ตำรวจตากจับสามผู้ต้องสงสัยกะเหรี่ยง-ไทย สงสัยเอี่ยวอาวุธสงคราม

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2022.04.05
ตาก และกรุงเทพฯ
ตำรวจตากจับสามผู้ต้องสงสัยกะเหรี่ยง-ไทย สงสัยเอี่ยวอาวุธสงคราม เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรท่าสองยาง ตรวจสอบอาวุธปืนที่ยึดได้จากผู้ต้องสงสัยรับซื้ออาวุธ จังหวัดตาก วันที่ 4 เมษายน 2565
เบนาร์นิวส์

เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรแม่ระมาด ควบคุมตัวชาวเมียนมา 2 ราย และคนไทยเชื้อสายกะเหรี่ยง 1 ราย เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมานี้ ฐานต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการรับซื้ออาวุธปืนสงครามจากพ่อค้าในกรุงเทพ ที่ส่งพัสดุไปยังอำเภอแม่ระมาด และอำเภอท่าสองยาง ในจังหวัดตาก

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.แม่ระมาด กล่าวว่า ผู้ต้องสงสัยทั้ง 3 ราย ยังปฏิเสธความเกี่ยวข้องกับอาวุธปืน และระบุว่ายังไม่พบข้อมูลที่เชื่อมโยงกับกลุ่มติดอาวุธในประเทศเมียนมา

พ.ต.อ. ฐมฌ์พงศ์ เพ็ชร์พิรุณ ผู้กำกับการ สภ.แม่ระมาด เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ในวันอังคารนี้ว่า ได้รับแจ้งจากบริษัทขนส่งเอกชนแห่งหนึ่งว่า พบพัสดุต้องสงสัยที่มีน้ำหนักมากผิดปกติ จึงได้ทำการเปิดดูแล้วพบว่าเป็นอาวุธสงคราม เจ้าหน้าที่จึงได้เข้าไปตรวจสอบ

“เมื่อวานนี้ช่วงเที่ยง ได้รับแจ้งจากบริษัทขนส่งเอกชนว่ามีพัสดุต้องสงสัย จึงเข้าไปตรวจสอบและยึดเป็นปืนอาก้าได้ 7 กระบอก ซองกระสุน 12 ซอง แล้วก็ควบคุมผู้ต้องหาได้ 3 คน เป็นชาวพม่า 2 คน คนไทย 1 คน เป็นเชื้อสายกะเหรี่ยง ตอนนี้ เขายังปฏิเสธว่าไม่ใช่ปืนเขา ไม่มีส่วนรู้เห็น เพียงแต่ถูกสั่งให้มารับของ” พ.ต.อ. ฐมฌ์พงศ์ กล่าว

“ตอนนี้ จึงอยู่ระหว่างการสอบสวนสืบสวนเพื่อหาต้นตอของอาวุธทั้งหมดว่าส่งมาจากที่ใดและใครเป็นผู้สั่ง” พ.ต.อ. ฐมฌ์พงศ์ กล่าวเพิ่มเติม

ในวันจันทร์เช่นกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ท่าสองยาง และเจ้าหน้าที่ทหารพรานกองร้อย 3504 ได้ยึดปืนอาก้า 5 กระบอก และซองกระสุน 5 ซอง ที่บ้านเช่าแห่งหนึ่งที่ระบุชื่อผู้รับพัสดุว่า คุณวรรณ ในตำบลแม่อุสุ อำเภอท่าสองยาง   

“เป็นอาวุธปืนเอเค-47 สามารถยึดได้ในวันที่ 4 เมษายน มีการจับกุมผู้ต้องสงสัยเรียบร้อยแล้ว แต่อยู่ระหว่างการสืบสวนขยายผล จึงขอเปิดเผยในการแถลงข่าวในวันพรุ่งนี้” พ.ต.อ. ฉัตรชัย คำยิ่ง ผู้กำกับการ สภ.ท่าสองยาง กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ทั้งนี้ สำนักข่าวท้องถิ่น “แม่สอด มีเดีย” ว่า อาวุธสงครามที่เจ้าหน้าที่สามารถยึดได้อาจเกี่ยวข้องกับ กองกำลังพิทักษ์ประชาชน (The People's Defense Froce-PDF) แต่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจยังปฏิเสธข้อมูลนี้

“ความเชื่อมโยงต่าง ๆ กำลังสืบสวนอยู่ แต่เรื่องเกี่ยวกับกองกำลังในพม่า ยังไม่มีข้อมูลตรงนี้ เรื่องเชื่อมโยงกับภายนอกประเทศ เชื่อมโยงยังไง อันนี้ไม่ทราบ” พ.ต.อ. ฐมฌ์พงศ์ กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 กองทัพเมียนมาได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี และควบคุมตัว นางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ นายวิน มินต์ ประธานาธิบดี และสมาชิกพรรคอีกหลายคน ตัดระบบสื่อสาร ยุติการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์บางช่อง โดยกองทัพเมียนมาอ้างว่า การดำเนินการครั้งนี้เพื่อตอบโต้การทุจริตเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ที่นำโดย นางอองซาน ซูจี เป็นฝ่ายชนะ โดยรัฐบาลยืนยันว่า จะมีการตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดใหม่ และจัดการเลือกตั้งภายใน 1 ปี

การยึดอำนาจของกองทัพเมียนมา ทำให้ประชาชนเมียนมา รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ร่วมกันต่อต้าน และประท้วงกองทัพเมียนมา จนกระทั่งมีการใช้อาวุธสู้รบกัน ซึ่งในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงที่อยู่ใกล้กับชายแดนจังหวัดตาก มีการปะทะระหว่างทหารเมียนมาและสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) และกองกำลังทหารสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA) ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2564 จนทำให้มีชาวเมียนมา และกะเหรี่ยงบางส่วนอพยพหนีภัยการสู้รบข้ามมายังฝั่งไทยหลายพันคน

ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ก่อน นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษก กระทรวงการต่างประเทศ ได้เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ว่า ปัจจุบัน มีชาวเมียนมา-กะเหรี่ยง ซึ่งหนีภัยสงครามข้ามมายังฝั่งไทยประมาณ 1,800 คน โดยอาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภอพบพระ และอุ้มผาง จังหวัดตาก

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง