ความวิตกและเหตุไม่คาดฝันในการเลือกตั้งของไทย

บทวิเคราะห์โดย ซาคารี อาบูซา
2019.03.21
190321-TH-Prayuth-1000.jpg พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคสช. และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ในการเลือกตั้งที่จะมาถึง ทักทายผู้สนับสนุนท้องถิ่น ขณะร่วมงานที่รัฐบาลสนับสนุน ในจังหวัดนครราชสีมา วันที่ 13 มีนาคม 2562
เอพี

ในขณะที่ชาวไทยเตรียมที่จะลงคะแนนเลือกตั้ง ในวันอาทิตย์นี้ ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของประเทศ หลังจากห้าปี ของรัฐบาลทหารที่ยึดอำนาจการปกครอง เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2557 ซึ่งเป็นรัฐประหารครั้งที่สองในช่วงเวลาห่างกันแปดปี โดยได้พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองคงอยู่ในอำนาจต่อไป

รัฐบาลทหารได้เลื่อนกำหนดการเลือกตั้งออกไปแล้วอย่างน้อยห้าครั้ง เปลี่ยนเขตเลือกตั้ง เพื่อเอื้อพรรคตัวเองและลิดรอนคะแนนเสียงในเขตที่เป็นฐานเสียงของพรรคฝ่ายตรงข้าม ตั้งวุฒิสภาที่สมาชิกมาจากการแต่งตั้งของทหาร ใช้กฎหมายความมั่นคงไซเบอร์ ที่ลิดรอนสิทธิ์ของประชาชน และใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพื่อให้ฝ่ายตรงข้ามสงบปากสงบคำ ร่างรัฐธรรมนูญที่เอื้อบรรดาพรรคเล็กๆ ตนเองกลับหาเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะที่ห้ามพรรคการเมืองอื่นๆ ทำการหาเสียง

การยุบพรรคไทยรักษาชาติ เมื่อเร็วๆ นี้ หลังจากที่พรรคดังกล่าวยื่นเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนฯ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลทหารตั้งใจที่จะทำทุกอย่างเพื่อตัดกำลังฝ่ายตรงข้าม และเพื่อให้พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นพรรคที่สนับสนุนรัฐบาลทหารอยู่ในสถานะที่ได้เปรียบ

แม้จะพยายามที่จะเอื้อประโยชน์แก่พรรคของตัวเองมากเท่าไร แต่รัฐบาลทหารก็ยังวิตกถึงผลการเลือกตั้งที่จะออกมา เพราะมีปัจจัยมากมายที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของตน

ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีต้องได้รับเสียงสนับสนุน 376 เสียง จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสมาชิก รัฐบาลทหารจะอาศัยเสียงสนับสนุนจากวุฒิสมาชิก 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งได้อย่างแน่นอน หลังการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคม จะมีการแต่งตั้งวุฒิสมาชิกขึ้น

จากจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 500 คน 350 คน เป็นแบบที่ได้มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว การแบ่งเขตและเปลี่ยนเขตเลือกตั้งใหม่ เพื่อเอื้อพรรคของรัฐบาลทหาร ได้ลดทอนจำนวนที่นั่งของพื้นที่ที่เป็นฐานเสียงของพรรคฝ่ายตรงข้าม นอกจากนี้ กระบวนการใหม่ของรัฐธรรมนูญในการจัดแบ่งสมาชิก 150 คน ที่ได้มาจากการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ยังเอื้อประโยชน์แก่บรรดาพรรคเล็กๆ ด้วย

การเลือกตั้งในวันที่ 24 มีนาคมนี้ มีพรรคการเมืองเข้าร่วมทั้งหมด 76 พรรค พรรคส่วนใหญ่ลงสมัครในระดับท้องถิ่นเท่านั้น แต่จำนวนพรรคที่มากขนาดนี้ทำให้การทำนายผลการเลือกตั้งทำได้ยาก

พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งสนับสนุนรัฐบาลทหารและที่ได้เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่เป็นที่นิยมของประชาชน

ในการหยั่งเสียงครั้งล่าสุด ทำนายกันว่าพรรคนี้จะได้ที่นั่งในสภาเพียง 62 ที่นั่งเท่านั้น แม้จะเป็นหนึ่งในไม่กี่พรรคที่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งทั่วประเทศก็ตาม ตัวเลขนี้น้อยกว่า 126 ที่นั่งมาก ซึ่งเป็นตัวเลขที่จะทำให้พรรคสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

ความคาดหวังของพรรค คือ พรรคจะได้ที่นั่งเป็นจำนวนเพียงพอ และด้วยการสนับสนุนของวุฒิสภาและพรรคแนวร่วม อย่างเช่น พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ อาจได้ 376 ที่นั่ง และคงอำนาจไว้ได้

องค์ประกอบอื่น เหนือความคาดหมาย

แต่ยังมีหลายสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ ซึ่งสร้างความวิตกแก่รัฐบาลทหาร

มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจำนวน 51.4 ล้านคน แต่ร้อยละ 25 ของจำนวนนี้ อยู่ในช่วงอายุ 18-35 ปี เจ็ดล้านกว่าคน ไม่เคยลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมาก่อน และหลังจากแปดปีที่ผ่านมา คนจำนวนมากนี้ พร้อมที่จะออกไปเลือกตั้ง ผลการสำรวจผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจนถึงปัจจุบัน แสดงให้เห็นว่า มีคนรุ่นใหม่จำนวนน้อยมากให้การสนับสนุนพรรคพลังประชารัฐ รวมทั้งคนรุ่นใหม่ที่ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามของพรรคนี้ด้วย

และถ้าหากว่าการเลือกตั้งล่วงหน้าที่มีขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ที่แล้ว จะถูกนำมาเป็นตัวอย่างที่ดีได้ ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง มีความต้องการอย่างแรงกล้าให้พลเรือนปกครองประเทศ มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งล่วงหน้าไปลงคะแนนถึงร้อยละ 87 ของทั้งหมดจำนวน 2.6 ล้านคน ที่ไปลงคะแนนเสียง ซึ่งสูงกว่าจำนวนผู้ออกเสียงในการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 ที่อยู่ร้อยละ 75 เป็นอย่างมาก

พรรคที่ได้รับการสนับสนุนจากคนรุ่นใหม่ในเมืองใหญ่คือ พรรคอนาคตใหม่ ซึ่งมีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ มหาเศรษฐีหนุ่มวัย 40 ปี เป็นหัวหน้าพรรค นโยบายการหาเสียงของพรรคนี้คือ การตัดงบประมาณทหารและแก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐบาลทหารได้ขู่ที่จะยุบพรรคอนาคตใหม่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลเกรงกลัวพรรคนี้เพียงใด จุดอ่อนของพรรคอนาคตใหม่คือ พรรคนี้เป็นพรรคใหม่เอี่ยม และไม่ได้ส่งผู้สมัครลงทั่วประเทศ

การยุบพรรคไทยรักษาชาติ สร้างความสั่นสะเทือนอย่างหนักแก่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการเมืองของนายทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกเนรเทศออกนอกประเทศ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รู้ดีว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เอื้อประโยชน์แก่พรรคการเมืองขนาดเล็ก ดังนั้น กลุ่มย่อยของพรรคเพื่อไทย รวมทั้งพรรคไทยรักษาชาติ จึงได้แยกตัวออกมาจัดตั้งพรรคการเมืองเอง

เป็นที่คาดกันว่าพรรคเพื่อไทยจะได้รับคะแนนเสียงมากกว่าพรรคอื่น และอาจได้จำนวนที่นั่ง 130-140 ที่ จากนั้น พรรคนี้จะจับมือกับพรรคพันธมิตรอีกสองหรือสามพรรคและพรรคอื่นๆ อีกไม่กี่พรรค เพื่อจัดตั้งรัฐบาลผสม ดังนั้น หลายพรรคที่สนับสนุนทักษิณจึงไม่ได้ส่งผู้สมัครลงแข่งกับพรรคที่สนับสนุนทักษิณด้วยกัน ตัวอย่างเช่น หากผู้สมัครคนหนึ่งของพรรคเพื่อไทยเป็นที่นิยมมากในเขตหนึ่ง พรรคไทยรักษาชาติก็จะไม่ส่งผู้สมัครลงในเขตนั้น และเช่นเดียวกันในทางกลับกัน

ดังนั้น จึงมีหลายเขตที่ไม่มีผู้สมัครของพรรคเพื่อไทย มาเก็บคะแนนเสียงของผู้ที่จะลงคะแนนเสียงให้แก่พรรคไทยรักษาชาติ และเราไม่ทราบว่าคนเหล่านี้จะลงคะแนนเสียงให้ใคร ไม่น่าจะเป็นไปได้ว่าคนเหล่านี้จะลงคะแนนให้แก่พรรคพลังประชารัฐ แต่ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าใครจะได้คะแนนเสียงของคนเหล่านี้ ในภาพรวมระดับประเทศ

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ทักษิณเก็บตัวเงียบผิดปกติ คงเป็นเพราะรู้ดีว่าถ้าเขาพูดมากเกินไป และพยายามให้การสนับสนุนทางการเงินอย่างเปิดเผยแก่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง หรือพยายามกำหนดนโยบายของพรรค รัฐบาลทหารจะจัดการตัดสิทธิ์ผู้สมัครเหล่านั้นทันที

พรรคประชาธิปัตย์กำลังพยายามวางสถานะของพรรคให้อยู่ตรงกลาง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนายกรัฐมนตรี เผยแพร่คลิปวิดีโอที่ระบุว่า ตนเองจะไม่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ ให้เป็นนายกรัฐมนตรี แน่นอน

แต่พรรคประชาธิปัตย์ได้ทำลายความน่าเชื่อถือของพรรคเองโดยสนับสนุนการทำรัฐประหารในปี 2557 และแพ้การเลือกตั้งหลายครั้ง สมาชิกที่อยู่กับพรรคมานานจำนวนหลายคนจะไม่ยอมจับมือกับพรรคใดก็ตามที่สนับสนุนทักษิณ ขณะเดียวกัน พรรคนี้ได้รับการสนับสนุนน้อยมากในกรุงเทพฯ  เพราะพรรคอนาคตใหม่เป็นทางเลือกที่น่าเชื่อถือมากกว่า

ความไม่แน่นอน หลังการเลือกตั้ง

คณะกรรมการการเลือกตั้งที่ไร้ความน่าเชื่อถือ จะต้องรับรองผลการเลือกตั้งภายใน 60 วัน

ในช่วงเวลานั้นจะมีการเจรจาเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลผสม และมีแนวโน้มมากที่รัฐบาลทหารจะเข้ามาแทรกแซง เป็นไปได้ว่าคดีในศาลต่อพรรคอนาคตใหม่และบรรดาผู้นำของพรรคจะดำเนินต่อไป และพรรคก็จะถูกยุบ

สิ่งเหล่านี้ และอุบายอื่นๆ ที่ผู้ต่อต้านรัฐบาลทหารเห็นว่าเป็นการปล้นการเลือกตั้ง อาจจะทำให้ประชาชนลุกขึ้นมาประท้วงตามท้องถนนกันอีกครั้งอย่างแน่นอน

ผู้บัญชาการทหารบกไทย กล่าวว่า ตนไม่รับประกันว่า จะไม่มีการทำรัฐประหารอีก โดยเตือนว่านักการเมืองที่โกงกิน หรือที่ต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ จะทำให้ทหารต้องออกมาแทรกแซง การก่อความไม่สงบรอบใหม่โดยประชาชน ยังจะเป็นเหตุผลให้ทหารต้องออกมาดำเนินการด้วย

นี่คือสิ่งที่อยู่เหนือการคาดเดา

ซาคารี อาบูซา เป็นอาจารย์ประจำที่เนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ ในวอชิงตัน และเป็นผู้เขียนหนังสือชื่อ “Forging Peace in Southeast Asia: Insurgencies, Peace Processes, and Reconciliation” ความคิดเห็นที่แสดงไว้ในบทความนี้เป็นของผู้เขียนเอง และไม่ได้สะท้อนถึงจุดยืนของกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ เนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ หรือ เบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง