ประเทศไทย: ผู้นำทหารมักมีการรับมือสถานการณ์ที่ล้าหลัง

บทวิเคราะห์โดย ซาคารี อาบูซา
2020.09.23
200923-TH-protest-1000.jpg กลุ่มผู้ประท้วงร่วมกันส่องไฟฉายขึ้นบนท้องฟ้าในระหว่างการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภาและปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ในกรุงเทพฯ วันที่ 19 กันยายน 2563
รอยเตอร์

หลังการปฏิวัติรัฐประหารในปีพ.ศ. 2549 ทหารและชนชั้นนำฝ่ายอนุรักษ์นิยมของประเทศไทย พยายามรื้อถอนโครงสร้างการเมืองในระบอบทักษิณ (ทักษิณ ชินวัตร) ที่ชนะการเลือกตั้งทุกครั้ง นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2544-2563 และพยายามวางรากฐานเพื่อป้องกันไม่ให้พรรคเพื่อไทยกลับมาช่วงชิงการนำทางการเมืองไทยได้อีก

อย่างไรก็ตามด้วยความยึดติดกับ ‘ระบอบทักษิณ’ และพรรคของเขา ทำให้ชนชั้นนำไทยไม่ได้สังหรณ์ใจถึงการเกิดขึ้นของเหล่าคนรุ่นใหม่ ซึ่งมองข้ามคู่ตรงข้ามอย่าง ‘เสื้อเหลือง-เสื้อแดง’ ที่กลุ่มแรกเป็นอนุรักษ์นิยม ขณะที่กลุ่มหลังเป็นฝ่ายสนับสนุนทักษิณ และส่งผลให้การเมืองไทยหยุดชะงักมายาวนานกว่าทศวรรษ

การเคลื่อนไหวทางการเมืองในครั้งนี้ไม่มีการจัดตั้ง และเกิดขึ้นในแนวระนาบ มีแนวหน้าเป็นเยาวชนไทยที่กล้าหาญ

อย่างไรก็ดี ชนชั้นนำไทยเริ่มเห็นความท้าทายที่มาจากพลังของพรรคอนาคตใหม่ ที่นำโดยนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นักธุรกิจพันล้าน ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากในการเลือกตั้ง เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว ทั้งที่เพิ่งจะตั้งพรรคได้เพียงแค่ปีเดียว โดยกวาดที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรไปถึง 81 รั้งอันดับสามของพรรคที่ได้คะแนนมากที่สุดในการเลือกตั้ง

ด้วยข้อเรียกร้องที่ชัดเจน ทั้งการปฏิรูปการเมือง การแก้รัฐธรรมนูญ และขอให้นำกองกำลังทหารออกจากการเมือง ทำให้ชนชั้นนำไทยต้องออกมาจัดการกับนายธนาธรอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้นายธนาธรถูกศาลสั่งให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ด้วยคดีที่ไม่สมเหตุสมผล (นายธนาธรยังคงเป็นผู้ถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย ซึ่งประกอบกิจการสื่อมวลชน ซึ่งถือเป็นลักษณะต้องห้ามในการลงสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) นอกจากนี้ พรรคอนาคตใหม่ยังถูกยุบในเวลาต่อมา เนื่องจากศาลเห็นว่าเป็นการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 72 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 และแน่นอนว่ากรรมบริหารพรรคทั้งหมดถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง

การตัดตอนอนาคตใหม่ในครั้งนั้น ทำให้คนรุ่นใหม่จำนวนมากไม่พอใจ และเริ่มออกมาประท้วงในพื้นที่สาธารณะมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเริ่มขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ก่อนจะพบการระบาดของโควิด-19 และการประท้วงได้หยุดชะงักไป ต่อมากลุ่มเยาวชนปลดแอก โดยแกนนำนักศึกษา นักเรียน และเยาวชน ได้มีการรวมตัวเพื่อร่วมชุมนุมประท้วง ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม จนกระทั่งได้มีการประท้วงใหญ่ที่สุดในรอบหลายปี เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา

ขณะเดียวกันรัฐบาลพยายามรับมือโดยการใช้มาตรา 116 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในการฟ้องหมิ่นประมาท เพื่อสร้างความหวาดกลัว

โดยที่ผ่านมา นักเคลื่อนไหวทางการเมืองไทยที่ลี้ภัยการเมืองอยู่ในต่างประเทศหลายรายได้หายตัวไป บางรายถูกพบว่าเสียชีวิตและถูกผ่าท้องยัดคอนกรีต โดยศพถูกพบในแม่น้ำโขง ขณะที่แกนนำนักกิจกรรมชุมนุมประท้วงล่าสุด ตั้งแต่เดือนกรฏฎาคมนี้เป็นต้นมา ได้ถูกจับกุมถึง 14 ราย และคาดว่า จะมีหมายจับตามมาอีกในช่วงการชุมนุมเดือนกันยายนนี้อีก

แม้ว่า ทุกคนจะได้รับการประกันตัวต่อมาก็ตาม แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ส่งสัญญาณชัดเจนว่า จะจับตาแกนนำเหล่านี้เป็นพิเศษ

ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจก็พยายามยับยั้งท่าทีความรุนแรงของตนเองเช่นกัน เพราะหากมีภาพสลายการชุมนุมของเยาวชนเกิดขึ้น ที่สนามหลวง และใกล้กับพระบรมมหาราชวัง จะส่งผลให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อรัฐบาล โดยรัฐบาลเองหวังว่าอย่างน้อยที่สุดการประท้วงนี้จะจบลงแค่ในกรุงเทพมหานคร ไม่ลามไปทั่วประเทศ

แต่สิ่งที่เยาวชนเหล่านี้เรียกร้องนั้น ไม่ได้มีเพียงแค่การขอให้ยุบสภา และจัดการเลือกตั้งใหม่เท่านั้น แต่เป็นการรื้อถอนโครงสร้างทางการเมืองไทยให้ทหารกลับไปปฏิบัติหน้าที่ในกองทัพอย่างที่ควรจะเป็น ไปจนถึงการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

ขณะที่รัฐบาลนั้นยอมรับข้อเสนอในแง่ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่จะไม่มีทางแตะต้องหมวด 1 ของรัฐธรรมนูญ ที่เกี่ยวข้องกับบทบาทของสถาบันกษัตริย์อย่างแน่นอน ซึ่งการประท้วงใหญ่เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมานั้น ส่วนหนึ่งเป็นการเรียกร้องให้แก้ไขมาตรานี้โดยเฉพาะ

ในการโยกย้ายตำแหน่งประจำปีของกองทัพ ผู้นำกองทัพที่ได้รับตำแหน่งสูงสุดขึ้นกับหน่วยใหม่ที่ชื่อว่า ‘ริมแดง’ ซึ่งมีหลายคนที่ทำงานขึ้นโดยตรงกับพระมหากษัตริย์

ในการชุมนุม ผู้ประท้วงได้กล่าวพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ ซึ่งนับเป็นการเคลื่อนไหวที่เหนือความคาดหมาย และหากมีการสลายการชุมนุมเกิดขึ้น เชื่อว่าจะมีผู้คนอีกมากมายร่วมการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์มากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะการที่พระมหากษัตริย์เองนั้น ทรงอาศัยอยู่ต่างประเทศ ในช่วงของการเกิดโรคระบาด และวิกฤติเศรษฐกิจ

ซึ่งทหารเองนั้น นอกจากจะต้องรับมือกับผู้ชุมนุมประท้วงอย่างรอบคอบแล้ว ยังรวมถึงการแก้ปัญหาสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจอีก

แม้ว่าที่ผ่านมา ประเทศไทยจะรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ไทยกลับได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดโควิด-19 มากเป็นอันดับสอง ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยตัวเลข GDP ลดลงถึง 18% ด้านการท่องเที่ยว และการส่งออกก็ทรุดหนัก ขณะที่สภาวะเศรษฐกิจหดตัวถึง 12% ในไตรมาสที่สองของปีนี้ ยังไม่นับรวมถึงจำนวนคนตกงานที่ 2 ถึง 3 ล้านคน นอกจากนี้มูลนิธิเอเชียยังคาดการณ์ว่า คนทำงานราว 70% จะมีรายได้ลดลงถึง 47%

แผนกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นประสบความล้มเหลวเป็นอย่างมาก การช่วยเหลือด้วยการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบระลอกล่าสุดจำนวนกว่า 1.6 พันล้านเหรียญ โดยการแจกเงินให้คนจน 14 ล้านคนทั่วประเทศนั้น ไม่เพียงพอต่อการรับมือกับสภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจในระดับนี้

ยิ่งไปกว่านั้นรัฐบาลยังประกาศวันหยุดเพิ่ม ด้วยหวังว่าจะเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการใช้จ่ายผ่านการท่องเที่ยว แต่ประชาชนส่วนใหญ่นั้น ไม่มีเงินสำหรับท่องเที่ยวแล้ว

ภาวะถดถอยนี้แสดงให้เห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำที่แย่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก รวมถึงการกระจุกตัวของทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น หลังการปฏิวัติรัฐประหารในปีพ.ศ. 2549

ซึ่งแน่นอนว่าความทุกข์ของเยาวชนที่ต้องเห็นสภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เพิ่มมากขึ้น ในห้วงเวลาที่มีทหารปกครองบ้านเมืองนั้น จะไม่เลือนหายไปในเร็ววัน

การที่รัฐบาลของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่สามารถรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจได้ สร้างความระอาแก่กลุ่มชนชั้นนำที่หนุนหลังพลเอกประยุทธ์อยู่ อีกทั้งการที่ไม่สามารถสลายการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนได้ อาจเป็นเหตุผลให้ฝ่ายที่สนับสนุนรัฐบาลนี้ใช้ ในการหาคนใหม่มาแทนเขา

คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ การประท้วงของเยาวชนจะมีพลังที่ยาวนานเพียงพอหรือไม่ แต่การที่ไม่มีผู้นำการประท้วงที่ชัดเจนนั้น ก็เป็นข้อได้เปรียบ เพราะจะทำให้รัฐบาลไม่สามารถยุติการประท้วงโดยการจับผู้นำเพียงคนใดคนหนึ่งได้

ผู้นำเยาวชนแสดงความกล้าหาญและเรียกร้องในสิ่งที่พ้องกับความต้องการของผู้คนอย่างกว้างขวาง

และการประท้วงครั้งนี้ไม่ผูกติดอยู่กับนักการเมือง หรือพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง มันจึงมีทั้งข้อดีและข้อเสีย เพราะทหารไม่สามารถจับกุมผู้นำคนใดคนหนึ่ง เพื่อล้มการประท้วงได้

แต่ในขณะเดียวกัน การทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมนั้นค่อนข้างยาก เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นต้องเกิดขึ้นในรัฐสภา อีกทั้งการชุมนุมใหญ่ครั้งนี้ก็ไม่ได้มีการหนุนหลังหรือทำงานร่วมกับพรรคฝ่ายค้านอย่างชัดเจน

ซาคารี อาบูซา เป็นอาจารย์ประจำที่เนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ และมหาวิทยาลัยจอร์จ ทาวน์ ในกรุงวอชิงตัน และเป็นผู้เขียนหนังสือชื่อ “Forging Peace in Southeast Asia: Insurgencies, Peace Processes, and Reconciliation” ความคิดเห็นที่แสดงไว้ในบทความนี้เป็นของผู้เขียนเอง และไม่ได้สะท้อนถึงจุดยืนของกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ เนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ มหาวิทยาลัยจอร์จ ทาวน์ หรือ เบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง