ตรุษจีน : เยาวราชยังสีแดง แม้ของแพงกว่าทุกปี

ยศธร ไตรยศ
2022.02.01
กรุงเทพฯ
CNY1.jpg

ประชาชนเลือกซื้อของไหว้เทพเจ้าและบรรพบุรุษอย่างคึกคัก บริเวณซอยตลาดเก่าเยาวราช กรุงเทพฯ วันที่ 30 มกราคม 2565 (ยศธร ไตรยศ/เบนาร์นิวส์)

CNY2.jpg

แม่ค้าจัดเรียงไก่ต้มไว้รองรับลูกค้าที่ซอยตลาดเก่า ย่านเยาวราช วันที่ 30 มกราคม 2565 (ยศธร ไตรยศ/เบนาร์นิวส์)

CNY3.jpg

นักท่องเที่ยวและผู้คนออกมาจับจ่ายหาซื้อข้าวของ และเดินชมบรรยากาศตรุษจีนตามซอกซอย ย่านเยาวราช หนาตากว่าปีที่แล้ว วันที่ 30 มกราคม 2565 (ยศธร ไตรยศ/เบนาร์นิวส์)

CNY4.jpg

ร้านค้าขายเครื่องรางและเครื่องประดับได้รับความสนใจจากชาวไทยเชื้อสายจีน เยาวราช กรุงเทพฯ วันที่ 30 มกราคม 2565 (ยศธร ไตรยศ/เบนาร์นิวส์)

CNY5.jpg

ลูกค้าหาซื้อเสื้อผ้ารับปีเสือ โดยเสื้อผ้าที่พิมพ์ลายเสือขายดีจนสินค้าไม่พอขาย เยาวราช กรุงเทพฯ วันที่ 30 มกราคม 2565 (ยศธร ไตรยศ/เบนาร์นิวส์)

CNY6.jpg

เจ้าหน้าที่วัดอำนวยความสะดวก สำหรับผู้มาไหว้เทพเจ้า ภายในวัดมังกรกมลาวาส หรือ วัดเล่งเน่ยยี่ บรรยากาศยังคงคึกคักเช่นทุกปี วันที่ 31 มกราคม 2565 (ยศธร ไตรยศ/เบนาร์นิวส์)

CNY7.jpg

หญิงสาวอธิษฐานขอพร ในวัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่) วันที่ 31 มกราคม 2565 (ยศธร ไตรยศ/เบนาร์นิวส์)

CNY8.jpg

ประชาชนไหว้เทพเจ้า พร้อมของเซ่นไหว้ ภายในวัดมังกรกมลาวาส (วัดเล่งเน่ยยี่) กรุงเทพฯ วันที่ 31 มกราคม 2565 (ยศธร ไตรยศ/เบนาร์นิวส์)

CNY9.jpg

ประชาชนเลือกซื้อลอตเตอรี่ จากบริเวณแผงขายที่ดักรออยู่ภายนอกวัดมังกรกมลาวาส หรือ วัดเล่งเน่ยยี่ กรุงเทพฯ วันที่ 31 มกราคม 2565 (ยศธร ไตรยศ/เบนาร์นิวส์)

CNY10.jpg

ประชาชนในชุมชนตลาดเก่าเยาวราช ตั้งโต๊ะเซ่นไหว้บรรพบุรษ กรุงเทพฯ วันที่ 31 มกราคม 2565 (ยศธร ไตรยศ/เบนาร์นิวส์)

บรรยากาศเทศกาลตรุษจีนย่านถนนเยาวราช ในปี 2565 ยังมีชาวไทยเชื้อสายจีนออกมาจับจ่ายใช้สอยอย่างหนาตาพอสมควรกว่าปีก่อนหน้า แม้ว่าจะอยู่ช่วงของสถานการณ์โควิด-19 และสินค้าหลายรายการปรับราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อหมูที่มีราคาสูงเป็นพิเศษในปีนี้

ชาวไทยเชื้อสายจีนจากพื้นที่ต่าง ๆ ได้มาจับจ่ายซื้อของที่ย่านเยาวราช อันเป็นศูนย์กลางและพรั่งพร้อมทั้งอาหาร เสื้อผ้าอาภรณ์ และเครื่องไหว้ เพื่อไปเซ่นไหว้เทพเจ้าและบรรพบุรุษ และราคาถูกกว่าย่านอื่น ๆ

“เดิมทีจะซื้อของไหว้เฉพาะกับร้านประจำใกล้บ้าน แต่ปีนี้สินค้ามีราคาแพงและหายากมาก จึงตัดสินใจเดินทางมาซื้อที่เยาวราช แต่ก็ไม่ได้เนื้อหมูตามที่หวัง ได้แค่เป็ดกับไก่แทนในปีนี้ สำหรับเราการจับจ่ายสำหรับตรงส่วนนี้มีความสำคัญมาก เพราะมันคือการแสดงออกถึงการรำลึกบรรพชนที่เป็นรากฐานสำคัญของคนจีนอย่างเรา แพงยังไง หายากยังไง ก็ต้องพยายามหาดูก่อน” น.ส. ปิยวรรณ (สงวนนามสกุล) 32 ปี ชาวอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ด้าน น.ส. สุกันยา (สงวนนามสกุล) อายุ 27 ปี ลูกสาวเจ้าของร้านขายเนื้อสัตว์ ในตลาดเก่าเยาวราช เล่าว่า ด้วยภาวะเนื้อหมูขาดตลาด จึงทำให้เยาวราชปีนี้กลับมาคึกคัก เพราะกลายเป็นแหล่งหาของไหว้หลัก

“ไม่ว่าเศรษฐกิจจะเป็นยังไง พวกเขาก็ยินดีที่จะจ่าย เพื่อความศรัทธาที่สืบทอดต่อกันมาจากบรรพบุรุษ หมูแพงก็จริง แต่เป็ดและไก่ก็ขายดีกว่าเดิม แล้วหมูก็ยังขายได้ ถึงแม้จะแพง ของหายากราคาสูงต้องสั่งจองล่วงหน้า.. มันยิ่งกลายเป็นว่าคนมาหาของที่เยาวราชมากขึ้น เพราะข้างนอกหาไม่ได้ ปีนี้เลยแทบจะไม่กระทบอะไร ขายดีกว่าเดิมด้วยซ้ำ” น.ส. สุกันยา กล่าว

ตรุษจีนปีนี้ตรงกับวันที่ 30 มกราคม เป็นวันจ่าย วันจันทร์ที่ 31 มกราคม 2565 เป็นวันไหว้ ซึ่งในช่วงเช้า พี่น้องชาวไทยเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่ย่านเยาวราชต่างพากันตั้งโต๊ะอาหารนานาชนิด ไม่ว่าจะเป็น หมู เป็ด ไก่ หรือผลไม้ ทั้งยังมีการเผากระดาษเงินกระดาษทอง รวมถึงข้าวของเครื่องใช้จำลองทำด้วยกระดาษ ด้วยเชื่อว่าสามารถอุทิศให้ดวงวิญญาณบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วได้

ในช่วงบ่ายบริเวณวัดมังกรกมลาวาสเต็มไปด้วยผู้ที่เดินทางมาสักการะบูชาเทพเจ้า ตลอดจนแก้ปีชง เพื่อขจัดปัดเป่าโชคร้ายตามความเชื่อของแต่ละคน ซึ่งสวนทางกับความคาดการณ์ของหลายคนที่คิดว่าเยาวราชจะเงียบเหงาซบเซาเหมือนเช่น 2-3 ปีที่ผ่านมา

ชุมชนเยาวราช คือ แหล่งที่อยู่อาศัย และร้านค้าของชาวจีนอพยพในอดีต มีอาณาเขตตั้งแต่คลองโอ่งอางจรดคลองผดุงกรุงเกษม หลังจากที่ไทยลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง สมัยรัชกาลที่ 4 กรุงเทพฯ เริ่มทำการซื้อขายสินค้าจากประเทศตะวันตกมากขึ้น เยาวราชถูกใช้เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนสินค้าสำคัญของกรุงเทพฯ

กระทั่งมีการก่อสร้างถนนยุพราช ในปี พ.ศ. 2435 หรือตรงกับสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ใช้เวลาถึง 8 ปี ถนนความยาว 1.4 กิโลเมตรเส้นนี้จึงสำเร็จ ต่อมารัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานนามถนนแห่งนี้ใหม่ว่า “ถนนเยาวราช” และนับแต่นั้นมา มันได้กลายเป็นถนนเส้นสำคัญที่เชื่อมชุมชนชาวจีนแห่งนี้เข้ากับกรุงเทพฯ และยังคงถูกใช้จากอดีตจนถึงปัจจุบัน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง