เอ็นจีโอเรียกร้องจัดสภาพที่ดีขึ้นแก่ผู้ต้องกักในไทย หลังชายอุยกูร์เสียชีวิต

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2023.02.22
เอ็นจีโอเรียกร้องจัดสภาพที่ดีขึ้นแก่ผู้ต้องกักในไทย หลังชายอุยกูร์เสียชีวิต โลงบรรจุศพของ อาซิซ อับดุลลาห์ ชาวอุยกูร์ที่เสียชีวิต หลังจากล้มป่วยหนัก ขณะอยู่ในการควบคุมตัวของไทย ขณะถูกหย่อนลงเพื่อฝังศพ ที่สุสานฮารูน ในกรุงเทพฯ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2566
สำนักจุฬาราชมนตรี

นักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนกำลังเรียกร้องให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของไทย ปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของชาวอุยกูร์หลายสิบคนที่ถูกกักกันตัวอยู่ในปัจจุบัน และให้การรักษาพยาบาลที่เหมาะสม หลังจากที่มีผู้ต้องกักชาวอุยกูร์คนหนึ่งป่วยหนักจนเสียชีวิต ที่โรงพยาบาลตำรวจ ในกรุงเทพฯ เดือนนี้

ไม่กี่วันหลังการเสียชีวิต ร่างของอาซิซ อับดุลลาห์ ชาวอุยกูร์จากจีน ได้รับการฝังที่สุสานแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ มูลนิธิศักยภาพชุมชน เอ็นจีโอในไทยที่ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อพยพชาวอุยกูร์ในประเทศไทย ระบุสาเหตุการเสียชีวิตตามที่เห็นในใบมรณบัตร คือ ปอดอักเสบติดเชื้อ

ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน ตำหนิสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของไทยที่ไม่สนใจอาการป่วยของผู้ต้องกักรายนี้ และที่ไม่ให้การรักษาพยาบาลแก่เขาอย่างทันท่วงที หลังจากที่เมื่อเดือนมกราคม เขาเริ่มมีอาการต่าง ๆ เช่น อาเจียน และมีเลือดออกจากปาก ขณะถูกกักกันไว้ที่สถานกักกันคนต่างด้าว ตม. สวนพลู ในกรุงเทพฯ

“เจ้าหน้าที่ ตม. มีหน้าที่ต้องดูแลคนใน ‘ตม.ตามหน้าที่คือ การควบคุมตัว แต่เมื่อเจ็บป่วย ต้องมีวิจารณญาณที่จะให้การดูแลขั้นพื้นฐาน ให้ยา หาหมอ ไปโรงพยาบาลตามอาการ” ชลิดา ทาเจริญศักดิ์ กล่าวในแถลงการณ์สัปดาห์นี้

“ทัศนคติและวิจารณญาณของสารวัตรต่ำมาก ไม่เห็นผู้ต้องกักเป็นมนุษย์ อยากให้ ตม. สร้างมาตรฐานว่าผู้ป่วยใน ตม. ต้องได้รับสิทธิในการรักษาพยาบาล มีสิทธิที่จะได้พบหมอตรวจรักษาอาการ”

เบนาร์นิวส์ได้ขอความคิดเห็นจากเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองและตำรวจของไทยหลายครั้ง แต่ไม่ได้รับคำตอบกลับทันที

“การเสียชีวิตนี้เป็นผลที่คาดเดาได้อย่างสิ้นเชิง จากนโยบายของไทยที่กักกันชาวอุยกูร์เหล่านี้ไว้โดยไม่มีกำหนด” ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการ องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำภูมิภาคเอเชีย บอกกับบีบีซีนิวส์

“เห็นได้ชัดว่าไม่มีใครคิดถึงผลกระทบด้านสุขภาพของการถูกกักขังอย่างไม่มีกำหนด ในห้องที่คับแคบ ไม่ถูกสุขลักษณะ และขาดการรักษาพยาบาลหรือโภชนาการอย่างเพียงพอ”

ข้อมูลจากหลายแหล่งระบุว่า อาซิซ อับดุลลาห์ ผู้ขอลี้ภัย มีอายุระหว่าง 34-49 ปี และเคยเป็นชาวนา เขาถูกกักตัวในสถานกักกันในประเทศไทยเป็นเวลา 9 ปี หลังจากถูกจับขณะที่เดินทางเข้ามาในไทยอย่างผิดกฎหมาย เมื่อหลบหนีออกจากจีน ตามข้อมูลจากสภาอุยกูร์โลก (World Uyghur Congress) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในเยอรมนี

“อาซิซ อับดุลลาห์ เป็นผู้ต้องกักชาวอุยกูร์คนหนึ่งจาก 50 คน เกือบทั้งหมดถูกกักตัวไว้ที่สถานกักกันคนต่างด้าว ตม. สวนพลู คนเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของชาวอุยกูร์กลุ่มใหญ่ที่เข้ามาในไทยในระหว่างปี 2556-2557” สภาอุยกูร์โลกกล่าวในแถลงการณ์ที่ออกเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ เพื่อเรียกร้องให้ไทยสอบสวนการเสียชีวิตของชาวอุยกูร์รายนี้

“ในตอนนั้น ชาย หญิง และเด็กชาวอุยกูร์กว่า 350 คน ที่หลบหนีออกจากจีน ถูกเจ้าหน้าที่ของไทยจับและกักตัวไว้ ในเดือนกรกฎาคม 2558 หญิงและเด็กอย่างน้อย 170 คนจากจำนวนนี้ ถูกส่งตัวไปยังตุรกี หลายอาทิตย์ต่อมา ชายหญิง 109 คนจากจำนวนนี้ ถูกส่งตัวกลับประเทศจีน หลังจากนั้นก็ไม่มีข้อมูลอีกเลยว่า คนเหล่านี้ถูกปฏิบัติอย่างไรและไปอยู่ที่ไหน”

ชาวอุยกูร์ที่เหลือหลายสิบคนที่เคยถูกกักตัวไว้ในสถานกักกันหลายแห่งทั่วประเทศไทย ได้ถูกย้ายมาที่สถานกักกันคนต่างด้าว สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสวนพลู ในกรุงเทพฯ หลังจากที่ชาวอุยกูร์สามคนหลบหนีจากสถานกักกันแห่งหนึ่งในภาคกลางของไทย เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว

“คนเหล่านี้ถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าถึงทนายความ, UNHCR และการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม สภาพความเป็นอยู่แบบนั้นต่ำกว่ามาตรฐานทางกฎหมายและทางสิทธิมนุษยชนที่ระบุไว้ในกฎหมายไทย และเป็นอันตรายต่อชีวิต ผู้ต้องกักถูกขังในห้องแคบ ๆ ที่ไม่ถูกสุขลักษณะตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่ได้รับอาหารอย่างเพียง ไม่ได้ออกกำลังกายหรือได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเหมาะสม” สภาอุยกูร์โลกกล่าว

เมื่อวันพุธ แหล่งข่าวที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของไทยยืนยันว่า ผู้ต้องกักชาวอุยกูร์คนดังกล่าวได้เสียชีวิตลง แต่บอกว่าเจ้าหน้าที่ได้ติดต่อผู้นำชุมชนมุสลิมไทย เพื่อจัดการเรื่องพิธีฝังศพ ซึ่งขัดแย้งกับคำร้องเรียนของมูลนิธิศักยภาพชุมชนที่ว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้ดำเนินการเกี่ยวกับการฝังศพภายใน 24 ชั่วโมง ตามธรรมเนียมของศาสนาอิสลาม

“เราดูแลเขาอย่างดี หลังจากที่พบว่าเขาป่วย” แหล่งข่าวคนดังกล่าวบอกหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์

นายมูฮัมเหม็ด ลูกชายของอาซิซ อับดุลลาห์ ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ในประเทศตุรกีกับแม่ และสมาชิกในครอบครัว กล่าวกับเรดิโอฟรีเอเชีย สำนักข่าวร่วมเครือเบนาร์นิวส์ หลังรู้ข่าวการเสียชีวิตของพ่อว่า เขาแยกทางกับพ่อตอนอายุ 15 ปี เมื่อพวกเขาไม่อนุญาตให้พ่อหนีไปตุรกีกับพวกเรา

“ตั้งแต่เรามาถึงตุรกี เราก็ได้คุยกับพ่อทางโทรศัพท์บ้างเป็นครั้งคราว จากนั้นเราก็ขาดการติดต่อกับพ่อไปประมาณหนึ่งปี ครั้งนี้ เราติดต่อกันอีกเมื่อ 2-3 เดือนก่อน พ่อบอกเราว่า อาการแย่ลง ก่อนหน้านี้อาการของเขาก็ใช่ว่าดี เพราะเดือนที่แล้วพ่อบอกเราว่า อาการแย่ลงมาก นอนไม่หลับตอนกลางคืน แต่พอผล็อยหลับไปได้ชั่วโมงหนึ่ง ก็ต้องตื่นขึ้นมาพร้อมกับอาการไออย่างรุนแรง บางครั้งถ้าไอมากเกินไป เขาก็อาเจียนเป็นเลือด เราได้ข่าวการเสียชีวิตของพ่อเมื่อสองวันก่อน (วันที่ 10 กุมภาพันธ์)”

ชาวอุยกูร์ที่อาศัยในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ (Xingjiang Uyghur Autonomous Region: XUAR) เป็นชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมที่ต้องทนกับการถูกกดขี่ขมเหงจากรัฐบาลจีน หลายกรณีดังกล่าวได้รับการบันทึกไว้อย่างละเอียดโดยกลุ่มต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน

เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว มิเชลล์ บาเชเลต์ ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ ได้ออกรายงานฉบับหนึ่งสรุปว่า การกดขี่ชาวอุยกูร์และชนกลุ่มน้อยเตอร์กิกอื่น ๆ ใน XUAR “อาจถือเป็นอาชญากรรมระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ”

รายงานฉบับนั้นยังกล่าวด้วยว่า ทางการจีนกักขังชาวมุสลิมและชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ จำนวน 1.8 ล้านคนในค่ายกักกัน พวกเขาเหล่านั้นถูกทรมาน บังคับทำหมัน และบังคับใช้แรงงาน ตลอดจนถูกกำจัดแบบแผนประเพณีทางภาษา วัฒนธรรม และศาสนา

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง