รัฐบาลมีผลงานน้อยมาก ในความพยายามต่อการพูดคุยสันติสุข
2018.08.03
ยะลา

ในขณะที่รัฐบาลทหารได้ประกาศว่า ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งทั่วไป ในช่วงต้นปีหน้า ผลงานการทำงานของรัฐบาลที่ทำรัฐประหารและเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน เมื่อสี่ปีที่แล้ว ยังคงน่าเป็นห่วง เพราะที่ผ่านมา รัฐบาลยังไม่สามารถแสดงให้เห็นว่า มีความพยายามเพียงพอในกระบวนการการพูดคุยสันติสุข ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
โครงการริเริ่มการจัดตั้งพื้นที่ความปลอดภัยนั้น เป็นเพียงสิ่งเดียวที่ทางการไทยใช้อ้างได้เท่านั้น เมื่อพูดถึงผลงานของรัฐบาลในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พื้นที่ซึ่งนับตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2547 เป็นต้นมา มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้นร่วม 7,000 รายแล้ว จากสถานการณ์ความไม่สงบและเหตุการณ์ความรุนแรงอื่นๆ ในพื้นที่
ซึ่งรัฐบาลยังมีโครงการอื่นๆ อาทิ โครงการพาคนกลับบ้าน, โครงการพักโทษผู้ต้องหาคดีความมั่นคง แบบครึ่งๆกลางๆ ที่ไม่มีใครจริงจัง โดยเฉพาะในกลุ่มขบวนการผู้ก่อความไม่สงบ นอกจากนั้น ยังมีโครงการ 50 ล้าน ที่ดำเนินการร่วมระหว่างรัฐ-พลเรือน โดยรัฐบาลอนุมัติงบประมาณ เพื่อสรรหาและให้ทุนแก่องค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่ โดยเชื่อว่าจะเป็นการตัดทอนการช่วยเหลือสนับสนุนขบวนการบีอาร์เอ็นของชาวบ้านในพื้นที่ บีอาร์เอ็นเป็นกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่มีกำลังแข็งแกร่งที่สุดในขณะนี้ คือ ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (บีอาร์เอ็น) ที่ควบคุมผู้ก่อความไม่สงบเกือบทั้งหมดในสามจังหวัดชายแดนใต้
แต่นับว่าเป็นความล้มเหลวประการหนึ่ง เพราะองค์กรภาคประชาสังคมส่วนใหญ่ทำงานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้มาเป็นเวลานาน พวกเขาเหล่านั้นจึงได้พากันเมินต่อข้อเสนอของทางการ
ส่วนพรรคการเมืองท้องถิ่น อย่างเช่น “ประชาชาติ” ก็กำลังตั้งวัตถุประสงค์ในการให้เงินทุนสนับสนุนสาธารณชนทั่วไปที่มีความคิดต่อต้านรัฐบาลทหาร
นับเป็นเรื่องยากที่ผู้นำรัฐบาลไทยจะอ้างความสำเร็จต่างๆ และยังขาดความต่อเนื่องของการพูดคุยฯ เพราะคู่เจรจาของไทย คือ กลุ่มมาราปาตานี ได้ระงับกระบวนการการพูดคุยไว้ก่อน
องค์กรมาราปาตานี ได้หยุดการเจรจาไว้ชั่วคราว เพราะรู้สึกเหมือนถูกดูแคลน เนื่องจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ออกมาเปิดเผยชื่อของอำเภอที่ถูกเลือกเป็นพื้นที่ปลอดภัยนำร่องกับผู้สื่อข่าว ก่อนเวลาอันควร ซึ่งมาราปาตานี ถือว่าเป็นการดำเนินการร่วมกันในการจัดตั้งพื้นที่ปลอดภัย ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
มาราปาตานี เป็นองค์กรร่มที่ประกอบด้วย สมาชิกขบวนการแบ่งแยกดินแดนที่มีมายาวนานในพื้นที่ และสมาชิกบีอาร์เอ็นจำนวนหนึ่ง ที่ไม่มีผู้นำบีอาร์เอ็นระดับสูงเป็นตัวแทนอยู่เลย
มาราปาตานีได้พิจารณาโครงการนี้ว่าเป็น "ความก้าวหน้า" ของผลงานร่วมกัน และต้องการให้รัฐบาลไทยเคารพในส่วนที่พวกเขาสมควรจะได้รับ แต่พลเอกประยุทธ์ก็ไม่ให้ความสำคัญแก่พวกเขา และยังไม่มีการเอ่ยถึงการดำเนินการร่วมกัน ที่นับว่าเป็นผลงานของพวกเขาเช่นกัน
แม้ว่าทางฝ่ายคณะทำงานเทคนิคร่วมของทั้งสองฝ่าย ได้มีการตกลงกันตามหลักการ เลือกอำเภอเจาะไอร้อง เป็นโครงการพื้นที่ปลอดภัยนำร่อง หากกระนั้นผู้นำกลุ่มมาราปาตานี ก็ยังคงเก็บงำชื่ออำเภอเป็นความลับ ไม่ออกมาเปิดเผยแต่อย่างใด
นอกเหนือจากรัฐบาลไทยได้มีการปฏิเสธที่จะให้ความสำคัญกับมาราปาตานีแล้ว รัฐบาลยังปฏิเสธที่จะลงนามในข้อตกลงเกี่ยวกับโครงการพื้นที่ปลอดภัยนำร่อง โดยกล่าวว่า ยังอยู่ในขั้นตอนการสร้างความไว้ใจ
ในขณะนี้ ยังไม่มีใครบอกได้ว่า กลุ่มมาราปาตานี จะออกมาดำเนินการ หรือสานต่อการพูดคุยเมื่อใด จะมีเพียงฝ่ายไทยที่พลเอกประยุทธ์ได้ออกมาแถลงต่อผู้สื่อข่าว และประกาศให้ประชาชนรับทราบว่า อำเภอเจาะไอร้องถูกเลือกให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2561 และทางกลุ่มมาราปาตานีก็ตอบโต้ด้วยการหยุดนิ่งกระบวนการการเจรจาไว้
โดยในเดือนถัดมา ประเทศมาเลเซียก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางการเมือง โดยผู้นำรัฐบาล UMNO แพ้การเลือกตั้ง และหมดอำนาจไป หลังจากอยู่ในอำนาจเกือบ 60 ปี น่าจะเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ มาราปาตานีหยุดนิ่งการพูดคุย
ส่วน อาบู ฮาฟิส อัลฮาคิม สมาชิกคนสำคัญขององค์กรมาราปาตานี กล่าวว่า ยังเร็วเกินไป ที่จะคาดการณ์ว่า รัฐบาลใหม่ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ จะยังคงให้ ซัมซามิน ฮาชิม ซึ่งเป็นอดีตหัวหน้าสายลับของมาเลเซีย ทำหน้าที่ต่อไป ในฐานะผู้อำนวยความสะดวกของการพูดคุยสันติสุขหรือไม่
แต่ถึงแม้ว่า มาราปาตานี จะรับรองอำเภอเจาะไอร้อง อย่างเป็นทางการว่าเป็นพื้นที่ปลอดภัย ตามที่คณะทำงานกระบวนการการพูดคุยได้กำหนด กระบวนการทั้งหมดก็ยังคงตั้งอยู่บนความสั่นคลอน เสมือนที่เป็นมาตลอดอยู่นั่นเอง
สาเหตุประการแรก คือ กลุ่มมาราปาตานีไม่ได้เป็นผู้ควบคุมกองกำลังปฏิบัติการในพื้นที่ แต่เป็นกลุ่มบีอาร์เอ็น แหล่งข่าวของรัฐบาลไทย กล่าวว่า ซัมซามิน ฮาชิม ให้ความเชื่อมั่นกับรัฐบาลไทย เมื่อปีที่แล้วว่า สภาปกครองผู้นำบีอาร์เอ็นจะไม่ก่อเหตุทำลายโครงการนี้
สมาชิกขบวนการบีอาร์เอ็นในพื้นที่ กล่าวว่า พวกเขาไม่มีปัญหาในการหยุดโจมตีเท่านั้น แต่พวกเขากล่าวว่า ไม่มีการกำหนดอะไรอย่างเป็นทางการ - อย่างน้อยก็ไม่ได้มาจากทั้งสองฝ่าย จนถึงปัจจุบัน หน่วยรบในเจาะไอร้อง กล่าวว่า พวกเขายังไม่ได้รับคำสั่งให้หยุดปฏิบัติการสร้างความรุนแรงใด ๆ
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยที่ทำงานในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงกังขาว่า ผู้นำสภาปกครองของบีอาร์เอ็นจะยอมมีข้อตกลงเช่นนั้นกับ นายซัมซามิน เชียวหรือ บางคนยังสงสัยว่า นายซัมซามินอาจจะกล่าวอ้างเกินความจริง
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ไทยหลายคน ยังกล่าวอีกว่า นายซัมซามิน ควรจะต้องจัดการให้มีการพบปะระหว่าง พลเอกอักษรา เกิดผล และผู้นำสูงสุดของกลุ่มบีอาร์เอ็น คือ นายดูนเลาะ แวมะนอ ในประเทศอินโดนีเซีย แต่ก็ยังไม่มีการจัดการดังกล่าว
"ไม่คิดว่าผู้นำบีอาร์เอ็น จะจริงจังกับการพบปะแบบตัวต่อตัว กับผู้แทนเจ้าหน้าที่ไทย" เจ้าหน้าที่นายทหารบกที่ทำงานในพื้นที่กล่าว "ถ้าวันที่ยังไม่ได้ถูกกำหนดเวลานี้ การพบปะคงจะไม่เกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้"
ดอน ปาทาน เป็นที่ปรึกษาและนักวิเคราะห์เรื่องความมั่นคงที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย และอาเต็ฟ โซ๊ะโก ประธานคณะกรรมการกำกับยุทธศาสตร์ เดอะปาตานี (The Patani) องค์กรประชาสังคมที่ทำงานในเวทีพูดคุยประสานความขัดแย้งในภาคใต้ของประเทศไทย ความคิดเห็นที่แสดงในงานเขียนชิ้นนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียนเท่านั้น ไม่ใช่ของเบนาร์นิวส์