กรมควบคุมโรคระบุ ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทะลุหลักพัน

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และวิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2020.03.26
กรุงเทพฯ
200326-TH-covid-checkpoint-1000.jpg เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจอุณหภูมิของผู้โดยสารรถประจำทางที่จุดตรวจคัดกรอง เพื่อหยุดการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนา ที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 26 มีนาคม 2563
เอเอฟพี

ในวันพฤหัสบดีนี้ นายแพทย์อนุพงศ์ สุจริยากุล ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทะลุหลักพันราย ภายหลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วประเทศเป็นวันแรก

นายแพทย์อนุพงศ์ ระบุว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้น 111 ราย ทำให้ปัจจุบัน มียอดสะสมทั่วประเทศ 1,045 ราย ขณะที่ผู้เสียชีวิตยังคงที่เท่าเดิม คือ 4 ราย

“พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 111 ราย รวมผู้ป่วยสะสมถึงวันนี้ 1,045 ราย มีเคสเสียชีวิตอยู่ 4 ราย มี 88 ราย ที่กลับบ้านแล้ว อาการหนักอยู่ 4 ราย ที่ยังอยู่อยู่โรงพยาบาล 953 ราย มีทั้งอาการไม่รุนแรง และอาการรุนแรงปานกลาง จุดเปลี่ยนประเทศไทยอยู่วันที่ 15 มีนา ซึ่งมีการรายงานเพิ่มขึ้นเป็นหลักสิบ จนกระทั่งถึงหลักร้อย สองสามวันนี้ ค่อนข้างคงตัวเป็นหลักร้อย” นพ.อนุพงศ์ กล่าว

นพ.อนุพงศ์ กล่าวอีกว่า การประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จะช่วยชะลอการแพร่เชื้อของโควิด-19 ไปให้เพิ่มถึง 3,500 ในตอนสิ้นเดือนเมษายนนี้ ซึ่งก่อนการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข มีความกังวลใจว่า ไทยจะมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 3.5 แสนราย ภายในวันที่ 15 เมษายน 2563

“ถ้าเราดูตัวเลข ถ้ามันเพิ่มขึ้นประมาณร้อย จนกระทั่งถึง 30 เมษา เราก็คงมีผู้ป่วยถึงประมาณ 3.5 พัน ทั้งประเทศ ถ้าหากมาตรการที่ออกมาไม่แรงพอ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ที่ประกาศออกมาแล้ว สิ่งเหล่านี้ ก็จะช่วยหน่วงสถานการณ์ ผมก็คาดหวังว่าประเทศไทยคงไม่ไปถึงตัวเลข 3.5 ในสิ้นเมษา” นพ.อนุพงศ์ กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อนการประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉิน ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เปิดเผยข้อมูลว่า ประเทศไทยมีอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อคล้ายกับประเทศเยอรมนี คือ 33% ต่อวัน ซึ่งหากยังคงอัตราการเพิ่มระดับนี้ ภายในวันที่ 15 เมษายน 2563 ไทยจะมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 3.5 แสนราย

ทั้งนี้ได้มีการเตรียมพื้นที่สำหรับรองรับผู้ป่วย เช่น ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 308 เตียง จากรายงานของเพจ Covid-19 Fact Thailand เป็นต้น

ในวันนี้ กระทรวงสาธารณสุขระบุว่า พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์ เพิ่มเติมอีก 3 ราย โดยพบในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ มุกดาหาร และกรุงเทพฯ ทำให้ปัจจุบัน มีบุคลากรทางการแพทย์ติดเชื้อสะสม 9 รายแล้ว

ต่อประเด็นนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ตนยังไม่ทราบการติดเชื้อในหมู่บุคลากรทางการแพทย์ แต่แสดงความไม่พอใจหากมีจริง

“เท่าที่ผมได้รับรายงานมา การติดเชื้อของแพทย์จากการปฏิบัติหน้าที่ให้การรักษาโควิด ยังไม่มี นี่คือสิ่งที่จะต้องไปหวดกัน อันนี้ ต้องยอมรับ พวกเราก็ไม่พอใจ สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่เฝ้าระวังตัวเอง ซึ่งเราควรจะต้องเป็นบุคคลตัวอย่าง ต้องรู้ตัวว่าช่วงนี้มีสถานการณ์ระบาด โรคแบบนี้เราต้องเซฟตัวเองให้มากที่สุด.. ขอให้บรรดาแพทย์ พยาบาล รักษาตัวเองเป็นอย่างดี… เป็นสิ่งที่ต้องระวัง มัวแต่ไประวังของนอกบ้าน ของนอกบ้านบางทียังหละหลวมอยู่ ก็ต้องขออภัยด้วย และจะไม่ให้เกิดขึ้นอีก” นายอนุทิน กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว

บรรยากาศหลังประกาศ พรก.ฉุกเฉิน

เมื่อวันพุธที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศสภาวะฉุกเฉิน โดยใช้อำนาจตาม พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน มีผลตั้งแต่การเริ่มต้นของวันที่ 26 มีนาคม 2563 (หลังเที่ยงคืนวันที่ 25) ซึ่งมีมาตรการหลายมาตรการที่เข้มงวดขึ้น เช่น ห้ามการเข้าออกประเทศ ตั้งด่านตรวจระหว่างจังหวัด ป้องกันการกักตุนสินค้า และเข้มงวดเรื่องการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการระบาดโควิด-19 ทำให้ปัจจุบัน ทั่วประเทศมีการตั้งด่านสกัด เพื่อคัดกรองคนที่สัญจรไปมาแล้ว โดยเบื้องต้น พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะมีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563

ในวันนี้ พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) ในฐานะผู้อำนวยสถานการณ์โควิด-19 ด้านความมั่นคง ได้แถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า รัฐบาลจำเป็นต้องเข้มงวดเพื่อคุมสถานการณ์การระบาด โดยจะดำเนินมาตรการจากเบาไปหาหนัก

“ความพยายามก่อนหน้านี้ที่รัฐบาลพยายามใช้กลไกปกติในการบริหาร... แต่เมื่อมาถึงจุดจุดหนึ่งที่ตัวเลขได้ชี้แล้วว่า อาจจะไปมากกว่านี้ รัฐบาลจึงจำเป็นต้องยกระดับขึ้น จุดตรวจ ขณะนี้จนถึงปัจจุบัน ได้ตั้งขึ้น 357 แห่งทั่วประเทศ จะมี 7 แห่ง อยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ” พล.อ.พรพิพัฒน์ ระบุ

ด้าน พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ตั้งแต่ 00.01 น. ตำรวจ ฝ่ายปกครอง สาธารณสุข ขนส่ง อาสาสมัคร และประชาชนจิตอาสาได้ร่วมทำงานตามจุดคัดกรอง เบื้องต้นมี 357 จุดทั่วประเทศ ใน กทม. 7 จุด และอาจจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ตามสถานการณ์ และอาจจะมีการย้ายจุดเพื่อความเหมาะสมได้

“เมื่อท่านเจอจุดตรวจ กรุณาจอดรถ หมุนกระจกลง เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบว่า ท่านได้ดำเนินการตามที่แนะนำหรือเปล่า ใส่หน้ากากอนามัยหรือไม่ ผู้โดยสารนั่งอยู่ในรถเบียดกันแน่นหรือเปล่า อยู่ในระยะห่างที่เหมาะสมหรือไม่ ถ้าเจ้าหน้าที่ขอให้ท่านลงรถ เพื่อจะตรวจสอบได้ง่ายขึ้น ก็ขอให้ความร่วมมือ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะตรวจไข้ ถ้าเป็นคนในพื้นที่ เช่น จะเข้าจังหวัดเชียงใหม่ แล้วมีภูมิลำเนาในจังหวัดเชียงใหม่ อุณหภูมิเกิน 37.5 เจ้าหน้าที่จะดำเนินการนำตัวท่านเข้าสู่กระบวนการของการคัดกรองต่อ” พล.ต.ท.ปิยะ กล่าว

ส่วนภาคใต้ นายเอกรัฐ หลีเส็น ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ได้ออกคำสั่งกำหนดพื้นที่ 5 ตำบลใน จ.นราธิวาส เป็นพื้นที่เสี่ยง ห้ามไม่ให้ผู้ใดเข้าออกพื้นที่ ตั้งแต่วันที่ 26 มี.ค. - 8 เม.ย. รวม 14 วัน คือ ต.รือเสาะนอก อ.รือเสาะ, ต.แว้ง อ.แว้ง, ต.มาโมง อ.สุคิริน, ต.ปาเสมัส อ.สุไหงโก-ลก และ ต.บูกิต อ.เจาะไอร้อง ซึ่งมีผู้ติดเชื้อรวม 6 ราย ทั้งนี้ ยอดผู้ติดเชื้อในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (รวมสงขลาทั้งจังหวัด)

นางนิธิมา ลามะ ชาวบ้านในตำบลรือเสาะนอก กล่าวว่า การประกาศปิดตำบลดังกล่าว ไม่ได้มีผลกระทบกับตน

“ตอนนี้ ยังไม่ได้กระทบอะไร เราอยู่ในพื้นที่มี พรก.มา 15 ปี แล้ว และยังรู้สึกปกติ เพราะประกาศออกมาตั้งแต่ 14:00 น. แล้ว เรายังสามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ วันนี้สิ่งที่คนที่นี่จะต้องทำ คือ 20:00 น. ทุกคนต้องอยู่ในบ้าน ห้ามออกไปไหนมาไหน การจำกัดพื้นที่แค่ 1 เดือน เราน่าจะไม่มีปัญหาอะไร แต่ก็ต้องรอดูพรุ่งนี้ตอนนี้ยังบอกไม่ถูก” นางนิธิมา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ในภูเก็ต ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้ออกเคอร์ฟิวเป็นเวลาสั้นๆ ระหว่างห้าโมงเย็นถึงเที่ยงคืน ระบุให้นักท่องเที่ยวที่พักในโรงแรม คอนโด งดออกนอกที่พักในช่วงห้าโมงเย็นถึงเที่ยงคืนของเมื่อวานนี้

หน่วยงานขนส่งหลายหน่วยงานได้ออกมาตรการเพื่อให้สอดคล้องกับ พรก.ฉุกเฉิน โดยนายจิรศักดิ์ เยาว์วัชสกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด เปิดเผยว่า บขส. ได้ดำเนินมาตรการเว้นระยะห่างของที่นั่งบนรถโดยสาร สถานีขนส่ง และจำกัดการเดินทางของผู้โดยสาร ปัจจุบัน ตั๋วโดยสารรถ บขส. เต็มทุกที่นั่งแล้ว ตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม- 30 เมษายน 2563 และไม่สามารถจัดรถเสริมให้ได้ ดังนั้น ผู้โดยสารที่จองตั๋วล่วงหน้าจะสามารถเดินทางได้ปกติ แต่ผู้โดยสารที่ยังไม่ได้จองตั๋วให้งดเดินทางมายังสถานีขนส่ง

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศทยอยยกเลิกเที่ยวบินระหว่างประเทศทุกเที่ยว โดยเริ่มมีผลตั้งแต่วันพุธที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการยกเลิกเที่ยวบิน 2.2 หมื่นเที่ยว จนถึงเดือนตุลาคม 2563 ส่วนการบินในประเทศจะให้สายการบินไทยสไมล์ดำเนินการบินแทน

ฮิวแมนไรท์วอทช์แถลงให้ทางการไทยหยุดคุกคาม-ดำเนินคดี ข้อหาข่าวปลอม

ฮิวแมนไรท์วอทช์ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ทางการไทยหยุดคุกคาม และดำเนินคดีข้อหาเฟกนิวส์ กับผู้ที่วิจารณ์มาตรการรับมือวิกฤตโควิด-19 ของรัฐ ระบุการประกาศ พ.ร.ก.สถานการณ์ฉุกเฉิน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ วันที่ 26 มี.ค. 2563 ได้เพิ่มความกังวลว่ารัฐบาลจะกดขี่เสรีภาพในการแสดงออกมากขึ้น เพราะให้อำนาจรัฐบาลในการเซ็นเซอร์สื่อและการวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ได้อย่างไม่มีข้อจำกัด

“เจ้าหน้าที่ไทยเหมือนตั้งใจที่จะปกปิดการวิพากษ์วิจารณ์ของสื่อและประชาชนทั่วไป ในเรื่องมาตรการการรับมือวิกฤตโควิด-19 ของรัฐ” แบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทำให้รัฐบาลมีอำนาจเซ็นเซอร์สื่อและข้อมูลได้อย่างเสรี”

ฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุว่า เมื่อวันที่ 23 มีนาคม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุม นายดนัย อุศมา ศิลปิน วัย 42 ปี ที่หอศิลป์ ในจังหวัดภูเก็ต ในข้อหาละเมิดมาตรา 14 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่ง "นำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยอาจก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่สาธารณชน" หากพบว่าผิดจริง จะถูกลงโทษจำคุกห้าปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาท (3,050 ดอลลาร์สหรัฐ)

ในรายงาน "มิติสิทธิมนุษยชนในการรับมือโควิด-19" ฮิวแมนไรท์วอทช์ได้แสดงความวิตกว่า ประเทศไทยกำลังกำจัดเสรีภาพในการแสดงออก ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 บุคลากรในภาคสาธารณสุข นักข่าวออนไลน์ และผู้ที่วิจารณ์ มาตรการรับมือการแพร่ระบาด และการทุจริตคอร์รัปชันกักตุนหน้ากากอนามัยป้องกันโรค และอุปกรณ์ป้องกันโรคต่างๆ ล้วนถูกข่มขู่ลงโทษทางวินัย ดำเนินคดี รวมถึงการยกเลิกสัญญาการจ้างงาน และเพิกถอนใบอนุญาต เมื่อพูดถึงปัญหาการขาดแคลนเวชภัณฑ์ที่จำเป็น ในโรงพยาบาลทั่วประเทศ

สำหรับประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2563 กระทรวงสาธารณสุขได้แถลงข่าวว่า พบผู้ป่วยโควิด-19 จากประเทศจีน 1 ราย โดยได้ส่งเข้าดำเนินการรักษาจนหายแล้ว ต่อมาวันที่ 17 มกราคม 2563 และหลังจากนั้นได้พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นตามลำดับ กระทั่งปัจจุบัน

ปัจจุบัน ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 521,086 คน มีผู้ติดเชื้ออย่างน้อยใน 175 ประเทศ มีผู้เสียชีวิต 23,568 คน รักษาหายแล้ว 122,058 คน ประเทศที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดคือ อิตาลี สเปน จีน อิหร่าน และฝรั่งเศส เป็นต้น

ประเทศที่มีผู้ป่วยมากที่สุดคือ จีน อิตาลี สหรัฐอเมริกา สเปน เยอรมนี และประเทศอื่น ๆ ตามลำดับ โดยองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้การแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่ในขั้นโรคระบาดใหญ่ หรือ Pandemic แล้ว

มารียัม อัฮหมัด มีส่วนร่วนในการรายงานข่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง