การศึกษาบันไดปลาเขื่อนไซยะบุรี สร้างคำถามเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน

สตีเฟน ไรท์ สำหรับเรดิโอฟรีเอเชีย
2024.10.28
การศึกษาบันไดปลาเขื่อนไซยะบุรี สร้างคำถามเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน แม่น้ำโขงในจังหวัดหนองคาย ห่างจากเขื่อนไซยะบุรีในลาวกว่า 300 กม. ภาพถ่ายทางอากาศเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2562
เอเอฟพี

นักวิจัยจากลาวและออสเตรเลียวางยาสลบปลามากกว่า 230 ตัว ใส่หลอดแก้วขนาดเล็กที่มีอุปกรณ์ติดตาม และปล่อยลงในแม่น้ำโขงใกล้กรุงเวียงจันทน์ ในลาว เมื่อเดือนเมษายน 2565

จากผลการศึกษาที่ได้รับทุนจากงบประมาณความช่วยเหลือระหว่างประเทศของออสเตรเลียที่เผยแพร่ในเดือนมิถุนายน พบว่าหลังจากผ่านไปหนึ่งปีกว่า เซ็นเซอร์ตรวจพบปลา 5 ตัว ที่บริเวณด้านบนของเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งอยู่ไกลขึ้นไปทางเหนือของเวียงจันทน์

กว่าจะไปถึงจุดที่ตรวจพบปลา ปลาเหล่านั้นต้องว่ายน้ำไปประมาณ 350 กม. (217 ไมล์) และเมื่อเข้าใกล้เขื่อนขนาดใหญ่แล้ว พวกมันจะพบทางเข้าบันไดปลาที่ค่อย ๆ ไต่ระดับความสูงขึ้นไป 480 เมตร (1,574 ฟุต) ไปถึงปลายทางโดยที่ไม่ถูกปลาขนาดใหญ่กว่ากิน จากนั้นจะรออยู่ในช่องล็อกจนได้รับการยกขึ้นไปยังอ่างเก็บน้ำ

ปลาทั้งห้าตัวเป็นปลาตะเพียนทอง ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจต่อผู้คนที่ดำรงชีพตามแนวแม่น้ำโขง และนับเป็นหนึ่งในสามของปลาทั้งหมดที่นักวิจัยปล่อยลงแม่น้ำไป

ผลการศึกษาแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการสร้างบันไดปลาเหมือนกับที่เขื่อนไซยะบุรีตามเขื่อนใหม่ ๆ ที่สร้างขึ้นตลอดแนวแม่น้ำโขง แม่น้ำสายนี้ซึ่งเป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือเป็นแหล่งเลี้ยงชีพให้ผู้คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง เป็นแหล่งประมงน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นแหล่งยังชีพของผู้คนนับล้านในลาว เวียดนาม กัมพูชา และไทย

อย่างไรก็ตาม หัวใจสำคัญของการศึกษาวิจัยนี้คือความขัดแย้งทางผลประโยชน์

ในส่วนของข้อมูลการตรวจจับปลานั้นได้รับจากบริษัท CK Power ของประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของเขื่อนไซยะบุรี โดยมีผลประโยชน์ทับซ้อนในผลการศึกษาหรือข้อสรุปที่สนับสนุนแผนการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำเพิ่มเติมในแม่น้ำโขง

2-TH-Laos dam.jpeg
ชาวบ้านรายหนึ่ง ขณะทอดแหจับปลาในแม่น้ำโขง ในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา วันที่ 8 ธันวาคม 2554 (รอยเตอร์)

นักวิเคราะห์แม่น้ำโขงสองคนที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการศึกษาครั้งนี้ กล่าวกับเรดิโอฟรีเอเชีย ซึ่งเป็นสำนักข่าวร่วมเครือเบนาร์นิวส์ ว่าผลการศึกษานี้สนับสนุนข้อสรุปอีกข้อหนึ่ง นั่นคือไม่ควรสร้างเขื่อนเพิ่มอีกในแม่น้ำโขง

สุขภาพของการประมงในแม่น้ำโขงนั้น ขึ้นอยู่กับความสามารถของปลาในหลายร้อยสายพันธุ์ที่จะอพยพและดำเนินการวางไข่ได้โดยไม่มีอุปสรรค นักวิจัยหลายคนกล่าวว่าเขื่อนเป็นปัญหาเพราะพวกมันกั้นตะกอนที่ช่วยรักษาความอุดมสมบูรณ์ของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์

รายงานในเดือนนี้ขององค์กรอินเตอร์เนชั่นแนลไครซิสกรุ๊ปได้เตือนถึงความเป็นไปได้ในการอพยพของผู้คนจำนวนมากและความตึงเครียดทางสังคมที่เพิ่มขึ้นในบางส่วนของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายในทศวรรษหน้า หากประชากรปลาและการผลิตข้าวได้รับผลกระทบจากเขื่อนในแม่น้ำโขง

มีการอนุมัติให้สร้างเขื่อนเพิ่มเติมอีกสามแห่งในลาวตรงช่วงของแม่น้ำที่ปลาว่ายผ่าน และอีกแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ทางเหนือของเขื่อนไซยะบุรี คือเขื่อนหลวงพระบาง ซึ่งสร้างโดย CK Power

เป็นเรื่องยากที่จะประเมินความสามารถของบันไดปลาที่เขื่อนไซยะบุรีในการให้ปลาเคลื่อนผ่านได้จากการศึกษานี้ และแท้จริงแล้วผมไม่คิดว่านั่นคือประเด็นหลักของงานวิจัยชิ้นนี้เอียน แบร์ด นักวิจัยด้านการประมงในแม่น้ำโขงจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซินกล่าว

“ประเด็นหลักคือปลาว่ายผ่านสถานที่ที่มีการวางแผนสร้างเขื่อนในอนาคต ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผลกระทบจากเขื่อนเหล่านั้นที่มีต่อปลาต้องได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบ” เขากล่าว

“ผมขอแนะนำว่าไม่ควรสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงเพิ่มอีก แต่ผู้เขียนงานวิจัยชิ้นนี้ไม่ได้พูดถึงประเด็นดังกล่าว”

ผู้บริหารสามคนของ CK Power รวมถึงตวงพร บุณยะสาระนันท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานการสื่อสารและการบริหารความยั่งยืนองค์กรไม่ตอบคำถามที่เรดิโอฟรีเอเชีย หยิบยกขึ้นมาเกี่ยวกับการศึกษานี้ คำถามเหล่านี้ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อชี้แจงว่านักวิจัยสามารถตรวจสอบข้อมูลที่ CK Power จัดทำขึ้นโดยอิสระได้หรือไม่ และอย่างไร และบริษัทจะเปิดเผยผลการติดตามปลาที่ดำเนินการภายใต้โครงการวิจัยหลายปี ซึ่งมีจำนวนปลาทั้งสิ้นประมาณ 3,500 ตัวหรือไม่

การศึกษาดังกล่าวระบุว่าผู้วิจัยไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนใด ๆ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม หนึ่งในนักวิจัยจากการศึกษานี้เป็นผู้บริหารระดับสูงของ CK Power การมีส่วนสนับสนุนของเขาในการวิจัยนี้ไม่ได้ถูกระบุไว้ชัดเจน ในขณะที่บทบาทของผู้วิจัยคนอื่น ๆ มีระบุไว้อย่างชัดเจน

ผู้วิจัยอีกคนหนึ่งเป็นเจ้าของบริษัทออสเตรเลียที่จัดหาวิทยาการติดตามปลา รวมถึงประเภทที่ใช้ในการศึกษานี้ ซึ่งแนะนำให้ทำการวิจัยการติดตามปลาต่อไปอีก 10 ปี

แม้ว่าการศึกษานี้จะได้รับทุนสนับสนุนจากภาครัฐ แต่ผู้วิจัยไม่สามารถแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ เนื่องจากมีข้อตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา ผู้เขียนคนหนึ่งบอกกับ เรดิโอฟรีเอเชีย ว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นของบริษัท CK Power

ผู้วิจัยรายนี้ให้ข้อมูลอื่น ๆ ที่ดูเหมือนว่าจะทำให้ผลลัพธ์ออกมาในแง่บวก แต่ไม่สามารถนำมาอ้างอิงได้เนื่องจากมีข้อตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา

ลี บอมการ์ตเนอร์ หัวหน้าคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยชาร์ลส์ สเตอร์ท จากประเทศออสเตรเลีย ไม่ตอบคำถามทางอีเมลหรือโทรศัพท์ที่ ส่งไปถามเรดิโอฟรีเอเชีย

ฟิลิป เฮิร์ช ศาสตราจารย์ด้านภูมิศาสตร์มนุษย์ มหาวิทยาลัยซิดนีย์ ซึ่งทำการวิจัยเกี่ยวกับแม่น้ำโขงมาตั้งแต่ช่วงปี 2523 กล่าวว่าการที่การศึกษานี้ไม่ตั้งคำถามหรือให้การตรวจสอบข้อมูลจากบริษัทพลังงานน้ำอย่างเป็นอิสระนั้นถือเป็นปัญหา

“นี่เป็นการวิจัยที่ได้รับทุนจากภาครัฐและเผยแพร่ในวารสารวิทยาศาสตร์ที่ผ่านการตรวจสอบโดยผู้ทรงคุณวุฒิ ดังนั้น จึงมีความสำคัญที่จะทำให้มั่นใจได้ว่าผลลัพธ์และการตีความนั้นได้รับการสนับสนุนจากข้อมูลที่ได้มาอย่างโปร่งใส” เขากล่าว

นอกจากนี้ ยังมีข้อโต้แย้งว่าเงินของภาครัฐเป็นเงินทุนสำหรับการวิจัยเพื่อวัตถุประสงค์ที่แสวงหากำไร ซึ่งนักวิจัยบอกกับ เรดิโอฟรีเอเชีย ว่าการวิจัยดังกล่าวเป็นทรัพย์สินทางปัญญา เฮิร์ชกล่าว

อย่างไรก็ตาม เขากล่าวว่าข้อมูลการตรวจจับปลาอาจมีความแม่นยำ แต่สำหรับความเห็นของเขา ข้อมูลดังกล่าวยังไม่เป็นที่น่าประทับใจนัก เนื่องจากมีเพียง 6.5% ของปลาที่ปล่อยไปที่สามารถว่ายผ่านเขื่อนไซยะบุรีได้ ดังนั้นหากมีเขื่อนเพิ่มเติมในเส้นทางนั้น จำนวนปลาที่ว่ายผ่านไปได้ก็จะลดจำนวนส่วนน้อยนี้ลงอีก ซึ่งนั่นอาจจะเป็นปัญหา

เพราะแม้ว่าปลาประมาณ 50% หรือ 60% จะสามารถว่ายน้ำผ่านเขื่อนไปได้ แต่เนื่องจากเขื่อนแต่ละแห่งจะลดสัดส่วนของปลาที่เดินทางผ่านเขื่อนไปได้ ทำให้ปลาที่จำนวนปลาที่เดินทางไปถึงจริง ๆ ลงเหลือเพียงตัวเลขหลักเดียวอย่างรวดเร็ว

“สำหรับผม นี่คือเหตุผลหลักที่ไม่ควรมีการปิดกั้นทางน้ำเพิ่มเติมในระบบแม่น้ำที่ได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงอยู่แล้ว และจากมุมมองทางด้านความต้องการพลังงานก็ดูไม่มีความจำเป็น” ฮิร์ชกล่าว

3-TH-Laos dam.jpeg
แม่น้ำโขงในจังหวัดหนองคาย ห่างจากเขื่อนไซยะบุรีในลาวกว่า 300 กม. ภาพถ่ายทางอากาศเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2562 (เอเอฟพี)

เขากล่าวว่ายังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดปัญหาอีกด้วย ตัวอย่างเช่น บันไดปลานั้นถูกออกแบบมาสำหรับการอพยพของปลาว่ายทวนขึ้นไปด้านบนของแม่น้ำ แต่ปลาและตัวอ่อนก็เคลื่อนตัวลงสู่ด้านล่างไปตามกระแสน้ำเช่นกัน

งานวิจัยชิ้นอื่น ๆ แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงแรงดันภายในเขื่อน ทำให้อวัยวะของปลาระเบิดอยู่ภายในเมื่อถูกน้ำดูดไปตามกังหันน้ำ การกระแทกของใบพัดกังหันน้ำก็เป็นสาเหตุการตายของปลาเช่นกัน

ศูนย์วิจัยเกษตรระหว่างประเทศของออสเตรเลีย (ACIAR) ซึ่งบริหารเงินทุนจำนวน 1.9 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (1.26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สำหรับการวิจัยตั้งแต่ปี 2562 ถึงกลางปี ​​2567 เปิดเผยว่ามีการติดตั้งเครื่องติดตามปลาไปแล้วกว่า 3,500 ตัว

ศูนย์ฯ ไม่สามารถอธิบายได้ว่าทำไมถึงมีข้อมูลผลการวิจัยของปลาเพียงประมาณ 230 ตัวเท่านั้น โฆษกกล่าวว่าหน่วยงานจะถามนักวิจัย แต่ไม่ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมหลังจากผ่านไปสองวัน

โครงการวิจัยได้รับการจัดสรรเงินทุนเพิ่มเติม 5.9 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (3.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อดำเนินการต่อไปจนถึงปี 2572

เป้าหมายหลักของการวิจัยดูเหมือนจะทำเพื่อสนับสนุนให้มีการสร้างเขื่อนเพิ่มเติมในแม่น้ำโขง แม้จะวิจารณ์ถึงความเสี่ยงของเขื่อนเหล่านั้นก็ตาม

คำอธิบายของ ACIAR ระบุว่า การวิจัยนี้มุ่งเป้าไปที่การประเมินประสิทธิภาพของบันไดปลา การลดผลกระทบที่อาจเป็นอันตรายของโครงการพลังงานน้ำ และมีอิทธิพลต่อการออกแบบเขื่อนในอนาคต

แนวทางดังกล่าวสอดคล้องกับลำดับความสำคัญของรัฐบาลในภูมิภาค ซึ่งให้ความสำคัญกับโครงการระดับชาติและผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มของผู้สร้างเขื่อนโดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์โดยรวมของลุ่มน้ำโขงตอนล่าง

แม้จะมีการคัดค้านจากประเทศเพื่อนบ้าน ลาวยังเดินหน้าโครงการเขื่อนไซยะบุรีซึ่งเปิดใช้ในปี 2562 และเขื่อนดอนสะโฮง ในขณะเดียวกัน ในขณะที่กัมพูชาเริ่มก่อสร้างคลองยาว 180 กิโลเมตร (112 ไมล์) ในปีนี้ เพื่อเชื่อมลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขงกับอ่าวไทย ซึ่งสร้างความกังวลให้กับเวียดนามเกี่ยวกับการไหลของน้ำที่ลดลงสู่พื้นที่ปลูกข้าวในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ

การวิจัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพของบันไดปลาที่ไหลผ่านเขื่อนไซยะบุรียังมีข้อจำกัดโดยธรรมชาติ เนื่องจากขาดข้อมูลก่อนสร้างเขื่อน

“การที่ปลาสายพันธุ์หนึ่งสามารถผ่านเขื่อนไซยะบุรีได้จริง ๆ ไม่ได้บอกอะไรมากเกี่ยวกับความสำเร็จหรือล้มเหลวของบันไดปลา” แบร์ด ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซินกล่าว

“ไม่มีการรวบรวมข้อมูลพื้นฐานของปลาที่เพียงพอก่อนการสร้างเขื่อนไซยะบุรี เพื่อประเมินว่าบันไดปลาที่ใช้เป็นช่องทางผ่านของปลานั้นใช้งานได้ดีเพียงใด”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง