ข้อจำกัดสำหรับประชาธิปไตยของไทย

บทวิเคราะห์โดย ซาคารี อาบูซา
2018.05.21
180521-TH-protesters-coup-1000.jpg ผู้ชุมนุมประท้วงสนับสนุนประชาธิปไตยตะโกนคำขวัญเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในปีนี้ ในกรุงเทพฯ วันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2561
เอพี

เมื่อสี่ปีที่แล้ว นายทหารของกองทัพบกไทยเข้ายึดอำนาจในการรัฐประหารแบบไม่เสียเลือดเนื้อเป็นครั้งที่สองในรอบแปดปี โดยเชื่อว่าการแตกแยกทางสังคมและการเมืองเป็นภัยคุกคามความอยู่รอดของชาติ

ทั้งที่ให้คำมั่นว่าจะคืนอำนาจแก่ประชาชนภายในสองปี แต่รัฐบาลทหารกลับยังกุมอำนาจไว้ โดยประวิงการเลือกตั้งออกไปจนถึงกลางปี 2562 แม้แทบจะหาเหตุผลอื่นใดมาอ้างไม่ได้แล้วก็ตาม

ประชาชนชาวไทยจำนวนมากและบรรดาผู้สนับสนุนอภิชนทหาร และผู้เทิดทูนระบอบกษัตริย์มักจะอ้างเหตุผลว่า การรัฐประหารเป็นทางแก้ไขที่จำเป็น แต่การรัฐประหารครั้งนี้ต่างจากครั้งอื่นๆ ตั้งแต่แรกแล้ว

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวอย่างชัดเจนตั้งแต่ต้นว่า จะไม่ทำผิดพลาดเช่นการรัฐประหารครั้งก่อนหน้า เมื่อปี 2549 ที่กลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างรวดเร็ว

พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาลทหารของเขาอยู่ในตำแหน่งเป็นเวลานาน คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เผด็จการได้แต่งตั้งทหารให้เข้ารับตำแหน่งในเกือบทุกกระทรวงของรัฐบาล และจัดตั้งรัฐสภาตรายางที่ไร้อำนาจทางพฤตินัย โดยกว่าร้อยละ 58 ของสมาชิกรัฐสภาเป็นนายทหารที่ยังรับราชการอยู่หรือที่เกษียณราชการแล้ว และร้อยละ 5 เป็นนายตำรวจ

ส่วนที่เหลือเป็นพวกอภิชนคลั่งเจ้า ไม่มีตัวแทนของชนกลุ่มอื่นในสังคมส่วนใหญ่หรือสังคมเศรษฐกิจเลย

ส่วนฝ่ายตรงข้ามก็ถูกจับกุมตัว บรรดาพรรคการเมืองถูกสั่งห้าม และผู้คัดค้านถูกปราบปราม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีที่ถูกโค่นอำนาจและกำลังถูกสืบสวน ได้หลบหนีออกจากประเทศเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 และกำลังลี้ภัยอยู่ในต่างประเทศกับนายทักษิณ ชินวัตร พี่ชาย

แน่นอนว่า รัฐบาลทหารมีการเรียกร้องให้ทั้งคู่กลับประเทศไทย แต่ขณะเดียวกันก็ดีใจอย่างมากที่ฝ่ายตรงข้ามขาดผู้นำ

การรวบอำนาจ

นับแต่ปี 2557 เป็นต้นมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ผ่านกฎหมายประมาณ 298 ฉบับ และออกคำสั่ง 500 ฉบับ แต่ในช่วงระยะเวลานั้น ประเทศไทยก็ยังไม่ก้าวหน้าไปไหน การประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2560 ถือเป็นพัฒนาการที่ดีที่สุดที่ สนช.ได้พยายามทำ

รัฐบาลทหารได้ให้สัญญาว่าไม่จำเป็นที่จะมีการรัฐประหารอีกในอนาคต คำสัญญานี้มีความจริงอยู่บ้าง เพราะรัฐธรรมนูญปี 2560 รวบอำนาจให้อยู่ในมือของอภิชนและองค์กรที่ได้รับการแต่งตั้งจากกองทัพ

นายกรัฐมนตรีสามารถมาจากการแต่งตั้งได้ และพรรคการเมืองถูกทำให้อ่อนแอลง ทหารสามารถแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา 250 คน และจะมีเจ้าหน้าที่ทหารอาวุโส 6 คน รวมอยู่ด้วย มีแต่การตรวจสอบแต่ขาดการถ่วงดุล

กระนั้นก็ตาม รัฐบาลทหารได้เลื่อนการเลือกตั้งออกไป และอาจจะมีขึ้นอย่างเร็วที่สุด ในเดือนมีนาคม 2562 หากอีกหลายคนคาดว่า น่าจะเป็นกลางปี 2562

พล.อ.ประยุทธ์ กำลังพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะอยู่ในอำนาจต่อไป และกำลังดำเนินการตั้งพรรคการเมืองพรรคใหม่ขึ้น ขณะเดียวกันก็กำลังพยายามตัดกำลังฝ่ายตรงข้าม

รัฐบาลทหารที่ขาดความมั่นใจ ได้ประกาศห้ามการชุมนุมทางการเมืองมากกว่าสี่คน และการชุมนุมประท้วงโดยสันติ ก็ถือเป็นความผิดทางอาญา รัฐบาลทหารชุดนี้ยังข่มขู่ผู้นำฝ่ายตรงข้ามว่า จะตั้งข้อหาปลุกระดม เพื่อสยบการคัดค้านของฝ่ายตรงข้าม นับตั้งแต่รัฐประหาร ประชาชน 94 ราย ถูกตั้งข้อหาความผิดคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ 75 คน มีความผิดคดียุยงปลุกปั่น และมีประชาชนถูกจับกุมมากกว่า 500 ราย พลเรือนถูกนำขึ้นศาลทหารเพื่อพิจารณาคดี ก่อนวันครบรอบการรัฐประหาร แกนนำพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่น เนื่องจากจัดแถลงข่าวของพรรคเพื่อไทย

มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญเฉพาะกาลให้อำนาจเด็ดขาดแก่รัฐบาลทหาร ในการดำเนินการอย่างใดก็ได้ที่เห็นสมควร แต่รัฐบาลก็ยังไม่สามารถดำเนินการปฏิรูปขั้นพื้นฐานได้อย่างจริงจัง

ในการสำรวจนานาชาติด้านความเป็นประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และหลักนิติธรรม เป็นที่ชัดเจนว่าไทยมีคะแนนตกลงอย่างมาก The Economist Intelligence Unit จัดให้ไทยเป็น “ระบอบลูกผสม” ซึ่งแย่กว่า “ระบอบประชาธิปไตยแบบบกพร่อง” มาก แต่ก็ไม่ใช่ระบอบอำนาจนิยมเต็มตัวเสียทีเดียว ระหว่างปี 2557 ถึง 2560 คะแนนของไทยในดัชนีความเป็นประชาธิปไตยที่จัดอันดับโดย EIU ตกลงไปร้อยละ 14.1 โดยตกต่ำลงมากในหมวดเสรีภาพของพลเมือง กระบวนการเลือกตั้ง และพหุนิยม

ดัชนีรัฐล้มเหลวที่มีการจัดอันดับทุกปี อันดับของไทยตกลงอย่างมากในเกือบทุก 12 หมวดที่มีการวัด

ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ บางหมวดแย่ลงจากเดิมมาก ในระหว่างปี 2557 ถึง 2560 ตัวอย่างเช่น ความเกี่ยวข้องในการเมืองของกองกำลังรักษาความมั่นคงเพิ่มขึ้นร้อยละ 16 ระหว่างปี 2549 ถึง 2557 แต่เพิ่มขึ้นไปอีกจนถึงร้อยละ 19 ในปี 2560 การแบ่งแยกของคนกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม ซึ่งดีขึ้นเล็กน้อยในระหว่างปี 2549 ถึง 2557 ตกลงร้อยละ 6.3 ในปี 2560

การปฏิวัติที่น่าจะแก้ไขปัญหาอภิชนที่แตกแยก กลับไม่ได้แก้ปัญหานั้นเลย

ตามรายงานของ FSI ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีอภิชนที่แตกแยกมากที่สุดในภูมิภาค คะแนนด้านสิทธิมนุษยชนของไทยในระหว่างปี 2557 ถึง 2560 ตกต่ำลงมากกว่าเกือบทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ดัชนีหลักนิติธรรมทั่วโลกก็ตกลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ในทุกหมวดการวัด ไทยรั้งอันดับสามจากท้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ในระหว่างปี 2559 ถึง 2560 ไทยได้คะแนนต่ำลง โดยตกลงไปร้อยละ 7

เสรีภาพสื่อ

ในด้านของเสรีภาพสื่อ ไทยยังคงรั้งท้ายต่อไป ในปี 2548 Reporters Without Borders จัดให้ไทยอยู่ในอันดับที่ 107 ของโลก ในปี 2561 ไทยตกไปอยู่ที่อันดับ 140

รัฐบาลทหารชุดนี้มีเครื่องมือมากมายสำหรับใช้ในการปิดปากสื่อ รวมทั้ง ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 คดีความผิดฐานหมิ่นเบื้องสูง และความผิดฐานยุยงปลุกปั่น ในปี 2559 มีการปรับปรุงพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2549 ให้เข้มงวดขึ้น โดยเขียนลักษณะกำกวม ให้รัฐบาลมีอำนาจไม่จำกัดในการเซ็นเซอร์เนื้อหาในอินเทอร์เน็ต คำสั่งของฝ่ายบริหารปี 2559 อนุญาตให้รัฐบาลปิดสื่อใดก็ได้ โดยใช้เหตุผลว่าเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ

ผู้สื่อข่าวถูกตั้งข้อหาปลุกปั่นให้ขืนอำนาจการปกครอง ขณะที่นายอุเมส ปานเดย์ บรรณาธิการของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ถูกปลดจากตำแหน่งในเดือนนี้ เพราะไม่ยอมลดท่าทีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลทหาร หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์กล่าวในแถลงการณ์ฉบับหนึ่งว่า ยังคงยึดมั่นในความเป็นอิสระของบทบรรณาธิการ โดยปฏิเสธความคิดที่ว่า รัฐบาลเข้ามาแทรกแซงเรื่องบทบรรณาธิการ

คอรัปชันแพร่ระบาด

การขาดภาระรับผิดชอบและขาดการตรวจสอบและถ่วงดุลอย่างจริงจัง ทำให้การคอรัปชันที่มีอย่างแพร่สะพัดในประเทศไทยอยู่แล้ว กลับแย่หนักลงไปอีก

แม้หนึ่งในเหตุผลที่ใช้เป็นข้ออ้างสำหรับการปฏิวัติคือ เพื่อต้องการปราบปรามคอรัปชัน แต่การเปิดเผยข้อมูลการเงินของรัฐบาลทหารและสนช. กลับแสดงให้เห็นถึงความร่ำรวยที่หาเหตุผลมาอธิบายไม่ได้ ช่างน่าขันถึงความเสแสร้งว่า การปฏิวัติเป็นการกำจัดการโกง และการหากำไร พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีถูกสาธารณชนเยาะหยัน จากการเป็นเจ้าของคอลเลกชันนาฬิกาสุดหรู

ตามดัชนีวัดภาพลักษณ์คอรัปชันขององค์กร Transparency International ระหว่างปี 2557 ถึง 2560 คะแนนของไทยตกลงจากอันดับที่ 85 ไปอยู่ที่อันดับ 96 ของโลก

ขณะนี้ หน่วยงานป้องกันคอรัปชันของรัฐบาลทหารเองกำลังดำเนินการสืบสวนเกี่ยวกับการยักยอกทรัพย์จำนวนประมาณ 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ของโครงการช่วยเหลือคนจนโครงการหนึ่ง

เศรษฐกิจเติบโตอย่างเชื่องช้า

แม้เศรษฐกิจในปี 2560 จะเติบโตในอัตราที่เร็วที่สุดในช่วงระยะห้าปีที่ผ่านมาก็ตาม (ร้อยละ 3.8) แต่ในช่วงเวลา 10 ปี นับแต่การปฏิวัติครั้งที่แล้ว เศรษฐกิจเติบโตเพียงแค่ร้อยละ 3 เท่านั้น คาดว่าการเติบโตจะช้าลงในปี 2561 และ 2562 เพราะค่าเงินบาทสูงเกินไป อันจะส่งผลเสียต่อการส่งออก การบริโภคภายในประเทศ และการลงทุนของภาคเอกชน การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งและสำคัญยิ่งชีพของรัฐบาลทหาร

ดัชนีรัฐที่บอบบาง ได้จัดเศรษฐกิจของไทยอยู่ในอันดับแย่ลง ในระหว่างปี 2557 ถึง 2560 เป็นที่เข้าใจได้ง่ายว่าเพราะเหตุใด ภาคเกษตรกรรม ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 8 ของเศรษฐกิจโดยรวมของทั้งประเทศ แต่ประกอบด้วยประชากรหนึ่งในสาม ถูกกระทบอย่างหนักจากนโยบายของรัฐบาลทหาร สำหรับรายได้ต่อหัว ร้อยละ 45 ของคนที่มีรายได้ระดับล่าง มีรายได้น้อยลงจากปี 2557

เมื่อเร็ว ๆ นี้ รอยเตอร์รายงานว่า การเติบโตของจีดีพีของไทยเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 1 นับตั้งแต่การปฏิวัติ แต่การเติบโตในภาคเกษตรกรรมหดตัวลงนับจากปี 2557 จะต้องการพูดถึงตระกูลชินวัตรและนโยบายประชานิยมของพรรคเพื่อไทยอย่างไรก็ได้ แต่อย่างน้อยพรรคนี้ก็ทำให้การดำรงชีวิตของประชากรในชนบทดีขึ้น

รัฐบาลทหารได้ประกาศการใช้จ่ายจำนวน 1.5 ล้านล้านบาท (4.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ดังที่เกิดขึ้นทุกครั้งในประเทศไทย ส่วนใหญ่ของเงินจำนวนนี้มักจะทุ่มไปที่กรุงเทพฯ และบริเวณโดยรอบเท่านั้น

และด้วยระบบการศึกษาของไทยที่การเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องมากเกินไป โดยถูกบังคับให้เน้นที่ “ค่านิยมหลักของไทย 12 ประการ” ซึ่งแถลงโดยรัฐบาลทหาร จึงเป็นการยากที่จะจินตนาการว่า กำลังแรงงานในอนาคต จะเพียงพอที่จะทำให้ไทยหลุดพ้นจากการติดกับการเป็นประเทศที่มีรายได้ระดับกลาง

สองมาตรฐาน

การรัฐประหารครั้งนี้ ได้สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงเชิงการทูตแก่ประเทศไทย

ไทยถูกคว่ำบาตรจากสหรัฐอเมริกาทันที โดยจำกัดความเกี่ยวข้องต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความสัมพันธ์ทางการทหาร นี่ทำให้ไทยขุ่นเคืองหนัก และชี้อย่างรวดเร็วให้เห็นถึงความเป็นสองมาตรฐานของสหรัฐฯ ระหว่างความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ กับอียิปต์

รัฐบาลทหารจึงรีบสร้างสัมพันธไมตรีกับจีน และกับรัสเซียในระดับที่น้อยลงกว่าจีน เพื่อแทนที่การเป็นพันธมติรกับสหรัฐฯ

รัฐบาลทหารไทย ซึ่งขณะนี้ได้เกี่ยวข้องในการฝึกทวิภาคีทางทหารกับกองทัพปลดปล่อยประชาชนของจีน ได้เพิ่มการนำเข้าอาวุธจากจีน รวมทั้งการซื้อเรือดำน้ำจำนวนสามลำ และกำลังอยู่ในระหว่างการหารือเกี่ยวกับการจัดตั้งโรงผลิตและซ่อมแซมอาวุธยุทโธปกรณ์

ไทยรีบเข้าร่วมในธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเอเชีย และเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Belt and Road ของจีน กระนั้นก็ตาม ดูเหมือนไทยจะตกลงไปในกับดักหนี้ของจีน ด้วยอภิมหาโครงการรถไฟความเร็วสูง ที่กู้เงินจากจีนในอัตราดอกเบี้ยที่ไม่สู้จะเป็นมิตรนัก

ในเชิงการทูตแล้ว ครั้งหนึ่ง ไทยเคยเป็นผู้นำของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ปัจจุบัน ไทยก็ยังเป็นผู้นำอยู่ เพียงแต่ในหมู่รัฐบาลเผด็จการอำนาจนิยมที่ต้องการเลียนแบบไทยเท่านั้น กัมพูชาเพิ่งผ่านกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของตัวเอง เพื่อใช้ปราบปรามผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐ

เสถียรภาพทางการเมืองที่ได้มาจากการบังคับ

พล.อ.ประยุทธ์ ได้สัญญาว่าจะ “คืนความสุขแก่ประชาชน” แต่รัฐบาลทหารไม่ได้ทำอะไรที่จะบรรลุคำสัญญานั้นเลย การเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น แต่ก็ด้วยวิธีการบังคับ การแตกแยกในสังคมไทยลึกกว่าที่เคยเป็นมา และถูกปิดคลุมเอาไว้

ประเทศไทย ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นประเทศตัวอย่างในภูมิภาคด้านความเป็นประชาธิปไตย ด้านการให้ทหารอยู่ส่วนทหาร เสรีภาพทางการพูด และสิทธิมนุษยชน ยังคงถอยหลังลงคลองต่อไป การจัดระเบียบองค์การทางการเมืองที่ดูโง่เขลา เศรษฐกิจที่เติบโตเหมือนเต่าคลาน ซึ่งถูกแซงหน้าไปโดยประเทศอื่นในระดับเดียวกัน ความชอบธรรมทางการเมืองที่ลดน้อยถอยลง และความไม่พอใจของประชาชนที่เพิ่มขึ้นทุกวัน เป็นลางไม่ดีสำหรับรัฐบาลทหารที่ยังคงต้องการกุมอำนาจต่อไป

และการเลือกตั้งในประเทศมาเลเซีย ที่ยุติการปกครองของ Barisan Nasional ในระยะเวลา 61 ปีที่อยู่ในอำนาจ และการสอบสวน นายนาจิบ ราซัค อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ทั้งหมดมีส่วนทำให้ พลเอกประยุทธ์ และ พลเอกประวิตร รู้สึกขาดความมั่นใจมากขึ้น

ส่วนที่ดีที่สุดเกี่ยวกับการรัฐประหารของทหารก็คือ พวกเขามีกระสุนปืนจำนวนมากมายไว้ทำร้ายตัวเอง

ซาคารี อาบูซา เป็นอาจารย์ประจำที่เนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ ในวอชิงตัน และเป็นผู้เขียนหนังสือชื่อ “Forging Peace in Southeast Asia: Insurgencies, Peace Processes, and Reconciliation” ความคิดเห็นที่แสดงไว้ในบทความนี้เป็นของเขาเอง และไม่ได้สะท้อนถึงจุดยืนของกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ เนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ หรือเบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง