กฟภ. ตัดไฟฟ้าสแกมเซ็นเตอร์เมียนมาแล้ว 5 จุด
2025.02.05
กรุงเทพฯ

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ดำเนินการหยุดส่งกระแสไฟฟ้าให้กับประเทศเมียนมาแล้ว 5 จุด ตามมติของ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และข้อสั่งการของ น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อป้องกันการนำไฟฟ้าจากประเทศไทยไปใช้สำหรับพื้นที่ของขบวนการคอลเซ็นเตอร์ และสแกมเมอร์ กลุ่มทุนจีนสีเทา
“การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ทำการหยุดการจ่ายกระแสไฟฟ้าไปยังประเทศเมียนมาในจุดที่รับซื้อไฟฟ้าทั้งหมด 5 จุด ตั้งแต่เชียงราย ตาก และกาญจนบุรี การดำเนินการในครั้งนี้ ก็เป็นไปตามมติของที่ประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติที่มีการประชุมไปเมื่อวานนี้ตอนเย็น” นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าว
กฟภ. ดำเนินการหยุดการส่งไฟฟ้าไปยังประเทศเมียนมาในเวลา 09.00 น. ของวันพุธ ในพื้นที่ 1. บ้านเจดีย์สามองค์ – เมืองพญาตองซู รัฐมอญ 2. บ้านเหมืองแดง – เมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน 3. สะพานมิตรภาพไทย – พม่า – เมืองท่าขี้เหล็ก รัฐฉาน 4. สะพานมิตรภาพไทย – พม่า แห่งที่ 2 อ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง และ 5. บ้านห้วยม่วง – อ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง
โดยแต่ละพื้นที่มีบริษัทเอกชนที่รับสัมปทานจากรัฐบาลเมียนมาแตกต่างกันไป
“มีมติ ครม. หนึ่งได้ให้กระทรวงมหาดไทย และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคทบทวนปรับปรุงแก้ไขเพื่อนำเสนอ ครม. ให้มีมติ ครม. ใหม่ว่า ถ้าจะมีการขายไฟฟ้าหลังจากนี้ไปควรจะมีเงื่อนไขอย่างไรบ้างให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน” นายอนุทิน กล่าวเพิ่มเติม
แม้การหลอกลวงผ่านระบบคอลเซ็นเตอร์จะเกิดขึ้นมาแล้วร่วม 20 ปี ในประเทศไทย แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ได้เริ่มปฏิบัติการปราบปรามอย่างจริงจังในช่วงปี 2564 หลังจากพบว่า มีผู้เสียหายเข้าแจ้งความร้องทุกข์กว่า 1,600 คน รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 1,000 ล้านบาท
“นี่ไม่ใช่เรื่องการเมือง เรื่องนี้เกี่ยวกับเรื่องความมั่นคง และเรื่องของการรับข้อสั่งการจากรัฐบาล ไม่มีเรื่องการทำเพื่อประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ส่วนเมียนมาจะไปเอาไฟจากแหล่งอื่นก็ไม่เกี่ยวกับเราแล้ว ตอนนี้เราไม่มีจุดที่คนจะกล่าวหาได้ว่าเรามีส่วนเกี่ยวข้องหรือสนับสนุนให้มีการทำผิดกฎหมาย” อนุทิน กล่าวเพิ่มเติม

ในต้นปี 2568 ประเด็นนี้ถูกกระพือความสนใจอีกครั้งเมื่อ นายหวัง ซิง (ซิงซิง) นักแสดงชาวจีน ถูกล่อลวงให้มารับงานแสดงในประเทศไทย และลักพาตัวต่อไปใช้งานในพื้นที่สีเทาในเมียนมาใกล้ชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก ก่อนที่ต่อมารัฐบาลไทยจะประสานช่วยเหลือออกมาได้
หลังจากนั้น ปลายเดือน ม.ค. 2568 นายหลิว จงอี ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงและสาธารณะของจีน และคณะได้เดินทางมายังประเทศไทยเพื่อหารือกับฝ่ายความมั่นคง รวมถึงลงพื้นที่ อ.แม่สอด เพื่อหาทางแก้ไขปัญหานี้ ทำให้ประเด็นการขายไฟฟ้าให้กับพื้นที่ผิดกฎหมายในเมียนมาถูกทวงถามต่อรัฐบาล
กระทั่ง นายกรัฐมนตรี กล่าวกับสื่อมวลชนในวันอังคารว่า “ไม่มีความลังเล ถ้าสุดท้ายเราดูเรื่องชายแดนชัดเจนแล้วก็ตัดไฟได้เลย เรื่องน้ำมัน (เพื่อปั่นไฟฟ้า) ก็ไม่ต้องส่ง เพราะว่า เราต้องโอบอุ้มคนของเราก่อน เราต้องดูแลคนของเราก่อน สิ่งที่เกิดขึ้นมีผลกระทบต่อคนไทยมากมาย ต่อภาพลักษณ์ของประเทศอย่างมากมาย”
ธุรกิจผิดกฎหมาย และการล่อลวงคนไปทำงานในเมียนมารุนแรงมาก หลังจากเกิดรัฐประหารในเมียนมาเมื่อ ก.พ. 2564 โดยเฉพาะในพื้นที่เมียวดี ซึ่งเป็นที่ตั้งของเขตเศรษฐกิจพิเศษ ยาไถ ชเวโก๊กโก ของบริษัท ยาไถ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิง กรุ๊ป ของจีน และบริษัท ชิด ลิน เมียง ของกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (Border Guard Force - BGF) ที่รัฐบาลสหรัฐอเมริการะบุว่า เป็นศูนย์กลางอาชญากรรมและกิจกรรมผิดกฎหมาย
คนไทยเองก็เคยได้รับผลกระทบจากการขยายตัวของธุรกิจผิดกฎหมายในเมียนมา โดยในปี 2566 มีคนไทย 266 คน ที่เชื่อว่าถูกล่อลวงไปทำงานและกระทำทารุณในเครือข่ายผิดกฎหมาย ร้องขอความช่วยเหลือมายังรัฐบาลไทยและจีน กระทั่งได้รับความช่วยเหลือออกจากเมืองเล้าก์ก่าย ของเมียนมาในที่สุด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
จับผู้ต้องสงสัยแก๊งต้มตุ๋นกว่า 100 ราย ในเมียนมา
ศูนย์หลอกลวงทางอินเทอร์เน็ต คืออะไรกันแน่
นายกฯ ไฟเขียว หยุดขายไฟฟ้าให้พื้นที่จีนเทาในเมียนมา
ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ สตช. ระบุว่า ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2565 - มิ.ย. 2567 มีคนไทยตกเป็นเหยื่อขบวนการคอลเซ็นเตอร์กว่า 575,500 คดี รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 65,715 ล้านบาท เฉลี่ยความเสียหายวันละกว่า 80 ล้านบาท
เชื่อกระทบเมียนมาระยะสั้นเท่านั้น
กฟภ. เริ่มขายไฟฟ้าให้กับเมียนมา หลังจากที่ ครม. มีมติอนุญาตการขายไฟฟ้าให้กับประเทศเพื่อนบ้านตั้งแต่ปี 2535 ก่อนการตัดไฟฟ้า ข้อมูลของ กฟภ. ทำให้ทราบว่า กำลังไฟฟ้าที่ กฟภ. ส่งไปขายในประเทศเมียนมา 5 จุด รวมกันอยู่ที่ 20.37 เมกะวัตต์
การขายไฟฟ้าไปยังเมียนมาสร้างรายได้ให้กับ กฟภ. ประมาณเดือนละ 50 ล้านบาท หรือ 600 ล้านบาทต่อปี อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายเชื่อว่า เมียนมามีทางออกสำหรับปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าแน่นอน
“ชเวโก๊กโกน่าจะมีเครื่องปั่นไฟฟ้า เป็นแผนสำรองอยู่แล้ว ดังนั้นคิดว่า จะทำให้เขายังคงมีไฟฟ้าใช้สักระยะ และในอนาคตของมีการประชุมร่วมกันระหว่าง BGF และรัฐบาลเมียนมา เพื่อเจรจาในการซื้อไฟฟ้ามาทดแทน” น.ส. พรสุข เกิดสว่าง กรรมการมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน กล่าวกับเบนาร์นิวส์
“หลังจากนี้ ไทยควรยืนยันให้ชัดเจนว่า ไม่ต้องการให้มีพื้นที่สีเทาตรงนั้นอยู่ แต่เหตุผลที่เขาไม่กล้าลงมืออะไรเด็ดขาด อาจเพราะรู้ว่า มีคนในฝั่งไทยที่ได้ผลประโยชน์จากพื้นที่สีเทาตรงนั้น ซึ่งถ้าเรายืนยันชัดเจนว่า ไม่ต้องการมีพื้นที่นี้อยู่ เขาจะได้ดำเนินการเต็มที่ไม่ต้องเกรงใจ” น.ส. พรสุข ระบุ

ก่อนหน้านี้ ในเดือน มิ.ย. 2566 กฟภ. เคยแจ้งต่อรัฐบาลเมียนมาว่า จะไม่ต่อสัญญาขายไฟฟ้าระหว่าง กฟภ. กับ บริษัท เอสเอ็มทีวาย (Shwe Myint Thaung Yinn Industry & Manufacturing Company Limited) ในพื้นที่ท่าวังผา และแม่กุใหม่ท่าซุง อ.แม่สอด และตัดไฟฟ้าทันที ซึ่งจะกระทบต่อพื้นที่ชเวโก๊กโกโดยตรง อย่างไรก็ตาม ชเวโก๊กโกยังคงสามารถดำเนินการได้ถึงปัจจุบัน
ในสมัยรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ครม. เคยมีมติ เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2567 ที่ขอให้ กฟภ. การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ประสานผู้ประกอบการด้านสื่อสาร ระงับการให้บริการข้ามพรมแดน เพื่อลดปัญหายาเสพติด และอาชญากรรมไซเบอร์ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
นายณัฏฐ์คเนศ จรัสรวีสิริกุล ผู้จัดการ กฟภ. แม่สาย จ.เชียงราย กล่าวว่า สำหรับพื้นที่ซึ่งตัดกับเชียงราย เชื่อว่าเมียนมาจะแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มกำลังการซื้อไฟฟ้าจาก สปป.ลาว
“การตัดไฟฟ้าครั้งนี้ คาดว่า จะส่งผลกระทบกับทาง จ.ท่าขี้เหล็ก ของเมียนมา ทำให้ตัวเมืองไม่มีไฟฟ้าใช้ 3-5 วัน เนื่องจากใช้ไฟจากไทยเป็นหลัก แต่ก็มีไฟอีกส่วนหนึ่งที่มาจาก สปป.ลาว เชื่อว่า หลังจากตัดไฟแล้ว สปป.ลาว ต้องมีการแก้ไขในระบบการส่งไฟฟ้า” นายณัฏฐ์คเนศ กล่าว