เหตุใดพระชาวเวียดนามผู้โด่งดังในโลกออนไลน์จึงออกธุดงค์ไปอินเดีย

พระติช มินห์ ตเว ระหว่างเดินแสวงบุญ 2,700 กม. ชื่อเสียงของเขา ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐไม่พอใจ
เรดิโอฟรีเอเชีย เวียดนาม
2025.01.06
เหตุใดพระชาวเวียดนามผู้โด่งดังในโลกออนไลน์จึงออกธุดงค์ไปอินเดีย พระติช มินห์ ตเว ชาวเวียดนาม ขณะเดินทาง ในจังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2568 หนึ่งวันหลังจากเดินทางจากลาวเข้าประเทศไทย
เรดิโอฟรีเอเชีย

พระสงฆ์เวียดนามที่โด่งดังทางอินเทอร์เน็ตเมื่อปีที่แล้วกำลังมีชื่อเสียงไปทั่วโลก

พระติช มินห์ ตเว วัย 44 ปี อยู่ระหว่างเดินเท้าเพื่อแสวงบุญด้วยระยะทาง 2,700 กิโลเมตร (1,650 ไมล์) ผ่านประเทศไทยและเมียนมา เพื่อไปยังสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนาในอินเดีย หากทางการอนุญาตให้เขาเดินทางผ่านไปได้

เขาออกเดินทางจากเวียดนามเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน เดินข้ามประเทศลาวและเข้าสู่ประเทศไทย เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม โดยมีจุดเป้าหมายมุ่งหน้าสู่กรุงเทพฯ เป็นที่ถัดไป

เขาเดินทางด้วยเท้าโดยมีเพียงหม้อหุงข้าวและของใช้ส่วนตัวเพียงเล็กน้อย พร้อมผู้ติดตามอีกไม่กี่คน คล้ายคลึงกับการเดินทางในเวียดนามของเขาเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งทำให้เขามีชื่อเสียงเมื่อบุคคลที่มีอิทธิพลทางโลกออนไลน์ได้บันทึกการเดินทางของเขาไว้

พระติช มินห์ ตเว เป็นใคร และทำไมเขาจึงมีความสำคัญ

เล อันห์ ตู ซึ่งใช้นามฉายาสงฆ์ว่า ติช มินห์ ตเว (ติช หมายถึงผู้ที่น่าเคารพนับถือ) ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในเวียดนาม เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ขณะที่เขาเดินเท้าไปทั่วประเทศ

ผู้ติดตามทั้งในและนอกสื่อสังคมออนไลน์ต่างชื่นชมในความอ่อนน้อมถ่อมตนและการปฏิบัติธรรมของเขา พระติช มินห์ ตเว มักโกนหัวและสวมจีวรที่มีรอยปะ และเดินทางด้วยเท้าเปล่า ซึ่งเป็นเรื่องปกติในหมู่พระสงฆ์

อันที่จริงแล้วพระติช มินห์ ตเว ไม่ได้มีฐานะพระสงฆ์อย่างเป็นทางการ เนื่องจากเขาไม่ได้รับการรับรองจากเถรสมาคมของภาครัฐ หรือชุมชนชาวพุทธในเวียดนาม

แต่ทว่าประเด็นนี้ดูเหมือนจะไม่มีความสำคัญต่อเขาหรือผู้ที่นับถือเขา โดยเขาอธิบายว่าเขาเพียงพยายามดำเนินชีวิตตามคำสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้น

แต่ความสนใจที่เขาได้รับจากประชาชนดูเหมือนจะทำให้ทางการวิตกกังวล ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายบุกเข้าตรวจค้นที่พักชั่วคราวของเขาในยามวิกาล และควบคุมตัวเขาและผู้ติดตามหลายคน เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้นานาชาติร่วมเรียกร้องให้ปล่อยตัวเขา

พระติช มินห์ ตเว ปฏิบัติศาสนกิจอย่างไร

พระติช มินห์ ตเว ยึดมั่นในหลักพุทธศาสนาที่กำหนดให้ผู้นับถือต้องมีเสื้อผ้าเพียงสามชุด ดำรงชีพด้วยการออกบิณฑบาตรตามบ้านเรือน และใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายในสถานที่กลางแจ้ง เช่น ป่า ภูเขา หรือแม้แต่สุสาน

เขาเริ่มออกเดินทางเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาเมื่อหกปีก่อน และตั้งแต่นั้นมาก็ได้เดินเท้าแสวงบุญหลายครั้ง ระหว่างเมืองญาจางทางตะวันออกเฉียงใต้ของเวียดนาม และชายแดนทางตอนเหนือที่ติดกับจีน จนกระทั่งเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา การเดินทางของเขาถูกนำไปเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ เขาจึงได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง

ผู้ให้การสนับสนุนพระติช กล่าวว่าวิธีการปฏิบัติตนอย่างสุภาพของเขาแตกต่างจากพระผู้ใหญ่ในเวียดนามที่ขอให้ผู้นับถือถวายเครื่องบูชา ในขณะที่อาศัยอยู่ในสำนักสงฆ์ขนาดใหญ่ อีกทั้งยังโอ้อวดนาฬิกาและรถหรูราคาแพง

2 vn monk.png
พระชาวเวียดนาม ติช มินห์ ตเว ระหว่างนั่งพัก ที่จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2568 หนึ่งวันหลังจากเดินทางมาถึงประเทศไทยจากลาว (เรดิโอฟรีเอเชีย)

ประชาชนในเวียดนามสามารถนับถือศาสนาได้อย่างเสรีหรือไม่

เสรีภาพในการนับถือศาสนาได้รับการบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญของเวียดนาม แต่พระติช มินห์ ตเว ไม่ได้สังกัดนิกายพุทธที่รัฐรับรอง หากไม่ได้รับการรับรอง กลุ่มศาสนาจะไม่ได้รับอนุญาตให้จัดกิจกรรมในเวียดนาม นโยบายดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าการคุ้มครองศาสนามีอยู่เพียงในนามเท่านั้น

ในรายงานประจำปี 2567 คณะกรรมาธิการว่าด้วยเสรีภาพทางศาสนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (United States Commission on International Religious Freedom หรือ USCIRF) ระบุว่าทางการเวียดนาม "ยังคงเฝ้าติดตามกิจกรรมทางศาสนาทั้งหมดอย่างใกล้ชิด โดยมักจะคุกคาม กักขัง หรือป้องกันไม่ให้ชุมชนทางศาสนาที่ไม่ได้จดทะเบียนใช้สิทธิขั้นพื้นฐานในการมีเสรีภาพทางศาสนา"

USCIRF แนะนำให้กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ กำหนดเวียดนามเป็น "ประเทศที่น่ากังวลเป็นพิเศษ" (Country of Particular Concern) เนื่องจากรัฐบาลมีส่วนเกี่ยวข้องหรือยอมให้เกิดการละเมิดเสรีภาพทางศาสนาอย่าง “รุนแรงเป็นพิเศษ”

3 vn monk.png
พระชาวเวียดนาม ติช มินห์ ตเว ระหว่างเดินเท้าอยู่ที่อำเภอช่องเม็ก จังหวัดอุบลราชธานี วันที่ 31 ธันวาคม 2567 ขณะเดินทางมาถึงประเทศไทยจากลาว (เรดิโอฟรีเอเชีย)

อะไรเป็นแรงกระตุ้นให้พระติช มินห์ ตเว เดินทางออกจากเวียดนาม

พระติช มินห์ ตเว หายไปจากสายตาสาธารณชนเป็นเวลาเกือบหนึ่งเดือน หลังจากทางการบุกเข้าตรวจค้นที่พักชั่วคราวของเขาในเดือนมิถุนายน

เขาปรากฏตัวอีกครั้งในเดือนกรกฎาคม จากนั้นในเดือนพฤศจิกายน จดหมายหลายฉบับที่อ้างว่าเขียนด้วยลายมือของเขาเองเริ่มแพร่กระจายบนสื่อสังคมออนไลน์

ในจดหมายฉบับหนึ่งพระติช มินห์ ตเว กล่าวว่าเขาจะไม่ปฏิบัติตามคำปฏิญาณที่จะดำรงชีวิตด้วยความสมถะอีกต่อไป ในขณะที่เขายังคงศึกษาจริยธรรมทางพุทธศาสนา รายงานในหนังสือพิมพ์ระบุว่า เขาประกาศว่าเขาจะหยุดบิณฑบาตร เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการรบกวนต่อ “ความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย และความปลอดภัยทางสังคมและการเมือง”

ผู้สนับสนุนของเขาได้ต่างพากันตั้งคำถามว่า หรือเขาถูกบังคับให้เขียนจดหมายภายใต้ความกดดัน หรือมีใครบางคนเขียนแทนเขา

ในช่วงเวลาเดียวกัน คณะกรรมการกิจการศาสนาของรัฐบาลของเวียดนามได้ประกาศบนเว็บไซต์ว่า พระติช มินห์ ตเว “สมัครใจลาสิกขา”

เหตุใดเขาจึงเดินธุดงค์ไปอินเดีย

แต่ในเดือนพฤศจิกายน พระติช มินห์ ตเว ได้ประกาศว่าเขาต้องการไปแสวงบุญเพื่อเยี่ยมชมศาสนสถานในอินเดีย ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของพระพุทธศาสนา

คำถามที่ตามมาคือ หลังจากที่การเดินทางไปแสวงบุญสิ้นสุดแล้ว เขาจะได้รับอนุญาตให้กลับเวียดนามหรือไม่ ผู้สังเกตการณ์ชาวไทยรายหนึ่งกล่าวกับเบนาร์นิวส์

ผู้สังเกตการณ์รายนี้ ซึ่งขอสงวนนามด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัยระบุว่า พระติช มินห์ ตเว จะเดินทางมาพร้อมกับ ดวน วาน เบา อดีตเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของรัฐบาลเวียดนาม ซึ่งเชี่ยวชาญด้านอาชญาวิทยาและปฏิบัติการทางจิตวิทยา

“ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าเขาได้รับมอบหมายให้มาเป็นผู้เบี่ยงเบนความสนใจของพระรูปนี้จากประชาชนชาวเวียดนาม และลดอิทธิพลของพระติชที่มีในเวียดนามหรือไม่” เขากล่าว

4 vn monk.png
พระชาวเวียดนาม ติช มินห์ ตเว ระหว่างเดินเท้าอยู่ที่อำเภอช่องเม็ก จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ขณะเดินทางมาถึงประเทศไทยจากลาว (เรดิโอฟรีเอเชีย)

เจ้าหน้าที่ตำรวจไทยรายหนึ่งกล่าวว่า พระติช มินห์ ตเว เข้าประเทศโดยถูกกฎหมาย

“ท่านไม่ได้แจ้งว่าจะเดินทางไปเมียนมา แต่บอกว่าจะเข้ามาแสวงบุญเฉย ๆ แล้วก็ยังไม่พบการกระทำผิด” พ.ต.ท. กิตติพงศ์ ถนอมสิน เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองที่ด่านชายแดนช่องเม็ก กล่าว

“ตรวจสอบแล้วท่านเข้าเมืองมาอย่างถูกกฎหมาย เราตรวจสอบคนต่างประเทศที่เข้ามาในไทยเป็นปกติอยู่แล้ว ซึ่งถ้าไม่พบการกระทำผิดท่านก็สามารถธุดงค์แสวงบุญของท่านได้ตามที่วีซ่าอนุญาต” เขากล่าวกับเบนาร์นิวส์ ซึ่งเป็นโครงการข่าวออนไลน์ร่วมเครือเรดิโอฟรีเอเชีย “ทางเรายังไม่ได้รับการสื่อสารใด ๆ จากเวียดนาม”

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และรุจน์ ชื่นบาน ทีมงานเบนาร์นิวส์ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง