องค์กรสิทธิ และสำนักข่าวท้องถิ่นเรียกร้องปล่อยตัวผู้สื่อข่าววาร์ตานี ไม่มีเงื่อนไข
2025.02.13
กรุงเทพฯ และ ปัตตานี

องค์กรสิทธิมนุษยชน และสำนักข่าวท้องถิ่นร่วมกันเรียกร้องให้ปล่อยตัว นายอับดุลอาฟิร เซ็ง ผู้สื่อข่าวอาสาสมัคร ของสำนักข่าววาร์ตานี (Wartani) ซึ่งถูกควบคุมตัวเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 2568 ที่ผ่านมา โดยไม่แจ้งข้อหา แต่ระบุว่า นายอับดุลอาฟิรทำสื่อโจมตีรัฐ และบิดเบือนข้อมูล
“ขอเรียกร้องให้มีปล่อยตัวนายอับดุลอาฟิร อย่างไม่มีเงื่อนไข และชี้แจงการปิดล้อมตรวจค้นและจับกุม นายอับดุลอาฟิร อายุ 21 ปี ซึ่งเป็นนักกิจกรรม และอาสาสมัครนักข่าวให้กับสำนักสื่อวาร์ตานีนั้น เป็นหรือไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎอัยการศึก และยังต้องปฏิบัติภายใต้ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายต่อสาธารณะ” จดหมายเปิดผนึก ระบุ
องค์กรที่ร่วมลงชื่อในจดหมายดังกล่าว ประกอบด้วยวาร์ตานี, คณะกรรมการนิสิตคณะนิเทศศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สมาคมด้วยใจเพื่อการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม, ลานเน่อ, ประชาไท, เดอะ อีสานเรคคอร์ด และเดอะ รีพอร์ตเตอร์
“การที่สื่อถูกควบคุมตัวไม่เพียงแต่เป็นการทำลายหลักการของการปกครองระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อความโปร่งใส การตรวจสอบการกระทำของรัฐบาลในการให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง” แถลงการณ์ร่วมขององค์กรสื่อ และสิทธิมนุษยชน ระบุ
แถลงการณ์มีข้อเรียกร้องถึง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า ให้ 1. ชี้แจงการบังคับใช้กฎหมายต่อกรณีการควบคุมตัวนายอับดุลอาฟิร เซ็ง 2. ยุติการกดดันหรือการคุกคามสื่อมวลชน และ 3. รับประกันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการสื่อสารที่ปลอดภัย
ขณะที่ น.ส. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ก็เรียกร้องให้ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ปล่อยตัวนายอับดุลอาฟิร เพื่อไม่ให้กระทบต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้
“กอ.รมน. ต้องปล่อยตัวเขาโดยไม่มีเงื่อนไข เพราะแม้ว่า กอ.รมน. จะใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษ แต่ก็ถือว่าละเมิดกฎหมายอื่นอยู่ รัฐบาลไม่ควรใช้กฎหมายพิเศษเพื่อเอื้อประโยชน์ด้านความมั่นคง โดยไม่คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน และเสรีภาพ” น.ส. พรเพ็ญ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
วันนักข่าว : 20 ปี ประชาไทในฐานะสื่อที่รัฐรังเกียจ
ไทยพีบีเอส-สมาคมนักข่าวฯ ร้องสภาสอบ ประวิตร กรณีตบหัวนักข่าว
วันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก : นักข่าวไทยยังถูกปิดปาก และต้องการเสรีภาพ
นายอับดุลอาฟิร เป็นผู้สื่อข่าวอาสาสมัครของวาร์ตานี รวมถึงพิธีกรในเวทีเสวนา และกิจกรรมการเมืองต่าง ๆ ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวจากบ้านพักในพื้นที่ ม.5 ต.ท่าเรือ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เมื่อเวลาประมาณ 10.00 น. ของวันที่ 11 ก.พ. 2568 และถูกนำตัวไปที่ ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ในวันเดียวกัน
“วาร์ตานีเป็นสื่อท้องถิ่นในพื้นที่เพียงแห่งเดียวที่พยายามเชื่อมเสียงของชาวบ้านกับคนภายนอก ในขณะที่สื่อท้องถิ่นอื่น ๆ แทบไม่สามารถทำสิ่งเหล่านี้ได้เลย ซึ่งการทำแบบนี้ช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมกระบวนการสันติภาพชายแดนภาคใต้ การปิดกั้นเสรีภาพเช่นนี้จึงทำให้คนในพื้นที่ไม่สามารถสื่อสารถึงคนส่วนกลาง และอาจกระทบต่อกระบวนการสันติภาพได้” น.ส. พรเพ็ญ กล่าวเพิ่มเติม
ด้าน กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า อ้างว่า เชิญตัวนายอับดุลอาฟิรไปเพื่อให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์
“เชิญตัว อาสาสมัครนักข่าวสื่อในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารอันเป็นประโยชน์ประกอบเรื่องที่เกี่ยวกับ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ทุกกระบวนการ ทุกขั้นตอนในการปฏิบัติ เจ้าหน้าที่ยึดหลักสิทธิมนุษยชน ดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย อย่างโปร่งใส ยุติธรรม สามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน” กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า ระบุผ่านเฟซบุ๊กเพจ
สำหรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน และผู้นำฝ่ายค้าน เปิดเผยหลังรับข้อร้องเรียนเรื่องดังกล่าวจาก นายรุสลาน มูซอ บรรณาธิการบริหารสำนักข่าววาร์ตานีว่า รัฐบาลควรทบทวนการใช้กฎหมายพิเศษในพื้นที่ชายแดนใต้
“ไม่ต้องการเห็นการใช้อำนาจพิเศษของรัฐเพื่อกดทับเสรีภาพของสื่อมวลชน และต้องการให้มีความโปร่งใสในการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะเมื่อ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า อ้างว่าการควบคุมตัวครั้งนี้เป็นไปอย่างโปร่งใส เนื่องจากนายอับดุลอาฟิรมีการทำเพจที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐ หากเป็นเช่นนั้น รัฐบาลต้องสามารถชี้แจงข้อกล่าวหาได้อย่างตรงไปตรงมา” นายณัฐพงษ์ กล่าว
ปัจจุบัน พื้นที่ชายแดนภาคใต้อยู่ภายใต้การบังคับใช้ พ.ร.บ. กฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และ พ.ร.บ. การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ) ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวบุคคลโดยไม่ต้องมีหมายจับภายใน 7 วัน ซึ่งองค์กรสิทธิมนุษยชนเคยเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้กฎหมายพิเศษเหล่านี้เช่นกัน
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา มีนักกิจกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างน้อย 40 คน ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาคดีอาญา ขณะเดียวกันในบางคดี ผู้ฟ้องคือ พล.ท. ศานติ ศกุนตนาค อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เอง