มาเลเซียพร้อมกดดันกลุ่มบีอาร์เอ็นให้เข้าร่วมโต๊ะเจรจาเพื่อสันติสุข

บทวิเคราะห์โดย ดอน ปาทาน
2018.12.06
ยะลา
181206-TH-bomb-1000.jpg เจ้าหน้าที่นิติวิทยาศาสตร์ตรวจสอบพื้นที่เกิดเหตุระเบิด ที่ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บหลายสิบคน ที่หน้าห้างสรรพสินค้าบิ๊กซี ในจังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2560
เอเอฟพี

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ขบวนการแบ่งแยกดินแดนบีอาร์เอ็น ในสามจังหวัดชายแดนใต้ของไทย ได้รับแรงกดดันอย่างหนัก ให้เข้าร่วมโต๊ะเจรจาเพื่อสันติสุข ที่มีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก แต่ผู้นำขบวนการ ยังคงปักหลักแสดงจุดยืนของตนและปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการเจรจา แม้ว่าจะหมายถึงการเกิดผลสืบเนื่องที่ร้ายแรงตามมาก็ตาม

ระหว่างการเยือนประเทศไทยเมื่อไม่นานมานี้ อับดุล ราฮิม นูร์ ซึ่งมาเลเซียได้แต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยความสะดวกคนใหม่ ได้แจ้งให้ฝ่ายไทยทราบว่า ตนจะยื่นคำขาดต่อผู้นำบีอาร์เอ็นว่า หากไม่ร่วมโต๊ะเจรจา ก็อยู่ในมาเลเซียต่อไปไม่ได้

เจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายความมั่นคงของไทยแสดงความเห็นโดยไม่ประสงค์ออกนามว่า บรรดาผู้นำของมาเลเซียรู้สึกว่า บีอาร์เอ็นไม่อาจใช้กัวลาลัมเปอร์เป็นฐานกำลังได้ตามใจอีกต่อไป กลุ่มบีอาร์เอ็น ซึ่งเป็นกลุ่มขบวน การแบ่งแยกดินแดนที่ใหญ่ที่สุดและแข็งแกร่งที่สุดของชายแดนภาคใต้ โดยเชื่อว่า ผู้นำของกลุ่มบีอาร์เอ็นได้ซ่อนตัวอยู่ในประเทศมาเลเซีย

กลุ่มผู้ยึดมั่นหลักการในแวดวงฝ่ายความมั่นคงของไทยเห็นว่า ควรลองใช้กลยุทธ์ของอับดุล ราฮิม ดูก่อน แต่เจ้าหน้าที่กลุ่มอื่นกลับเห็นต่างว่า คำขาดเป็นแนวทางที่ไม่สร้างสรรค์ ทางที่ดีแล้ว ผู้นำบีอาร์เอ็นควรมาร่วมโต๊ะพูดคุยด้วยความสมัครใจ

แม้คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขฝ่ายไทยต้องการที่จะพูดคุยกับผู้นำในสภาการปกครองของบีอาร์เอ็นเหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมด แต่ก็จะไม่ยอมใช้มาตรการเด็ดขาดใด ๆ ที่จะบีบบังคับให้ผู้นำบีอาร์เอ็นไม่มีทางเลือก จนต้องหันไปใช้ปฏิบัติการลับใต้ดินแทน

นายทหารระดับสูงของไทยท่านหนึ่ง ซึ่งมีความคุ้นเคยทั้งกับ นายอับดุล ราฮิม และ นายมหาเธร์ โมฮัมมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ให้ความเห็นว่า เป็นไปได้มากที่บุรุษทั้งสอง “จะใช้มาตรการแข็งกร้าวเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของตน”

ขณะนี้ไม่เป็นที่แน่ชัดว่า ผู้ปฏิบัติการของบีอาร์เอ็นจะตอบรับอย่างไร หากได้รับคำสั่งให้เดินทางออกจากมาเลเซีย บางฝ่ายคิดว่าอาจมีการเคลื่อนย้ายกองกำลังไปยังอินโดนีเซีย เพื่อสมทบกับสมาชิกคนสำคัญของกลุ่มเยาวชนในองค์กร คือ นายอับดุลการิม คาลิด ซึ่งเป็นหัวแรงสำคัญเพียงคนเดียวของบีอาร์เอ็นที่กล้าพูดโดยเปิดเผยตัวตน

อีกทางเลือกหนึ่งคือ การหวนคืนสู่มาตุภูมิในอดีต นั่นคือ ชายแดนใต้ของไทย และสานต่อการปฏิบัติการจากที่นั้น

ไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม บุคคลเหล่านี้ก็คงจะแอบซุ่มปฏิบัติการโดยไม่อยู่ในสายตาของเจ้าหน้าที่อีกต่อไป ดังนั้นจึงทำให้ช่องทางการสื่อสารแคบยิ่งขึ้นกว่าเดิม

นายอาร์เทฟ โซห์โก นักเคลื่อนไหวทางการเมืองในชายแดนภาคใต้ให้ความเห็นว่า “ในบางแง่ นี่เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่กลุ่มบีอาร์เอ็นต้องเผชิญกับความเป็นจริง”

“พวกเขาจะยังคงต้านแรงกดดันจากมาเลเซียต่อไป โดยไม่ยอมร่วมโต๊ะเจรจา หรือจะยอมอ่อนข้อให้ เราคงต้องคอยจับตาดูกันไปเรื่อย ๆ” นายอาร์เทฟกล่าวเสริม

การเมินเฉยต่อการพูดคุย

แหล่งข่าวของบีอาร์เอ็นกล่าวว่า การเจรจากับฝ่ายไทย ไม่ได้อยู่ในสิ่งที่ฝ่ายตนต้องพิจารณา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าหมายความว่าต้องเข้าร่วมกับกลุ่มมาราปาตานี ซึ่งเป็นองค์กรร่มที่ประกอบด้วยกลุ่มแบ่งแยกดินแดนหลายกลุ่มที่ปฏิบัติการมายาวนาน แต่ไม่สามารถควบคุมกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่ออกปฏิบัติการในพื้นที่ได้

แหล่งข่าวของบีอาร์เอ็นกล่าวอีกด้วยว่า พวกตนต้องการทำความเข้าใจกับบรรทัดฐานสากลให้มากขึ้น และสร้างเสริมขีดความสามารถของตนให้แข็งแกร่งกว่าเดิม ก่อนที่จะเริ่มต้นพิจารณาถึงการร่วมโต๊ะเจรจากับฝ่ายไทย

บีอาร์เอ็นเห็นว่า กระบวนการการพูดคุยเพื่อสันติสุขทั้งก่อนหน้านี้และปัจจุบัน เป็นกลอุบายที่ล่อหลอกให้พวกตนมาร่วมโต๊ะเจรจา โดยไม่ใยดีต่อปัญหาและความคับข้องใจที่พี่น้องชาวมลายูปาตานีของตนสั่งสมมาแต่อดีต

สิ่งที่ทำให้กระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขใด ๆ ประสบผลสำเร็จได้ยากยิ่งขึ้นไปอีก ก็คือ ความจริงที่ว่า กลุ่มปฏิบัติการและนักสู้ของบีอาร์เอ็นเห็นว่า เอกราชจากรัฐไทย คือภาระพันผูกทางจริยธรรม

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยอยู่ในระหว่างการพยายามติดต่อกับสภาการปกครองของบีอาร์เอ็น

ฝ่ายแผนงานนโยบายในกรุงเทพ รู้สึกว่าช่องทางการสื่อสารในปัจจุบันที่ต้องผ่านการอำนวยความสะดวกของมาเลเซียนั้น ไม่เพียงพอที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายได้ และรัฐบาลไทยได้พยายามอย่างหนักที่จะสร้างช่องทางใหม่ที่สามารถเชื่อมต่อกับผู้นำบีอาร์เอ็นได้โดยตรง

นักเคลื่อนไหวชาวมลายูปาตานีได้รับการทาบทามจากรัฐบาล เพื่อให้ทำหน้าที่เป็นตัวกลาง แต่บุคคลเหล่านี้กล่าวว่า ตนรู้สึกเป็นกังวลว่า จะตกเป็นเป้าสังหารของพวกทำลายล้างหรือพวกที่มีแผนการอื่น

การเสียชีวิตของนักสอนศาสนาอิสลาม นายอุสตาซ เวสุเม ซูเดน ที่อำเภอปะนะเระ จังหวัดปัตตานี เมื่อเดือนกันยายน 2557 และการสังหารอิหม่ามอับดุลลาเต๊ะ โต๊ะเดร์ ซึ่งอาศัยอยู่ที่อำเภอยะหา จังหวัดยะลาในเดือนพฤศจิกายน 2555 เป็นคดีตัวอย่างที่กล่าวขวัญกันอยู่บ่อย ๆ ว่าอาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขในชายแดนใต้

ในช่วงเวลาสามปีที่ผ่านมา ก่อนที่นายอับดุล ราฮิม จะได้รับการแต่งตั้งนั้น นายอาหมัด ซัมซามิน ฮาซิม เคยทำหน้าที่เป็นคนกลางฝ่ายมาเลเซียที่ประสานงานระหว่างประเทศไทยกับผู้นำบีอาร์เอ็น ซึ่งปฏิเสธที่จะร่วมโต๊ะเจรจากับกลุ่มมาราปาตานี

ฝ่ายไทยรู้สึกว่า นายซัมซามิน ไม่ประสานงานอย่างตรงไปตรงมาเท่าใดนัก และมักชี้นำให้ฝ่ายไทยตั้งความหวังลม ๆ แล้ง ๆ อย่างเช่น เคยชี้นำให้ฝ่ายไทยเชื่อว่า มีการดำเนินงานเพื่อให้หัวหน้าผู้เจรจาฝ่ายไทยในขณะนั้นคือ พล.อ. อักษรา เกิดผล สามารถพบปะพูดคุยกับบุคคลสำคัญในสภาการปกครองของบีอาร์เอ็น คือ ดูนเลาะ แวมะนอ (นามแฝงว่า อับดุลเลาะห์ วันมะนอ)

นายซัมซามินยังแจ้งกับฝ่ายไทยด้วยว่า ผู้นำบีอาร์เอ็นจะยอมรับและปฏิบัติตามเงื่อนไขของพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งเป็นโครงการนำร่องที่เป็นที่กล่าวถึงกันมาก และหวังกันว่าจะเป็นตำนานที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฝากไว้ให้คนรุ่นหลัง

แหล่งข่าวในบีอาร์เอ็นยืนยันว่า ผู้นำของตนไม่เคยเห็นชอบกับข้อตกลงดังกล่าว และเห็นว่า สาระสำคัญจากนายซัมซามินคงตกหล่นไปในระหว่างการสื่อสาร

ผู้ที่มากับแผน

พล.อ.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ นายทหารนอกราชการอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งเข้ารับตำแหน่งหัวหน้าคณะเจรจาฝ่ายไทยแทน พล.อ.อักษรา เกิดผล ได้ยกเลิกโครงการนำร่องพื้นที่ปลอดภัยและการหยุดยิง ที่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพูดคุยไปแล้ว เพราะเห็นว่า ความพยายามเหล่านี้ไม่มีทางประสบความสำเร็จได้ และเป็นงานเก่าตกค้างไปเสียแล้วจากยุคของ นายซัมซามิน และ พล.อ.อักษรา

แต่หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขคนใหม่ได้มีการวางแผนแล้ว

ขณะนี้กำลังมองหาลู่ทางที่จะกดดันกลุ่มบีอาร์เอ็น โดยอาศัยองค์กรประชาสังคม (CSO) ท้องถิ่น ทั้งยังหวังว่า องค์กรประชาสังคมทุกแห่งของไทยในชายแดนใต้จะรวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียว เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างภาครัฐและกลุ่มบีอาร์เอ็น

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนมีโอกาสน้อยมากที่จะประสบความสำเร็จ เพราะองค์กรประชาสังคมต่าง ๆ ในท้องถิ่น ก็ยังมีความเห็นที่ไม่ลงรอยกันเกี่ยวกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุข

อันที่จริงแล้ว เจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายไทยเกือบทุกคนที่เข้ามาปฏิบัติงานในพื้นที่ชายแดนใต้ ไม่ว่าจะเป็นผู้บัญชาการหรือผู้แทนการพูดคุย ล้วนเชื่อว่าตนสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ดีกว่าผู้ที่ตนเข้ามารับหน้าที่แทน

คงไม่ต้องบอกว่า แผนทุกแผนไม่เคยใช้ได้ผลมาก่อน เพราะบุคคลเหล่านั้นไม่ต้องการมองปัญหาว่า เป็นข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาหลายชั่วอายุคน แต่กลับตั้งเป้าหมายที่จะบรรลุสันติสุขหรือจุดพลิกผันที่สำคัญให้ได้ในเร็ววัน ราวกับว่าเป็นการวางแผนเพื่อสร้างรูปปั้นสัญลักษณ์หรือโครงการก่อสร้างอาคาร

แหล่งข่าวในบีอาร์เอ็นเห็นว่า แนวคิดในการขอให้องค์กรประชาสังคมรับบทเป็นตัวกลาง คือความฝันที่ยากจะเป็นจริง ทั้งยังเป็นกลยุทธ์ที่น่ารังเกียจ เพราะเหมือนเสี้ยมให้คนในท้องถิ่นอย่างองค์กรประชาสังคมเป็นปฏิปักษ์กับกลุ่มบีอาร์เอ็น

แต่นักต่อสู้ของบีอาร์เอ็นรู้สึกว่า พวกตนอยู่ใกล้ชิดกับปัญหามากกว่าองค์กรประชาสังคม อันที่จริงแล้ว ไม่มีทางที่องค์กรประชาสังคมจะมีเครือข่ายที่ครอบคลุมได้กว้างเท่าบีอาร์เอ็น ที่มีกลุ่มปฏิบัติการย่อยอยู่ในเกือบทุกอำเภอในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ดอน ปาทาน เป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงและการพัฒนาให้แก่องค์กรระหว่างประเทศ โดยปฏิบัติงานอยู่ในประเทศไทย ข้อคิดเห็นที่แสดงไว้ในบทวิเคราะห์นี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว ไม่ใช่ของเบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง