เปิดหลักฐาน กต. ระบุ มี 3 ประเทศ ยินดีให้คนอุยกูร์ไปลี้ภัย

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2025.03.05
กรุงเทพฯ
เปิดหลักฐาน กต. ระบุ มี 3 ประเทศ ยินดีให้คนอุยกูร์ไปลี้ภัย กัณวีร์ สืบแสง สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม โชว์จดหมายฉบับจริงที่เขียนโดยชาวอุยกูร์ มีใจความถึงนายกฯ ว่าอยากกลับไปอยู่พร้อมหน้ากับครอบครัว ซึ่งมีลายน้ำจากกรมราชทัณฑ์ในมุมขวาล่าง ที่อาคารรัฐสภา วันที่ 4 มีนาคม 2568
ธนัญชัย แก้วโสวัฒนะ-ไทยนิวส์พิกซ์/เบนาร์นิวส์

นายกัณวีร์ สืบแสง สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ว่า ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ เคยให้ข้อมูลในที่ประชุมกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชนว่า มีอย่างน้อย 3 ประเทศที่ยินดีรับคนอุยกูร์ในห้องกัก สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ไปลี้ภัย

“ในวันนั้นในที่ประชุม เราถามผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศว่า มีแนวทางในการแก้ปัญหาคนอุยกูร์ที่ยังอยู่ในห้องกักสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองไหม เขาก็ตอบว่า มีการหารือกับต่างประเทศ มีประเทศที่แสดงว่าเขามีความพร้อมในการจะรับคนอุยกูร์ไปตั้งถิ่นฐานใหม่ 3 ประเทศ ตามเอกสาร” นายกัณวีร์ กล่าว

นายกัณวีร์ เปิดเผย เอกสารบันทึกการประชุมวันที่ 10 ก.ค. 2567 ซึ่งเผยให้เห็นว่า ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า “UNHCR หรือ OHCHR ขอให้ไทยไม่ส่งตัวชาวอุยกูร์กลับไปจีนและบางประเทศก็แสดงความพร้อมรับชาวอุยกูร์ไปตั้งถิ่นฐาน เช่น สหรัฐฯ สวีเดน ออสเตรเลีย”

ก่อนหน้านี้ Justice For All องค์กรสิทธิมนุษยชนสากลเรียกร้องให้ ไทยยุติความพยายามที่จะส่งผู้ลี้ภัยอุยกูร์ 48 คน ไปยังประเทศจีน โดยระบุว่า ต้นเดือน ม.ค. 2568 เจ้าหน้าที่ได้ถ่ายรูป และนำเอกสารเกี่ยวกับการสมัครใจกลับจีนมาให้ผู้ต้องกักชาวอุยกูร์กรอก พูดกดดันว่าจะเนรเทศพวกเขาไปจีน ทำให้ผู้ต้องกักประท้วงด้วยการอดอาหาร

ต่อมาวันที่ 27 ก.พ. ที่ผ่านมา รถบรรทุกซึ่งถูกปิดเทปสีดำ 6 คัน เคลื่อนออกจาก สตม. สวนพลู มุ่งหน้าไปยังท่าอากาศยานดอนเมือง มีการกีดกันผู้สังเกตการณ์ และสื่อมวลชนที่พยายามติดตามรถคันดังกล่าว ต่อมารัฐบาลไทยได้แถลงในภายหลังว่า ได้ตกลงร่วมกับรัฐบาลจีนในการส่งคนอุยกูร์ 40 คนกลับ

“ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศก็บอกว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืน เรื่องผู้ลี้ภัย มีทางเลือกมากกว่าการให้เดินทางกลับประเทศจีนอย่างเดียว ในบันทึกการประชุมบอกว่า ประเทศจีนเองก็มีความต้องการ และขอให้ไทยไม่ส่งคนอุยกูร์ไปประเทศไหน ซึ่งก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องตัดสินใจด้านนโยบาย” นายกัณวีร์ กล่าว

หลังการส่งกลับ รัฐบาลสหรัฐฯ, สหภาพยุโรป, องค์กรสิทธิมนุษยชน และองค์กรอิสลามหลายองค์กรจากนานาชาติ ได้ประณามการตัดสินใจของรัฐบาลไทย และแสดงความกังวลว่า คนอุยกูร์ที่ถูกส่งกลับไปทั้งหมดอาจต้องเผชิญความเสี่ยงต่อการถูกละเมิดด้านร่างกาย และสิทธิเสรีภาพ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นักวิเคราะห์ชี้ ส่งคนอุยกูร์กลับ กระชับความสัมพันธ์จีน แต่หักหน้าอเมริกา

นักสิทธิร้อง UN ถอดไทยจากคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ หลังส่งอุยกูร์ไปจีน

สี่อุยกูร์ที่เหลือในไทยร่ำไห้ หลังเพื่อนร่วมเชื้อชาติถูกส่งกลับจีน


ด้าน น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แถลงต่อสื่อมวลชน ยืนยันว่า คนอุยกูร์ทุกคนสมัครใจที่จะกลับไปจีน 

“จีนมีการยืนยันอย่างเป็นทางการว่า ถ้าเราส่งตัวคนอุยกูร์กลับไป เขาจะไม่ถูกดำเนินคดี และสามารถกลับเข้าไปอยู่กับครอบครัวในสังคมได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เขาให้คำมั่นสัญญากับทางไทยแล้วว่า ทุกคนที่กลับไปจะปลอดภัย ไม่มีประเทศที่สามมาเสนอในการขอรับตัวอุยกูร์เลย ประเทศไทยก็ต้องส่งกลับคนจีนไปประเทศจีน” น.ส. แพทองธาร กล่าวในวันที่ 28 ก.พ.

รัฐบาลไทยยังยืนยันว่า จีนพร้อมให้ไทยเข้าไปติดตามความเป็นอยู่ของคนอุยกูร์ที่ถูกส่งกลับไปได้ตลอดเวลา และ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จะเชิญสื่อมวลชนเดินทางไปติดตามสภาพความเป็นอยู่ของคนอุยกูร์ทั้งหมดที่จีนในเร็ว ๆ นี้

“นับตั้งแต่วันแรกที่มีการผลักดันชาวอุยกูร์กลับ รัฐบาลไทยไม่ได้เสนอข้อเท็จจริงออกมาว่า มันมีอะไรบ้าง รัฐบาลพูดอย่างเดียวว่า เขาสมัครใจกลับ และไม่มีประเทศไหนมาติดต่อ ประสานไปแล้วไม่มีใครยอมรับ ข้อเท็จจริงเหล่านี้เลยต้องถูกนำมาวางแผ่ให้สาธารณชนรับทราบ ถ้าเราไม่ยึดมั่นตามมาตรฐานสากลจริง ๆประเทศไทยจะเสียภาพลักษณ์ในเวทีระหว่างประเทศ” สส. พรรคเป็นธรรม ระบุ 

ไทยกีดกันกระบวนการลี้ภัยไปยังประเทศที่สาม

ต่อประเด็นเดียวกัน นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำประเทศไทย กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า รัฐบาลมีส่วนที่ทำให้กระบวนการขอรับคนอุยกูร์จากไทยไปลี้ภัยในประเทศที่สามไม่สำเร็จ

“ฮิวแมนไรท์วอทช์รับรู้ว่า มีหลายประเทศที่เสนอจะรับตัวชาวอุยกูร์จริง ๆ การรับตัวในที่นี้อาจจะไม่ได้รับเป็นกลุ่มใหญ่ โดยแบ่งเป็นประเทศโน้นรับกี่คน ประเทศนี้รับกี่คน ซึ่งก็มีการเสนอมา แต่ว่าไทยไม่ได้สานต่อข้อเสนอเหล่านี้ไปจนถึงระดับที่ทำเป็นเอกสารอย่างเป็นทางการ” นายสุณัย กล่าว

ในปี 2557 ไทยเคยผลักดันคนอุยกูร์เพศชาย 109 คน กลับไปยังจีน ขณะที่ส่งคนอุยกูร์เพศหญิง และเด็กไปยังประเทศที่สาม คือ ตุรกี 173 คน มีการเปิดเผยภาพว่า คนอุยกูร์ที่ถูกส่งไปจีนถูกคลุมศีรษะ และคุมตัวคล้ายนักโทษ 

ต่อมา เดือน ส.ค. 2558 ได้เกิดเหตุระเบิดศาลพระพรหมเอราวัณ สี่แยกราชประสงค์ ซึ่งฝ่ายความมั่นคงเชื่อว่า เป็นการกระทำเพื่อตอบโต้การส่งคนอุยกูร์กลับจีน เพราะเป็นแหล่งท่องเที่ยวซึ่งได้รับความนิยมจากคนจีน ปัจจุบัน คดีระเบิดราชประสงค์ยังคงอยู่ในการพิจารณาของศาลอาญากรุงเทพใต้

“มีหลายประเทศที่แจ้งความจำนงมา ตั้งแต่ยุค คสช. จนถึงปัจจุบันว่า ยินดีที่จะรับตัวไป แต่ข้อเท็จจริง คือ การเข้าถึงคนอุยกูร์ในห้องกัก ถูกถือเป็นประเด็นความมั่นคง ซึ่งต่างจากผู้ต้องกักสัญชาติอื่นที่สามารถเข้าพบได้ปกติ แต่คนอุยกูร์จะถูกแยกปฏิบัติ การตัดสินใจเกี่ยวกับคนอุยกูร์จะต้องให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นผู้ตัดสินใจ ขณะที่ UNHCR ก็เข้าไปตรวจสอบสถานะคนอุยกูร์ไม่ได้” นายสุณัย กล่าว

ชาวอุยกูร์ คือ กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ (Xinjiang Uyghur Autonomous Region - XUAR) ในภาคตะวันตกของจีน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่นับถือศาสนาอิสลาม และมีภาษาพูดเป็นของตัวเอง

สหประชาชาติ (UN) เคยรายงานว่า จีนกักขังชาวอุยกูร์ และชนกลุ่มน้อยอื่น ๆ 1.8 ล้านคน ในค่ายกักกันมีการทรมาน บังคับทำหมัน บังคับใช้แรงงาน รวมถึงห้ามให้ปฏิบัติตามประเพณี ภาษา วัฒนธรรม และศาสนา

ปัจจุบัน มูลนิธิศักยภาพชุมชน ระบุว่า มีคนอุยกูร์เหลืออยู่ในประเทศไทย 10 คน ประกอบด้วย คนอุยกูร์ 5 คน ที่อยู่ในเรือนจำคลองเปรม จากความผิดฐานแหกห้องกัก สตม. จ.มุกดาหาร เมื่อเดือน ม.ค. 2563 คนอุยกูร์ 2 คนซึ่งเป็นจำเลยคดีระเบิดราชประสงค์ ปี 2558 และอีก 3 คนซึ่งอยู่ในห้องกัก สตม. สวนพลู เนื่องจากถือหนังสือเดินทางของชาติอื่นที่ไม่ใช่จีน

“สิ่งที่น่ากังวลหลังจากนี้คือ คนอุยกูร์ที่อยู่ในเรือนจำคลองเปรมกำลังจะพ้นโทษในปีหน้า ชะตากรรมเขาจะเป็นยังไง เราไปเยี่ยมเขา เขาก็บอกเราทุกครั้งว่า เขาไม่อยากไปจีน ที่ผ่านมา ในการประชุม กมธ. กระทรวงการต่างประเทศเปิดเผยว่า มีประเทศที่สามพร้อมจะรับคนอุยกูร์ไป แต่ สมช. ยืนยันว่า ส่งไปไม่ได้เพราะ ต้องรักษาความสัมพันธ์อันดีกับประเทศจีน นี่คงเป็นเหตุผลที่ไทยส่งไปจีน นี่คือสิ่งที่รัฐบาลโกหก” นางชลิดา ทาเจริญศักดิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศักยภาพชุมชน กล่าวกับเบนาร์นิวส์

รุจน์ ชื่นบาน ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง