ภูมิธรรม ลงพื้นที่แม่สอด รับเหยื่อคอลเซ็นเตอร์ 61 คน กลับจากเมียนมา

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2025.02.06
กรุงเทพฯ
ภูมิธรรม ลงพื้นที่แม่สอด รับเหยื่อคอลเซ็นเตอร์ 61 คน กลับจากเมียนมา นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รับชาวต่างชาติ 61 คน รวม 7 สัญชาติ จากเมียนมา กลับไทย ณ อาคารผู้เดินทางเข้า-ออก ด่านสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 อ.แม่สอด จ.ตาก วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2568
ประชาสัมพันธ์จังหวัดตาก

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เดินทางไปรับตัว เหยื่อขบวนการคอลเซ็นเตอร์ 61 คน ซึ่งถูกส่งตัวกลับมาจากเมียนมา โดยยืนยันว่า การสั่งหยุดขายไฟฟ้าจากไทยไปเมียนมาทำเพื่อผลประโยชน์ชาติ และจะยังเดินมาตรการสกัดกั้นขบวนการผิดกฎหมายต่อเนื่อง

“เราไม่อยากเห็นสภาพแบบนี้เกิดขึ้นในประเทศไทยหรือประเทศข้างเคียงทั้งหมด ขอให้ทุกท่านสบายใจ และให้ความร่วมมือให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่ ข้อมูลที่ท่านให้จะเป็นประโยชน์ ทำให้เรื่องนี้ (ขบวนการหลอกลวง) หมดสิ้นไป เราจะเอาข้อมูลนี้ไปดำเนินการแก้ไขปัญหาได้” นายภูมิธรรม กล่าวกับสื่อมวลชน 

ผู้ได้รับการช่วยเหลือจากขบวนการคอลเซ็นเตอร์ และสแกมเมอร์ในเมียนมา 61 คน ถูกส่งมายังประเทศไทยผ่านสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 อ.แม่สอด จ.ตาก โดยการช่วยเหลือของกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (Border Guard Force - BGF)

เหยื่อทั้งหมด 61 คน แบ่งเป็น ชาวจีน 39 คน อินเดีย 13 คน อินโดนีเซีย 5 คน คาซัคสถาน 1 คน เอธิโอเปีย 1 คน ปากีสถาน 1 คน และ มาเลเซีย 1 คน โดยหลังจากนี้ คนทั้งหมดจะเข้าสู่กระบวนการคัดกรองของเจ้าหน้าที่ไทย ก่อนประสานสถานเอกอัครราชทูตของแต่ละประเทศเพื่อส่งตัวกลับ

ชายชาวอินเดีย (สงวนชื่อและนามสกุล) ซึ่งเป็นหนึ่งในเหยื่อที่ได้รับความช่วยเหลือ กล่าวกับสื่อมวลชนว่า ตนเองถูกหลอกลวงไปทำงานในพื้นที่ชเวโก๊กโก เมืองเมียวดี เป็นเวลา 5 เดือน ดีใจมากที่ได้รับการช่วยเหลือ

“ผมไม่รู้ว่ามันเป็นงานผิดกฎหมาย หลังจากอยู่ได้ 2 เดือน ผมพยายามขอกลับอินเดีย แต่เขาเรียกร้องค่าใช้จ่ายซึ่งผมไม่สามารถจ่ายได้ ผมถูกยึดโทรศัพท์มือถือ และคอมพิวเตอร์ เพื่อนของผมคนนึงถูกทำร้ายจนมือหัก ที่นั่นน่ากลัวมาก” ชาวอินเดียคนดังกล่าว ระบุ

ในต้นปี 2568 เรื่องของขบวนการผิดกฎหมายในเมียนมา กลายเป็นที่สนใจของสังคม เมื่อนายหวัง ซิง (ซิงซิง) นักแสดงชาวจีน ถูกล่อลวงให้มารับงานแสดงในไทย และลักพาตัวต่อไปใช้งานในพื้นที่สีเทาในเมียนมาใกล้ชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก ก่อนที่ต่อมารัฐบาลไทยจะประสานช่วยเหลือออกมาได้

ปลายเดือน ม.ค. 2568 นายหลิว จงอี ผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงและสาธารณะของจีน และคณะ ได้เดินทางมายังประเทศไทยเพื่อหารือกับฝ่ายความมั่นคง รวมถึงลงพื้นที่ อ.แม่สอด เพื่อหาทางแก้ไขปัญหานี้ ทำให้ประเด็นการขายไฟฟ้าให้กับพื้นที่ผิดกฎหมายในเมียนมาถูกทวงถามต่อรัฐบาล


ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กฟภ. ตัดไฟฟ้าสแกมเซ็นเตอร์เมียนมาแล้ว 5 จุด

นายกฯ ไฟเขียว หยุดขายไฟฟ้าให้พื้นที่จีนเทาในเมียนมา

ศูนย์หลอกลวงทางอินเทอร์เน็ต คืออะไรกันแน่


กระทั่งวันพุธที่ผ่านมา การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ดำเนินการหยุดส่งกระแสไฟฟ้าให้กับประเทศเมียนมาแล้ว 5 จุด ซึ่งรวมถึงพื้นที่ในเมืองเมียวดี ที่ตั้งอยู่ตรงข้าม อ.แม่สอด หลังจากที่ สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) มีมติให้ตัดไฟฟ้าเนื่องจากเชื่อว่า พื้นที่ที่ไทยขายไฟฟ้าไปนั้นกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ

“ขณะนี้ ทุกอย่างดำเนินมาตรการอย่างเต็มที่ทหาร-ตำรวจ ตรึงชายแดน เป็นมาตรการป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหลังการตัดไฟ วันนี้ ไฟฟ้า (ที่ใช้ในเมียวดี) มันลดลงไปครึ่งนึง ประเมินได้ว่า มีผลกระทบต่อเขา เราทำครั้งนี้ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติ ปัญหาความมั่นคงมันคือปัญหาที่รอไม่ได้ ภายในเดือนนี้ เสาอินเตอร์เน็ตทั้งหมดที่เป็นปัญหาต้องถูกขุดออกทั้งหมด” นายภูมิธรรม กล่าว

ธุรกิจผิดกฎหมาย และการล่อลวงคนไปทำงานในเมียนมารุนแรงมาก หลังจากเกิดรัฐประหารในเมียนมาเมื่อ ก.พ. 2564 โดยเฉพาะในพื้นที่เมียวดี ซึ่งเป็นที่ตั้งของเขตเศรษฐกิจพิเศษ ยาไถ ชเวโก๊กโก ของบริษัท ยาไถ อินเตอร์เนชั่นแนล โฮลดิง กรุ๊ป ของจีน และบริษัท ชิด ลิน เมียง ของกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) ที่รัฐบาลสหรัฐอเมริการะบุว่า เป็นศูนย์กลางอาชญากรรมและกิจกรรมผิดกฎหมาย 

คนไทยเองก็เคยได้รับผลกระทบจากการขยายตัวของธุรกิจผิดกฎหมายในเมียนมา โดยในปี 2566 มีคนไทย 266 คน ที่เชื่อว่าถูกล่อลวงไปทำงานและกระทำทารุณในเครือข่ายผิดกฎหมาย ร้องขอความช่วยเหลือมายังรัฐบาลไทยและจีน กระทั่งได้รับความช่วยเหลือออกจากเมืองเล้าก์ก่าย ของเมียนมาในที่สุด

“แม้การตัดไฟฟ้าครั้งนี้จะไม่ได้ส่งผลกระทบกับพื้นที่ ชเวโก๊กโกมากนัก เพราะเขาได้กักตุนน้ำมัน และเตรียมพร้อมรับสถานการณ์อยู่แล้ว แต่ก็เห็นด้วยว่า รัฐบาลไทยควรตัดไฟฟ้า และมีแนวทางที่ชัดเจนในอนาคตว่า ไม่ต้องการให้พื้นที่ธุรกิจผิดกฎหมายเหล่านี้คงอยู่ สิ่งที่เขายังพึ่งพาไทยอยู่คือ น้ำประปา และอินเตอร์เน็ต ซึ่งก็ควรมีมาตรการให้ชัดเจน” น.ส. พรสุข เกิดสว่าง กรรมการมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ สตช. ระบุว่า ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2565 - มิ.ย. 2567 มีคนไทยตกเป็นเหยื่อขบวนการคอลเซ็นเตอร์กว่า 575,500 คดี รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 65,715 ล้านบาท เฉลี่ยความเสียหายวันละกว่า 80 ล้านบาท

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง