นักสิทธิ-ฝ่ายค้านชี้ ชายแดนใต้รุนแรงขึ้น เพราะนโยบายสันติภาพไม่ชัดเจน

มารียัม อัฮหมัด และ นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2025.03.10
ปัตตานี และ กรุงเทพฯ
นักสิทธิ-ฝ่ายค้านชี้ ชายแดนใต้รุนแรงขึ้น เพราะนโยบายสันติภาพไม่ชัดเจน เจ้าหน้าที่ชุดเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด กองกำกับการตำรวจภูธร จ.นราธิวาส เข้าตรวจสอบจุดเกิดเหตุคนร้ายวางระเบิด หน้าที่ว่าการอำเภอสุไหงโก-ลก ในวันอาทิตย์ที่ 9 มีนาคม
สภ.สุไหงโกลก

นักสิทธิมนุษยชน และผู้นำฝ่ายค้านมองว่า สถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้กลับมารุนแรงขึ้น สาเหตุมาจากเพราะรัฐบาลไม่มีนโยบายสันติภาพที่ชัดเจน และการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่มีความคืบหน้า 

“ก่อนหน้านี้ที่มีการเผาเสาไฟฟ้า กล้องวงจรปิด หรือติดป้าย ก็เป็นการสะท้อนความไม่พอใจออกมาแล้ว แต่รัฐบาลยังคงนิ่งเฉยต่อสัญญาณที่เกิดขึ้น ไม่ตอบรับใด ๆ ก็เริ่มมีความรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อคน ส่วนหนึ่งอาจเป็นความบกพร่องของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ แต่อีกส่วนนึงรัฐบาลก็ปฏิเสธความรับผิดชอบเรื่องนี้ไม่ได้ว่า ไม่มีการแสดงเจตจำนงที่ชัดเจนเรื่องกระบวนการพูดคุยฯ” น.ส. อัญชนา หีมมิหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ กล่าว

ความเห็นดังกล่าวสืบเนื่องจาก เฉพาะในช่วงเดือนรอมฎอนปีนี้ มีผู้เสียชีวิตจากความไม่สงบแล้วอย่างน้อย 6 ราย ประกอบด้วย เมื่อวันเสาร์เกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิด และใช้อาวุธปืนโจมตี ที่ว่าการอำเภอสุไหงโก-ลก และอีกหลายจุดใน จ.นราธิวาส เป็นเหตุให้มี อาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) เสียชีวิต 2 นาย และมีประชาชนบาดเจ็บร่วม 10 ราย

ในวันเดียวกันช่วงดึก ที่ ต.เตราะบอน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี คนร้ายก็ได้โจมตีใส่ชุดปฏิบัติการ กองร้อยทหารพรานที่ 4411 หน่วยเฉพาะกิจ กรมทหารพรานที่ 44 จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย และบาดเจ็บ 1 ราย และต่อมาในเวลา 02.00 น. ของวันจันทร์ ก็เกิดเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนยิง อส. เสียชีวิต 1 ราย ในพื้นที่ ต.สะเอะ อ.กรงปินัง จ.ยะลา

“ตั้งแต่ คุณแพทองธาร (ชินวัตร-นายกรัฐมนตรี) ไปพบคุณอันวาร์ (อิบราฮิม-นายกรัฐมนตรี มาเลเซีย) เมื่อ ธ.ค. ปีที่แล้ว BRN ก็มีแถลงการณ์ว่า ควรมีการแต่งตั้งหัวหน้าคณะพูดคุยฯ หรือรัฐบาลควรหาทางการปัญหาชายแดนภาคใต้ ซึ่งหากไม่ดำเนินใด ๆ จะเกิดความรุนแรง สัญญาณดังกล่าวเกิดขึ้นอีกครั้งในช่วงเดือน ก.พ. ปีนี้ แต่รัฐบาลก็ยังนิ่งเฉย ซึ่งสะท้อนให้เห็นความไม่มุ่งมั่นตั้งใจในการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ แล้วก็เกิดความรุนแรงขึ้นจริง ๆ” น.ส. อัญชนา กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ต่อกรณีเดียวกัน นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) และผู้นำฝ่ายค้าน ได้เขียนข้อความแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และเรียกร้องให้รัฐบาลเดินหน้ากระบวนการสันติภาพ

“พรรคประชาชนประณามการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบไม่ว่าจะมาจากฝ่ายใด ผมขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้เร่งหาตัวผู้ก่อเหตุมาดำเนินคดีตามกฎหมาย และเดินหน้ากระบวนการพูดคุยสันติภาพอย่างจริงจัง เพื่อให้กระบวนการนี้เป็นส่วนสำคัญในการลดความรุนแรงจากทุกฝ่ายและหาทางออกที่ยั่งยืนต่อไป” นายณัฐพงษ์ ระบุบนเฟซบุ๊กเพจ

kolok-bomb.jpg
เจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุคาร์บอมบริเวณที่ว่าการอำเภอสุไหงโกลก จังหวัดนราธิวาส วันที่ 9 มีนาคม 2568 (สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนราธิวาส)

ตลอดช่วงปี 2548-2567 รัฐบาลใช้เงินในการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ร่วม 5 แสนล้านบาท เริ่มใช้กระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในปี 2556 โดยมีตัวแทนฝ่ายรัฐบาล ไปพูดคุยกับตัวแทน ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (Barisan Revolusi Nasional Melayu Patani-BRN) และกลุ่มอื่น ๆ โดยมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก

เร่งรัดพูดคุยสันติสุข

นายกัณวีร์ สืบแสง สส. บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ได้กระตุ้นให้รัฐบาลเดินหน้ากระบวนการพูดคุยฯ “เราต้องตั้งหลัก กำหนดทิศ วางสมการการแก้ไขปัญหา มุ่งเข็มทิศการสร้างสันติภาพตามมาตรฐานสากลที่ตอบรับกับประเด็นและบริบทของพื้นที่ รวมทั้ง ดำเนินการเจรจาสันติภาพอย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพโดยเร็ว”

ตั้งแต่เริ่มมีการพูดคุยฯ ในปี 2556 เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล กระบวนการพูดคุยฯ มักหยุดชะงักลง หลังการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี ก็มักมีการเปลี่ยนตัวหัวหน้าคณะพูดคุยฯ เช่นกัน แต่ในสมัย น.ส. แพทองธาร ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ยังไม่มีการแต่งตั้งหัวหน้าคณะพูดคุยฯ คนใหม่ และเริ่มการพูดคุยฯ 

ในเดือน ธ.ค. 2567 ภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, สมาคมด้วยใจเพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม, คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) และองค์กรอื่นอีกกว่า 10 องค์กร รวมถึงประชาชน ก็ร่วมกันเรียกร้องให้รัฐบาลกลับมาเจรจาสันติภาพกับ BRN โดยเร็ว 

“เราพบว่า รัฐบาลยังไม่ได้มีการดำเนินการใด ๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาทั้งระดับนโยบาย และในระดับปฏิบัติการ โดยรัฐบาลยังไม่มีการแต่งตั้งหัวหน้าคณะพูดคุยฝ่ายไทย ทำให้การเจรจาสันติภาพหยุดชะงักลงตั้งแต่เดือน ก.พ. 2567” ตอนหนึ่งของแถลงการณ์ ระบุ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เจ้าหน้าที่วิสามัญฯ ผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบ 4 ราย ที่ยะลา

บทบาทที่ปรึกษาของทักษิณ อาจช่วยหนุนการพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้ นักวิเคราะห์กล่าว 

กอ.รมน. อ้างคุมตัว นักข่าววาร์ตานี เพราะโพสต์ข้อมูลเท็จ


ต่อประเด็นเดียวกัน นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า รัฐบาลพร้อมเดินหน้ากระบวนการพูดคุยฯ แต่ต้องมีเงื่อนไข

“เป็นเรื่องน่าเสียใจที่เกิดเหตุ และมีคนเสียชีวิต เราชัดเจนมาตลอดว่า ถ้าการเจรจาเป็นสิ่งที่ทางฝ่ายติดต่อเขาประสงค์จะให้เกิด เราก็ต้องดูว่า เขาใช่คนที่เจรจาจริงหรือเปล่า เราไม่แน่ใจว่าคนไหนเป็นตัวจริงที่จะเจรจากับเรา เราได้พูดต่อสาธารณะว่า ขอให้ยุติ (ความรุนแรง) สักช่วงนึง ถ้าหากสามารถยุติได้ก็แสดงว่าอยากเจรจาจริง ก็ขอให้หยุดยิงก่อนถึงจะเจรจา” นายภูมิธรรม กล่าวในวันจันทร์นี้

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2547-2567 มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นกว่า 22,000 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตกว่า 7,500 คน และมีผู้บาดเจ็บอีกกว่า 14,000 ราย 

เมื่อ 23 ก.พ. 2568 นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้ในฐานะที่ปรึกษาประธานอาเซียน และได้เอ่ยคำขอโทษถึงเหตุการณ์สลายชุมนุมที่ตากใบ ปี 2547 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่า อาจทำให้สถานการณ์ความรุนแรงในชายแดนภาคใต้ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ต้นปี 2568 มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อความไม่สงบแล้ว อย่างน้อย 15 ราย (รวม 6 ราย ในช่วงเดือนรอมฎอนแล้ว)

ป่วนเดือนรอมฎอน

ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พล.ท. ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4 อ้างว่า กลุ่มก่อความไม่สงบจงใจก่อเหตุในเดือนรอมฎอน

“พวกเขาคิดว่า ก่อเหตุแล้วได้บุญเพราะทุกปีเดือนรอมฎอนเหตุจะเกิดมากขึ้น จึงได้สั่งการให้มีการทบทวนมาตรการควบคุมการก่อเหตุ และติดตามบังคับใช้กฎหมายกับผู้ก่อเหตุตามแผนปฏิบัติ” พล.ท. ไพศาล กล่าว

ปี 2566-2567 มีเหตุปะทะซึ่งนำไปสู่การวิสามัญฆาตกรรม 9 ครั้ง โดยมีผู้เสียชีวิต 16 ราย โดยแบ่งเป็นปี 2566 รวมทั้งสิ้น 8 ราย จาก 5 เหตุ ขณะที่ปี 2567 ผู้เสียชีวิตอีก 8 รายจาก 4 เหตุ โดยปลายเดือน ม.ค. ปี 2568 มีการวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยก่อความไม่สงบ 4 รายในยะลา

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา มีนักกิจกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างน้อย 40 คน ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายเรียกไปรับทราบข้อกล่าวหาคดีอาญา ขณะเดียวกันในบางคดี ผู้ฟ้องคือ พล.ท. ศานติ ศกุนตนาค อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 เอง

“สถิติแสดงให้เห็นแล้วว่า ความรุนแรงอยู่ในจุดสูงสุดช่วงปี 2555 และลดลงมาอย่างต่อเนื่องในช่วงที่มีการพูดคุยฯ กระทั่งกลับมารุนแรงอีกครั้งใน 2-3 ปีนี้ เรื่องนี้อ้างอิงโดยสถิติ และเสียงสะท้อนของชาวบ้าน ภาคประชาสังคม ก็บอกอยู่แล้วว่า ต้องใช้แนวทางเจรจาเพื่อยุติความรุนแรง การพูดคุยฯ จึงต้องมีอย่างเร่งด่วน เพื่อนำไปสู่ปลายทางคือ ข้อตกลงหยุดยิง และสันติภาพ” น.ส. อัญชนา ระบุ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง