พรรคอนาคตใหม่รุกเข้าจังหวัดชายแดนใต้ ก่อความหวาดหวั่นแก่รัฐบาลทหารและกลุ่มบีอาร์เอ็น

บทวิเคราะห์โดย ดอน ปาทาน
2019.10.17
กรุงเทพฯ
191016-Pathan-column-620.jpg นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (คนกลาง) หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ถ่ายรูปกับชาวบ้านในตลาดที่จังหวัดนราธิวาส วันที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2562
เอเอฟพี

ปรับปรุงข้อมูล เวลา 13:00 ET 2019-10-18

นับเป็นเวลากว่าหกเดือน หลังการเลือกตั้งทั่วไป ประเทศไทยยังอยู่ในอาการช็อค กับสิ่งที่ฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลทหารได้ดำเนินการจัดตั้งทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย

หนึ่งในหลายพรรคการเมืองหน้าใหม่ คือ พรรคอนาคตใหม่ พรรคที่เข้ามากระตุ้นตอกฝ่ายรัฐบาลทหาร ด้วยแนวนโยบายของพรรคที่เรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปทหาร

พรรคอนาคตใหม่ยังกล่าวว่า รัฐบาลทหารควรถอนกำลังออกจากชายแดนใต้ พื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบของขบวนการแบ่งแยกดินแดน ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้สูญเสียชีวิตกว่า 7,000 รายแล้ว ตามตัวเลขของหน่วยงานหนึ่งของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

ในการดำเนินการดังกล่าว และในการเรียกร้องความรับผิดชอบต่อการดำเนินการต่อต้านสถานการณ์ความไม่สงบที่เป็นที่น่ากังขา และการซ้อมทรมานผู้ต้องสงสัยที่ถูกกล่าวหานั้น - พรรคอนาคตใหม่ประสบความสำเร็จในการเชื่อมต่อกับชาวมุสลิมมลายูในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

ผลของการเลือกตั้งเมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ก่อแรงสะเทือนแก่ กลุ่มบีอาร์เอ็น (BRN) กลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่มีกองกำลังแข็งแกร่งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้มายาวนาน

ตามข้อมูลจากแหล่งข่าวที่อยู่ในขบวนการนั้น ในช่วงระยะก่อนหน้าการเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 นั้น มีการหารือกันในระดับหัวหน้ากลุ่มในพื้นที่เกี่ยวกับการคว่ำบาตรการเลือกตั้ง

แต่การคุยกันครั้งนี้ไม่บังเกิดผลอย่างเต็มที่ เหมือนกับเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2559 ที่มีการรณรงค์ในชายแดนใต้ ให้คนในพื้นที่โหวต “no” ไม่ยอมรับการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลคสช. เสนอ โดยมีการรณรงค์ผ่านเครือข่ายอันประกอบด้วย ครูสอนศาสนาในโรงเรียนตาดีกา โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม เครือข่ายสตรี ภายใต้องค์กรสังเกตการณ์การลงประชามติชายแดนใต้

การลงประชามติดังกล่าวชนะด้วยคะแนนเสียงเพียงน้อยนิด แต่ในสามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งคนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามก็คัดค้านการลงประชามตินี้อย่างเต็มที่

บางคนจงใจทำบัตรเลือกตั้งเสีย โดยขีดเขียนบนบัตร ในบางพื้นที่ มีการสนับสนุนให้ชาวบ้านเขียนคำว่า “เอกราช” ลงบนบัตรเลือกตั้ง แต่ชาวบ้านหลายคนกลัวว่า การทำเช่นนั้นจะส่งผลเสียในภายหลัง

โดยความเป็นจริง ซึ่งแม้จะผ่านมา 15 ปีแล้ว นับตั้งแต่เกิดเหตุก่อความไม่สงบระลอกที่สองขึ้นในสามจังหวัดชายแดนใต้ แต่การหารืออย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมาถึงความรู้สึกที่แท้จริงของประชาชนในพื้นที่เกี่ยวกับ สิทธิในการปกครองตนเอง ยังคงเป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นเสียที การออกเสียง “ไม่ยอมรับ” หรือทำลายบัตรเลือกตั้งดังกล่าว เป็นวิธีที่ชาวบ้านแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล

เรื่องไม่ได้เป็นดังคิด

แต่การเลือกตั้งปี 2562 ได้บอกบางอย่างที่ต่างออกไป การที่ประชาชนในสามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ออกไปใช้สิทธิ์ลงคะแนนเสียงมากที่สุดในประเทศ สร้างความไม่พอใจให้แก่กลุ่มบีอาร์เอ็น

พรรคอนาคตใหม่ไม่ได้ชนะการเลือกตั้งในจังหวัดชายแดนใต้ ที่มี 13 ที่นั่ง แต่ได้รับผลโหวตเกือบสามเท่าจากที่คาดหวังไว้ ถึง 30,000 เสียง

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้นำของพรรคอนาคตใหม่ ได้ลงพื้นที่อย่างน้อยสี่ครั้ง ในช่วงหาเสียง ซึ่งสร้างความตื่นเต้นดีใจให้กับคนในพื้นที่ เด็กผู้ชายในหมู่บ้านได้แห่กันมาดูเขา ทั้งชุดโสร่ง

คนอื่น ๆ พากันเข้าแถวเพื่อขอเซลฟี่ กับหัวหน้าพรรคการเมือง ที่เพิ่งก่อตั้งใหม่นี้ ซึ่งจากหลากมุมมองมองว่า เป็นการช่วยฟื้นฟูศรัทธาของชาวมุสลิมมลายูภูมิภาคนี้ที่มีต่อการเมือง ในระบบรัฐสภาของไทย

นั่นคือศรัทธา ซึ่งได้สูญหายไปหลังจากเหตุสลายการชุมนุมที่อำเภอตากใบ เมื่อปี 2547 เหตุการณ์นี้มีผู้ชุมนุมจำนวน 78 คน เสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจ หลังจากที่ถูกขนอัดรวมกันในรถบรรทุกลำเลียงของทหาร

ชาวไทยมลายูไม่พอใจที่กลุ่มวาดะห์ ซึ่งเป็นกลุ่มนักการเมืองชาวมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนใต้ ไม่ต่อต้านการกระทำของรัฐบาลในขณะนั้น ซึ่งกลุ่มนี้เป็นแนวร่วมสำคัญอยู่ ทำให้ชาวบ้านไม่ออกเสียงเลือกตั้งให้กลุ่มนี้เข้าไปนั่งในรัฐสภา

ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ผ่านมา กลุ่มวาดะห์ปรับภาพลักษณ์ของตัวเองใหม่ โดยจัดตั้งพรรคการเมืองของตนเองขึ้นมา และส่งเสริมพื้นที่ทางวัฒนธรรมที่กว้างขึ้นสำหรับชาวไทยมลายูในบริบทของความเป็นพหุวัฒนธรรม

แต่สำหรับคนหนุ่มสาวในสามจังหวัดชายแดนใต้นั้น การที่พรรคอนาคตใหม่ออกมาโจมตีรัฐบาลทหารอย่างไม่หยุดหย่อน ทำให้ชาวชายแดนใต้พากันสนับสนุน ชาวมุสลิมมลายูในพื้นที่นี้เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าวของพรรคอนาคตใหม่ และไม่สนใจว่าพรรคนี้กำลังหาคะแนนเสียงจากกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือเรียกร้องความเสมอภาคทางเพศ ซึ่งเป็นประเด็นที่คนในสามจังหวัดชายแดนใต้ที่มีหัวอนุรักษ์นิยมไม่เห็นด้วย

เนื่องจากชาวมุสลิมออกมาลงคะแนนเสียงเป็นจำนวนมาก สมาชิกของกลุ่มบีอาร์เอ็นจึงต้องกลับไปเริ่มต้นวางแผนใหม่ และไตร่ตรองว่าจะต้องทำอย่างไรจึงจะทำให้ตนเองสามารถ “เป็นอิสระในการปกครอง” ได้

หลังจากการเลือกตั้งเดือนมีนาคม 2562 นักการเมืองท้องถิ่นจากหลายพรรคการเมืองได้รวมตัวกัน เพื่อรับเรื่องความคับข้องใจของประชาชนมุสลิมในท้องถิ่น

สงครามลูกผสม

พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกของไทย ยังรู้สึกอึดอัดใจกับผลการเลือกตั้งทั่วไปนั้นด้วย

ซึ่งแตกต่างจากกลุ่มบีอาร์เอ็น พล.อ.อภิรัชต์ ใช้วิธีสื่อสารโดยตรงถึงนักการเมืองรุ่นใหม่และผู้ที่สนับสนุนนักการเมืองเหล่านั้น ในระหว่างการชุมนุมเมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ดูเหมือนจะเป็นการชุมนุมทางการเมืองด้วยตัวคนเดียวเสียมากกว่า พล.อ.อภิรัชต์ กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับ “สงครามลูกผสม” ที่บงการโดย “นักการเมืองที่มีเจตนาร้าย”

พล.อ.อภิรัชต์ ไม่ได้ระบุชื่อนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้นำพรรคอนาคตใหม่ แต่ประชาชนและผู้เข้าร่วมในหอประชุมทหาร ต่างก็เข้าใจว่าข้อความนั้นตั้งใจสื่อถึงนายธนาธร

พล.อ.อภิรัชต์ ยังคงกล่าวต่ออีกยาวถึงความขัดแย้งในปาตานี โดยกล่าวว่าเขาสูญเสียเพื่อน และผู้ร่วมงานไปในการต่อสู้ ขณะที่โต้ตอบถึงการวิพากษ์วิจารณ์กองทัพบก

พล.อ.อภิรัชต์ ได้ชี้ให้เห็นถึงเหตุระเบิดโจมตีหลายครั้งในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ซึ่งมีการกล่าวหาว่า กระทำโดยชายหนุ่มจากสามจังหวัดชายแดนใต้ เขาไม่ได้กล่าวโทษกลุ่มบีอาร์เอ็น แต่พูดว่าผู้อยู่เบื้องหลังการลอบวางระเบิดนั้นเป็นคนที่ “ประสงค์ร้าย” เช่นเดียวกัน

ด้านเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของไทยเชื่อว่า ผู้อยู่เบื้องหลังเหตุดังกล่าว คือ สมาชิกของกลุ่มบีอาร์เอ็น และการกระทำดังกล่าว เป็นวิธีที่ทางกลุ่มส่งคำเตือนอย่างรุนแรงถึงรัฐบาล เพื่อให้รัฐบาลหยุดกดดันผู้นำกลุ่มตนให้มาร่วมโต๊ะเจรจา

ดอน ปาทาน เป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงและการพัฒนาให้แก่องค์การระหว่างประเทศ ข้อความที่แสดงไว้ในข้อคิดเห็นนี้เป็นของผู้เขียนแต่เพียงผู้เดียว ไม่ใช่ของเบนาร์นิวส์

* เพิ่มเติมข้อมูล เครือข่ายในชายแดนใต้ที่ร่วมรณรงค์การโหวต 'no' ในการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2559

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง