ความไม่พอใจของประชาชนต่อการบริหารของรัฐมีอย่างต่อเนื่อง ยากจะแก้ไข
2020.07.23
ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นประเทศแรก ๆ นอกประเทศจีน แต่ไทยได้จัดการรับมือกับการระบาดใหญ่นี้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีผู้ติดเชื้อทั้งสิ้นไม่ถึง 3,300 ราย และผู้เสียชีวิตเพียง 58 ราย รัฐบาลไทยจึงควรที่จะอยู่ในสถานะที่แข็งแกร่งมาก แต่ความเป็นจริงกลับตรงกันข้าม
รัฐบาลชุดนี้ถูกรุมเร้าด้วยปัญหาต่าง ๆ ตั้งแต่การประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยและขับไล่รัฐบาลทหารอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และการลาออกของรัฐมนตรีแล้ว อย่างน้อยหกคน การบังคับคุมตัวชายผู้หนึ่งให้ไปรักษาตัวในโรงพยาบาลโรคจิต เพราะสวมเสื้อที่มีข้อความล่อแหลมเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ เหล่านี้ได้ตอกย้ำให้เห็นถึงความไม่มั่นคงของรัฐบาลชุดนี้ที่มีทหารปกครอง
แม้จะไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศมาเป็นเวลาสองเดือนแล้วก็ตาม แต่รัฐบาลก็ยังต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินอย่างต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงความไม่มั่นคงของรัฐบาล ความพยายามสุดท้ายในการปรับคณะรัฐมนตรี ซึ่งก็ยังไม่ลงตัว ไม่สามารถบรรเทาความวิตกกังวลของประชาชนลงได้ และแม้เมื่อประกาศรายชื่อคณะรัฐมนตรีใหม่ออกมาแล้ว ก็ไม่ให้ความมั่นใจว่า รัฐบาลจะสามารถจัดการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนทางเศรษฐกิจและการเมืองได้
เพราะเหตุใดจึงดูเหมือนว่า รัฐบาลกำลังอยู่ในสภาวะล้มเหลว
โดยแรกเริ่มมาจากการที่รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับการจัดตั้งขึ้นมาอย่างไม่ค่อยจะชอบธรรมนัก หลังรัฐประหาร การจัดทำรัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้นโดยทหาร และมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดทอนอำนาจพรรคการเมือง วุฒิสมาชิกที่สรรหามาเองและไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง การแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างไม่ยุติธรรม การกำหนดจำนวนผู้แทนตามสัดส่วนอย่างไม่เหมาะสม การยุบพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามหลายพรรค การจับกุมและใช้กฎหมายปราบปรามลงโทษนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม และการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อที่ไม่ยุติธรรมเอาเสียเลย ทั้งหมดนี้น่าจะทำให้พูดได้ว่า การเลือกตั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2562 เป็นไปโดยไม่ชอบธรรม รัฐบาลชุดนี้ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากทหาร และกลุ่มชนชั้นนำ จะไม่มีทางเข้ามาบริหารประเทศได้เลย หากไม่ได้โกงระบบการเลือกตั้ง เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ตนเองและตัดสิทธิ์การลงคะแนนเสียงของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง
การรับมือกับการระบาดใหญ่อย่างผิดพลาดในตอนแรกของรัฐบาล ได้บั่นทอนความเชื่อมั่นของประชาชน ไทยรอดพ้นจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 มาได้ ไม่ใช่เพราะรัฐบาล แต่เพราะระบบการสาธารณสุขและการรักษาพยาบาลที่ดีมากของประเทศต่างหาก บุคลากรและอาสาสมัครด้านการสาธารณสุขสมควรได้รับคำยกย่องชมเชยอย่างที่สุด
แม้รัฐบาลจะมีนโยบายดี ๆ บางอย่างในการจัดการวิกฤตสุขภาพนี้ก็ตาม แต่กลับล้มเหลวในการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ของประเทศ การระบาดใหญ่นี้เผยให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจนในสังคมไทย การสั่งปิดธุรกิจของประเทศที่รายได้มาจากการส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นหลัก โดยมูลค่าของธุรกิจทั้งสองนี้คิดเป็นประมาณร้อยละ 70 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ได้ก่อให้เกิดความเดือดร้อนไปทั่ว เจ้าหน้าที่รัฐบาลเพิ่งยอมรับว่า การส่งออกข้าวและผลิตภัณฑ์อาหารอื่น ๆ จะลดลงอย่างมากในครึ่งหลังของปี เป็นที่คาดว่าเศรษฐกิจของไทยในปีนี้จะหดตัวถึงร้อยละ 8 อีกทั้งไทยเป็นหนึ่งในประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เศรษฐกิจจะชะลอตัวลงในอัตราสูงสุด
ทั้งนี้ทั้งนั้น ไม่ใช่การชะลอตัวของเศรษฐกิจเท่านั้น ประเด็นคือ ความเดือดร้อนไม่ได้ถูกกระจายไปอย่างเสมอภาคกัน ตามข้อมูลจากธนาคารโลก ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก ความเหลื่อมล้ำของไทยพุ่งสูงขึ้น นับตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 เป็นต้นมา โดยส่วนใหญ่ของช่วงเวลานี้ประเทศอยู่ภายใต้การปกครองของทหารและผู้รับมอบอำนาจจากทหาร
จำนวนคนฆ่าตัวตาย และการแสดงออกของประชาชนถึงความไม่พอใจที่รัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ เป็นสิ่งชี้ให้เห็นถึงภาวะการณ์ในประเทศ แต่ยังไงก็ตาม ไม่น่าแปลกใจเลยที่รัฐบาลทหารที่ทุจริตและรับคำสั่งจากกลุ่มชนชั้นนำ จะขาดความเข้าใจปัญหาที่ประชาชนกำลังประสบอยู่ในปัจจุบัน
เมื่อเดือนมิถุนายน สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งของทหาร ได้มีมติผ่าน พ.ร.บ.มาตรการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจมูลค่า 1.9 ล้านล้านบาท แต่เศรษฐกิจไทยที่มีขนาดมหาศาลถึง 15.6 ล้านล้านบาท ก็ยังคงหดตัวต่อไป นั่นแสดงให้เห็นว่าเงินส่วนใหญ่ถูกนำไปช่วยเหลือกลุ่มชนชั้นนำที่มีเส้นสายทางการเมืองและกลุ่มธุรกิจใหญ่ ๆ มากกว่าจะช่วยภาคส่วนที่เป็นเศรษฐกิจนอกระบบอื่น ๆ ที่ประกอบด้วยแรงงานจำนวนมาก จึงสมควรแล้วที่ประชาชนจะเคลือบแคลงสงสัยในคำสัญญาของรัฐบาลที่จะควบคุมดูแลและรับผิดชอบมาตรการเยียวยาดังกล่าว
การลาออกเมื่อเร็ว ๆ นี้ของทีมเศรษฐกิจได้แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลไม่ได้ตั้งใจที่จะใช้มาตรการเศรษฐกิจที่ครอบคลุมขึ้นกว่านี้ การลาออกของเจ้าหน้าที่ตำแหน่งสำคัญในทีมเศรษฐกิจ ชี้ให้เห็นว่า ในคณะรัฐมนตรีและทีมเศรษฐกิจบางคนตระหนักว่า ควรต้องใช้นโยบายอะไรบ้าง แต่ก็ยังรู้ด้วยว่า นโยบายเหล่านั้นขัดกับผลประโยชน์ของนายกรัฐมนตรีและพวกชนชั้นนำของประเทศ
การใช้นโยบายประชานิยมมากขึ้นที่มุ่งช่วยผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด อาจถูกมองได้ว่า รัฐบาลยอมรับแนวนโยบายของคู่อริ คืออดีตนายกทักษิณและยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ถูกขับไล่ออกนอกประเทศไป
แม้ว่าก่อนเกิดการระบาดใหญ่นี้ จะมีแรงกดดันอยู่แล้วที่จะให้ พล.อ.ประยุทธ์ ปรับคณะรัฐมนตรี เนื่องจากความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ได้ใช้เวลาเกือบสองสัปดาห์ ในการพยายามปรับคณะรัฐมนตรี แต่ก็ยังไม่สามารถสรุปรายชื่อที่แน่นอนได้
หลังการเลือกตั้ง พรรคพลังประชารัฐที่ได้รับการสนับสนุนจากทหาร จำเป็นต้องหาแนวร่วมจำนวนมาก ที่ทำให้บริหารจัดการได้ยาก แต่เพื่อให้สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ บรรดาพรรคร่วมรัฐบาลต่างก็ไม่ชอบที่จะสละเก้าอี้รัฐมนตรีและรัฐมนตรีช่วยให้ใคร ดังนั้น การปรับคณะรัฐมนตรีจึงต้องเอื้อประโยชน์ให้แก่พรรคร่วมรัฐบาลเหล่านี้ เพราะหากสมาชิกสภาเพียงไม่กี่คน หันไปเข้ากับฝ่ายตรงข้าม อาจทำให้รัฐบาลล้มครืนลงได้ ที่จริงแล้ว แม้ในช่วงเริ่มต้นของการระบาดใหญ่ จะมีแรงกดดันให้ปลดรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ผู้ซึ่งล้มเหลวในการรับมือกับการระบาดในตอนแรก ซึ่งในตอนนั้น พล.อ.ประยุทธ์ตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก เพราะรัฐมนตรีคนนั้นเป็นผู้นำพรรคร่วมรัฐบาลที่ใหญ่ที่สุด
การที่รัฐบาลรายงานจำนวนผู้ประท้วงและขอบเขตการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ต่ำกว่าความเป็นจริง (หรือกดดันให้สื่อรายงานต่ำกว่าความเป็นจริง) แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนถึงความวิตกของรัฐบาล การประท้วงของนักศึกษาจะไม่ยุติลงง่าย ๆ แม้จะมีการต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ห้ามการชุมนุมของคนจำนวนมากก็ตาม ตอนนี้ประท้วงกำลังผันกระจายไปจัดกันในจังหวัดเล็ก ๆ ทั่วประเทศ ในการเลือกตั้งปี 2562 คนหนุ่มสาวต่างเทคะแนนเสียงให้พรรคฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคอนาคตใหม่ เป็นที่เห็นได้อย่างชัดเจนถึงความไม่พอใจของคนหนุ่มสาวต่อการที่พรรคอนาคตใหม่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง และขณะนี้เรากำลังเห็นความแตกแยกที่สำคัญระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่
แม้รัฐสภาจะมีมติให้จัดตั้งคณะกรรมาธิการขึ้น เพื่อรับฟังความเห็นของนักศึกษา แต่ไม่น่าเป็นไปได้ว่ารัฐบาลจะทำตามคำเรียกร้องของนักศึกษา รัฐบาลคงจะสลายการชุมนุมประท้วง เพื่อไม่ให้คนอื่น ๆ เอาเป็นเยี่ยงอย่าง นี่ก็เป็น วิธีการดำเนินงาน ของรัฐบาลชุดนี้ แต่เมื่อเศรษฐกิจยังแย่ลงต่อไปและอัตราการว่างงานยังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ รัฐบาลทหารอาจเห็นการประท้วงมากขึ้นในอีกหลายจังหวัดก็เป็นได้
พล.อ.ประยุทธ์ อดีตนายทหารบก มักจะแสดงให้คนภายนอกเห็นว่า ตนเองเป็นผู้นำที่เด็ดขาดและชอบทำมากกว่าพูด แต่วันนี้เขาถูกควบคุมโดยผลประโยชน์ของชนชั้นนำในประเทศ สิ่งดีที่สุดที่เขาทำได้คือการปรับคณะรัฐมนตรี แต่คนจากพรรคร่วมรัฐบาลต่างก็มีลักษณะวิสัยเดียวกัน ที่ทำงานร่วมกับรัฐบาลในระบบที่มีความชอบธรรมน้อยมาก คงยากที่จะเห็นความแตกต่างหรือเกิดนโยบายใหม่ที่กว้างขึ้นในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ
ซาคารี อาบูซา เป็นอาจารย์ประจำที่เนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ และมหาวิทยาลัยจอร์จ ทาวน์ ในกรุงวอชิงตัน และเป็นผู้เขียนหนังสือชื่อ “Forging Peace in Southeast Asia: Insurgencies, Peace Processes, and Reconciliation” ความคิดเห็นที่แสดงไว้ในบทความนี้เป็นของผู้เขียนเอง และไม่ได้สะท้อนถึงจุดยืนของกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ เนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ มหาวิทยาลัยจอร์จ ทาวน์ หรือ เบนาร์นิวส์