คู่รัก LGBTQ สามสิบปีกับการต่อสู้เพื่อการยอมรับ
2024.02.13
กรุงเทพฯ
ปกชกร วงศ์สุภาร์ และกัญจน์ เกิดมีมูล คู่รักที่ใช้ชีวิตร่วมทุกข์สุขกันมากว่า 30 ปี ไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าสิทธิตามกฎหมายในการตัดสินใจด้านการรักษาพยาบาลคู่รักในช่วงเวลาวิกฤต ซึ่งอาจหมายถึงลมหายใจเฮือกสุดท้ายของคู่ชีวิต
“ความมั่นคงทางจิตใจมีอยู่ในระดับหนึ่งอยู่แล้ว แต่ความมั่นคงทางสังคม การยอมรับทางกฎหมายมันเป็นเรื่องที่จำเป็น ถ้ามันไม่มีการรองรับ มันทำอะไรลำบาก” ปกชกร กล่าว
ปกชกร ในวัย 67 ปี เรียกตัวเองว่า ย่า ขณะที่ กัญจน์ ในวัย 72 แทนตัวเองว่า ปู่ กล่าวถึงสถานะของกลุ่มคนผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) ว่ากฎหมายยังไม่ได้รับรองสิทธิให้คู่รักรับผิดชอบชีวิตกันได้ และหากมีเหตุด่วนเกิดขึ้นแต่ทายาทไม่ทำอะไร นั่นหมายถึงต้องปล่อยให้การรักษาเป็นไปตามยถากรรม
“ถ้าวันนี้คุณปู่ป่วยขั้นวิกฤติ ต้องใส่สายหรือถอดสาย ต้องรับผิดชอบชีวิตอีกชีวิตหนึ่ง คุณย่าไม่มีสิทธิเซ็นให้เขารักษาต่อได้เลยนะ” ปกชกร กล่าว
“หากมีเรื่องที่ผิดพลาดรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต เราไปร้องเรียนในฐานะภรรยาหรือคู่ชีวิตไม่ได้ เพราะเราไม่มีสิทธิเหมือนสามีภรรยาทั่วไป” ปกชกร ระบุ “แค่คิดก็เจ็บปวดแล้ว” ปกชกรจับมือคู่ชีวิตแล้วบีบเบา ๆ
กระแสเรียกร้องให้คู่ชีวิตเพศเดียวกันสามารถสมรสได้ตามกฎหมายเกิดขึ้นเมื่อกลางปี 2555 เมื่อนายนที ธีระโรจนพงษ์ นักกิจกรรม LGBTQ จูงมือคู่รักที่อยู่ร่วมกันมา 19 ปี ไปขอจดทะเบียนสมรส แต่ถูกปฏิเสธด้วยเหตุผลว่าขัดต่อหลักกฎหมาย เนื่องจากเป็นเพศชายทั้งคู่ จึงมีการเรียกร้องไปยังหน่วยงานของรัฐนำไปสู่แนวคิดการร่างพ.ร.บ. คู่ชีวิต ในปี 2556 แต่ต้องตกไป เพราะเกิดรัฐประหารในปี 2557 ก่อนที่ร่างกฎหมายจะเข้าสภา
กระทั่งปลายปี 2566 ร่างพ.ร.บ. สมรสเท่าเทียมผ่านสภาผู้แทนราษฎรในวาระแรก ปัจจุบันอยู่ชั้นกรรมาธิการ ต้องใช้เวลาอีกระยะเวลาหนึ่งกว่ากฎหมายจะผ่านความเห็นชอบจากทั้งสองสภา และประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อไป
“ถ้ากฎหมายผ่าน เรามาแต่งงานกันไหม เพื่อแสดงให้เห็นว่าปู่รักย่ามากที่สุดไง” กัญจน์ กล่าวแล้วหันหน้าไปมองปกชกร ทั้งสองคนยิ้มให้กัน
ในวันวาเลนไทน์ที่จะถึงนี้ กรุงเทพฯ เสนอให้มีการจัดกิจกรรมการจดแจ้งชีวิตคู่ LGBTQ ครบทั้ง 50 เขต โดยนายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร ระบุว่า แม้ว่าการจดแจ้งนี้ยังไม่มีผลทางกฎหมาย แต่จะสะท้อนถึงเจตนารมณ์ของกรุงเทพมหานครที่ให้ความสำคัญกับประชาชนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม และแสดงถึงความพร้อมในการดำเนินการ หากมีการบังคับใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียม
ในปี 2566 ที่ผ่านมา มีคู่รัก LGBTQ มาจดแจ้งชีวิตคู่จำนวน 130 คู่ ใน 5 เขต จากเดิมในปี 2565 มีการจดแจ้ง 269 คู่ ที่สำนักงานเขตบางขุนเทียนเพียงเขตเดียว เนื่องจากเป็นปีแรกที่จัดให้มีกิจกรรมการจดแจ้งชีวิตคู่ของคู่รัก LGBTQ
สมาชิกของชุมชน LGBTQ ในประเทศไทย รวมตัวกันเพื่อเดินพาเหรดเกย์ ที่กรุงเทพฯ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2561 (แอน หวัง/รอยเตอร์)
ทั้งคู่ถูกเชิญไปร่วมกิจกรรมในปีนี้ด้วยเช่นกัน แม้ว่าการจดทะเบียนครั้งนี้จะยังไม่มีผลทางกฎหมาย แต่ก็จะเป็นกำลังใจให้กับคู่รักและคนรุ่นใหม่ให้มีความภูมิใจในการใช้ชีวิตคู่กับคู่ชีวิต
“การที่ไม่มีทะเบียนสมรสรองรับในเรื่องสิทธิในการครองคู่ สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากคนหนึ่งจากไป มันก็เป็นเรื่องทุกข์ทรมานพอแล้ว แล้วทรัพย์สินที่สร้างมาด้วยกันขณะมีชีวิตอยู่ แต่ไม่สามารถจัดการอะไรได้ ด้วยการที่กฎหมายไม่รองรับ มันเป็นเรื่องยากลำบาก” ปกชกร กล่าว
“คนที่ยังอยู่ ทุกข์จากการสูญเสียแล้ว ยังทุกข์จากการไม่มีตัวตนในครอบครัวอีก ลำบากมาก มันไม่รู้ว่าจะใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างไร” ปกชกร กล่าว
สังคมไม่ยอมรับ
ปกชกร และกัญจน์ พบกันครั้งแรกช่วงหลังทศวรรษ 1990 (ราวปี 2533 เป็นต้นมา) ซึ่งเป็นยุคที่สังคมไทยยังไม่ยอมรับเรื่องความหลากหลายทางเพศ ทั้งสองต้องเผชิญกับคำดูถูก และอุปสรรคในการเปิดเผยตัวตน
“สมัยก่อนถ้าคนเขารู้ว่าเราเป็นแฟนกัน เขาก็จะมองว่าเป็นพวกโรคจิต วิปริต” ปกชกร เล่าถึงคำดูถูกของคนยุคก่อน “แรงเหมือนกันเนอะ”
“ถ้าเรารักกันไม่ต้องไปสนใจคนอื่น เรามีความสุขของเราอย่างนี้มันดีกว่าที่จะไปคล้อยตามเขา เราไม่สนใจ” กัญจน์ กล่าวเสริม “เราก็ไม่เคยปิดบังใคร ไม่อาย ไม่เคยอาย”
ในเวลานั้น กัญจน์ ในวัยสี่สิบกว่า เพิ่งกลับมาจากสหรัฐอเมริกา หลังจากไปเป็นเชฟร้านอาหารไทยในแคลิฟอร์เนียอยู่หลายปี และได้พบรักกับปกชกร ผ่านการแนะนำของเพื่อน ทั้งสองคนตกหลุมรักกันตั้งแต่แรกพบ
“ตอนนั้นยังไม่รู้จักกัน จนเพื่อนพามาแนะนำให้รู้จัก ฝากให้ไปทานข้าวด้วยนะ เราก็รีบรับปากเลย ได้ ๆ เพราะเรานึกในใจว่า เราถูกชะตากับผู้หญิงคนนี้ตั้งแต่ครั้งแรกแล้ว หลังจากนั้นก็ติดต่อ โทรหากันตลอดมา” กัญจน์ เล่าด้วยน้ำเสียงมีความสุข
ด้าน ปกชกร ในวัยสามสิบกว่า ลูกครึ่งไทยเวียดนาม ทำธุรกิจครอบครัวขายของเบ็ดเตล็ดในชุมชนแห่งหนึ่ง ในจังหวัดสกลนคร ต้องต่อสู้กับความคิดของพ่อแม่ ญาติพี่น้องในชุมชน ที่มีความกังวลกับการคบหาเพศเดียวกัน ซึ่งทุกคนมองว่าเป็นไปไม่ได้
“ครอบครัวไม่ห้ามแต่มีคำถามตลอดเวลา เช่น จะอยู่กันอย่างนี้เหรอ ใครจะดูแลใคร แล้วไงต่อ ชีวิตแก่มาทำไง” ปกชกร กล่าว
“เราทำให้เขาเห็นว่า เราสามารถอยู่กันได้สบาย ๆ แล้วไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร และสัญญาว่าจะไม่เป็นภาระให้ใคร” กัญจน์ กล่าวเสริม
“ถึงวันนี้ เราก็ยังใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน ยังไม่ได้เปลี่ยนเป็นแบบอื่น ครอบครัวก็ยอมรับได้ ไม่ได้มองว่าเป็นความแปลกแยก” ปกชกรกล่าวเพิ่มเติม
“เราช่วยกันทุกวัน รักกันทุกวัน ไม่อยากจะไปมองคนอื่น อยู่ที่ตัวเราสองคนมากกว่า” กัญจน์กล่าว พร้อมบีบมือปกชกรเบา ๆ
เมื่อความรักสุกงอม กัญจน์จึงชวนให้ปกชกรย้ายเข้ามาอยู่ด้วยกัน ซึ่งคือ บ้านหลังปัจจุบันที่ทั้งคู่อยู่ร่วมกันมากกว่า 30 ปีแล้ว
ปัจจุบันทั้งคู่เป็นที่รู้จักในสังคมออนไลน์ ทั้งสองใช้โซเชียลมีเดีย เปิดเผยตัวตน ชีวิตคู่ จนกลายเป็นที่รู้จัก มีผู้ติดตามมากมายทั้งจากประเทศไทย ลาว ฟิลิปปินส์ ที่เข้ามาพูดคุยกันผ่านสังคมออนไลน์
“ปู่กะย่าคาเฟ่”
ช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ทั้งสองตัดสินใจปรับปรุงบ้านที่อยู่ร่วมกันมากว่า 30 ปี ย่านจรัญสนิทวงศ์ กรุงเทพฯ ให้เป็นร้านอาหารขนาดเล็ก ชื่อ “ปู่กะย่าคาเฟ่” ที่มีเมนูประจำ คือ ผัดไทย ผัดกะเพรา ปอเปี๊ยะ และเต้าหู้ทอด
“ไม่ได้เปิดร้านอาหารเพื่อเอากำไรแต่เอาสังคม กำไรของเราคือความสุข” ปกชกร กล่าว
“ขายผัดไทยได้จานเดียวก็มีความสุขแล้ว” กัญจน์ กล่าวพร้อมเสียงหัวเราะ
ปกชกร เล่าถึงไอเดียในการเปิดค่าเฟ่ในบ้านว่า ไม่อยากให้กัญจน์เหงา เธอกังวลว่ากัญจน์จะเป็นอัลไซเมอร์ เลยปรับปรุงพื้นที่รับแขกหน้าบ้านให้เป็นคาเฟ่ ได้ทำอาหารที่เขารัก ซึ่งการเปิดร้านอาหารทำให้กัญจน์มีชีวิตชีวามากขึ้น
“เห็นเลยว่าคุณปู่มีความเปลี่ยนแปลง เขามีความสุขที่มีลูกหลาน มีแฟนคลับมาหา มารักเขา มาทานข้าวด้วย มาฟังเรื่องราวตอนเป็นเชฟอยู่ที่อเมริกา ซึ่งเขาจะเล่าด้วยดวงตาเป็นประกายถึงชีวิตในครัวสมัยหนุ่ม ๆ” ปกชกร กล่าว
“เราชอบชีวิตในช่วงนี้มากที่สุด เป็นช่วงที่มีความสุขที่สุด” กัญจน์ กล่าวพร้อมหัวเราะเสียงดัง
ปกชกร มองว่า แม้ว่าปัจจุบันโลกจะพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปเร็วแค่ไหนก็ตาม แต่บางครอบครัวในสังคมไทยยังคงปฏิเสธ ไม่ยอมรับสถานะของคู่รักข้ามเพศ การเปิดคาเฟ่ในบ้านจึงเป็นการเปิดพื้นที่ปลอดภัยให้กับสังคมคู่รักเพศเดียวกันให้มารู้จักกัน และร่วมพูดคุยกัน ให้คำแนะนำปรึกษา แชร์ประสบการณ์ระหว่างกัน
“การใช้ชีวิตของมนุษย์คู่หนึ่งบนโลกใบนี้ ทุกเพศควรมีสิทธิได้รับสวัสดิการหรือการรับรองทางกฎหมายเหมือนคนทั่วไป” ปกชกร กล่าว
“เรายินดีที่เป็นแรงบันดาลใจให้หลายคนได้มีความภูมิใจในการใช้ชีวิตคู่ ว่าเราสามารถมีคู่ชีวิตเพศเดียวกันได้จนสิ้นอายุขัยของเราจริง ๆ โดยไม่ได้มีปัญหาอะไร”