ชีวิตปริ่มน้ำ ไร้เงารัฐยื่นมือช่วยเหลือ

ชุมชนมัสยิดท่าอิฐ นนทบุรี ดำรงชีวิตอยู่กับน้ำท่วมร่วมเดือนแล้ว
ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์
2021.10.29
กรุงเทพฯ
flood-3.jpg

ชุมชนมัสยิดท่าอิฐพยายามดำเนินชีวิตต่อไปให้เป็นปกติ ขณะยังประสบปัญหาน้ำท่วมร่วมเดือนแล้ว โดยที่ไม่มีหน่วยงานรัฐเข้ามาช่วยเหลือ จังหวัดนนทบุรี วันที่ 10 ตุลาคม 2564 (ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์/เบนาร์นิวส์)

flood-1.jpg

เด็กมุสลิมชาวชุมชนมัสยิดท่าอิฐ จังหวัดนนทบุรี สนุกกับการเล่นน้ำที่ท่วมสูงเข้าไปในชุมชน วันที่ 10 ตุลาคม 2564 (ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์/เบนาร์นิวส์)

flood-2.jpg

พระสงฆ์วัดไก่เตี้ย จังหวัดปทุมธานี ขณะเดินตรวจสอบระดับน้ำที่ท่วมสูงเข้ามาภายในวัด วันที่ 8 ตุลาคม 2564 (ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์/เบนาร์นิวส์)

flood-4.jpg

ศาลเจ้าโรงเกือก ตลาดน้อย มีปัญหาเรื่องน้ำท่วมทุกปี แต่ปีนี้น้ำสูงกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา กรุงเทพฯ วันที่ 4 ตุลาคม 2564 (ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์/เบนาร์นิวส์)

flood-5.jpg

ชาวบ้านพากันออกมาอาบน้ำ บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่เอ่อท่วมเข้ามาภายในชุมชน จนไม่สามารถมองแยกด้วยตาเปล่าได้ ว่าส่วนใดคือแม่น้ำ จังหวัดนนทบุรี วันที่ 10 ตุลาคม 2564 (ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์/เบนาร์นิวส์)

flood-6.jpg

ชาวชุมชนมัสยิดท่าอิฐ จังหวัดนนทบุรี ขณะนั่งกินน้ำชายามเช้า พร้อมกับน้ำที่ท่วมสูงเข้ามาในร้าน วันที่ 10 ตุลาคม 2564 (ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์/เบนาร์นิวส์)

flood-7.jpg

พระสงฆ์ขณะนั่งสมาธิ ที่วัดไก่เตี้ย จังหวัดปทุมธานี ซึ่งจมอยู่ใต้น้ำมาหลายสัปดาห์แล้ว วันที่ 8 ตุลาคม 2564 (ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์/เบนาร์นิวส์)

flood-8.jpg

ชาวบ้านใช้วิธีการกั้นไม่ให้น้ำท่วมเข้าไปภายในตัวโบสถ์ซางตาครู้ส และชุมชนกุฎีจีน ปีนี้จึงรอดพ้นจากน้ำท่วม กรุงเทพฯ วันที่ 24 ตุลาคม 2564 (ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์/เบนาร์นิวส์)

flood-9.jpg

เจ้าของบ้านหลังหนึ่งภายในชุมชนมัสยิดท่าอิฐ ในจังหวัดนนทบุรี นั่งอยู่ในบ้านที่น้ำท่วมสูงจนถึงเตียงนอน วันที่ 10 ตุลาคม 2564 (ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์/เบนาร์นิวส์)

flood-10.jpg

ผู้ดูแลศาลเจ้าโรงเกือก ขณะย้ายของหนีน้ำ ซึ่งเป็นวันแรกที่น้ำท่วมสูงขึ้นเร็วมาก ย่านตลาดน้อย ในกรุงเทพฯ วันที่ 4 ตุลาคม 2564 (ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์/เบนาร์นิวส์)

เกือบหนึ่งเดือนเต็มที่ชุมชนมัสยิดท่าอิฐ จังหวัดนนทบุรี ต้องใช้ชีวิตอยู่กับน้ำท่วม ในทุก ๆ วัน จะมีช่วงเวลาที่น้ำขึ้นสูงและเข้าท่วมภายในชุมชน จนถึงเวลาน้ำลงจนแห้งไป เป็นอย่างนี้ทุกวัน แต่ไม่เคยมีหน่วยงานของรัฐเข้ามาดูแลแก้ไขปัญหา ลำพังชาวบ้านในชุมชนก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้

“ทำอะไรไม่ได้ ปล่อยให้มันท่วมไป พอน้ำลดค่อยทำความสะอาดเอา เคยกั้นน้ำไม่ให้เข้ามา สุดท้ายน้ำขึ้นมาจากพื้น ดันกระเบื้องระเบิดขึ้นมาหมดเลย งานใหญ่อีก” เสียงจากเจ้าของบ้านหลังหนึ่ง ในชุมชนมัสยิดท่าอิฐ

ลานกว้างหน้ามัสยิดในปัจจุบัน กลายเป็นส่วนน้ำขนาดย่อม เด็ก ๆ ในชุมชนพากันออกมาเล่นน้ำ โดยมีผู้ใหญ่คอยเฝ้าดูแล บางคนใช้ช่วงเวลานี้ฝึกว่ายน้ำไปเลยก็มี พอมีเด็กมารวมตัวกันมากเข้า ก็จะมีร้านค้ามาขายของกิน มีคนเอาของกินมาแจก บรรยากาศจึงคึกคักไม่แพ้สวนน้ำของเอกชน

ไม่ต่างกันกับที่วัดไก่เตี้ย จังหวัดปทุมธานี น้ำเข้าท่วมบริเวณวัดเป็นเวลาหลายสัปดาห์แล้ว พระต้องนำวัว ควาย หมู และไก่ จำนวนหลายสิบตัวที่มีคนไถ่ชีวิตถวายไว้หนีน้ำ และนำเข้าไปเลี้ยงบริเวณรอบโบสถ์ เพราะเป็นที่ที่น้ำท่วมไม่ถึง เพราะเมื่อน้ำลดเป็นปกติก็ต้องเหนื่อยทำความสะอาดกันยกใหญ่

ขณะที่ตัวเมืองกรุงเทพชั้นในทั้งหมด มีเขื่อนกั้นน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ยังพบว่ามีบางแห่งเป็นพื้นที่ฟันหลอ ทำให้น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาไหลเข้าท่วมเป็นประจำ เช่น ที่ศาลเจ้าโรงเกือก ตลาดน้อย เนื่องจากพื้นที่ศาลเจ้าอยู่ระดับต่ำกว่าพื้นที่ข้างนอกมาก และเป็นส่วนฟันหลอของเขื่อนกั้นน้ำ ทำให้เมื่อเวลาน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาขึ้นสูงก็จะไหลเข้าท่วมตัวศาลเจ้า

ต่างกับที่โบสถ์ซางตาครู้ส ชุมชนกุฎีจีน ที่มีการจัดการตัวเองที่ดี ชุมชนร่วมทำคันกั้นน้ำอย่างแน่นหนาบริเวณท่าน้ำหน้าโบสถ์ เพื่อไม่ให้น้ำไหลเข้าไปในบริเวณโบสถ์และชุมชน ทำให้ตัวชุมชนรอดพ้นจากน้ำท่วมมาได้หลายปีแล้ว

การแก้ปัญหา ปรับตัว และอยู่รอดเป็นปกติให้ได้ภายใต้ปัญหาน้ำท่วม กลายเป็นเรื่องปกติไปเสียแล้วสำหรับชาวบ้านในหลายชุมชน

อย่างไรก็ตาม หน้าที่การจัดการแก้ปัญหาไม่ให้น้ำท่วมติดต่อกันทุกปี ควรเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ซึ่งไม่มีแม้กระทั่งการดำเนินการเยียวยาชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม เราจึงเห็นบางชุมชนที่ประสบภาวะน้ำท่วมซ้ำซากในทุก ๆ ปี

 

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง