กลุ่มไอเอสจะตั้งเมืองบริวารในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

บทวิเคราะห์โดย โรฮัน กูนารัทนา
2016.01.12
PH-basilan-620 ในภาพนี้ ซึ่งได้มาจากวิดีโอที่ถ่ายโดยกลุ่มอาบูไซยาฟ และเผยแพร่โดยกลุ่มรัฐอิสลามหัวรุนแรง กลุ่มติดอาวุธสาบานที่จะจงรักภักดีต่อนายอาบูบัคร์ อัลบาดาดี ผู้นำกลุ่มไอเอส ในพิธีที่จัดขึ้นในจังหวัดบาซิลัน บนเกาะซูลู ประเทศฟิลิปปินส์
[เอื้อเฟื้อภาพถ่ายโดย ศูนย์นานาชาติเพื่อการวิจัยความรุนแรงทางการเมืองและการก่อการร้าย ประเทศสิงคโปร์]

เป็นไปได้ที่กลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) จะตั้งสาขาหนึ่งในฟิลิปปินส์ และประกาศให้พื้นที่ทางใต้ของเกาะมินดาเนาเป็นจังหวัดหนึ่งในปี 2559 

หลังจากที่กลุ่มติดอาวุธหลายกลุ่มในฟิลิปปินส์ใช้เวลาหนึ่งปี ในช่วงปี 2557-2558 เพื่อหารือกันถึงการปฏิญาณความจงรักภักดีต่อนายอาบูบัคร์ อัลบาดาดี ผู้ที่แต่งตั้งตัวเองเป็นผู้นำกลุ่มไอเอส กลุ่มเหล่านั้นได้รวมตัวกันจัดตั้งสภาผู้แทนขึ้น โดยได้แต่งตั้งนายอิสนิลอน โตโตนิ ฮาปิ เป็นผู้นำของสาขาของกลุ่มไอเอสในฟิลิปปินส์

ฮาปิลอนเป็นหัวหน้ากลุ่มอาบูไซยาฟ (เอเอสจี) ในจังหวัดบาซิลัน จังหวัดที่เป็นเกาะ ซึ่งอยู่ใกล้กับเกาะมินดาเนา

หนังสือพิมพ์อัล-นาบา หนังสือพิมพ์ทางการของกลุ่มไอเอส รายงานเกี่ยวกับการรวมตัวกันของกลุ่มมุญาฮิดีนอย่างน้อยสี่กลุ่มในภาคใต้ของฟิลิปปินส์ และเรียกนายฮาปิลอนว่าเป็น “เชค มูญาฮิด อาบู อับดุลลาห์ อัล-ฟิลิปปินี”

รายงานดังกล่าวพูดถึงฮาปิลอนว่า เป็น “หนึ่งในบุคคลอาวุโสของกลุ่มมูญาฮิดีนในฟิลิปปินส์”

“ญิฮาดของเขาต่อผู้ทำสงครามศาสนาเริ่มขึ้นเมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว เมื่อครั้งที่เขาเป็นผู้นำคนหนึ่งในกลุ่มอับดุล ราซัค อาบู บากร์ อัล-จันจาลานี หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า กลุ่มอาบูไซยาฟ เขาเป็นหัวหน้านักรบคนหนึ่งของกลุ่มอาบูไซยาฟในจังหวัดบาซิลันเป็นเวลาห้าปี ก่อนที่จะได้เป็นรองผู้นำกลุ่มเป็นเวลาหกปี” หนังสือพิมพ์อัล-นาบา รายงาน

การเลือกฮาปิลอน ผู้นำที่มีประสบการณ์ช่ำชอง ให้เป็นผู้นำกลุ่มไอเอสในจังหวัดใหม่ของฟิลิปปินส์นั้น เป็นภัยคุกคามระยะยาวต่อเสถียรภาพและความมั่นคงของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

คำสัตย์ปฏิญาณในป่า

ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2559 กลุ่มไอเอสได้ประกาศรวมกลุ่มติดอาวุธสี่กลุ่มในฟิลิปปินส์เข้าด้วยกัน และให้คำสัตย์ปฏิญาณว่าจะจงรักภักดีต่อผู้นำคือ นายอัลบาดาดี

สี่กลุ่มที่ว่านี้คือ กลุ่มอันซาร์ อัล-ชาริอาห์, มารากาห์ อัล-อันซาร์, อันซารุล กิลาฟาห์ ฟิลิปปินส์ และอัล-ฮารากาตุล อัล-อิสลามิญญาห์ ซึ่งมีฐานอยู่ในจังหวัดบาซิลัน

อาบู อานัส อัล-มูญาฮีร์ หัวหน้ากลุ่มอันซาร์ อัล-ชาริอาห์ เป็นตัวแทนของทั้งสี่กลุ่ม ขณะให้คำสัตย์สาบานถึงความจงรักภักดีต่อผู้นำของกลุ่มไอเอส

อาบู อานัส อัล-มูญาฮีร์ เป็นชาวมาเลเซีย มีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่า โมฮัมหมัด บิน นาจิบ บิน ฮุสเซน กลุ่มของเขารับผิดชอบงานด้านกฎหมายและเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับหลักนิติศาสตร์ เขาเจตนาที่จะไม่ปิดบังหน้าตาของตัวเองในระหว่างพิธีให้คำสัตย์สาบาน ซึ่งมีการถ่ายวิดีโอเอาไว้

เมื่อพิจารณาถึงความสำคัญที่ฮาปิลอน หัวหน้าของกลุ่มอาบูไซยาฟ ให้แก่ชาวมาเลเซียแล้ว ชาวมาเลเซียน่าที่จะเดินทางไปยังเกาะมินดาเนา เพื่อเข้าร่วมกับกลุ่มไอเอส

อาบู อัมมาร์ หัวหน้ากลุ่มมารากาห์ อัล-อันซาร์ ไปร่วมพิธีดังกล่าวไม่ได้ แต่ได้ส่งตัวแทนไป อาบู ฮาริตห์ ผู้เป็นตัวแทนของอัมมาร์ มาจากเกาะซูลู เกาะแห่งนี้เป็นฐานที่ตั้งของนายราดูลัน ซาฮิรอน ผู้นำสูงสุดของกลุ่มอาบูไซยาฟ เกาะซูลูเป็นเกาะหนึ่งในหมู่เกาะซูลู และอยู่ระหว่างเกาะมินดาเนาของฟิลิปปินส์ และซาบาห์ของมาเลเซีย

การปรากฏตัวของนายอาบู ฮาริตห์ อดีตสมาชิกของกลุ่มอาบูไซยาฟ สะท้อนให้เห็นถึงความแตกแยกภายในกลุ่มอาบูไซยาฟ ที่ซึ่งกลุ่มเล็ก ๆ แต่สำคัญกลุ่มหนึ่ง ได้แปรพักตร์ไปเข้าร่วมกับกลุ่มไอเอส

นอกจากกลุ่มอาบูไซยาฟแล้ว กลุ่มอันซารุล กิลาฟาห์ กลุ่มติดอาวุธกลุ่มใหม่ ยังได้เข้าร่วมกับกลุ่มไอเอสด้วย กลุ่มอันซารุล กิลาฟาห์ ฟิลิปปินส์ มีฐานอยู่ในจังหวัดเซาท์โกตาบาโต, ซารังกานี และเมืองเจเนอรัลซานโตส และมีหัวหน้ากลุ่มชื่อนายอาบู ชาริฟาห์ ซึ่งพูดภาษาตากาล็อคได้คล่องแคล่ว

ชาวฟิลิปปินส์และมาเลเซียที่ติดอาวุธจำนวนทั้งสิ้น 31 คน ไปชุมนุมกันในเมืองบาซิลัน และเข้าร่วมในพิธีให้คำสัตย์สาบาน โดยมีนายฮาปิลอนเป็นผู้ประกอบพิธี ก่อนหน้านี้ กลุ่มติดอาวุธแต่ละกลุ่มเหล่านี้เคยให้คำสัตย์ปฏิญาณที่จะรับใช้กลุ่มไอเอสแล้ว แต่ครั้งนี้เป็นการให้คำสาบานร่วมกันโดยพร้อมเพรียงกันทั้งสี่กลุ่ม

นอกจากสมาชิกของกลุ่มอันซารุล กิลาฟาห์ ฟิลิปปินส์ และชาวมาเลเซียดังกล่าวแล้ว ส่วนใหญ่ที่ไปเข้าร่วมพิธีเป็นสมาชิกของกลุ่มอาบูไซยาฟ สมาชิกอาวุโสของกลุ่มที่ไปเข้าร่วมพิธีดังกล่าว ได้แก่ ตัลฮา ตานัดจาลิน ผู้ช่ำชองด้านการวางแผนยุทธวิธีการรบ เขาเป็นน้องชายของซูฮัด ตานัดจานี ผู้ฝึกพลซุ่มยิงของกลุ่มอาบูไซยาฟ ในจังหวัดบาซิลัน

หลังจากที่ฮาปิลอนและกลุ่มของเขาให้คำสัตย์ปฏิญาณถึงความจงรักภักดีต่ออัล-บักห์ดาดี แล้ว กลุ่มไอเอสได้ประกาศให้ทราบถึงพิธีนี้ในฟิลิปปินส์

“การรวมตัวกันของมูญาฮิดีนภายใต้ผู้นำคนเดียวและธงผืนเดียว ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามอย่างใหญ่หลวงต่อทรราชของฟิลิปปินส์ และเป็นก้าวสำคัญในการปลดปล่อยพื้นที่ต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยทั่วไปให้เป็นอิสระ การรวมตัวกันนี้มีความสลักสำคัญอย่างมากในการเผยแพร่ลัทธินับถือพระเป็นเจ้าองค์เดียว (เอกเทวนิยม) ในภูมิภาคดังกล่าว การต่อสู้กับชาวคริสต์ ชาวพุทธ และชนศาสนาอื่นที่นับถือพระเป็นเจ้าหลายองค์ ตลอดจนเป็นการจัดตั้งศาสนาอิสลามในดินแดนส่วนนี้ของโลก” กลุ่มไอเอสประกาศผ่านทางหนังสือพิมพ์อัล-นาบา และการเผยแพร่วิดีโอพิธีให้คำสัตย์สาบานในจังหวัดบาซิลัน ทางอินเทอร์เน็ต

“ฟิลิปปินส์มีลักษณะภูมิประเทศเป็นหมู่เกาะ ประกอบด้วยเกาะจำนวนมากในมหาสมุทรแปซิฟิก ฟิลิปปินส์ถูกปกครองโดยชาวดัตช์ที่นับถือศาสนาคริสต์ และชาวอเมริกันที่บังคับให้คนฟิลิปปินส์จำนวนมากต้องเลิกนับถือศาสนาอิสลาม และหันไปนับถือศาสนาคริสต์แทน” กลุ่มไอเอสกล่าว

“ปัจจุบันชาวคริสต์ปกครองประเทศฟิลิปปินส์และกรุงมะนิลา เมืองหลวง อย่างไรก็ตาม กลุ่มญิฮาดได้แพร่กระจายในบรรดาเกาะห่างไกลหลายเกาะในประเทศ และได้มีการทำญิฮาดต่อชาวคริสต์อย่างต่อเนื่องตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา”

ภัยคุกคามที่เป็นไปได้ในภูมิภาค

นับแต่ปี 2557 เป็นต้นมา กลุ่มรัฐอิสลามได้ให้บรรดากลุ่มติดอาวุธเหล่านั้นในฟิลิปปินส์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยมีเป้าหมายเพื่อต้องการสร้างขีดความสามารถเชิงอุดมการณ์และเชิงปฏิบัติการในภูมิภาคนี้

ขณะนี้กำลังมีการเตรียมที่จะประกาศสาขาของกลุ่มไอเอสในทางภาคใต้ของฟิลิปปินส์ ดังนั้น อิทธิพลและอุดมการณ์ของกลุ่มไอเอสจึงมีทีท่าว่าจะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อทั้งภาคใต้ของฟิลิปปินส์และภาคตะวันออกของมาเลเซีย

ยิ่งไปกว่านั้น เป็นไปได้ที่กลุ่มไอเอสจะสร้างพื้นที่ปลอดภัยในจังหวัดบาซิลัน และเตรียมการปฏิบัติการจากหมู่เกาะซูลูเข้าสู่ฟิลิปปินส์และมาเลเซีย

นอกจากจะพยายามแทนที่การประกอบกิจภายในประเทศของศาสนาอิสลาม โดยเป็นศาสนาในรูปลักษณะของกลุ่มไอเอสหัวรุนแรง การฆ่าตัดหัว และการโจมตีแบบโหดเหี้ยมอำมหิตของกลุ่มนี้คงจะทำให้มีผู้รับเคราะห์และผู้เสียชีวิตจำนวนมาก

ภัยคุกคามที่ยาวนานที่สุดจะเป็นการจัดตั้งค่ายฝึกผู้ก่อการร้าย ซึ่งไม่เพียงแต่จะล่อชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เท่านั้น แต่ยังจะล่อคนจากภูมิภาคอื่น ๆ ให้มาร่วมด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้แสดงให้เห็นว่า ชาวอุยกูร์ที่เดินทางไปเข้าร่วมกับกลุ่มอัล-นุสราในซีเรีย หรือกลุ่มไอเอสในตะวันออกกลางไม่ได้นั้น ได้เดินทางไปยังอินโดนีเซียแทน

คนจากประเทศต่าง ๆ ที่เข้ารับการฝึกในจังหวัดใหม่ของกลุ่มไอเอส จะเป็นภัยคุกคามต่อประเทศบ้านเกิดของคนเหล่านั้น นับแต่ปี 2537 เป็นต้นมา เมื่อกลุ่มญะมาอะห์ อิสลามียะห์ จัดตั้งค่ายฝึกแห่งแรก หรือหุไดบียะห์ขึ้น ฟิลิปปินส์ได้กลายเป็นสถานที่ฝึกสำหรับชาวมุสลิมที่มาจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ไทย และชาวอาหรับ

ผู้ฝึกสอนส่วนใหญ่ไม่ใช่ชาวฟิลิปปินส์ และได้รับการฝึกโดยกลุ่มอัลกออิดะห์ นอกจากจะย้ายบุคคลสำคัญของกลุ่มให้ไปทำหน้าที่นำหลักการแบบไอเอสของศาสนาอิสลามไปปฏิบัติแล้ว เป็นไปได้อย่างมากที่กลุ่มไอเอสจะส่งผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุระเบิด ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธวิธีการรบ และผู้เชี่ยวชาญการปฏิบัติการด้านอื่น ๆ ไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แผนของกลุ่มไอเอสที่จะประกาศจังหวัดเป็นของตัวเองในเกาะมินดาเนา เป็นภัยคุกคามอย่างแท้จริงต่อเสถียรภาพและความมั่นคงในเอเชีย ภูมิภาคที่มีเสถียรภาพทางการเมือง ความกลมกลืนทางสังคม และความเติบโตทางเศรษฐกิจมาจนกระทั่งบัดนี้

การตอบสนองของฟิลิปปินส์

รัฐบาลฟิลิปปินส์มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ ในการให้แนวร่วมปลดปล่อยอิสลามโมโร (MILF) เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตาม กลุ่มอาบูไซยาฟและกลุ่มเล็ก ๆ อีกไม่กี่กลุ่มยังคงทำการสู้รบต่อไป เพื่อจัดตั้งเขตปกครองอิสระโมโร

ฟิลิปปินส์ขาดการเป็นผู้นำทางการเมือง และขีดความสามารถเชิงการปฏิบัติการทางทหาร ซึ่งจำเป็นต่อการทำลายโครงสร้างพื้นฐานของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ และกลุ่มผู้ก่อการร้ายในเกาะมินดาเนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเกาะซูลู

การรวมตัวกันของกลุ่มติดอาวุธกลุ่มต่าง ๆ และของบรรดาผู้นำกลุ่ม ซึ่งเป็นผลมาจากการริเริ่มของกลุ่มไอเอส จะสร้างความท้าทายที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนแก่รัฐบาลฟิลิปปินส์ สาขาของกลุ่มไอเอสในฟิลิปปินส์ ซึ่งมีบทบาทใหม่ในฐานะ “ทหารของกาหลิป” ในฟิลิปปินส์ จะเริ่มปฏิบัติการที่ค่อย ๆ สะท้อนถึงสารัตถะของกลุ่มไอเอสในซีเรียและอิรัก

จังหวะนี้เป็นเวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับฟิลิปปินส์ที่จะลงมือดำเนินการ

แต่หากประธานาธิบดีอากีโน ในฐานะผู้บัญชาการกองทัพ ยังมัวแต่ชักช้า อุดมการณ์ของกลุ่มไอเอสจะแพร่ขยายในฟิลิปปินส์ และทำความเสียหายแก่กระบวนการสันติภาพที่น่ายกย่องและได้มาอย่างยากลำบากนั้น

“กลุ่มติดอาวุธ” ทั้งสี่ดังกล่าวของกลุ่มไอเอส จะมีกำลัง ขนาด และอิทธิพลมากขึ้น และจะสร้างความท้าทายอันยาวนานแก่ประธานาธิบดีคนต่อไปของฟิลิปปินส์ ในไม่ช้า กลุ่มไอเอสจะประกาศเมืองบริวารของกาหลิปในเกาะซูลูแล้ว

หากจะให้ดีที่สุด ประธานาธิบดีอากีโนควรพยายามป้องกันการประกาศเมืองบริวารของกลุ่มไอเอส เพื่อเอาชนะใจของชาวมุสลิม และตัดการสนับสนุนของชาวมุสลิมที่จะให้แก่กลุ่มไอเอส กองทัพฟิลิปปินส์ (AFP) ควรส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจในจังหวัดบาซิลันและพื้นที่โดยรอบ ซึ่งผู้คนมีฐานะยากจน แทนที่จะมุ่งใช้กลยุทธ์ในการกันและกำจัดกลุ่มอาบูไซยาฟออกไปเพียงอย่างเดียว

สุดท้ายนี้ เพื่อป้องกันการประกาศจังหวัดใหม่ของกลุ่มไอเอส และสาขาของกลุ่มไอเอสในประเทศฟิลิปปินส์ กองทัพฟิลิปปินส์ควรวางกำลังป้องกันอย่างหนาแน่นในจังหวัดซูลู บาซิลัน และตาวี ตาวี

หากกองทัพฟิลิปปินส์สามารถมีอำนาจเหนือเกาะซูลูได้แล้วล่ะก็ กลุ่มไอเอสจะไม่สามารถประกาศการปฏิบัติการ และขยายจังหวัดบริวารในฟิลิปปินส์ และฐานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้

โรฮัน กูนารัทนา หัวหน้าศูนย์นานาชาติเพื่อการค้นคว้าด้านความรุนแรงทางการเมืองและการก่อการร้าย ประจำสำนักวิชาวิทยาการ เอส. ราชารัตนาม ด้านวิเทศศึกษา ในสิงคโปร์

ความคิดเห็นที่แสดงในบทความนี้เป็นของผู้เขียน ไม่ใช่ของเบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง