ปาฏิหาริย์ที่ถ้ำหลวง เรื่องราวความรู้สึกดีๆ ของประเทศไทยที่ยังมีปัญหารุมล้อม

บทวิเคราะห์โดย ซาคารี อาบูซา
2018.07.12
180711-TH-abuza-620.jpg ภาพถ่ายที่ไม่ระบุวันที่ ได้รับการเผยแพร่โดยกองทัพเรือไทย เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม สมาชิกทีม “หมูป่า” ถูกลำเลียงออกจากถ้ำ ในปฏิบัติการช่วยเหลือที่ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย
เอเอฟพี/กองทัพเรือไทย

การกู้ภัยครั้งนี้เริ่มต้นเหมือนภัยพิบัติ แต่จบลงอย่างปาฏิหาริย์

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ทีมนักดำน้ำกู้ภัยจากนานาประเทศประสบความสำเร็จในการนำตัวสมาชิกทีมฟุตบอลเยาวชนทั้ง 12 คน พร้อมทั้งโค้ชของทีม ออกจากถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ที่ถูกน้ำท่วม ในภาคเหนือของประเทศไทย

อดีตหน่วยซีลของไทยคนหนึ่งเสียชีวิตในการกู้ภัยอันหาญกล้า เขาเป็นผู้เดียวที่เสียชีวิตในการกู้ภัยครั้งนี้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าปฏิบัติการครั้งนี้มีความสลับซับซ้อนเพียงใด

ปฏิบัติการกู้ภัยครั้งนี้เป็นที่ติดตามจากผู้คนทั่วโลกด้วยความสนใจยิ่ง ในช่วงที่การแข่งขันฟุตบอลโลกกำลังใกล้ถึงรอบสุดท้าย แต่ผู้คนในโลกกลับส่งเสียงเชียร์และให้กำลังใจทีมหนึ่ง นั่นคือ ทีมหมูป่า

สมาชิกทีมหมูป่าแสดงให้เห็นถึงความทรหดอดทน และความเข้มแข็งทางจิตใจอย่างเหลือเชื่อ เด็กเหล่านี้ติดอยู่ภายในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เป็นเวลานานกว่าสองสัปดาห์ตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน เพราะฝนที่ตกหนักในช่วงฤดูมรสุม ทำให้น้ำท่วมถ้ำดังกล่าว

ไม่ต้องพูดถึงเรื่องการดำน้ำลึกกันหรอก เพราะเด็กพวกนี้ส่วนใหญ่ยังว่ายน้ำไม่เป็นเลย ทีมกู้ภัยอันประกอบด้วยนักดำน้ำในถ้ำ ที่เก่งที่สุดของโลกบางคน พูดถึงถ้ำนี้ว่า เป็นหนึ่งในถ้ำที่ดำน้ำยากที่สุดเท่าที่ตนเคยดำมา เด็กเหล่านี้ต้องออกมาเป็นระยะทางกว่า 2 กิโลเมตร น้ำในถ้ำขุ่นมากจนแทบจะมองไม่เห็นมือของตัวเองเสียด้วยซ้ำ

นี่เป็นเรื่องราวที่ให้ความรู้สึกดี ๆ แก่ไทย ประเทศที่ยังมีหลายปัญหารุมล้อม

ไทยอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่มากว่า 12 ปีแล้ว สภาพการเมืองที่แบ่งพรรคแบ่งพวกอย่างรุนแรง ทำให้ทหารลุกขึ้นมายึดอำนาจสองครั้ง ในปี 2549 และ 2557 เพื่อโค่นล้มรัฐบาลสองชุดที่มาจากการเลือกตั้งอย่างถูกต้องตามหลักประชาธิปไตย

เป็นประโยชน์แก่รัฐบาลทหาร

การกู้ภัยครั้งนี้เป็นประโยชน์อย่างชัดเจนแก่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้ที่ประกาศออกมาอย่างชัดเจนว่า ตั้งใจที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป เมื่อประเทศกลับสู่ “ระบอบประชาธิปไตย”

รัฐบาลทหารได้ประวิงเวลาการคืนอำนาจกลับสู่ประชาชนเป็นจำนวนถึงห้าครั้งแล้ว แม้ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ให้สัญญาว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นภายในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 แต่ก็มีสัญญาณบางอย่างที่ชี้ให้เห็นว่าการเลือกตั้งจะถูกเลื่อนออกไปอีก

รัฐบาลทหารได้ผลักดันรัฐธรรมนูญที่จำกัดประชาธิปไตย ผ่านรัฐสภาที่ตนเลือกมาเองกับมือ

กองทัพจะเป็นผู้คัดเลือกสมาชิกวุฒิสภาเอง อำนาจส่วนใหญ่จะอยู่ในมือของชนชั้นนำที่ไม่มีผู้ใดเอาผิดได้ นายกรัฐมนตรีสามารถมาจากการเลือกตั้งได้ ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจใด ๆ ทั้งสิ้น

ขณะเดียวกัน รัฐบาลทหารแทบจะไม่ได้ทำอะไรเลย เพื่อสร้างความปรองดองแก่สังคมที่แตกแยกอย่างหนักทางการเมือง แต่กลับห้ามการชุมนุมทางการเมืองทุกรูปแบบ ทำให้ดูผิวเผินเหมือนกับว่าประเทศกำลังมีเสถียรภาพ

คะแนนสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาคของไทย ซึ่งเป็นตัววัดความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ ได้ตกลงเกือบทุกปี นับตั้งแต่ที่รัฐบาลทหารยึดอำนาจในปี 2549 ในปี 2559 ความไม่เสมอภาคทางรายได้ของไทยมีอัตราสูงที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยคนรวยที่สุดในไทยจำนวน 1 เปอร์เซ็นต์ เป็นเจ้าของทรัพย์สินกว่า 58 เปอร์เซ็นต์ของประเทศ

รัฐบาลทหารยังคงเน้นที่การลงทุนต่อไป ในโครงสร้างพื้นฐานในกรุงเทพฯ และเมืองศูนย์กลางอื่น ๆ อีกไม่กี่แห่ง ซึ่งเป็นการสร้างความเหินห่างยิ่งขึ้นแก่ประชากรในชนบท 80 เปอร์เซ็นต์ของคนยากจนอาศัยในพื้นที่ชนบท แต่รัฐบาลทหารกลับแทบจะไม่ได้ทำอะไรให้คนเหล่านี้เลย

ผลงานการบริหารเศรษฐกิจมีทั้งดีและไม่ดี แม้ในปี 2560 เศรษฐกิจจะโตที่ประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ แต่ส่วนใหญ่เพราะได้รับการพยุงจากภาคการท่องเที่ยวของไทยที่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว เศรษฐกิจไทยกำลังถูกประเทศผู้ผลิตราคาต่ำกว่า เช่น เวียดนาม และฟิลิปปินส์ แซงหน้าไป

ไทยขาดการเตรียมพร้อมในการนำเศรษฐกิจให้เข้าสู่การผลิตแบบมูลค่าสูงขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยต้องทำ เพราะอัตราการเติบโตของประชากรที่ต่ำ สิงคโปร์เป็นประเทศเดียวเท่านั้นที่มีอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำกว่าไทย

รัฐบาลทหารให้ความสำคัญแก่การพร่ำสอน “ค่านิยมไทย” ที่เน้นที่ชายเป็นใหญ่และระบบศักดินา มากกว่าทักษะการวิเคราะห์ การคิดเชิงสร้างสรรค์ ตลอดจนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แม้รัฐบาลจะทุ่มงบประมาณมากที่สุดให้แก่การศึกษาก็ตาม แต่ผลลัพธ์กลับลุ่ม ๆ ดอน ๆ อย่างชัดเจน

การทุจริต ซึ่งเป็นข้ออ้างอย่างหนึ่งของการปฏิวัติครั้งล่าสุด กลับเพิ่มจำนวนมากขึ้นมากภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร สมาชิกของรัฐบาลทหารและสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่รัฐบาลเลือกมาเองกับมือ ได้รับการสั่งให้เปิดเผยทรัพย์สินของตน ทุกคนรวมทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ เอง ไม่สามารถอธิบายที่มาของทรัพย์สินจำนวนมากของตนได้ ข้ออ้างว่าปฏิวัติเพื่อปราบปรามการทุจริตจึงเป็นสิ่งที่น่าขันยิ่ง

รัฐบาลทหารได้ดันกฎหมายควบคุมเสรีภาพสื่อและการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เพื่อปราบปรามผู้ที่ไม่เห็นด้วย ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา มีคนกว่า 100 คน ถูกจำคุกฐานละเมิดมาตรา 112 ของกฎหมายอาญาไทย ซึ่งห้ามการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ของไทย

เป็นที่จับตามองของต่างชาติ

เหตุผลอีกประการหนึ่งที่ทำให้ปฏิบัติการกู้ภัยที่ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน มีความสำคัญคือ รัฐบาลทหารถูกโดดเดี่ยวทางการทูตพอสมควรทีเดียว

พล.อ.ประยุทธ์ ได้พยายามเดินทางไปเยือนต่างประเทศมากขึ้น เพื่อปรับปรุงภาพลักษณ์การเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องชอบธรรมของเขา ขณะที่เขาเตรียมตัวลงสมัครรับเลือกตั้งเมื่อกำหนดให้มีการเลือกตั้ง เมื่อไม่นานมานี้ เขาได้เดินทางไปเยือนสหราชอาณาจักรและฝรั่งเศส

การถูกตำหนิติเตียนจากนานาชาติ ทำให้ผู้นำของไทยเกลียดกลัวต่างชาติยิ่งขึ้น ดังนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่รัฐบาลเต็มใจยินยอมให้ทีมกู้ภัยต่างประเทศเป็นผู้นำในการกู้ภัยครั้งนี้

ทีมกู้ภัยนี้ประกอบด้วยนักดำน้ำทั้งสิ้นจำนวน 90 คน ที่ 50 คน ในนั้นมาจาก 18 นานาประเทศ นักดำน้ำชาวอังกฤษทีมหนึ่งเป็นผู้ค้นพบทีมหมูป่า แพทย์ชาวออสเตรเลียคนหนึ่งเข้าไปด้วยในการกู้ภัยแต่ละครั้ง เพื่อประเมินความพร้อมทางร่างกายของเด็ก ๆ และโค้ช นักดำน้ำจากสหรัฐอเมริกาช่วยจัดระบบการกู้ภัย

ความภูมิใจในชาติจะเป็นอุปสรรคไม่ได้โดยเด็ดขาด เมื่อหลายชีวิตแขวนอยู่บนเส้นด้ายเช่นนี้ การรู้ว่าเมื่อใดควรขอความช่วยเหลือและยอมรับความเชี่ยวชาญของต่างชาติ ไม่ใช่สิ่งที่ง่ายเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับรัฐบาลที่ไม่ได้ตั้งขึ้นมาอย่างถูกหลักประชาธิปไตย

โค้ชของทีมหมูป่าและเด็กหลายคนในทีม ก็เป็นผู้ที่ไร้สัญชาติ เพราะเป็นชาวเขา ความมุ่งมั่นที่โค้ชมีต่อสุขภาพและความปลอดภัยของเด็ก เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เตือนให้ระลึกถึงบทบาทที่ผู้อพยพและคนชายขอบมีในสังคมของเรา

พล.อ.ประยุทธ์ ควรใช้โอกาสนี้ในการจัดการกับประเด็นค้างคา เรื่องเด็กไร้สัญชาติในหมู่ชาวเขาที่เหลืออยู่ทางภาคเหนือของไทย

อดีตหน่วยซีลของไทยที่เสียชีวิตในระหว่างการกู้ภัยครั้งนี้ เป็นแบบอย่างที่แท้จริงของการเสียสละตนเอง มีจิตสาธารณะ และคิดถึงคนอื่นก่อนตนเอง เมื่อเปรียบเทียบกัน เขาเป็นคนดีที่น่ายกย่อง ผิดกับชนชั้นนำที่ทำทุกอย่างเพื่อตัวเอง ยึดอำนาจไว้กับตัว อย่างเหนียวแน่น

ต่อจากนี้ ไทยจะได้รับการช่วยเหลือให้พ้นจากสภาพที่ย่ำแย่นี้หรือไม่

ซาคารี อาบูซา เป็นอาจารย์ประจำที่เนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ ในวอชิงตัน และเป็นผู้เขียนหนังสือชื่อ “Forging Peace in Southeast Asia: Insurgencies, Peace Processes, and Reconciliation” ความคิดเห็นที่แสดงไว้ในบทความนี้เป็นของผู้เขียนเอง และไม่ได้สะท้อนถึงจุดยืนของกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ เนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ หรือ เบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง