เหตุการณ์รุนแรงในชายแดนใต้ลดลงต่ำสุดในปีนี้
2017.12.27
ปัตตานี
นักวิเคราะห์ทั้งไทยและต่างประเทศกล่าวว่า ความรุนแรงที่เกิดจากขบวนการแบ่งแยกดินแดนในสามจังหวัดชายแดนใต้ ลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ แม้ว่าการพูดคุยเพื่อสันติสุขยังไม่เป็นรูปเป็นร่างชัดเจน ซึ่งทั้งสองฝ่ายยังไม่บรรลุข้อตกลงในการก่อตั้งพื้นที่ปลอดภัยที่รอคอยมานาน
ตามตัวเลขของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดปัตตานี เหตุการณ์รุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ที่เริ่มมาจากปี 2547 ลดลงต่ำสุดในห้วงเวลาเกือบครบ 14 ปี ในปีนี้
“ที่นับเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ตั้งแต่ปี 2556 นับตั้งแต่ที่มีการเจรจาเหตุการณ์ก็ลดลงเป็นลำดับทุกปีในภาพรวมจึงลดลง และเป็นผลดีที่เกิดขึ้น” ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
รัฐบาลนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เจรจากับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนเมื่อ ปี 2556 และหลังจากที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจแล้ว ก็ได้ดำเนินการเจรจาอีกครั้งกับองค์กรมาราปาตานี ซึ่งเป็นองค์กรร่มที่เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มผู้เห็นต่าง
นับตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์รุนแรงเกือบ 7,000 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บกว่า 13,000 คน
ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวว่า นับตั้งแต่ ปี 2556 เป็นต้นมา เหตุรุนแรงลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้ มีผู้เสียชีวิต 235 ราย บาดเจ็บ 356 ราย จากเหตุรุนแรง 545 ครั้ง (นับถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้) ในขณะที่ในปี 2547 มีผู้เสียชีวิต 892 คน และบาดเจ็บ 1,681 คน
“ช่วงปีสองปีหลังนี้ เราสามารถก่อเหตุได้ไม่มาก เพราะปัจจัยหลาย ๆ ด้าน ทั้งมีทหารเต็มพื้นที่ ไปหมู่บ้านไหนก็มีทหารที่เข้าไปเดินอยู่ตามหมู่บ้าน แต่ก็ยังมีความพยายามมีคำสั่งเข้ามาให้ทำอยู่ตลอด บางเหตุทำไม่สำเร็จก็มี” แนวร่วมขบวนการบีอาร์เอ็นในพื้นที่จังหวัดยะลารายหนึ่ง กล่าวแก่เบนาร์นิวส์โดยขอสงวนนาม
ด้ายนายซัคคารี อาบูซ่า ผู้เชี่ยวชาญด้านขบวนการแบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ ที่ทำงานอยู่ในสหรัฐฯ กล่าวว่า สาเหตุที่เหตุรุนแรงลดลงก็เพราะว่าทหารได้ขยายจุดตรวจค้นออกไปมากขึ้น รวมทั้งฝ่ายบีอาร์เอ็นเองได้ปรับเปลี่ยนยุทธวิธีนับตั้งแต่มีการเปลี่ยนตัวสองผู้นำระดับผู้ก่อตั้งขบวนการ ในปี 2560 นี้
“เหตุรุนแรงลดงลงเพราะฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบไม่เห็นความจำเป็นต้องทำ พวกเขาได้ขับไล่ชาวพุทธออกไปนอกพื้นที่แทบหมดแล้ว พวกเขาได้แสดงให้เห็นว่าเขาสามารถจะก่อเหตุเมื่อไหร่ก็ได้ ” นายซัคคารีกล่าว
ความไม่ลงรอยของบีอาร์เอ็นและมาราปาตานี
ขณะเดียวกัน ในปี 2560 ยังมีคำถามค้างคาว่า มาราปาตานีเป็นตัวแทนของกลุ่มผู้เห็นต่างทุกกลุ่มหรือไม่ และฝ่ายบีอาร์เอ็นมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพนี้ด้วยหรือไม่
โฆษกมาราปาตานี นายอาบูฮาฟิซ อัลฮาคิม เคยให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์ก่อนหน้านี้ โดยยืนยันว่าสมาชิกบีอาร์เอ็นทั้งสามรายที่มีตำแหน่งในมาราปาตานีนั้น เป็นผู้แทนจากบีอาร์เอ็นจริง
แต่ในเดือนเมษายนปีนี้ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของบีอาร์เอ็นกลับได้ออกแถลงการณ์ตำหนิกระบวนการพูดคุยระหว่างไทยกับมาราปาตานี และกล่าวว่า ทั้งสามรายนั้นไม่ได้เป็นตัวแทนของบีอาร์เอ็นที่แท้จริง และทางบีอาร์เอ็นขอมีส่วนร่วมโดยตรงในการเจรจาครั้งใหม่ โดยต้องมีฝ่ายที่ไม่มีส่วนได้เสียและประชาคมนานาชาติเป็นสักขีพยาน
ดอน ปาทาน ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและคอลัมนิสต์ที่ประจำอยู่ในสามจังหวัดชายแดนใต้ กล่าวว่า มีแหล่งข่าวบอกให้ทราบเมื่อเดือนกันยายนนี้ว่า “มีความไม่ลงรอยกันในบีอาร์เอ็นและมาราปาตานี ซึ่งต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหา”
ผศ.ดร.ศรีสมภพ ผอ. ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวว่า การเจรจาคราวหน้าจะมีขึ้นในปีหน้าในซาอุดีอาระเบีย ซึ่งจะมีประธานกลุ่มบีอาร์เอ็นร่วมด้วย
“ได้รับรายงานมาว่าปีหน้า กลุ่มบีอาร์เอ็น กลุ่มของนายดูนเลาะ แวมะนอ ที่ไม่เคยเข้ามาร่วมพูดคุย ก็จะเข้ามาร่วมพูดคุยด้วย ทราบว่ามีการนัดเจอที่ประเทศซาอุดีอาระเบีย และไม่ใช่ประเทศมาเลเซีย มีแนวโน้มที่ดี” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
ความคืบหน้า
แม้ว่าเหตุการณ์รุนแรงจะลดลงในปี 2560 แต่ก็ยังมีความสูญเสียมากมาย ชาวบ้านในพื้นที่ยังคงใช้ชีวิตด้วยความหวาดกลัวต่อขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งมีเหตุครั้งใหญ่ในปีนี้ที่มีผู้เสียชีวิตถึงครั้งละ 6 นาย คือ เหตุการณ์ระเบิดรถยนต์ทหารในอำเภอจะแนะ นราธิวาส เมื่อเดือนเมษายน และเหตุระเบิดรถยนต์ทหารในอำเภอทุ่งยางแดง ปัตตานี เมื่อเดือนมิถุนายน
นอกจากนั้น ยังมีการทำร้ายเป้าหมายพลเรือน โดยเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม ได้เกิดเหตุวางระเบิดที่ห้างบิ๊กซี ปัตตานี มีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 69 ราย แม้ว่าแกนนำบีอาร์เอ็นจะไม่ได้ออกมาแสดงความรับผิดชอบ แต่สมาชิกระดับล่างกล่าวว่ากลุ่มบีอาร์เอ็นเป็นคนลงมือทำ
นางดะห์ ชาวสวนยางในจังหวัดยะลา เป็นคนหนึ่งที่ต้องสูญเสียลูกพี่ลูกน้อง ซึ่งถูกยิงที่หน้าบ้านของตนเอง เมื่อต้นปี 2560
“ฉันและญาติ ๆ คิดว่ากลุ่มขบวนการทำ แต่ทางญาติเราไปทำอะไรเขา เราไม่รู้ ตอนนี้ ทุกคนในครอบครัวต่างรู้สึกกลัว เพราะเราไม่รู้ว่าใครเป็นใครอยู่ในหมู่บ้าน แม้แต่คำว่าบีอาร์เอ็น ก็ได้ยินจากภาครัฐที่จะพูดว่ามีกลุ่มบีอาร์เอ็นอยู่ในพื้นที่ แต่พอเราหันมาสังเกตในหมู่บ้าน เราก็ดูไม่ออก” นางดะห์กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ โดยขอสงวนนามสกุล
“มาบอกว่าการพูดคุยมีความคืบหน้า แต่ไม่บอกคืบหน้าอะไร คืบหน้ายังไง แต่เหตุการณ์ก็ยังเกิดขึ้นอยู่ ชาวบ้านยังถูกรัฐยิง ถูกขบวนการยิง ยังมีคนตายทุกวัน มีระเบิด มีเผารถบัส อะไรบ้างที่แสดงให้เห็นว่ารัฐจริงใจแก้ปัญหา” นางดะห์ กล่าวแสดงความกังขา
ความยากเย็นในการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัย
ในปี 2560 ทั้งสองฝ่ายได้มีการเจรจาเต็มคณะในกรุงกัวลาลัมเปอร์สองครั้ง คือ ในเดือนกุมภาพันธ์และกันยายน ในครั้งแรกทั้งสองฝ่ายได้ตกลงร่วมกันในกรอบการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัย เป็นการยุติยิงแบบจำกัดพื้นที่ แต่ยังไม่ได้ระบุชื่ออำเภอ แม้ว่าจะมีการเจรจาอีกครั้งในเดือนกันยายนก็ตาม
เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงผู้ไม่ประสงค์ออกนามรายหนึ่ง กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า การก่อตั้งพื้นที่ปลอดภัยเป็นไปอย่างล่าช้า เพราะติดขัดเรื่องการระงับโทษแก่สมาชิกฝ่ายมาราปาตานีบางรายที่มีหมายจับค้างคาอยู่
พล.ต.สิทธิ ตระกูลวงศ์ เลขานุการคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ทางคณะฯ มีรายละเอียดขั้นตอนในการดำเนินการเพื่อจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยพร้อมแล้ว และพร้อมเจรจากับฝ่ายมาราปาตานี เพื่อพิจารณาแสดงความเห็นชอบร่วมกัน ในการประชุมเต็มคณะคราวหน้าที่คาดว่าจะมีขึ้นในปีหน้า
พล.ต.สิทธิ กล่าวว่า หลังจากบรรลุข้อตกลงร่วมกันแล้ว จะมีการตั้ง “เซฟเฮาส์” เป็นศูนย์ประสานงานร่วมของทุกฝ่าย คือ ฝ่ายปาร์ตี้เอ ปาร์ตี้บี และภาคประชาสังคม เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบ และสำรวจความคิดเห็นจากประชาชนว่าพื้นที่ปลอดภัยควรเป็นเช่นไร
“ในขั้นต้น เราจะจัดตั้งเซฟเฮาส์ก่อน... เราตั้งเซฟเฮาส์เพื่อให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งปาร์ตี้เอ และปาร์ตี้บี และคนในพื้นที่มานั่งทำงานรวมกัน เหมือนกับศูนย์ประสานงาน ทำหน้าที่ชี้แจงรายละเอียดข้อเสนอต่าง ๆ รับฟังความคิดเห็นจากคนในพื้นที่ว่าพื้นที่ปลอดภัยมันคืออะไร มีความกังวลอะไรในเรื่องพื้นที่ปลอดภัย” พล.ต.สิทธิ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
จากนั้น จะมีการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัยขึ้น โดยใช้เวลาสามเดือน พล.ต.สิทธิ กล่าวเพิ่มเติม
ในเรื่องนี้ ผศ.ดร.ศรีสมภพ มีความคาดหวังในเชิงบวก
“ที่สำคัญ ในปีหน้าแนวโน้มของการพูดคุยจะมีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น ในเรื่องของพื้นที่ปลอดภัย ประมาณต้นปีจะเกิดเซฟเฮาส์ จะมีข้อตกลงออกมาประมาณเดือนมกราคมนี้ จะเห็นเรื่องของการเริ่มดำเนินการ เรื่องของการแก้ปัญหาของการพัฒนา ความยุติธรรม ยาเสพติด ก็จะมีการพูดคุยมากขึ้น” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว