ธนาคารโลกคาดเศรษฐกิจไทยตกต่ำที่สุด นับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง

อวยพร สถิตย์ปัญญาพันธุ์
2020.03.31
วอชิงตัน
200331-TH-covid-economy-1000.jpg พ่อค้าหาบขวดและภาชนะพลาสติกบนทางเท้า ขณะที่ผู้ปกครองขี่มอเตอร์ไซค์พร้อมเด็กสามคนผ่านมา ในกรุงเทพฯ วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563
เอเอฟพี

ในวันอังคารนี้ ธนาคารโลก ได้เผยแพร่รายงานการคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยว่า จะลดลงอย่างมาก และจะเข้าสู่ภาวะถดถอย รวมทั้งคาดว่าอาการช็อกทางเศรษฐกิจจากการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนา จะทำให้มีคนยากจนเพิ่มขึ้นจำนวนมาก

ก่อนที่จะเกิดการระบาดใหญ่นั้น เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน และภัยแล้งอย่างรุนแรง ซึ่งทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อปีต่ำกว่า 3 เปอร์เซ็น ในปี 2562

ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า ในปี 2563 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย จะถดถอยถึงติดลบ 3 เปอร์เซ็น และอาจจะต่ำสุดถึงติดลบ 5 เปอร์เซ็น จากอัตรา 2.4 เปอร์เซ็น ในปี 2562 ซึ่งจะเป็นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่ำที่สุดที่ประเทศไทยเคยประสบมา หลังจากปี 2541 ซึ่งในปีนั้น ธนาคารโลกได้รายงานการถดถอยของเศรษฐกิจในอัตราติดลบ 7.6 เปอร์เซ็น

ประเทศไทยได้ประกาศ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อให้อำนาจรัฐบาลในการจัดการวิกฤตโควิด-19 เพื่อสกัดกั้นและป้องกันการแพร่ระบาด โดยห้ามชาวต่างชาติเดินทางเข้า-ออก และสั่งปิดชายแดนระหว่างประเทศเพื่อนบ้านเกือบทั้งหมด ในวันอังคารนี้ ประเทศไทยรายงานว่า มีผู้ติดเชื้อเสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย และมีผู้ป่วยติดเชื้อใหม่จำนวน 127 ราย เป็นยอดสะสม ผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น 1,651 ราย และเสียชีวิตทั้งสิ้น 10 ราย

รายงานของธนาคารโลกเรียกร้องให้รัฐบาลมีการดำเนินการอย่างรวดเร็วและเด็ดขาด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 โดยกล่าวว่า “ความเจ็บปวดทางเศรษฐกิจครั้งยิ่งใหญ่นี้ ดูเหมือนว่าทุก ๆ ประเทศไม่สามารถจะหลีกเลี่ยงได้ และความเสี่ยงสูงต่อเสถียรภาพทางการเงินที่ไม่มั่นคง โดยเฉพาะในประเทศที่มีหนี้สินครัวเรือนและธุรกิจมากเกินไป”

“ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกกำลังเผชิญกับภาวะช็อคทั่วโลก ที่ก่อนหน้านี้กำลังรับมือกับความตึงเครียดทางด้านการค้าระหว่างประเทศ และผลสะท้อนจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศจีน” นางวิคตอเรีย กวากวา รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าว “ข่าวดีก็คือ ภูมิภาคนี้มีความแข็งแกร่งในด้านต่าง ๆ ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ แต่ประเทศต่าง ๆ จะต้องดำเนินการโดยเร่งด่วน และในระดับที่ไม่ได้มีการคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้”

ในต้นปี 2563 การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้มีผลกระทบอย่างยิ่งยวดต่อเศรษฐกิจแล้ว รายงานชี้ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงอย่างรวดเร็ว โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ลดลง 45 เปอร์เซ็น เมื่อเทียบเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว และในเดือนมีนาคม 2563 ลดลง 67 เปอร์เซ็น เมื่อเทียบกับมีนาคมปีที่แล้ว

ในเวลาเดียวกัน ผู้บริโภคและความเชื่อมั่นของนักลงทุนก็ลดลงต่ำสุดในรอบห้าปี ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563

ปัจจัยหลายประการในผลกระทบเชิงลบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ทับถมบนปัญหาที่มีมากมายอยู่แล้ว อาทิ ภัยแล้ง รายได้ที่ไม่เคลื่อนไหว อัตราการว่างงานสูงขึ้น และความยากจนที่มีเพิ่มมากขึ้น การคาดการณ์ชี้ว่าอัตราความยากจนในปี 2565 จะมีอัตราสูงกว่าในปี 2558 รายงานยังได้ระบุว่า ในบรรดาประเทศในภูมิภาคทั้งหลาย ประเทศไทยมีความเสี่ยงมากที่สุด เนื่องจากประชาชนมีหนี้สินในครัวเรือนและธุรกิจอยู่ในระดับสูง

นอกจากนี้ สถิติที่ลดลงของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2563 นั้น จะส่งผลกระทบอย่างหนัก ต่อผู้ประกอบการหรือชาวบ้านที่อาศัยรายได้จากแหล่งท่องเที่ยว จนก่อให้เกิดความยากจน เช่น ในปี 2561 ภูเก็ต เป็นจังหวัดเดียวที่มีอัตราความยากจนเพิ่มสูงขึ้น และยังสูงกว่าช่วงปี 2543 ด้วย

นโยบายของรัฐบาลที่จะช่วยให้ครัวเรือนที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยว เพื่อรับมือกับสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำเช่น การบรรเทาหนี้ และจัดตั้งโครงการช่วยเหลือด้านสังคมเข้ามาเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจช่วยลดผลกระทบด้านลบเหล่านี้ได้

รายงานยังระบุข้อแนะนำ อาทิ รัฐบาลในภูมิภาคควรดำเนินการโดยเร่งด่วน ในการขยายระบบความมั่นคงแก่ประชาชน สำหรับผู้ที่ต้องออกจากงาน ปรับลดสินเชื่อสำหรับธุรกิจ รวมถึงการเตรียมความพร้อมในการรับมือวิกฤตการระบาดใหญ่ การลงทุนอย่างเร่งด่วนเพื่อสร้างความสามารถในการรองรับทางสาธารณสุข

อย่างไรก็ดี รายงานกล่าวว่า ประเทศไทยมีการเตรียมความพร้อมการรองรับด้านการสาธารณสุขค่อนข้างสูง ในการรับมือกับการระบาดใหญ่ เมื่อเทียบกับประเทศใกล้เคียงอีกหลายประเทศ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง