ผู้ประสานชาวมาเลคนใหม่เข้าร่วมการพูดคุยสันติสุขแดนใต้

บทวิเคราะห์โดย ดอน ปาทาน
2018.10.08
ยะลา
181008-MY-TH-broker-620.jpg อับดุล ราฮิม นูร์ อดีตผบ.ตร.มาเลเซีย ตอบคำถามขณะให้สัมภาษณ์ถึงการรับแต่งตั้งเป็นผู้ประสานการพูดคุยเพื่อสันติสุขคนใหม่ของรัฐบาลไทยกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบแดนใต้ ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2561
เอส.มาฮ์ฟุซ/เบนาร์นิวส์

มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้แต่งตั้งให้นายอับดุล ราฮิม นูร์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการพูดคุยเพื่อสันติสุขระหว่างรัฐบาลไทยกับกลุ่มมาราปาตานี องค์กรร่มที่ประกอบด้วยกลุ่มแบ่งแยกดินแดนหลายกลุ่มจากชายแดนใต้

อับดุล ราฮิม นูร์ เป็นคนพูดจาตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อม และมีความคุ้นเคยกับปัญหาความมั่นคงตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซียเป็นอย่างดี โดยมีผลงานที่สร้างชื่อเสียงจากการสลายพรรคคอมมิวนิสต์มลายา (ซีพีเอ็ม) โดยอาศัยข้อตกลงสันติภาพในปี 2532

ส่วน นายมหาเธร์เองก็มีความคุ้นเคยกับปัญหาความขัดแย้งตามแนวชายแดนใต้ของไทยไม่น้อยไปกว่ากัน ย้อนหลังไปในปี 2548 หลังจากที่ก้าวลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวาระแรก นายมหาเธร์ได้ขอความร่วมมือจากอดีตผู้บัญชาการตำรวจ นายโนเรียน ไม และนักธุรกิจชื่อดาโต๊ะ ชาซรีล เอสเคย์ บิน อับดุลลาห์ ให้ช่วยเหลือในกระบวนการเจรจาสันติภาพลังกาวี ซึ่งเป็นเวทีเสวนา ที่นำเจ้าหน้าที่ระดับสูงฝ่ายความมั่นคงของไทยมายังเกาะ ที่ต่อมาใช้เป็นชื่อของกระบวนการฯ

ตัวแทนจากสภาความมั่นคงแห่งชาติและศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการกองทัพไทยได้พบปะสนทนากับกลุ่มผู้นำขบวนการแยกดินแดนมาเลย์ปาตานีที่ลี้ภัยอยู่ ซึ่งไม่มีอำนาจควบคุมกลุ่มนักต่อสู้รุ่นใหม่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่แล้ว

เช่นเดียวกันกับการเจรจาอื่น ๆ ทั้งก่อนหน้าและหลังจากนี้ การเจรจาสันติภาพลังกาวีไม่ก่อผลใด ๆ ที่เป็นรูปธรรม และอีกไม่นานก็สูญหายไปจากความทรงจำของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในปัญหาความขัดแย้งนี้

การแต่งตั้งนายอับดุล ราฮิม เป็นผู้อำนวยความสะดวกคนใหม่ได้รับเสียงคัดค้านจากวงในไม่น้อย นูรุล อิซซา สมาชิกสภานิติบัญญัติและบุตรีของนายอันวาร์ อิบราฮิม กล่าวถึงกรณีอื้อฉาว ในอดีตที่นายอับดุล ราฮิม ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจได้ปล่อยหมัดต่อยหน้าบิดาของเธอจนตาเขียว เมื่อ 20 ปีที่แล้ว

เรื่องราวที่ชาวบ้านพูดคุยกันในชายแดนใต้เกี่ยวกับนายอับดุล ราฮิม มักหนีไม่พ้นตำนานของพี่น้องตระกูลท่าน้ำ ซึ่งเป็นผู้นำการแบ่งแยกดินแดนจากองค์กรปลดปล่อยสหปัตตานี (พูโล) ซึ่งถูกเนรเทศมายังประเทศไทย ในช่วงต้นปี 2541 สมัยที่นายอับดุล ราฮิมนั่งเก้าอี้ผู้บัญชาการตำรวจ

การเนรเทศครั้งนั้น เหมือนการฝากรอยแผลเป็นที่ไม่มีวันจางหาย ระหว่างกลุ่มแยกดินแดนมาเลย์ปาตานีกับรัฐบาลมาเลเซีย

แม้ว่าการก่อความไม่สงบตามชายแดนใต้ของไทยยังคงมีบริบททางการเมืองที่ไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งยังคงเป็นการต่อสู้ของกลุ่มชาตินิยมเชิงชาติพันธุ์ แต่ขณะนี้ นักต่อสู้ในเงามืดรุ่นใหม่ภายใต้การนำของขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (บีอาร์เอ็น) ก็ออกปฏิบัติการในพื้นที่เพื่อโจมตีกองกำลังรักษาความมั่นคงของไทย โดยไม่เกรงกลัวใคร

ยังไม่เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า นายอับดุล ราฮิม เข้าใจถึงแรงจูงใจและอุดมการณ์ของกลุ่มบีอาร์เอ็นมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ในช่วงที่นายอับดุล ราฮิมมีหน้าที่ดูแลความสงบตามแนวชายแดนนั้น กลุ่มพูโลเป็นผู้มีบทบาทโดดเด่นในสมรภูมิความรุนแรง แต่วันนี้เป็นของบีอาร์เอ็น

เจ้าหน้าที่ข่าวกรองทางทหารของไทยกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถวางใจกลุ่มพูโลได้อย่างเต็มที่ เพราะเครือข่ายและฐานกำลังสนับสนุนของกลุ่มในพื้นที่ดังกล่าวยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง และอาจก่อให้เกิดปัญหาสำหรับประเทศไทยในวันข้างหน้าได้

เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยให้ความเห็นต่อไปว่า ภารกิจสำคัญในขณะนี้คือ ต้องหาทางชักชวนผู้นำกลุ่มบีอาร์เอ็นให้มาร่วมโต๊ะเจรจากับมาราปาตานีเสียก่อน

เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยเชื่อว่านายอับดุล ราฮิมในวัยชราจะใช้แรงกดดันผู้นำบีอาร์เอ็น เพื่อให้มาร่วมโต๊ะเจรจาได้ เพราะตระหนักดีว่าทั้งตัวเองและนายมหาธีร์มีเวลาไม่ถึงสองปี ก่อนที่จะต้องมอบอำนาจให้แก่นายอันวาร์ อิบราฮิม

สันติภาพยัดเยียดกันไม่ได้

ไม่มีใครล่วงรู้ว่า กลยุทธ์การจัดการที่นายอับดุล ราฮิมนำมาใช้กับผู้นำบีอาร์เอ็นจะให้ผลลัพธ์ในรูปใด

แต่แหล่งข่าวอาวุโสในบีอาร์เอ็น กล่าวว่า ทางกลุ่ม “ไม่พร้อมที่จะมาร่วมโต๊ะเจรจากับฝ่ายไทย ไม่ว่าใครจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกก็ตาม”

เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยบางรายกล่าวว่า ตนเข้าใจเหตุผลที่ผู้นำบีอาร์เอ็นไม่ยอมเข้าร่วมเจรจา โดยกล่าวว่า แนวทางของไทยมีลักษณะ “ใจแคบ” มากเกินไป เพราะคิดไปฝ่ายเดียวว่าการเจรจากับมาราปาตานีก่อน จะทำให้กลุ่มบีอาร์เอ็นยอมเข้าร่วมโต๊ะเจรจาด้วยในที่สุด

“จริง ๆ แล้วคุณจะยัดเยียดสันติภาพให้ใครไม่ได้” เจ้าหน้าที่ความมั่นคงรายหนึ่งของไทย ที่ทำงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้กล่าว “ผู้นำบีอาร์เอ็นต้องรู้สึกมั่นใจมากพอที่จะมานั่งโต๊ะร่วมเจรจา และต้องเชื่อว่าจะได้รับประโยชน์จากการเจรจาด้วย”

นอกไปจากการเปลี่ยนแปลงที่กรุงกัวลาลัมเปอร์แล้ว ทางกรุงเทพฯ เองก็มีข่าวลือถึงการพิจารณาไตร่ตรองที่จะปรับเปลี่ยนด้วยเช่นกัน

ขณะนี้มีข่าวลือเกี่ยวกับการเปลี่ยนตัว พล.อ.อักษรา เกิดผล ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะเจรจาสันติภาพชายแดนใต้ฝ่ายรัฐบาลทหารไทย ว่า กองทัพบกอยู่ในระหว่างการค้นหาผู้ที่จะสามารถ “รับมือ” กับนายอับดุล ราฮิมได้

หนึ่งในรายชื่อบุคคลที่ได้รับการพิจารณาคือ พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ซึ่งเป็นนายทหารนอกราชการที่เคยทำงานด้านความมั่นคงแนวชายแดน ในช่วงทศวรรษ 2523 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับ นายอับดุล ราฮิม

บุรุษทั้งสองเคยพบพานกันมาก่อน ในช่วงเวลาที่ทั้งคู่ทำหน้าที่แก้ปัญหาการก่อความไม่สงบตามชายแดนไทย-มาเลเซีย

ในที่สุด นายอับดุล ราฮิมได้สลายพรรคคอมมิวนิสต์มลายาลงได้ ส่วน พล.อ.อกนิษฐ์ก็ค่อย ๆ ลดบทบาทของตนในการแก้ปัญหาชายแดนใต้ลง ขณะที่ผู้ก่อความไม่สงบในปัตตานีวางอาวุธลงเพื่อลี้ภัย

นักต่อสู้บางคนเดินทางกลับสู่หมู่บ้านของตน แต่นักต่อสู้จำนวนหนึ่งได้รับอนุญาตให้ลี้ภัยไปยังประเทศในยุโรปเหนือ รวมทั้งมาเลเซียและอินโดนีเซียด้วย

หากหลายทศวรรษต่อมา ขณะที่นายทักษิณ ชินวัตรก้าวสู่เส้นทางเพื่อดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทย กลุ่มแบ่งแยกดินแดนปาตานีรุ่นใหม่ก็เริ่มปรากฏตัวขึ้น เพื่อสานต่อภารกิจที่นักรบผู้ร่วมอุดมการณ์รุ่นก่อนได้ฝากไว้

ประเทศไทยหลงเข้าใจผิดว่า ภาวะที่ปราศจากความรุนแรงหมายถึงสันติภาพ แต่ที่จริงแล้ว ความฝังใจที่ว่าปาตานี คือ อดีตมาตุภูมิของชาวมาเลย์ที่ถูกชาวสยามเข้ารุกรานไม่เคยจางหายไปจากความทรงจำแม้แต่น้อย

ดอน ปาทาน เป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงและการพัฒนาสำหรับองค์กรระหว่างประเทศ และทำงานอยู่ในประเทศไทย ความคิดเห็นที่แสดงในงานเขียนชิ้นนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียนเท่านั้น ไม่ใช่ของเบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง