การให้สัญชาติไทย เป็นของขวัญปีใหม่ของประเทศไทย

การที่ไทยอนุมัติให้สัญชาติไทยกับชุมชนชายขอบถึงร่วมครึ่งล้านคน ถือเป็นของขวัญวันปีใหม่ บริดจิต เวลช์ ระบุ
บทวิเคราะห์โดย บริดจิต เวลช์
2024.12.27
การให้สัญชาติไทย เป็นของขวัญปีใหม่ของประเทศไทย ชาวกะเหรี่ยงที่ข้ามแม่น้ำสาละวินเข้ามาฝั่งประเทศไทยเพื่อหลบภัย เมื่อมีการโจมตีทางอากาศในรัฐกะเหรี่ยง (ด้านตะวันออกของเมียนมา) ขณะมุ่งหน้ากลับฝั่งเมียนมาด้วยเรือ หลังทางการไทยสั่งให้ออกจากแม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564
ผู้นำชุมชนอีตู่ทา/เอเอฟพี

แม้จะไม่มีการประชาสัมพันธ์ แต่ก็สร้างความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เมื่อคณะรัฐมนตรีไทยได้อนุมัติให้สัญชาติไทยกับคนไร้รัฐร่วมครึ่งล้านคน เมื่อปลายเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

นับเป็นการตัดสินใจอันยิ่งใหญ่ด้านการปกครองแห่งปีของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยให้ผู้อพยพระยะยาวและกลุ่มชาวชาติพันธุ์จำนวน 335,000 คน มีอำนาจเข้าถึงสิทธิในการเป็นพลเมือง ซึ่งรวมถึงลูกหลานของพวกเขาที่เกิดในราชอาณาจักรไทยอีก 142,000 คน

การตัดสินใจดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล เพราะนั่นทำให้พลเมืองใหม่เข้าสู่ระบบภาษีฉบับปรับปรุงใหม่ ซึ่งมีผลบังคับใช้ในปีหน้า (โดยจะทำให้มีเงินเข้าไปสมทบในโครงการสวัสดิการสังคมของรัฐมากขึ้น) ขยายกำลังแรงงาน และช่วยลดแรงกดดันด้านประชากรจากกลุ่มประชากรสูงอายุ

นอกจากนี้ยังช่วยแก้ปัญหาด้านความมั่นคงที่มีมาอย่างยาวนานอีกด้วย

การจัดทำเอกสารทางกฎหมายให้กับชุมชนผู้มาตั้งถิ่นฐานในไทย ช่วยลดกิจกรรมผิดกฎหมายและการทุจริตที่เกี่ยวข้องกับการทำเอกสารปลอม ประเทศไทยกำลังมองไปข้างหน้าโดยตระหนักว่าการแก้ไขปัญหาการทุจริต หมายถึงการลดโอกาสในการทุจริต โดยเฉพาะการทุจริตที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนที่เปราะบาง

การตัดสินใจครั้งนี้ยังช่วยให้เจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคงสามารถมุ่งเน้นการปฏิบัติงานของตนไปที่การค้ามนุษย์ผิดกฎหมาย และปัญหาการหลอกลวงที่เพิ่มมากขึ้นในภูมิภาคนี้ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 คนไทยมากกว่าครึ่งล้านราย ตกเป็นเหยื่อการหลอกลวงทางไซเบอร์ โดยประเทศไทยโดนขนาบข้างด้วยเมียนมาและกัมพูชา ประเทศที่มีศูนย์กลางอาชญากรรมทางไซเบอร์ตั้งอยู่

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การตัดสินใจนี้สร้างแนวทางการแก้ปัญหาด้านมนุษยธรรมต่อชนไร้สัญชาติ

เมื่อช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา ประเทศไทยได้ขยายสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับกลุ่มคนในชุมชนผู้ไร้สัญชาติ โดยจัดให้มีการดูแลสุขภาพแก่ผู้คนมากกว่า 500,000 คน และในกระบวนการนี้ ยังได้เสริมสร้างสุขภาพของประชาชนด้วย โดยก่อนที่จะมีการตัดสินใจเรื่องสัญชาติเมื่อไม่นานนี้ เด็กไร้สัญชาติประมาณครึ่งหนึ่งก็สามารถเข้าถึงการศึกษาได้เช่นกัน

TH-MY-citizenship-commentary 2.JPG
กลุ่มชนชาติพันธุ์เข้าแถวรอที่งานวัด ในจังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2561 (ภาณุ วงศ์ชะอุ่ม/รอยเตอร์)

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีประชากรไร้สัญชาติถึง 50% ของโลก มาเลเซียมีบุคคลที่ไม่มีเอกสารมากที่สุด โดยคาดว่ามีมากกว่าหนึ่งล้านคน และกระจุกตัวอยู่ในรัฐซาบาห์ ประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีการขยายสิทธิต่าง ๆ จึงถือเป็นแบบอย่างในระดับโลกในการปฏิบัติต่อบุคคลไร้รัฐ

การตัดสินใจอนุมัติสัญชาติไทยล่าสุดของประเทศไทย อาจไม่ได้คาดการณ์มาก่อนทั้งในเรื่องเวลาและขอบเขต แต่ก็มีการดำเนินการเรื่องนี้มานานกว่า 20 ปีแล้ว

ในปี 2544 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระมหากษัตริย์ไทยผู้ครองราชย์อยู่ในช่วงเวลาดังกล่าว ได้มีพระราชดำรัสเรียกร้องความเสมอภาคให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศมาเป็นเวลานาน พระราชอำนาจทางศีลธรรมของพระองค์ได้เปิดโอกาสให้มีการอภิปรายเกี่ยวกับการกำหนดกรอบความเป็นพลเมืองใหม่ที่ครอบคลุมมากขึ้น รวมทั้งสร้างพื้นที่ให้กับภาคประชาสังคมที่ทำงานเพื่อแก้ไขการเลือกปฏิบัติต่อชุมชนไร้สัญชาติ และผลักดันการขยายสิทธิอย่างต่อเนื่อง

TH-MY-citizenship-commentary 3.jpg
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (กลาง) ทรงปราศรัยต่อพสกนิกรจากระเบียงพระที่นั่งอนันตสมาคม เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 85 พรรษา ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2555 (วสันต์ วานิชชากร/เอพี)

โดยในช่วงรัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร ตั้งแต่ปี 2544 ไปจนถึงปี 2549 ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายที่ขยายสิทธิของคนไร้สัญชาติ โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก

อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวอย่างไม่ลดละของภาคประชาสังคม เป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันสิทธิเหล่านี้ โดยแนวคิดและแนวทางปฏิบัติต่างต้องอาศัยเวลาในการสร้างความเปลี่ยนแปลง

การตัดสินใจของคณะรัฐมนตรีสองครั้งก่อนหน้านี้ในปี 2553 และปี 2563 ได้กำหนดเกณฑ์การได้รับสัญชาติไทยและส่งสัญญาณท่าทีต่อแนวทางกว้างขึ้นสำหรับการให้สัญชาติ การมีมติอนุมัติในปีนี้ ถือเป็นการตัดสินใจที่ก้าวหน้าที่สุดเท่าที่เคยมีมา

ผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากการมีมติอนุมัติของคณะรัฐมนตรี ได้แก่ ผู้ย้ายถิ่นฐานระยะยาวที่ตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2527 ถึงปี 2542 และตั้งแต่ปี 2548 ถึง 2554 ซึ่งรวมไปถึงบุตรหลานของกลุ่มชนชาติพันธุ์กลุ่มน้อยในประเทศไทย และเด็กที่เกิดในประเทศไทยจากบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน

โดยรวมถึงผู้ตั้งถิ่นฐานกลุ่มชาวชาติพันธุ์จากเมียนมา และชุมชนชาวเขา ซึ่งถือเป็นกลุ่มเปราะบาง และถูกเลือกปฏิบัติมากที่สุด รวมทั้งแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในประเทศไทยในช่วงเวลาดังกล่าวก็มีสิทธิ์เช่นกัน

ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ควรเรียนรู้จากตัวอย่างแนวคิดแบบหัวก้าวหน้าของประเทศไทย ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการแก้ไขปัญหาการย้ายถิ่นของกลุ่มคนไร้รัฐขนาดใหญ่สามารถทำได้อย่างยั่งยืน

การเป็นผู้นำสามารถสร้างความแตกต่างได้ โดยเฉพาะเมื่อรัฐฟังเสียงจากภาคประชาสังคม

ความมุ่งเน้นไปที่กลุ่มเด็ก ๆ สามารถช่วยเปลี่ยนความคิดได้ เช่นเดียวกับการตระหนักรู้ว่า การครอบคลุมพวกเขาสามารถนำมาซึ่งประโยชน์ในวงกว้างต่อสังคม ทั้งด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

หนทางข้างหน้าสำหรับคนไร้สัญชาติในประเทศไทย ยังคงเป็นเรื่องที่ท้าทาย เพราะต้องมีการยื่นคำร้องต่อกระทรวงมหาดไทย ยังไม่มีความชัดเจนว่า กระบวนการนี้จะใช้เวลานานเท่าใด นักเคลื่อนไหวในภาคประชาสังคมกังวลว่า อาจต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าจะมีการอนุมัติรายบุคคลได้สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม สำหรับชุมชนนี้ที่กำลังก้าวไปสู่ความมั่นคงที่ดีกว่าและการรับสัญชาติเป็นพลเมือง ‘ในที่สุดก็มีเหตุผลในการเฉลิมฉลอง

บริจิต เวลช์ นักวิจัยอิสระ เป็นนักวิจัยผู้ช่วยกิตติมศักดิ์ ที่สถาบันวิจัยเอเชีย มหาวิทยาลัยน็อตติงแฮม มาเลเซีย ในกัวลาลัมเปอร์ และนักวิจัยอาวุโสของศูนย์ฮาบีบี ความคิดเห็นในรายงานฉบับนี้เป็นของผู้เขียนเอง และไม่เกี่ยวข้องแต่อย่างใดกับงานของมหาวิทยาลัยน็อตติงแฮม มาเลเซีย ศูนย์ฮาบีบี หรือเบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง