ศาลยกคำร้องปิดวอยซ์ทีวี-เฟซบุ๊กเพจเยาวชนปลดแอก

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และวิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2020.10.21
กรุงเทพฯ
201021-TH-protesters-demand-1000.jpg แกนนำคณะราษฎรได้ยื่นหนังสือข้อเรียกร้องแก่รัฐบาล หลังเคลื่อนขบวนสู่ทำเนียบรัฐบาล ที่สะพานชมัยมรุเชฐ กรุงเทพฯ วันที่ 21 ตุลาคม 2563
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ในวันพุธนี้ ศาลอาญา ให้ยกเลิกคำสั่งและยกคำร้องของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เรื่องขอปิดแพลตฟอร์มสื่อออนไลน์วอยซ์ทีวี-เยาวชนปลดแอกที่ยื่นมา เนื่องจากคำร้องดังกล่าวไม่แสดงเหตุชัดเจนในความผิด และรัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติคุ้มครองเสรีภาพสื่อในการเสนอข่าว ซึ่งก่อนหน้านี้ คำสั่งที่ว่ามีการปิดทุกช่องทางแพลตฟอร์มของสื่อ เมื่อพิจารณาแล้วไม่ถูกต้อง จึงมีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งและยกคำร้องของกระทรวงดิจิทัลฯ

เนื่องจากเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ได้ออกคำสั่งให้ตรวจสอบและระงับการออกอากาศรายการของวอยซ์ทีวี, ประชาไท, เดอะสแตนดาร์ด และ เดอะรีพอร์ตเตอร์ รวมถึงแฟนเพจเยาวชนปลดแอก ซึ่งในวันต่อมา ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าวว่าศาลมีคำสั่ง เป็นการปิดทุกแพลตฟอร์มทางอินเทอร์เน็ตของว้อยซ์ทีวี ซึ่งไม่ถูกต้อง

“ดีอีเอสไม่ได้แสดงให้เห็นว่า ข้อความใดผิดกฎหมายชัดเจน และรัฐธรรมนูญมีเจตนาคุ้มครองสื่อมวลชนในการเสนอข่าว” ตอนหนึ่งของคำสั่งศาลระบุ

ต่อมาในเวลาหนึ่งทุ่ม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีแถลงการณ์ขอให้ผู้ชุมนุมถอยคนละก้าว โดยระบุว่า รัฐสภาคือทางออกของการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศ ขณะเดียวกันวันนี้ ผู้ชุมนุมในนามคณะราษฎร ได้นัดชุมนุมกันที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ก่อนเคลื่อนขบวนสู่ทำเนียบรัฐบาล

นอกจากนั้น ในแถลงการณ์ภาษาอังกฤษที่แจกจ่ายไปยังสื่อมวลชน ยังมีการระบุว่า พลเอก ประยุทธ์ จะเริ่มลดความตึงเครียดก่อน ด้วยการเตรียมที่จะยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ก่อนรุ่งเช้าของวันที่ 15 ตุลาคม นี้

พล.อ.ประยุทธ์ ได้มีแถลงการณ์ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจชื่อ “ถอยคนละก้าว เข้าสภา ใช้สติและปัญญา แก้ปัญหาร่วมกัน” ระบุว่า ตนเองในฐานะผู้บริหารประเทศ จำเป็นต้องรักษาสมดุลความเห็นของคนในประเทศ จึงจำเป็นต้องขอให้ผู้ชุมนุมถอยคนละก้าว เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่จะเกิดขึ้น

“วิธีเดียวที่เราจะได้ทางออกของปัญหา ที่จะยุติธรรมสำหรับทุกฝ่าย ทั้งสำหรับประชาชนที่ออกมาอยู่บนท้องถนน และสำหรับประชาชนอีกหลายสิบล้านคนที่ไม่ได้ออกมา คือการพูดคุยกัน ทำงานด้วยกัน ผ่านระบบ และกระบวนการของรัฐสภา” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

“ผมรู้ว่าเส้นทางนี้อาจจะต้องใช้เวลาและอาจจะไม่รวดเร็วทันใจ แต่เส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่จะไม่สร้างความเสียหายให้กับประเทศ ซึ่งเราต้องแสดงความใจเย็น และความเป็นผู้ใหญ่ในตัวของเราทุกคนออกมา กล้าที่จะเดินในเส้นทางสายกลาง” พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ

“ผู้ประท้วงได้แสดงความคิดของเค้าแล้ว เสียงและความคิดของพวกเค้า ถูกได้ยินโดยทุกฝ่ายและทุกคนเป็นที่เรียบร้อย ตอนนี้จึงเป็นเวลาที่เหมาะสม ที่จะนำความคิด และความต้องการของผู้ประท้วง มาพิจารณาร่วมกับความต้องการของประชาชนส่วนอื่น ๆ ในสังคมไทย หาเส้นทางที่เหมาะสมและเห็นชอบร่วมกันส่วนใหญ่ ผ่านกระบวนการในระบบรัฐสภา” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

การชุมนุมนำโดยเยาวชนที่ประกาศให้ผู้ชุมนุมทุกคนเป็น “คณะราษฎร” เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ทั่วประเทศตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 โดยมีการยกระดับการชุมนุมกระทั่งมีผู้ร่วมชุมนุมกว่า 1 แสนคน ในเดือนกันยายน 2563 และมีการชุมนุมใหญ่อีกครั้งในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 โดยได้เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ “ประกาศยุบสภา แก้ไขรัฐธรรมนูญ และมีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์”

หลังจากมีการขัดขวางขบวนเสด็จของสมเด็จพระนางเจ้าสุทธิดา ในตอนเย็นของวันที่ 14 ตุลาคม พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่เวลา 04.00 น. ของวันถัดมา มีการเข้าสลายการชุมนุมประชาชนที่ข้างทำเนียบรัฐบาล และจับแกนนำการปราศรัย ต่อมาในวันที่ 16 ตุลาคม มีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฉีดน้ำผสมสารเคมี ใส่ผู้ชุมนุม และสื่อมวลชน ที่แยกปทุมวัน

อย่างไรก็ตาม พลเอก ประยุทธ์ ได้แถลงว่า ฝ่ายผู้ชุมนุมใช้คีมเหล็กทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมทั้งการใช้ความรุนแรงอื่น ๆ

“เมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา เราได้เห็นเหตุการณ์บางอย่างที่ไม่มีใครอยากเห็นว่าเกิดขึ้นในประเทศไทย เราได้เห็นการกระทำที่น่าหดหู่ใจอย่างมาก ที่เกิดขึ้นกับตำรวจ มีการทุบตีทำร้ายตำรวจด้วยคีมเหล็กขนาดใหญ่ และพฤติกรรมรุนแรงอีกหลายอย่างต่อเจ้าหน้าที่ เป็นการตั้งใจทำร้ายคนไทยด้วยกัน” พลเอก ประยุทธ์ กล่าว

ผู้ชุมนุมหลายพันคนเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไปยังทำเนียบรัฐบาล โดยได้รื้อแนวลวดหนามและรั้วพลาสติกตามเส้นทาง จนถึงสะพานชมัยมรุเชฐ ด้านตะวันออกของทำเนียบรัฐบาล วันที่ 21 ตุลาคม 2563 (นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์)
ผู้ชุมนุมหลายพันคนเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไปยังทำเนียบรัฐบาล โดยได้รื้อแนวลวดหนามและรั้วพลาสติกตามเส้นทาง จนถึงสะพานชมัยมรุเชฐ ด้านตะวันออกของทำเนียบรัฐบาล วันที่ 21 ตุลาคม 2563 (นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์)

ม็อบคืบหน้าสู่ทำเนียบ

ในช่วงเย็นวันเดียวกัน ผู้ชุมนุมหลายพันคนได้เคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไปยังทำเนียบรัฐบาล โดยได้รื้อแนวลวดหนามและรั้วพลาสติกตามเส้นทางไปทางแยกอุรุพงศ์ มุ่งหน้าไปยังแยกนางเลิ้ง เข้าสู่ถนนพิษณุโลก จนถึงสะพานชมัยมรุเชฐ ด้านตะวันออกของทำเนียบรัฐบาล โดยระหว่างทางได้มีปากเสียงกับประชาชนเสื้อเหลืองประปราย

จากนั้น เมื่อประมาณสามทุ่มครึ่ง แกนนำได้ยื่นหนังสือข้อเรียกร้องผ่านทาง พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผชบ.น. พร้อมด้วยนายประทีป กีรติเลขา รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง เป็นตัวแทนออกมารับหนังสือจากตัวแทนผู้ชุมนุม

“วันนี้ประชาชน สื่อ ตำรวจ เลขาธิการนายก ได้มาเป็นสักขีพยานว่า ราษฎรไม่ต้องการประยุทธ์ และต้องการให้ลาออก ให้สนใจประชาชน หมายความว่าข้อเรียกร้องต่อจากนี้ ต้องได้รับการตอบสนอง ข้อต่อไปคือร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ที่มาจากเจตจำนงของประชาชนอย่างแท้จริง ข้อที่เรายังต้องพูดถึง คือต้องไม่มีการดำเนินคดีกับเพื่อนเราอีก” น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ มายด์ แกนนำคณะราษฎรกล่าวขณะยื่นหนังสือ

น.ส.ภัสราวลี กล่าวแก่สำนักข่าวรอยเตอร์ หลังจากนั้นว่า การต่อสู้ของพวกเขาจะไม่จบลง ตราบใดที่พลเอก ประยุทธ์ ยังไม่ลาออก และหากภายในสามวัน นายกฯ ยังไม่ออก ก็จะเผชิญหน้ากับกลุ่มมวลชนอีกครั้ง

ต่อมาเมื่อเวลา 23.00 น. พ.ต.ท.สุริยศักดิ์ จิราวัสน์ รอง ผกก.3 บก.ป. นำหมายศาลแขวงปทุมวัน เข้าจับกุม น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล แกนนำกลุ่มประท้วงเพื่อประชาธิปไตย ผู้ต้องหาตามหมายจับในความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ขณะกำลังเข้าที่พัก ย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หลังเสร็จสิ้นจากการไปชุมนุมยื่นหนังสือต่อตัวแทนรัฐบาล ที่บริเวณสะพานชมัยมรุเชฐ เมื่อช่วงค่ำที่ผ่านมา ก่อนที่ตำรวจจะควบคุมตัวขึ้นรถนำส่ง กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.ภ.1) ในข้อหาที่เกี่ยวข้องกับการประท้วงเมื่อวันที่ 15 ต.ค.

เจ้าหน้าที่ตำรวจเปิดเผยว่า ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม ถึงปัจจุบัน ศูนย์ทนายเปิดเผยว่า มีแกนนำและผู้ชุมนุมถูกควบคุมตัวแล้ว 78 คน ล่าสุดคือ น.ส.ภัสราวลี การใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุม แม้ผู้ชุมนุมส่วนมากไม่มีอาวุธ ทำให้รัฐบาลถูกประณามจากหลายภาคส่วน ทั้งพรรคฝ่ายค้าน องค์กรสิทธิมนุษยชน ภาคประชาสังคม และสมาคมสื่อ

กลุ่มป้องสถาบันแสดงพลัง

ในวันเดียวกัน กลุ่มปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ หลายพันทั่วประเทศ ได้เริ่มเคลื่อนไหว โดยประกาศว่า จะมีการรวมตัวกันในวันที่ 23 ตุลาคม 2563 ร่วมวางพวงมาลา ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อแสดงความจงรักภักดี และในวันที่ 31 ตุลาคม 2563 จะมีการรวมตัวกันอีกครั้งที่ลานพ่อขุน ภายในมหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยได้มีการประณามการเคลื่อนไหวของกลุ่มคณะราษฎรด้วย

“1. ขอประณามเหตุการณ์ 14 ต.ค. 63 ที่มีการล้อมรถยนต์พระที่นั่งและใช้กริยาถ้อยคำที่ไม่เหมาะสม จาบจ้วง ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายต่อสมเด็จพระราชินี 2. เรียกร้องให้ผู้อยู่เบื้องหลังความวุ่นวายออกมารับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเราไม่เห็นด้วยกับการหมิ่นสถาบัน ไม่ว่ากลุ่มไหน 3. ภาคีฯ ไม่ได้ขัดขวางการชุมนุมเรียกร้องใด ๆ ตามสิทธิเสรีภาพภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมที่ไม่เคารพกฎหมายและสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น รวมถึงสร้างความแตกแยกภายในชาติ” แถลงการณ์ระบุ

นักศึกษา-กลุ่มทนายร้องศาลถอน พรก.ฉุกเฉิน

ส่วนในช่วงสายของวันพุธ นิสิตนักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 6 คน ในฐานะตัวแทนประชาชนผู้ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมสาธารณะเป็นโจทก์ ยื่นฟ้องต่อศาลโดยมี พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้ใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้กำกับการปฏิบัติงานของหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง และพล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง เป็นจำเลย

ทั้งนี้ โจทก์ทั้ง 6 รายได้ร้องให้ 1. เพิกถอนประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ลงวันที่ 15 ตุลาคม 2563 และฉบับที่ 2 ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2563 ทันที 2. เพิกถอนบรรดาประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ที่ 1/2563, ที่ 2/2563, ที่ 4/2563, ที่ 6/2563 และคำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบ ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ที่ 2/2563, ที่ 3/2563, ที่ 6/2563

โดยนอกจากโจทก์ทั้ง 6 คนแล้ว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม, สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน, มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม, สมาคมนักกฎหมายคุ้มครองสิทธิและสิ่งแวดล้อม, มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นผู้ยื่นฟ้องร่วมด้วย โดยขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราว และไต่สวนฉุกเฉินวันนี้ อย่างไรก็ตาม ศาลแพ่งได้รับเรื่องแล้ว กำหนดจะไต่สวนคำร้องดังกล่าวในวันพฤหัสบดีนี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง