่าง 52 ถึง 56 ราย จากข้อหาหลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย ขณะที่ประเทศจีนต้องการนำตัวชาวอุยกูร์กลับประเทศ ส่วนรัฐบาลไทยยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะดำเนินการกับชาวอุยกูร์เหล่านี้อย่างไร
ในจำนวนนี้มีประมาณ 44 คน ถูกนำตัวมาที่ ตม. สวนพลู ส่วนที่เหลือยังไม่ทราบชัดเจน นางชลิดากล่าว
ในการช่วยเหลือนั้น นางชลิดากล่าวว่า ทางกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎรได้ขอให้กระทรวงการต่างประเทศ สำนักตรวจคนเข้าเมือง และหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง เข้าชี้แจงในเรื่องนี้ในวันที่ 4 สิงหาคม 2565
“นอกจากนั้น เรายังต้องการให้ทางการอนุญาตให้คณะกรรมาธิการสิทธิมุษยนชนแห่งชาติ ได้รับทราบรายละเอียดของการย้ายที่กักขังในครั้งนี้ และสามารถเข้าเยี่ยมผู้ต้องกัก เพื่อติดตามเรื่องสุขภาพของพวกเขาด้วย” นางชลิดากล่าวเพิ่มเติม
กลุ่มเอ็นจีโอที่ให้ความช่วยเหลือชาวอุยกูร์ กล่าวว่าสถานที่คุมขังของสำนักานตรวจคนเข้าเมืองมีพื้นที่คับแคบ อับชื้น มีเพียงหน้าต่างบานเดียว ไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน และหลาย ๆ คนมีโรคต่าง ๆ จึงทำให้ผู้ต้องกักต้องหนีออกจากที่คุมขังหลายครั้ง โดยครั้งหนึ่งใน พ.ศ. 2563 มีชาวอุยกูร์ 7 คน หลบหนีออกจาก ตม. มุกดาหาร ก่อนที่จะถูกจับตัวอีกครั้ง
ความกังวล
ในแถลงการณ์ที่ลงนามโดยเอ็นจีโอ 7 องค์กร และฝ่ายสิทธิมนุษยชนของสำนักจุฬาราชมนตรี ได้ระบุถึงความกังวลว่า อาจจะมีการส่งตัวชาวอุยกูร์เหล่านี้ไปให้กับทางการจีนอีกเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในอดีต
“ตอนนี้ ทั้งหมดที่ถูกย้ายทำให้เกิดความกังวลจากเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ติดตามสถานการณ์ชาวอุยกูร์ว่า รัฐบาลไทยจะบังคับส่งกลับชาวอุยกูร์ไปยังประเทศต้นกำเนิดตามคำขอของรัฐบาลจีน เหมือนเมื่อปี 2558 ที่ชาวอุยกูร์ 109 คน ถูกบังคับส่งกลับไปยังประเทศจีนและยังไม่รู้ชะตากรรมจนถึงทุกวันนี้” แถลงการณ์ฉบับดังกล่าวระบุ
“ไทยจะต้องไม่ทำผิดซ้ำสอง ทั้งนี้ไม่มีเหตุผลที่เหมาะสมในการที่รัฐบาลจีนต้องการให้รัฐบาลไทยบังคับส่งกลับชาวอุยกูร์เหล่านี้ไปเผชิญการถูกคุกคามและการประหัตประหารที่ประเทศจีน”
ด้าน รศ.ดร. ปณิธาน วัฒนายากร ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของรัฐบาล ได้ตอบข้อสงสัยเพียงในภาพกว้างเท่านั้น แต่ไม่ได้ตอบคำถามโดยตรงว่าจะส่งตัวชาวอุยกูร์กลับประเทศจีนหรือไม่
“ผมเข้าใจว่ามีการชี้แจงแล้วจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เท่าที่ทราบมาเขาชี้แจงว่าเป็นการย้ายสถานที่เพื่อความปลอดภัย และปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ และให้ได้ไปอยู่ในสถานที่ใหม่” รศ.ดร. ปณิธาน กล่าวกับเบนาร์นิวส์ทางโทรศัพท์ในวันพุธนี้
“สำหรับแนวทางแก้ปัญหาสามารถพูดกว้าง ๆ ได้ว่า เขาหนีความเดือดร้องมาอยู่กับเรา ไทยเราก็ต้องดำเนินการตามกติกาสากล และข้อผูกพันธ์ที่ท่านนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรีเคยไปพูดคุยที่ต่างประเทศ ทั้งหมดนี้ เราก็จะดำเนินการไม่ให้กระทบสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น การแยกครอบครัวเขา แบบนี้เราไม่ทำ แต่ปัญหามันมีความซับซ้อนมากกว่านั้น ซึ่งเราก็ต้องค่อย ๆ แก้ไขปัญหาไป” รศ.ดร. ปณิธานกล่าวเพิ่มเติม
ชาวอุยกูร์ เป็นชนกลุ่มน้อยที่ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามอยู่ในแคว้นซินเจียง ซึ่งเป็นเขตปกครองพิเศษของประเทศจีน (Xinjiang Uyghur Autonomous Region – XUAR) ซึ่งถูกกล่าวหาว่า “มีความเชื่อทางศาสนาที่เข้มข้น” และมีความคิด “ที่ไม่ถูกต้องในแง่การเมือง” ทางการจีนจึงกดขี่ ชาวอุยกูร์ รวมทั้งชนกลุ่มน้อยที่นับถือศาสนาอิสลามกลุ่มอื่น ๆ อีกถึง 1.5 ล้านคน ล่าสุด ตั้งแต่ พ.ศ. 2560 ทางการจีนได้ควบคุมเขาเหล่านั้นไว้ในค่ายกักกัน รวมทั้งได้บังคับให้แต่งงานกับชาวฮั่น เพื่อกลืนชาติพันธุ์
เอ็นจีโจ และเจ้าหน้าที่ทางการไทยระบุว่า ในห้วงปี 2556 ถึง 2557 มีชาวอุยกูร์กว่า 400 คน หลบหนีเข้าทางภาคเหนือและภาคตะวันออกของประเทศไทย ผ่านชายแดนเมียนมา ลาว รวมถึงกัมพูชา เพื่อที่จะเดินทางต่อไปยังประเทศมาเลเซีย และเพื่อขอลี้ภัยในประเทศมุสลิมอื่น ๆ เช่น ตุรกี ซึ่งเป็นเชื้อสาย Turkic เหมือนกัน
ในการเดินทางลงสู่ภาคใต้ของไทยจะใช้รถยนต์ แต่ต้องเดินเท้าผ่านพื้นที่ป่า เพื่อหลีกเลี่ยงเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ตั้งด่านตามถนนอยู่เป็นระยะ ๆ อย่างไรก็ตาม มีชาวอุยกูร์ประมาณ 350 คนที่ถูกทางการไทยจับกุมไว้ได้ โดยเฉพาะจากพื้นที่จังหวัดสงขลา และมีส่วนหนึ่งที่สามารถหนีเข้าประเทศมาเลเซียได้