กลาโหมกางแผนปฏิรูปกองทัพ ลดจำนวนนายพลครึ่งหนึ่ง
2023.06.02
กรุงเทพฯ และ เชียงใหม่
ในสัปดาห์นี้ กระทรวงกลาโหมของไทยเผยแผนการปฏิรูปเพื่อลดจำนวนนายพลและใช้ระบบการเกณฑ์ทหารโดยสมัครใจ ขณะที่อยู่ระหว่างรอการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ โดยพรรคฝ่ายค้านที่ชนะการเลือกตั้งเมื่อเดือนที่แล้ว ได้ให้คำมั่นว่าจะปฏิรูปกองทัพและทำให้กองทัพทันสมัยมากขึ้น
พันเอก จิตนาถ ปุณโณทก รองโฆษกกระทรวงกลาโหม กล่าวในวันพุธที่ผ่านมาว่า จำนวนนายพลของกองทัพไทยทั้งสามเหล่าทัพ ซึ่งคาดการณ์ว่ามีราว 1,000 นาย จะถูกลดลงเหลือประมาณครึ่งหนึ่งภายในปี 2570 อย่างไรก็ตามจำนวนนายพลที่แน่ชัดยังเป็นข้อมูลทางราชการที่ไม่สามารถเปิดเผยได้
“มีการปรับลดนายทหารชั้นยศสูง ในห้วงปีที่ผ่านมาสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ ลดงบประมาณไปได้ 600 กว่าล้านบาท ในอนาคตจะปรับลดให้ได้ต่อไปในปี 2570 ให้ได้ 50 เปอร์เซ็นต์” รองโฆษกกลาโหม กล่าวในการแถลงผลการประชุมสภากลาโหมที่มี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน
กองทัพไทยมีประวัติศาสตร์อันยาวนานในการมีบทบาทในการเมืองนับตั้งแต่ไทยเปลี่ยนจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในปี 2475 โดยมีการทำรัฐประหารมากกว่า 24 ครั้ง ทั้งที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลว
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้าคณะผู้ยึดอำนาจการปกครองและดำรงนายกรัฐมนตรีสองสมัย จากการแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารและการเลือกตั้งปี 2662
ที่ผ่านมา พล.อ. ประยุทธ์ ได้ดำเนินการปฏิรูป แต่กองกำลังกลับเต็มไปด้วยข่าวอื้อฉาวตั้งแต่การทุจริตภายใน การทรมานผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อความไม่สงบ และการลงโทษที่ใช้ความรุนแรงเกินเหตุโดยผู้บังคับบัญชา
ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจำนวนหนึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พล.อ. ประยุทธ์ เคยชี้แจงเรื่องการปฏิรูปกองทัพและตำรวจต่อสภาผู้แทนราษฎร ว่าจะสามารถลดกำลังพลได้ราว 12,000 คน ภายในเดือนกันยายน 2570 เพื่อให้กองทัพมีขนาดที่เหมาะสม สอดคล้องกับสภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคง และเทคโนโลยีที่มีความทันสมัยมากขึ้น
เจ้าหน้าที่กองทัพเรือไทย ระหว่างการแถลงข่าวเรื่องเรือรบหลวงสุโขทัยจมในอ่าวไทย ในกรุงเทพฯ วันที่ 20 ธันวาคม 2565 (แจ็ค เทย์เลอร์/เอเอฟพี)
ด้าน พ.อ. จิตตนาถ ระบุว่า การปรับลดอัตรากำลังพล 8,000 นาย ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ได้ลดงบประมาณไปถึง 1,500 ล้านบาท ซึ่งในแผนการต่อจากนี้คือจะต้องลดกำลังพลให้ได้ 12,000 นาย และจะทำให้ลดงบประมาณได้เกือบ 3,000 ล้านบาท
“ปัจจุบันมีการยุติแผนการเสริมสร้างกองพลทหารราบที่ 7 และกองพลทหารม้าที่ 3 กับทั้งมีการลดกำลังทหารพรานในภาคใต้ กว่า 1600 อัตราลง” พ.อ. จิตตนาถ ระบุ
นักสังเกตการณ์กล่าวว่า เป็นที่น่าสนใจว่ากองทัพตัดสินใจยุติการเสริมกำลังของกองทหารราบที่ 7 ในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของขบวนการต่อต้านรัฐบาลทหาร และส่วนใหญ่นิยมพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ในขณะที่แผนขยายกองพลทหารม้าที่ 3 ในภาคอีสานถูกระงับไว้เช่นกัน
การปฏิรูปนี้จะส่งผลให้มีอาสาสมัครมากขึ้นและการบังคับเกณฑ์ทหารน้อยลง โดยปัจจุบัน ได้มีการลดยอดจำนวนทหารเกณฑ์เหลือประมาณ 90,000 นาย จากเดิม 100,000 นาย ในแต่ละปี
“ปัจจุบัน มีการเข้าเป็นทหารด้วยความสมัครใจ 35,000 นาย ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่จะนำไปสู่การสมัครใจเข้าเป็นทหารในอนาคต” พ.อ. จิตตนาถ กล่าว
คำมั่นถึงการปฏิรูปกองทัพ
พรรคก้าวไกล ซึ่งได้รับที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุด ในการเลือกตั้งเดือนพฤษภาคม สัญญาว่าจะปฏิรูปกองกำลังครั้งใหญ่ พร้อมกับการตั้งคำถามถึงปัญหาการจัดซื้อต่าง ๆ ต่อรัฐบาลของ พล.อ. ประยุทธ์ เช่น เรือดำน้ำจากจีน ซึ่งมีปัญหาเรื่องเครื่องยนต์ หลังจากเยอรมนีปฎิเสธการขายเครื่องยนต์นี้ให้กับจีน
ด้านนักวิชาการด้านความมั่นคง ระบุว่า การเสนอแผนปฏิรูปครั้งนี้เป็นกลยุทธ์เพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายค้านแทรกแซงกิจการภายในเมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่
“การประกาศดังกล่าวมีความเป็นไปได้สูงที่จะกันไม่ให้การเคลื่อนไหวของพรรคก้าวไกลเข้าไปแทรกแซงการทำงาน” นาวาเอก ดร. หัสไชยญ์ มั่งคั่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับเบนาร์นิวส์
“ไม่ช้าก็เร็ว โครงสร้างกองทัพจะต้องเปลี่ยนแปลงให้เป็นไปตามรูปแบบสากล คือเป็นปิระมิด นายพลจะมีน้อย แต่จะมีคุณภาพ การเป็นนายพลจะวัดกันที่ความรู้ความสามารถและผลการปฏิบัติงานที่ชี้วัดออกมาเป็นรูปธรรมได้” ดร. หัสไชยญ์ ระบุเพิ่มเติม พร้อมกับย้ำด้วยว่า ระบบอุปถัมภ์ได้ส่งผลเสียกับกองทัพไทยมาเป็นเวลานาน
ทั้งนี้ จากข้อมูลของรัฐบาลระบุว่า ที่ผ่านมางบประมาณของกระทรวงกลาโหมอยู่ในอันดับที่สี่จากกระทรวงทั้งหมด คือเกือบ 2 แสนล้านบาทจากงบประมาณเกือบ 3.2 ล้านล้านบาทในปีงบประมาณ 2566 ซึ่งน้อยกว่าทั้งกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการคลัง
จังหวัดชายแดนใต้
สำหรับสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ พ.อ. จิตตนาถ ระบุว่ามีการลดกำลังทหารพรานในภาคใต้กว่า 1,600 อัตรา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปกองทัพ แม้ว่าความรุนแรงจะยังดำเนินต่อไป
ที่ผ่านมาขบวนการบีอาร์เอ็น กลุ่มปฏิบัติการติดอาวุธที่มีอำนาจมากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งก่อให้เกิดสถานการณ์ความไม่สงบมาเกือบสองทศวรรษ ได้ถูกเชิญให้มีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพกับรัฐบาลไทย แต่กระบวนการถูกพักไว้ชั่วคราวเพื่อรอรัฐบาลใหม่
กระบวนการเจรจาสันติภาพจึงอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพราะจะถูกนำโดย นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งถูกยุบไปแล้ว และต่อมาได้กลายเป็นพรรคก้าวหน้าในปัจจุบัน
พรรคก้าวไกลเตรียมที่จะยกเลิกกฎหมายพิเศษที่ให้กองกำลังความมั่นคงมีอิสระในการตรวจค้น จับกุม และควบคุมตัวผู้ก่อความไม่สงบที่ต้องสงสัยไว้เพื่อสอบปากคำในค่ายทหาร
ส่วนประเด็นกฎหมายความมั่นคงที่ถูกบังคับใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พล.ต. ปราโมทย์ พรหมอินทร์ รองแม่ทัพภาคที่สี่ ระบุว่า เหตุที่ต้องมีกฎหมายพิเศษนั้น เพื่อจำกัดเสรีภาพในการก่อเหตุ หรือเปลี่ยนใจไม่ให้ก่อเหตุ
“กฎหมายพิเศษในจังหวัดชายแดนใต้ถูกใช้เพื่อปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน คือคุ้มครองชีวิตให้กับพี่น้องประชาชนผู้บริสุทธิ์” พล.ต. ปราโมทย์ กล่าว
นับตั้งแต่การจุดชนวนความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้เมื่อเดือนมกราคมปี 2547 จนถึงเดือนมีนาคมของปีนี้ มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 7,300 คน และผู้บาดเจ็บกว่า 13,600 คน ตามรายงานของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้
และในวันศุกร์นี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.รือเสาะ จังหวัดนราธิวาส รับแจ้งเกิดเหตุระเบิดรถยนต์ที่นำพระสงฆ์จากวัดไพโรจน์ประชาราม เพื่อมาบิณฑบาต ทำให้พระสงฆ์ 3 รูป และทหารพรานชุดคุ้มกันอีก 2 นาย ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย เหตุระเบิดครั้งนี้ เกิดขึ้นในวันโกนก่อนที่ชาวพุทธจะทำบุญวันวิสาขบูชาที่จะมีขึ้นในวันเสาร์นี้ และเป็นเหตุการณ์โจมตีพระสงฆ์ที่เกิดขึ้นครั้งแรกในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา
โดยนับตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน มีพระสงฆ์และสามเณรมรณภาพ รวมทั้งหมดอย่างน้อย 21 รูป และได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 31 รูป