หมดเวลาแสวงความยุติธรรมคดีตากใบ
2024.10.26
แม้ว่าความเป็นไปได้จะมีน้อยมาก แต่ชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่ชายแดนใต้ของไทยก็ไม่เคยหมดหวังว่า รัฐบาลจะแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา เพื่อขยายอายุความคดีสังหารหมู่ตากใบอันฉาวโฉ่ไปอีก 20 ปี
พวกพี่น้องชาวมลายูมุสลิม หวังว่าผู้ต้องสงสัยทั้ง 14 คน ซึ่งตอนนี้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่เกษียณอายุราชการไปแล้ว จะถูกนำตัวมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจากเหตุการณ์การเสียชีวิตของผู้ประท้วงที่ไร้อาวุธทั้ง 85 คน ในเหตุการณ์ตากใบ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 อายุความในคดีนี้หมดอายุความเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยแม้ว่าจะมีการออกหมายจับ แต่ทางการก็ไม่สามารถจับจำเลยได้สักคนเดียว
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการชุมนุมและเสวนาเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง กิจกรรมดังกล่าว รวมถึงการฟังความเห็นของวุฒิสภา และการรวมตัวประท้วงหน้าฐานทัพทหาร ในจังหวัดยะลา ซึ่งประชาชนเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาและแสดงให้เห็นถึงพันธสัญญาต่อความยุติธรรม
นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร และคณะรัฐมนตรี พยายามที่จะปฏิบัติตามกระบวนการทางกฎหมาย โดยระบุว่า คำขอดังกล่าวต้องได้รับการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน และต้องปฏิบัติตามกระบวนการยุติธรรม ขณะกล่าวขอโทษญาติของเหยื่อเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา เธอยังกล่าวว่า ไม่สามารถขยายอายุความในคดีตากใบได้เกินวันที่ 25 ตุลาคม เพราะอาจขัดรัฐธรรมนูญ
ไม่มีใครอยากยอมรับถึงเบื้องหลังทางการเมืองของเหตุการณ์ตากใบ หรือระบบยุติธรรมของประเทศและชื่อเสียงในระดับนานาชาติจะเสียหายอย่างไร
เหยื่อ 7 ราย จากทั้งหมด 85 ราย ถูกยิงเสียชีวิตที่บริเวณจุดชุมนุม ส่วนที่เหลือเสียชีวิตโดยการขาดอากาศหายใจ ในขณะที่ถูกกองรวมกันไว้เหมือนท่อนไม้ที่ท้ายรถบรรทุกของทหาร หลังจากถูกจับกุมและควบคุมตัว
ผู้เสียชีวิตเหล่านี้อยู่ในกลุ่มผู้ประท้วงเกือบ 1,400 คน ที่เรียกร้องให้ปล่อยตัวเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำหมู่บ้าน 6 คน ซึ่งตำรวจกล่าวหาว่าพวกเขาส่งอาวุธปืนที่ปล้นมาจากค่ายกรมหลวงสงขลานครอินทร์ จ.นราธิวาส ไปให้กับกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดน
การสังหารหมู่ดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงเดือนรอมฎอนอันศักดิ์สิทธิ์ สำหรับชาวมุสลิม พลเอก พิศาล วัฒนวงษ์คีรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุดในภูมิภาค ซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุ ได้รับคำสั่งให้ย้ายจากตำแหน่งอย่างรวดเร็ว และไม่กี่ปีต่อมาก็เกษียณอายุจากกองทัพบกอย่างมีเกียรติ
ไม่นานหลังจากเกิดเหตุสังหารหมู่ตากใบ มีการเผยแพร่คลิปวิดีโอของเหตุการณ์ดังกล่าวไปอย่างกว้างขวาง โดยแสดงให้เห็นผู้ประท้วงถูกเตะและตีด้วยด้ามปืน ขณะที่พวกเขาถูกบังคับให้คลานขึ้นรถบรรทุก
ข้อความชัดเจนที่ถูกส่งไปถึงพวกเขาและชาวมลายูมุสลิม ซึ่งคิดเป็นประมาณ 85% ของประชากร 2 ล้านคน ในสามจังหวัดชายแดนใต้ พื้นที่ที่มีการสู้รบกันมาอย่างยาวนานนี้ คือ “พวกคุณคือฝ่ายพ่ายแพ้ และไม่มีอะไรมากที่คุณทำได้นอกจากเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับความเป็นจริงนี้ อย่าลืมว่าการท้าทายเจ้าหน้าที่มีราคาที่ต้องจ่าย”
อย่างไรก็ตาม ทางการปฏิเสธการรู้เห็นข้อความดังกล่าวโดยสิ้นเชิง
การสังหารหมู่ตากใบกลายเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวที่ทรงพลัง ไม่เพียงแต่สำหรับชาวมลายูมุสลิมในท้องถิ่นที่เน้นย้ำถึงความไม่ไว้วางใจต่อรัฐไทยในประวัติศาสตร์ แต่ยังรวมถึงกลุ่มก่อความไม่สงบที่ใช้เหตุการณ์นี้ในการสรรหาผู้ร่วมอุดมการณ์
นายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้เริ่มรณรงค์การสร้างสันติภาพ เพื่อบรรเทาความโกรธแค้นของชาวมลายูในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้
โดยขอให้ประชาชนทั่วประเทศพับนกกระดาษ และนำไปปล่อยลงจากเครื่องบินทหารทั่วสามจังหวัดชายแดนใต้ โดยใครก็ตามที่เก็บนกพับกระดาษได้ 20 ตัว จะมีสิทธิ์แลกรับนมหนึ่งกล่อง
ถึงแม้ความตั้งใจจะเป็นการสร้างสันติภาพ แต่การปล่อยนกกระดาษกลับทำให้ทั้งกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบและชาวมุสลิมสับสน เนื่องจากพวกเขามีการตีความเกี่ยวกับนกที่แตกต่างออกไป
การเข้าใจตามหลักศาสนาอิสลามเกี่ยวกับการทิ้งนก คือการต่อสู้ อดีตสมาชิกรัฐสภาฝ่ายค้าน ณ เวลานั้น นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ ซึ่งเป็นมุสลิม ได้กล่าวต่อสภา โดยชี้ไปที่ซูเราะห์ 105 ในคัมภีร์อัลกุรอาน ที่ซึ่งพระเจ้าส่ง “ฝูงนก” มาลงโทษศัตรูของพระองค์เพื่อทำลายพวกเขาให้ราบคาบเหมือนหญ้า
อดีตนายกรัฐมนตรี พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร หลังจากทักษิณถูกโค่นอำนาจในปี 2549 ได้กล่าวขอโทษต่อครอบครัวของเหยื่อจากเหตุการณ์ตากใบในการประชุมที่ศาลากลางจังหวัดปัตตานีในปี 2550
แต่รัฐและสังคมไทยไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องทำอะไรเพิ่มเติมหลังจาก พลเอก สุรยุทธ์ได้กล่าวคำขอโทษออกไปแล้ว โดยไม่จัดให้มีอนุสรณ์สถานสาธารณะหรือกิจกรรมอย่างเป็นทางการเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์โศกนาฏกรรมดังกล่าว
ศาลจังหวัดสงขลาพิพากษาเมื่อเดือนพฤษภาคม 2552 ว่าเจ้าหน้าที่ความมั่นคงที่ถูกส่งไปสลายการชุมนุมที่ตากใบได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างครบถ้วนแล้ว และมีผู้เสียชีวิต 78 ราย เพราะขาดอากาศหายใจ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เสียชีวิตจากเหตุการณ์อันไม่คาดคิด ไม่ใช่จากการกระทำโดยเจตนา
ทั้งนี้ ก็ไม่มีการกล่าวถึงผู้ประท้วงอีก 7 คน ที่ถูกยิงเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ
ในปี 2555 รัฐบาลสมัยนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในขณะนั้น ได้จ่ายเงินชดเชยให้ครอบครัวของผู้เสียชีวิตแต่ละรายเป็นจำนวน 7.5 ล้านบาท (222,028 ดอลลาร์สหรัฐ)
อย่างไรก็ตาม การชดเชยทางการเงินนั้นไม่สามารถเทียบเท่ากับความยุติธรรม ไม่ว่าเจ้าหน้าที่ไทยและพันธมิตรทางการเมืองของทักษิณต้องการจะให้เป็นเช่นนั้นเพียงใดก็ตาม
เมื่อเดือนสิงหาคมและกันยายนที่ผ่านมา ศาลตัดสินใจรับฟ้องเพื่อพิจารณาคดี และตั้งข้อหาฆาตกรรมกับชาย 14 คน ตั้งแต่ พลเอก พิศาล ไปจนถึงคนขับรถบรรทุก สำหรับบางคน นี่คือโอกาสที่จะได้รับความยุติธรรม และสำหรับหลายคน นี่คือโอกาสสำหรับการยุติความขัดแย้ง รักษาบาดแผล และเพื่อประเทศชาติจะดำเนินต่อไป
กลุ่มก่อความไม่สงบได้กลับมาปรากฏตัวอีกครั้งกลางปี 2544 หลังจากห่างหายไปนานถึง 10 ปี แต่รัฐบาลทักษิณไม่ได้ให้การยอมรับการมีอยู่ของพวกเขาอย่างเป็นทางการ จนกระทั่งกลุ่มก่อความไม่สงบลักลอบปล้นคลังอาวุธของกองทัพ ในอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อเดือนมกราคม 2547
ผ่านไป 20 ปี มีผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์ความไม่สงบกว่า 7,500 คน และยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติความรุนแรงนี้ แม้จะมีความพยายามหลายต่อหลายครั้งในการเจรจากับกลุ่มก่อความไม่สงบ
ความพยายามในการสร้างสันติภาพไม่เคยก้าวข้ามมาตรการสร้างความเชื่อมั่นได้ ด้วยการที่กองทัพและกลุ่มอนุรักษนิยมยังคงมีอำนาจอย่างเหนียวแน่น หลังจากข้อตกลงกับพรรคเพื่อไทยที่เป็นฝ่ายปกครอง การเจรจาสันติภาพจึงมีแนวโน้มที่จะยากกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต
เมื่อใกล้วันครบรอบเหตุการณ์ 20 ปี ตากใบ ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่การโจมตีในปีนี้รุนแรงขึ้นกว่ามาก อาจเป็นเพราะอายุความในคดีตากใบกำลังจะหมดอายุ และกลุ่มผู้แบ่งแยกดินแดนต้องการส่งสัญญาณเตือนให้รัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกองกำลังความมั่นคงไทยในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ที่มีการทหารหนาแน่น ว่าคดีนี้ยังไม่ได้รับการสะสาง
พรรคการเมืองที่ครองอำนาจในปัจจุบันคือ พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคย่อยของไทยรักไทย มีหัวหน้าพรรคคือ แพทองธาร ลูกสาวของทักษิณ วัย 38 ปี พิศาล เคยเป็นสมาชิกอาวุโสของพรรค และเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จนกระทั่งลาออกเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ซึ่งดูเหมือนจะเป็นการสร้างระยะห่างระหว่างพรรคที่ครองอำนาจกับคดีนี้
เช่นเดียวกับคนอื่น ๆ ที่ถูกศาลไทยตั้งข้อหาในเดือนสิงหาคม ไม่มีใครได้พบเจอ พลเอก พิศาล อีก และเช่นเดียวกันกับความสมานฉันท์ของชาติที่ไม่ปรากฏให้เห็นในพื้นที่ใด
ดอน ปาทาน เป็นนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงในประเทศไทยที่ทำงานเกี่ยวกับความขัดแย้งและการก่อความไม่สงบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความคิดเห็นในงานเขียนนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียนเอง ไม่ใช่ของเบนาร์นิวส์