นักวิเคราะห์ชี้ ส่งคนอุยกูร์กลับ กระชับความสัมพันธ์จีน แต่หักหน้าอเมริกา
2025.02.28
กรุงเทพฯ

นักวิชาการด้านความมั่นคง มองว่า การที่ไทยส่งคนอุยกูร์ 40 คน กลับไปยังจีน จนถูกประณามจากนานาชาติ คือ สัญญาณอันตราย เพราะเป็นการหักหน้าสหรัฐอเมริกา แสดงออกถึงความพยายามในการกระชับสัมพันธ์กับจีน ด้าน นายกรัฐมนตรี ระบุ ไม่มีประเทศที่สามมาขอรับตัว ขณะที่ คนอุยกูร์ที่ยังเหลืออยู่เชื่อว่า ไม่มีใครสมัครใจไปจีน
“รัฐบาลนี้ดูลดช่องว่างกับจีนได้ แต่ไปเปิดช่องว่างกับอเมริกามากขึ้นเยอะ มันอันตราย อาจจะกลายเป็นเงื่อนไขในการลงโทษเราด้านการค้า เพราะตอนนี้ ดูเหมือนไทยไปหักหน้าเขา หันหลังให้เขา ทั้ง ๆ ที่เขาก็ร้องขอผ่านรัฐสภาเขาตอนให้การขึ้นรับตำแหน่งว่าอยากให้ไทยชะลอเรื่องนี้ก่อน ไทยต้องเตรียมรับผลที่จะตามมาจากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป” ดร. ปณิธาน วัฒนายากร กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ดร. ปณิธาน นักวิชาการด้านความมั่นคง และอดีตประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของรัฐบาล ชี้ว่า สิ่งที่รัฐบาล น.ส. แพทองธาร ชินวัตร คล้ายว่าจะซ้ำรอยกับ รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เรื่องการส่งคนอุยกูร์ไปจีน และเป็นรอยที่ลึก เพราะทำให้ต้องเผชิญหน้ากับสหรัฐฯ และพันธมิตร
ข่าวลือที่ว่า ไทยเตรียมที่จะส่งคนอุยกูร์จากห้องกัก สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองไปยังประเทศจีน สร้างความกังวลให้กับนานาชาติ และองค์กรสิทธิมนุษยชน เพราะสหประชาชาติ (UN) เคยรายงานว่า จีนกักขังชาวอุยกูร์ และชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ 1.8 ล้านคน ในค่ายกักกันมีการทรมาน บังคับทำหมัน บังคับใช้แรงงาน รวมถึงห้ามให้ปฏิบัติตามประเพณี ภาษา วัฒนธรรม และศาสนา
กระทั่ง ในเวลาประมาณ 03.00 น. ของวันที่ 27 ก.พ. นี้ รถบรรทุกตำรวจซึ่งถูกปิดเทปสีดำ 6 คัน เคลื่อนออกจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง สวนพลู มุ่งหน้าไปยังท่าอากาศยานดอนเมือง โดยมีการกีดกันผู้สังเกตการณ์ และสื่อมวลชนที่พยายามติดตามรถคันดังกล่าว ต่อมารัฐบาลไทยได้แถลงในภายหลังว่า ได้ตกลงร่วมกับรัฐบาลจีนในการส่งคนอุยกูร์ 40 คนกลับ
“การที่เขามาอยู่ที่นี่ 11 ปี ก็เป็นการละเมิดสิทธิเขาอยู่แล้ว กักขังในการเข้าเมืองผิดกฎหมายมา 11 ปีแล้ว เราก็ได้คุยกับทางการจีนแล้ว จีนมีการยืนยันอย่างเป็นทางการว่า ถ้าเราส่งตัวคนอุยกูร์กลับไป เขาจะไม่ถูกดำเนินคดี และสามารถกลับเข้าไปอยู่กับครอบครัวในสังคมได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เขาให้คำมั่นสัญญากับทางไทยแล้วว่า ทุกคนที่กลับไปจะปลอดภัย” น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าว
“ไม่มีการแลกเปลี่ยนทางการค้าใด ๆ กับการส่งอุยกูร์เลย เรื่องนี้ไม่เกี่ยวทั้งสิ้น การที่เราจะคุยเรื่องการค้า อันนี้เป็นเรื่องของคน คนไม่ใช่สินค้า ไม่แลกกันแน่นอน ไม่มีประเทศที่ 3 มาเสนอในการขอรับตัวอุยกูร์เลย ไม่มีใครเสนอมาเลยสักคน ประเทศไทยก็ต้องส่งกลับคนจีนไปประเทศจีน” นายกรัฐมนตรี กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
องค์กรสิทธิกังวล ไทยส่งอุยกูร์ 40 คน กลับจีน
นายกฯ เยือนจีน นักสิทธิหวั่นคุยประเด็นส่งตัวชาวอุยกูร์กลับประเทศ
ผู้อพยพชาวอุยกูร์ยังถูกกักตัว ในกรุงเทพฯ นานนับสิบปี
ก่อนหน้านี้ Justice For All องค์กรสิทธิมนุษยชนสากลได้เรียกร้องให้ รัฐบาลไทยยุติความพยายามที่จะส่งผู้ลี้ภัยอุยกูร์ กลับไปยังประเทศจีน โดยระบุว่า ต้นเดือน ม.ค. 2568 เจ้าหน้าที่ได้ถ่ายรูป และนำเอกสารเกี่ยวกับการสมัครใจกลับจีนมาให้ผู้ต้องกักชาวอุยกูร์กรอก รวมถึงกดดันด้วยวาจาว่า จะเนรเทศพวกเขาไปจีน ผู้ต้องกักเหล่านั้นจึงประท้วงด้วยการอดอาหาร
น.ส. แพทองธาร กล่าวย้ำด้วยว่า ชาวอุยกูร์ทั้งหมดเดินทางกลับโดยสมัครใจ
รมว.ยุติธรรมเตรียมเยือนจีน
สำหรับมาตรการขั้นต่อไป นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เพื่อให้แน่ใจว่าคนอุยกูร์ทั้งหมดที่ถูกส่งกลับไปจะปลอดภัย พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จะเดินทางไปยังจีนเพื่อติดตามผลการส่งตัวหลังจากนี้ 15 วัน และไทยมีแผนที่จะส่งคนอุยกูร์ที่เหลืออีก 5 คน ในเรือนจำคลองเปรมกลับประเทศเมื่อพ้นโทษด้วย

“ผู้ที่เดินทางไปถึงมีทั้งหมด 40 คน อีก 5 คน มีคำพิพากษาให้จำคุก 2-5 ปี ซึ่งทางรัฐบาลไทยก็ยืนยันว่า ถ้าครบหรือได้รับการอภัยโทษตามรอบ ก็จะสามารถส่งกลับไปยังประเทศต้นทางได้ทันที” นายจิรายุ กล่าว
ชาวอุยกูร์ คือ กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ (Xinjiang Uyghur Autonomous Region - XUAR) ในภาคตะวันตกของจีน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่นับถือศาสนาอิสลาม และมีภาษาพูดเป็นของตัวเอง
ในปี 2557 ไทยเคยผลักดันคนอุยกูร์เพศชาย 109 คน กลับไปยังจีน ขณะที่ส่งคนอุยกูร์เพศหญิง และเด็กไปยังตุรกี 173 คน มีการเปิดเผยภาพว่า คนอุยกูร์ที่ถูกส่งไปจีนถูกคลุมศีรษะ และคุมตัวคล้ายนักโทษ ต่อมา เดือน ส.ค. 2558 ได้เกิดเหตุระเบิดศาลพระพรหมเอราวัณ สี่แยกราชประสงค์ ซึ่งฝ่ายความมั่นคงเชื่อว่า เป็นการกระทำเพื่อตอบโต้การส่งคนอุยกูร์กลับจีน เพราะเป็นแหล่งท่องเที่ยวซึ่งได้รับความนิยมจากคนจีน
“การส่งคนอุยกูร์ไปจีนอาจจะไม่ได้ชี้ชัดว่า ไทยเลือกจีนมากกว่าสหรัฐ แต่อาจมีแนวโน้มเป็นเช่นนั้นได้เช่นกัน เพราะนายกรัฐมนตรีเพิ่งเดินทางเยือนจีน และผู้ช่วยรัฐมนตรีจีนก็เดินทางมามีบทบาทในการปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ซึ่งสะท้อนความร่วมมืออย่างลึกซึ้งระหว่างสองประเทศที่เพิ่มขึ้น” รศ.ดร. ดุลยภาค ปรีชารัชช กล่าวกับเบนาร์นิวส์
รศ.ดร. ดุลยภาค รองผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นหลังการส่งตัวคนอุยกูร์ไปจีนเป็นเรื่องใหญ่มาก ที่รัฐบาลไทยจำเป็นต้องชี้แจงต่อนานาชาติให้ชัดเจน และมีเหตุผลมากที่สุด ไม่สามารถเพิกเฉยต่อประเด็นนี้ได้ครับ
“ผมเชื่อว่า สหรัฐฯ ไม่น่าจะใช้มาตรการต่าง ๆ ตัดความสัมพันธ์กับไทยอย่างเต็มกำลัง เพราะเชื่อว่า สหรัฐฯ เองก็คงต้องการถ่วงดุลอำนาจกับจีนในพื้นที่อินโดแปซิฟิก ซึ่งไทยก็อยู่ในพื้นที่ยุทธศาสตร์ตรงนี้ แต่ในรัฐบาลทรัมป์ 2.0 นโยบายการต่างประเทศก็อาจจะคาดเดาได้ยาก ประเด็นที่ต้องระวังคือ สหรัฐฯ อาจขึ้นกำแพงภาษีนำเข้า ซึ่งอาจกระทบต่อการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ” รศ.ดร. ดุลยภาค กล่าวเพิ่มเติม
จรณ์ ปรีชาวงศ์ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน