บทบาทที่ปรึกษาของทักษิณ อาจช่วยหนุนการพูดคุยสันติสุขชายแดนใต้ นักวิเคราะห์กล่าว
2025.03.04
ปัตตานี และ กรุงเทพฯ

ปรับปรุงข้อมูล เวลา 1:00 PM วอชิงตันดีซี วันที่ 7 มีนาคม 2568
บทบาทใหม่ของทักษิณ ชินวัตร ในฐานะที่ปรึกษาของมาเลเซีย ซึ่งเป็นประธานอาเซียนในปี 2568 อาจช่วยสนับสนุนการพูดคุยสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยังมีสถานการณ์ความไม่สงบได้ นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงกล่าว
การพูดคุยระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มกบฏมลายูมุสลิม ยังไม่มีสัญญาณความคืบหน้าต่อสาธารณะ นับตั้งแต่ลูกสาวของทักษิณ แพทองธาร ชินวัตร ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อกว่าหกเดือนก่อน
อย่างไรก็ตาม การแต่งตั้งนายทักษิณ โดยนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย อันวาร์ อิบราฮิม ให้เป็นที่ปรึกษาพิเศษของมาเลเซียในระหว่างที่มาเลเซียดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนปี 2568 อาจทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไปได้ ตามความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่ให้สัมภาษณ์กับเบนาร์นิวส์
“การแต่งตั้งให้ นายทักษิณเป็นที่ปรึกษาของตนเองในการรับตำแหน่งประธานอาเซียน ปี 2568 อาจได้เห็นการดึงเอาบรูไนและอินโดนีเซียเข้ามามีส่วนร่วมกับกระบวนการสันติภาพ” ดร. ปณิธาน วัฒนายากร อดีตประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของรัฐบาล กล่าวกับเบนาร์นิวส์
เป็นเวลาหลายปีที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเจรจาหลายรูปแบบเพื่อยุติความขัดแย้งจากขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่ดำเนินมาอย่างยาวนานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมลายูมุสลิม แต่การเจรจาเหล่านั้นมักจะชะงักลงหรือไม่สามารถบรรลุข้อตกลงที่สำคัญได้
ทักษิณอาจใช้ความสัมพันธ์พิเศษระหว่างเขากับอันวาร์ ทำให้เกิดการแก้ปัญหาทางหลังบ้าน แก้ปัญหาแบบไม่เปิดเผย แก้ปัญหาเรื่องที่การเดินหน้าแบบเปิดเผยทำไม่ได้” ผศ.ดร. ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ศาล รธน. ไม่รับวินิจฉัยกรณีทักษิณรักษาตัว รพ. ตำรวจ ระหว่างรับโทษ
แพทองธาร คุยมาเลเซียหวังเร่งพูดคุยฯ รอบใหม่ ด้านอันวาร์ตั้งทักษิณนั่งที่ปรึกษา
หมดเวลาแสวงความยุติธรรมคดีตากใบ
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายกรัฐมนตรีอันวาร์ ได้กล่าวกับสมาชิกรัฐสภามาเลเซียในทำนองเดียวกันเกี่ยวกับศักยภาพของทักษิณ ในการมีบทบาทต่อการยุติความขัดแย้งดังกล่าว
“มันช่วยได้ แม้ว่าจะมีข้อถกเถียงที่ถูกหยิบยกขึ้นมา แต่ล่าสุด เขาได้ลงพื้นที่ชายแดนใต้ เพื่อขอโทษเกี่ยวกับกรณีตากใบ และให้คำมั่นว่าจะร่วมมือกับมาเลเซียในการแสวงหาสันติภาพและทางออกที่เป็นธรรม" นายอันวาร์ ระบุ
การกล่าวคำขอโทษของทักษิณ
นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าวถึงเหตุการณ์สังหารหมู่ในปี 2547 ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชายแดนใต้ของไทยในช่วงที่ทักษิณดำรงตำแหน่งในฐานะนายกรัฐมนตรี
เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไทยสังหารประชาชน 85 ราย แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดถูกดำเนินคดีในเหตุการณ์สังหารหมู่ตากใบ ซึ่งอาจเป็นเหตุการณ์ที่อื้อฉาวที่สุดในความขัดแย้งแบ่งแยกดินแดนที่ปะทุขึ้นอีกครั้งในปี 2547
ในฐานะที่ปรึกษาของอาเซียน ทักษิณเดินทางลงพื้นที่ชายแดนใต้เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ และระหว่างการเยือน เขาได้กล่าวคำขอโทษเมื่อถูกถามถึงเหตุการณ์ดังกล่าว
“การทำงานมันก็มีผิดพลาดได้บ้าง ถ้าผมมีอะไรผิดพลาดที่ไม่เป็นที่พอใจ ก็ขออภัยด้วย เพื่อเราจะได้หันกลับมาช่วยกันแก้ปัญหาด้วยกัน ไม่อยากให้ความแคลงใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ยังอยู่” ทักษิณกล่าว ในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี เขาถูกโค่นอำนาจจากการรัฐประหารในปี 2549 และเดินทางกลับประเทศไทยในปี 2566 หลังจากลี้ภัยอยู่ต่างประเทศเป็นเวลาร่วม 17 ปี
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 เมื่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงใช้กำลังสลายการชุมนุมของผู้ประท้วงที่อยู่หน้าสถานีตำรวจตากใบ จังหวัดนราธิวาส
ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เสียชีวิตภายในรถบรรทุกของทหาร โดยพวกเขาถูกมัดมือไพล่หลัง และวางทับกันเหมือนท่อนไม้ ขณะที่อายุความ 20 ปี ของคดีนี้หมดลงเมื่อปีที่แล้ว โดยไม่มีผู้ใดถูกดำเนินคดี
“การพูดขอโทษก็ถือว่าดีกว่า ไม่พูดอะไรเลย เพราะเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนใต้เกิดขึ้นขณะที่เขาเป็นนายกรัฐมนตรี การไม่พูดอะไรเลยอาจจะเสียหายมากกว่า” ดร. ปณิธาน กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ผู้สังเกตการณ์รายอื่นและนักสิทธิมนุษยชน มองว่า การกล่าวคำขอโทษของอดีตนายกรัฐมนตรีอาจหนักแน่นน้อยเกินไป เมื่อพิจารณาเหตุการณ์โหดร้ายสังหารหมู่ที่เกิดขึ้น
“คล้ายออกตัวว่า คนทำงานอาจจะมีความผิดพลาดได้ อาจต้องการระมัดระวังตนเองในการเป็นจำเลยของความผิดพลาดในอดีตที่มีปัญหาเกิดขึ้น แต่ขออภัยในแง่กระทบกระทั่งเล็กน้อย” ผศ.ดร. ศรีสมภพ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
“แต่ความจริงแล้วความรู้สึกของคนในพื้นที่ ปัญหากรือเซะ-ตากใบ คนตายเยอะ มีความรุนแรงสูง อย่างน้อยทักษิณน่าจะรับผิดชอบในส่วนนี้ แสดงออกด้วยคำพูดที่หนักแน่นกว่านี้” เขากล่าว

นับตั้งแต่สมาชิกรัฐสภาเลือก น.ส. แพทองธาร ชินวัตร ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน นายเศรษฐา ทวีสิน ในเดือนสิงหาคม 2567 แทบไม่มีความคืบหน้าใด ๆ ในการผลักดันการพูดคุยสันติสุขในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่ง น.ส. แพทองธาร ได้เดินทางไปเยือนเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยยังไม่มีการเจรจาอย่างเป็นทางการเกิดขึ้น
“ขณะที่สถานการณ์ความรุนแรงก็มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ตั้งแต่คดีตากใบหมดอายุความ ความคาดหวังมันสูงขึ้น” น.ส. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวกับเบนาร์นิวส์
“แต่เมื่อเขาไม่ทำอะไรเลย ก็เหมือนละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ที่สำคัญ”
ตั้งแต่ต้นปี 2568 มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มก่อความไม่สงบแล้ว อย่างน้อย 9 ราย
ในเดือนมกราคม ในจังหวัดนราธิวาส เจ้าหน้าที่ตำรวจสองนายเสียชีวิต จากเหตุระเบิด และเหตุการณ์ต่อมา เจ้าหน้าที่ทหารและอาสาสมัครเจ็ดนาย ได้รับบาดเจ็บจากเหตุระเบิดบนถนน ต่อมาในเดือนเดียวกัน เจ้าหน้าที่ความมั่นคงได้ล้อมจับและสังหารผู้ต้องสงสัยกลุ่มก่อความไม่สงบสี่ราย ในจังหวัดยะลา
ในเดือนกุมภาพันธ์ เหตุระเบิดริมถนนในอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี ทำให้ตำรวจเสียชีวิตหนึ่งนาย และบาดเจ็บสามนาย และในอีกหนึ่งเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจถูกยิงเสียชีวิตสองนาย
ล่าสุด เมื่อวันที่ 6 มี.ค. ตำรวจรายงานว่าเกิดเหตุระเบิดในตำบลสะเตง จังหวัดยะลา ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายราย ขณะเดียวกัน ในจังหวัดปัตตานี คนร้ายเผากล้องวงจรปิด-ขว้างระเบิด หลายจุดที่ยะลา-ปัตตานี ตามรายงานของตำรวจ
ตำแหน่งว่าง
รัฐบาลของแพทองธารยังไม่ได้แต่งตั้งหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทยคนใหม่สำหรับการพูดคุยสันติสุข นับตั้งแต่ตำแหน่งดังกล่าวว่างลง ในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว โดยมีนายฉัตรชัย บางชวด ดำรงตำแหน่งนี้เป็นเวลา 11 เดือน ก่อนจะได้รับการเลื่อนตำแหน่งเป็น เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติของไทยในเดือนนั้น
ขณะที่ ดร. ปณิธาน มองว่า แม้รัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะพยายามใช้พลเรือน เช่นเจ้าหน้าที่ของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แต่ที่ผ่านมาก็ถือว่ามีศักยภาพในการแก้ปัญหาไม่มากพอ
“รัฐบาลต้องเพิ่มศักยภาพของ สมช. ให้มากกว่านี้อย่างเร่งด่วน เพราะที่ผ่านมาศักยภาพไม่เพียงพอ อาจเริ่มต้นด้วยการเพิ่มคณะที่ปรึกษาทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ เพื่อวางยุทธศาสตร์ Winning Strategy (ยุทธศาสตร์เพื่อชัยชนะ) การพูดคุยอาจชะลอไปก่อนได้ แต่จำเป็นต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลกันใหม่ คุมสถานการณ์ในพื้นที่ให้ได้ และนำคนออกมาพูดคุยให้สำเร็จ”

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า การเยือนจังหวัดชายแดนภาคใต้ของนายทักษิณ เมื่อเร็ว ๆ นี้ เป็นสัญญาณว่าการเจรจาสันติสุข อาจจะมีความคืบหน้าในปีนี้
“คิดว่าเราจะมีทิศทางที่ดีขึ้น และปีหน้าจะหาทางจบเรื่องนี้ (เรื่องความรุนแรงในพื้นที่) ในฐานะที่ตนรับผิดชอบงานภาคใต้ น่าจะหาทางออกได้” นายภูมิธรรม กล่าวกับผู้สื่อข่าว เมื่อวันที่ 27 ก.พ.
“ยืนยันว่ากระบวนการพูดคุยยังมีอยู่ แต่ยังไม่สามารถระบุแผนการในเร็ววันนี้ได้”
จรณ์ ปรีชาวงศ์ ในกรุงเทพฯ และ ฟาร์ฮานา ฟารุช ในกัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย ร่วมรายงาน
หมายเหตุ : รายงานข่าวนี้ได้รับการแก้ไขเพื่อปรับปรุงการนำเสนอคำกล่าวของทักษิณในการรายงาน