ไทยมุสลิม : จุฬาราชมนตรีรวมพลังแสดงความภักดีต่อกษัตริย์

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2020.11.10
กรุงเทพฯ
201110-TH-Sheikhul-islam-monarchy-650.jpg ชาวไทยมุสลิมหลายพันคนรวมตัวกัน ที่ศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติ เขตหนองจอก กทม. พร้อมเครื่องแต่งกายสีเหลือง เพื่อร่วมประกาศเจตนารมณ์ในการปกป้องสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
เบนาร์นิวส์

ในวันอังคารนี้ นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี เป็นประธานจัดงานในพิธี “รวมพลังมุสลิม ปกป้องสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ตามที่สำนักจุฬาราชมนตรี คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย คณะกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร และคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด ร่วมกันจัดขึ้น โดยมีผู้เข้าร่วมงานราว 6,000 คน ประกอบด้วยชาวไทยมุสลิมจากทั่วประเทศที่ร่วมกันใส่ชุดสีเหลือง รวมถึงเครื่องแต่งกายที่เป็นสีของธงชาติไทย จัดขึ้นที่หอประชุมศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติ เฉลิมพระเกียรติ กรุงเทพฯ

นายอาศิส กล่าวเปิดงาน โดยขอให้พี่น้องมุสลิมได้แสดงความจงรักภักดีและความรักความห่วงใยในสถาบันหลักของประเทศ ที่ช่วยให้คนไทยทุกเชื้อชาติ ทุกศาสนา อยู่ร่วมกันได้ด้วยความผาสุข รวมถึงมีสิทธิและเสรีภาพในการดำเนินชีวิต สามารถประกอบศาสนกิจตามความเชื่อของแต่ละศาสนา โดยเฉพาะมุสลิมที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จึงขอให้การจัดงานรวมพลังวันนี้ เป็นเครื่องเตือนสติให้มีความสามัคคี มีความอะลุ้มอล่วย ประนีประนอม เพื่อให้เกิดความสงบสุขในบ้านเมือง

นอกจากนี้ภายในงานยังมีเสวนาเรื่อง “สถาบันพระมหากษัตริย์ กับมุสลิมในแผ่นดินไทย” โดยวิทยากรคือนายประสาน ศรีเจริญ รองประธานคณะผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี นายอนันต์ วันแอเลาะ รองประธานกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย พลตำรวจตรี สุรินทร์ ปลาเร่ เลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย และนายสมัย เจริญชาง กรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร ดำเนินรายการโดย นายสมาน งามโขนง โมษกประจำสำนักงานคณะกรรการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย

โดย พล.ต.ต.สุรินทร์ กล่าวในวงเสวนาว่า วัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมวันนี้ เพื่อปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และในมุมมองของชาวมุสลิม สถาบันพระมหากษัตริย์ มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะมีชาวมุสลิมอยู่ในประเทศไทยกว่า 10 ล้านคน เป็นการปกป้องสถาบันและการจาบจ้วงสถาบันที่ชาวมุสลิมยอมไม่ได้

“เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ในสังคมไทย ที่สำคัญยิ่ง เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยมุสลิม นับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก ศาสนาอิสลามจึงส่งเสริมให้แสดงความกตัญญูและสำนึกในบุญคุณของผู้มีพระคุณ โดยเฉพาะผู้ที่ช่วยทำนุบำรุงความจำเริญของศาสนา และเพื่อให้พี่น้องมุสลิมได้ร่วมกันขอพร ให้สังคมและประเทศชาติมีความร่มเย็นเป็นสุข” พล.ต.ต.สุรินทร์ กล่าว

ขณะที่ นายอนันต์ วันแอเลาะ รองประธานกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย กล่าวเช่นเดียวกันว่าถ้าวันนี้เราไม่มีพระมหากษัตริย์ เราคงไม่มีผืนแผ่นดินอยู่ เราคงไม่รู้ว่าจะเป็นไปโรฮิงญา หรือไปเป็นชาติไหน ก็ไม่ทราบเหมือนกัน การที่เรามีผืนแผ่นดิน เรามีชาติอยู่ในขณะนี้ ก็เพราะบูรพกษัตริย์ตั้งแต่สมัยสุโขทัย กรุงศรีอยุธยา ตลอดจนกรุงธนบุรี กรุงรัตนโกสินทร์ ได้ใช้เลือดทาแผ่นดิน เพื่อปกป้องไว้ซึ่งบูรณภาพและอธิปไตยแห่งดินแดน

เช่นเดียวกับนายประสาน ศรีเจริญ รองประธานคณะผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี กล่าวว่าเหตุผลที่ชาวมุสลิมจำนวนมากมารวมตัวในวันนี้ เพราะสถานที่แห่งนี้ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง เป็นเรื่องของศาสนา และจุฬาราชมนตรี รวมถึงคณะกรรมการฯ ต้องเป็นกลางทางการเมือง ชาวมุสลิมจึงไม่มีทางออกในการแสดงออกถึงความจงรักภักดี เมื่อคณะกรรมการกลางอิสลามเปิดช่องให้ ชาวมุสลิมจึงเดินทางมาแสดงพลัง

“ส่วนกรณีที่มีชาวมุสลิมส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการจัดกิจกรรมนั้น ไม่สามารถห้ามคนพูด ห้ามคนคิดได้ และอาจจะยังไม่เข้าใจ ดังนั้นจะต้องทำความเข้าใจ และที่ถูกมองว่าฝักใฝ่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดนั้น ขอย้ำว่าการจัดกิจกรรมไม่มีการพูดถึงฝ่ายใด แต่เป็นการสำนึกในฐานะพสกนิกรชาวมุสลิมที่อยู่ภายใต้สถาบันพระมหากษัตริย์” นายประสาน กล่าวในวงเสวนา

ที่ผ่านมาพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชภารกิจเกี่ยวกับศาสนาอิสลามอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจุฬาราชมนตรี คณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทย ดาโต๊ะยุติธรรม ซึ่งเป็นข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ซึ่งมีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายอิสลามในศาลยุติธรรม ที่เน้นบริหารงานด้านศาสนา การพิจารณาปัญหาศาสนาโดยเฉพาะคดีครอบครัวและมรดก ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ นอกจากนี้ยังทรงมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานกฤษฎีกาว่าด้วยการศาสนูปถัมภ์ฝ่ายอิสลาม พระราชบัญญัติว่าด้วยครอบครัว มรดก ในสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และพระราชบัญญัติว่าด้วยกิจการฝ่ายศาสนาอิสลามในปัจจุบัน

ขณะที่พระราชกรณียกิจที่ทรงพระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทยมุสลิมนั้น ถูกกล่าวขึ้นในวงเสวนาวันนี้ โดย นายประสาน ศรีเจริญ รองประธานคณะผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี กล่าวว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 มีดำริให้แปลอัลกุรอานเป็นภาษาไทย นับเป็นในหลวงองค์แรกบนโลกใบนี้ ที่เห็นความสำคัญของอัลกุรอาน นี่เป็นความเฉลียวฉลาดและเป็นความเมตตาของสถาบันพระมหากษัตริย์

โดยในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้มอบหมายให้ นายต่วน สุวรรณศาสน์ อดีตจุฬาราชมนตรี แปลและจัดพิมพ์อัลกุรอานฉบับความหมายภาษาไทย นอกจากนี้ยังทรงเสด็จพระราชดำเนินไปในงานเมาลิดกลางแห่งประเทศไทยเป็นระยะเวลาหลายปีอีกด้วย

ในช่วงท้ายของกิจกรรม นายอรุณ บุญชม ประธานคณะผู้ทรงคุณวุฒิจุฬาราชมนตรี ได้ประกาศเจตนารมณ์โดยชาวไทยมุสลิมยืนยันว่า สถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เป็นรากฐานสำคัญของสังคมไทย และสร้างความร่มเย็นเป็นสุข ให้อยู่ร่วมกันอย่างเป็นปกติสุขเสมอมา

“ทั้งนี้จุฬาราชมนตรี คณะกรรมการกลางฯ รวมถึงองค์กรศาสนาอิสลามทุกระดับ เห็นว่าปัจจุบันมีความขัดแย้งเห็นต่างของประชาธิปไตย จนเป็นผลกระทบต่อต้นทุนของไทยอย่างน่าวิตก แต่องค์กรศาสนาต้องดำรงตนเป็นกลางทางการเมือง แต่ก็มีความห่วงใย จึงต้องจัดกิจกรรมเพื่อปลูกจิตสำนึกให้เห็นรากเหง้าสังคมไทย และชาวไทยมุสลิมจึงมีหน้าที่ปกป้องสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ให้คงอยู่ต่อไป” ส่วนหนึ่งในแถลงการณ์ ระบุ

อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พ.ศ. 2540 ระบุขอบเขตอำนาจหน้าที่ของจุฬาราชมนตรี เอาไว้ว่า (1) ให้คําปรึกษาและเสนอความเห็นต่อทางราชการเกี่ยวกับกิจการศาสนาอิสลาม (2) แต่งตั้งคณะผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม (3) ออกประกาศแจ้งผลการดูดวงจันทร์ เพื่อกําหนดวันสําคัญทางศาสนา (4) ออกประกาศเกี่ยวกับข้อวินิจฉัยตามบัญญัติแห่งศาสนาอิสลาม

จากพระราชบัญญัติดังกล่าวส่งผลให้มุสลิมไทยจำนวนหนึ่ง ออกมาแสดงความเห็นในโซเชียลมีเดีย  ตั้งคำถามถึงความเหมาะสมที่องค์กรด้านศาสนา อย่างสำนักจุฬาราชมนตรี จัดกิจกรรมที่อาจเกี่ยวข้องกับการเมือง ในยามที่คนในชาติกำลังมีความคิดเห็นแบ่งเป็นฝักฝ่าย ขณะที่บางส่วนเห็นด้วยกับการจัดกิจกรรมนี้

จึงทำให้สำนักจุฬาราชมนตรีต้องออกแถลงการณ์ เพื่อชี้แจงวัตถุประสงค์ของการจัดงาน “รวมพลังมุสลิม ปกป้องสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เมื่อวันที่ 8 พ.ย. ชี้แจงว่างานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ในสังคมไทย เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยมุสลิม จากอดีตถึงปัจจุบัน

“ปัจจุบันสังคมไทยมีความขัดแย้งและความเห็นต่างทางการเมืองสูง กระนั้นสำนักจุฬาราชมนตรี และองค์กรศาสนาอิสลามทุกระดับเป็นองค์กรศาสนาที่ต้องดำรงความเป็นกลางทางการเมือง อย่างไรก็ตาม เราตระหนักว่าคู่ขัดแย้งทางการเมืองทุกฝ่ายขณะนี้นั้น ต่างมีจุดยืนที่เห็นตรงกันในการปกปักรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ เพื่อเป็นสถาบันหลักในสังคมไทยสืบไป เพื่อเป็นการหาทางออกให้สังคมไทย จึงขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเปิดพื้นที่ เพื่อการพูดคุยหาทางออกให้สังคมอย่างมีไมตรีจิตและเคารพการแสดงความคิดเห็นของทุกภาคส่วน และประการสำคัญ พึงระลึกว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องล้วนเป็นคนไทยด้วยกัน ให้มีการอำนวยความยุติธรรมแก่ทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อสร้างความสงบสันติให้เกิดขึ้นในสังคมไทยโดยเร็ววัน” ส่วนหนึ่งในแถลงการณ์ของสำนักจุฬาราชมนตรี ระบุ

มุสลิมไทยบางส่วนย้ำ ‘สำนักจุฬาราชมนตรี’ ควรเป็นกลางทางการเมือง

เมื่อวันศุกร์ที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ชาวไทย-มุสลิมกว่า 100 คน ได้เผยแพร่จดหมายเปิดผนึกถึงจุฬาราชมนตรี เกี่ยวกับความกังวลที่มีต่อการที่สำนักจุฬาราชมนตรีจะจัดงาน “รวมพลังมุสลิม ปกป้องสถาบัน ชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ในวันนี้ โดยจดหมายดังกล่าวระบุว่า สำนักจุฬาราชมนตรีควรวางตัวเป็นกลาง และไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

จดหมายเปิดผนึกฉบับดังกล่าวถูกเขียนโดยผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ ลาลาโต เพชรบุรี โดยเนื้อความของจดหมายชี้ว่าการจัดกิจกรรมในนามของสำนักจุฬาราชมนตรี อาจส่งผลให้เกิดความแตกแยก โดยเห็นว่าจุฬาราชมนตรีไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

“ขอให้ทบทวนการจัดงาน “รวมพลังมุสลิม ปกป้องสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์”… สำนักจุฬาราชมนตรี เป็นองค์กรสูงสุด ของศาสนาอิสลาม ซึ่งทุกคนที่เป็นมุสลิมได้ยึดถือ จึงไม่ควรที่จะใช้ชื่อ สำนักจุฬาราชมนตรี เข้าไปเกี่ยวข้องกับความแตกแยกทางความคิดในครั้งนี้… ไม่ควรจะนำองค์กรศาสนาเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองในครั้งนี้ ซึ่งไม่มีศาสนาใดเลยที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวในเรื่องนี้” ตอนหนึ่งของจดหมาย ระบุ

จดหมายฉบับนี้ซึ่งปัจจุบัน มีคนเผยแพร่ต่อกว่า 200 ครั้ง ได้ระบุข้อกังวลที่อาจเกิดขึ้นจากการจัดกิจกรรมว่า 1. พี่น้องต่างศาสนิกจะมองว่าศาสนาอิสลามเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองในครั้งนี้ เลือกข้างทำให้เกิดความแตกแยกระหว่างสองความคิดที่เกิดขึ้น ซึ่งคนต่างศาสนิกจะมองศาสนาอิสลามในด้านลบ ทำให้ศาสนาอิสลามมีความขัดแย้งไปด้วย และ 2. พี่น้องมุสลิมของเราเองต้องยอมรับว่า มีความคิดแตกต่างกันในทางความคิด ก็จะมีความแตกแยกกันและจะมองว่า สำนักจุฬาราชมนตรี ซึ่งเป็นองค์กรศาสนาอิสลามสูงสุดไม่ยุติธรรม และไม่เป็นกลาง ความเชื่อมั่นในองค์กรก็จะลดน้อยลง ความเชื่อใจก็จะลดน้อยลง จะมีผลในด้านลบต่อไปในอนาคต

“เราสามารถไม่ต้องใช้ชื่อ สำนักจุฬาราชมนตรีได้ โดยการใช้ในนามของบุคคล หรือปัจเจกบุคคลไป จะเป็นสถานที่ เช่น มุสลิมบางกะปิปกป้องสถาบัน... สิ่งที่ผมขอให้ทบทวนเรื่องนี้ เพื่อปกป้องศาสนาอิสลาม ซึ่งเป็นสิ่งสูงสุดของพี่น้องมุสลิมทุก ๆ คน” ตอนท้ายของจดหมาย ระบุ

ต่อการชุมนุมดังกล่าว นายศโรมรณ์ รอนดิน นักวิจัยชาวมุสลิมในกรุงเทพฯ วัย 30 ปี เผยกับเบนาร์นิวส์ว่างานที่จัดในวันนี้ จุฬาราชมนตรีทำเกินหน้าที่ไปมาก และแทนที่จะเป็นสถาบันที่คอยปกป้องมุสลิมในประเทศไทย กลับเป็นตัวแทนของกลุ่มคนเพียงกลุ่มหนึ่ง เพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์เพียงอย่างเดียว

“หนึ่งในภารกิจของจุฬาฯ ในฐานะตัวแทนของมุสลิมในประเทศไทย คือต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เป็นนามธรรม ดั่งเช่นความศรัทธาของแต่ละคนด้วย ดังนั้นการงานที่คอยประคับประคองความศรัทธาของมุสลิม ต้องทำให้ชัดเจน ไม่ใช่เป็นผู้นำในการงานที่ส่อเสี่ยงต่อความด่างพร้อยในความศรัทธา” นายศโรมรณ์ กล่าว

เช่นเดียวกับนายอิมรอน สาโรวาท ชาวมุสลิม อายุ 57 ปี สัปปบุรุษประจำมัสยิดแห่งหนึ่ง ในกรุงเทพฯ  กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า การจัดงานในวันนี้เป็นการทำงานเกินหน้าที่ไปมาก ถ้าหากเปรียบเทียบกับ พรบ.อิสลาม การทำเกินหน้าที่แบบนี้ได้ผลักเอาคนที่ไม่เห็นด้วยไปอยู่อีกฝั่งหนึ่งอย่างเลี่ยงไม่ได้

“ความคิดเห็นทางการเมืองของมุสลิมก็หลากหลายเหมือนกับที่มีมุสลิมหลายกลุ่มนั่นแหละ ถ้าจุฬาฯ ทำแบบนี้ ก็เท่ากับว่าตัวเองเลือกข้าง ทิ้งให้คนอีกกลุ่มหนึ่งแปลกแยกออกจากตัวเองไปเลย” นายอิมรอน กล่าว

มารียัม อัฮหมัด ในปัตตานี และคุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง