รัฐบาลไทยปล่อยโอกาสการแก้ไขความรุนแรงในภาคใต้หลุดมือไป

บทวิเคราะห์โดยซาคารี อาบูซา
2019.10.08
191008-TH-article-1000.jpeg ผู้คนไปร่วมงานฝังศพนายอับดุลเลาะห์ อีซอมูซอ ผู้ต้องสงสัยที่เสียชีวิตลง หลังถูกพบว่าหมดสติอยู่ในศูนย์ซักถาม ในค่ายอิงคยุทธบริหาร ในจังหวัดปัตตานี วันที่ 25 สิงหาคม 2562
รอยเตอร์

ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยอยู่ในระดับที่ต่ำที่สุดเท่าเคยมีมา ที่ผ่านมาประเทศไทยมักจะใช้ความรุนแรงเป็นข้ออ้างในการแสวงหาข้อสนับสนุนให้แก่ตนเอง รวมทั้ง กระตุ้นให้ประชาชนที่มีเชื้อสายมลายู-ปัตตานี ยอมรับการหลอมรวมมาเป็นส่วนหนึ่งของประชาชนไทย

แต่ว่ารัฐบาลปัจจุบัน ซึ่งหนุนด้วยทหารก็ได้เมินเฉยต่อโอกาสที่จะได้พัฒนาปัจจัยต่างๆ ให้ดีขึ้นได้ และยังคงใช้มาตรการบังคับขู่เข็ญ และการลุแก่อำนาจต่างๆ

ความตายของ อับดุลเลาะห์ อีซอมูซอ ผู้ต้องสงสัยกรณีก่อการร้ายที่ถูกคุมตัวมาสอบสวนและเกิดหมดสติไประหว่างอยู่ในค่ายทหาร ทำให้ผมเคยคาดว่าจะต้องมีเหตุรุนแรงติดตามมาแน่นอน เพราะในอดีตนั้น เหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทยพุ่งสูงเป็นระยะๆ นั้น เกิดจากการโจมตีเพื่อแก้แค้นแบบตาต่อตาฟันต่อฟัน เมื่อเกิดเหตุการณ์แหลมคมอันใดอันหนึ่งขึ้น

แต่ความรุนแรงในขณะนี้กลับลดลง มันอาจจะเป็นเพราะฝนตกหนัก ฝุ่นควันที่มาจากอินโดนีเซีย การที่เจ้าหน้าที่เพิ่มกำลังมากขึ้น หรืออาจจะเป็นเพราะกำลังของกลุ่มผู้ก่อการนั้นลดลง รวมทั้งการที่บีอาร์เอ็นไม่สามารถที่จะเคลื่อนไหวเพื่อก่อให้เกิดการโจมตีอย่างต่อเนื่องได้

แต่ทั้งหมดทั้งมวลนั้น ก็ควรเป็นโอกาสอันดีของรัฐบาลไทย

แม้กระนั้น แทนที่รัฐบาลจะใช้โอกาสที่ความรุนแรงลดลง หันไปเริ่มแก้ไขปัญหาความคับแค้นใจของประชากรในแถบนั้น แต่รัฐบาลกลับยังคงใช้วาทกรรมแสดงถึงการต่อต้านมุสลิม รวมทั้งไม่สนใจจะบังคับใช้กฎหมายกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายรัฐที่กระทำเกินเลย

ความตายของอีซอมูซอเมื่อปลายเดือนสิงหาคม กองทัพออกมาบอกว่าจะสอบสวนอย่างละเอียด แต่จนบัดนี้ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ซึ่งทำให้เห็นได้ว่าคงจะไม่มีการเอาผิดเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้แต่อย่างไร

กองทัพปล่อยภาพของอีซอมูซอ ซึ่งแลดูมีสุขภาพดีในระหว่างการสอบปากคำโดยเจ้าหน้าที่ทหารออกมา  แต่ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้น เขากลับไม่ได้สติอันเนื่องมาจากการขาดอากาศหายใจเฉียบพลัน และทางกองทัพก็มีข้อมูลอยู่แล้วว่ามีใครบ้างที่ได้เข้าไปในห้องสอบสวนกับอีซอมูซอบ้าง

ดูเหมือนสิ่งที่รัฐบาลทำในตอนนี้ก็คือ รอให้คนลืมเลือนความโกรธแค้นนั้นเสีย เพราะจะได้ไม่ต้องลงโทษเอาผิดคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้   ซึ่งการกระทำเช่นนี้ เป็นการตอกย้ำความเชื่อของชุมชนมุสลิมในภาคใต้ว่า รัฐบาลไม่เคยสนใจจะลงโทษคนของตนเองแม้แต่น้อย

การที่หน่วยงานตำรวจสันติบาลขอความร่วมมือไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ เพื่อให้ส่งข้อมูลของนักศึกษามุสลิมที่มีความเกี่ยวข้องกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มาศึกษาอยู่ในกรุงเทพ  ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันทั่วไป แม้ว่ารัฐบาลจะตัดสินใจยกเลิกปฏิบัติการไปแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่อาจเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นได้

เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม นี้ นายคณากร เพียรชนะ ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นในยะลา จ่อยิงตัวเองที่หน้าอกในห้องพิพากษาคดี หลังจากตัดสินยกฟ้องผู้ต้องสงสัย 5 คน  ซึ่งในเอกสารเกี่ยวกับคดีที่เขาเขียนขึ้น รวมทั้งเฟซบุ๊คไลฟ์ของเขาในขณะที่อ่านคำตัดสิน  นายคณากรระบุว่า ถูกผู้ที่มีตำแหน่งสูงกว่าแทรกแซงเพื่อให้ตัดสินว่าผู้ต้องสงสัยมีความผิด  รวมทั้งถูกกดดันให้ไม่เอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนไม่น้อยที่ถูกฟ้องว่ากระทำผิดและลุแก่อำนาจ

เขายังได้ระบุด้วยว่าหลักฐานที่ได้มาจากการทรมานนั้นไม่น่าจะใช้ได้ ซึ่งเท่ากับยอมรับว่ามีการใช้การทรมานกับผู้ต้องสงสัยเป็นเรื่องปกติ

แม้ว่าจะมีการแทรกแซงทางการเมืองเข้าสู่อำนาจตุลาการทั้งระบบของไทย แต่ก็ยังมีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นบางคนที่ยังยืนยันความเป็นอิสระในการตัดสินคดี รวมทั้งศักดิ์ศรีของตนเอง

พวกเขาเรียกร้องให้ใช้หลักฐานที่ได้มาอย่างโปร่งใส รวมทั้งปฏิเสธที่จะใช้คำสารภาพของผู้ต้องสงสัยที่ได้มาในขณะที่อยู่ภายใต้แรงกดดันของการควบคุมตัวโดยทหาร แม้อาจจะใม่ได้ถูกกระทำรุนแรงถึงขั้นทรมานก็ตาม รวมทั้งการตรวจสอบการใช้อำนาจจนเกินขอบเขตของกองทัพ นายคณากรระบุด้วยว่า การตัดสินลงโทษคนที่ไม่มีความผิดนั้น จะทำให้รัฐบาลไม่สามารถที่จะก่อให้เกิดความสงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้

กองทัพออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้เข้าแทรกแซงหรือกดดันทางการเมืองต่อผู้พิพากษาใดๆ รวมทั้งไม่ได้ทรมานผู้ต้องสงสัยด้วย  และบอกด้วยว่านายคณากร อาจจะมีแรงกดดันจากความเครียดที่สูงจึงทำให้อยากจะฆ่าตัวตาย

และเมื่อไม่นานมานี้ กองทัพภาคที่ 4 ส่วนหน้า ก็ได้ยื่นฟ้องนักการเมือง นักวิชาการ และประชาชน รวม 12 คน ที่เข้าร่วมในงานสัมมนาเกี่ยวกับการหาหนทางอื่นๆ เพื่อยุติความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สิ่งที่ทหารดูจะไม่พอใจอย่างมากก็คือแนวคิดที่ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตราที่ 1 ที่ระบุว่าประเทศไทยเป็นหนึ่งเดียว ไม่อาจแบ่งแยกได้ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแม้แต่การพูดคุยเรื่องการปกครองตนเอง ก็ถูกมองว่าเป็นการปลุกระดมให้กระด้างกระเดื่องไป

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกองทัพภาคที่ 4 ส่วนหน้า ปฏิเสธว่าการตัดสินนี้ไม่เกี่ยวกับการเมือง หรือได้รับคำสั่งมาจากรัฐบาล  ซึ่งเป็นเรื่องน่าหัวเราะ เพราะว่าการกล่าวหาฟ้องร้องนี้พุ่งตรงไปที่หัวหน้าพรรคต่างๆ ที่เป็นฝ่ายค้าน อย่างเช่น พรรคอนาคตใหม่  พรรคประชาชาติ  พรรคเพื่อไทย  พรรคเพื่อชาติ  และพรรคพลังปวงชนไทย

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ได้สร้างปรากฏการณ์ใหม่ขึ้นในสังคมไทย และกลายเป็นความท้าทายต่อการครอบงำของทหารในการเมืองไทย  ด้วยเหตุนั้น จึงทำให้เขาตกเป็นเป้าหมายของข้อกล่าวหาต่างๆ อันเป็นความพยายามที่จะทำให้เขาหมดบทบาททางการเมือง  บทบาทของพรรคอนาคตใหม่ในรัฐสภาที่เป็นหัวหอกในการสอบสวนเรื่องการตายของอีซอมูซอ รวมทั้งการเคลื่อนไหวต่อต้านความพยายามของรัฐบาลที่จะรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับนักศึกษามุสลิม ทำให้กองทัพแค้นเคืองอย่างมาก

พรรคอนาคตใหม่นั้นลงมือทำมากกว่าพรรคการเมืองใดๆ ในการหยิบยกปัญหาและความคับแค้นของประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้ขึ้นมา ดังนั้น การฟ้องร้องนายธนาธรในกรณีนี้ จึงเท่ากับลดโอกาสของการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ให้น้อยลงไปด้วย

แม้ว่าจะมีการแต่งตั้งหัวหน้าคณะเจรจาสันติสุขคนใหม่ เพื่อทำหน้าที่เจรจากับผู้แทนของมาราปาตานี แต่ก็ยังมองไม่เห็นว่าจะเดินหน้ากระบวนการเจรจากันเมื่อใด เป้าหมายของกองทัพก็คือ การทำให้ความรุนแรงลดน้อยถอยลงจนถึงระดับที่บอกว่า เป็นการทำผิดกฎหมายของโจรผู้ร้ายธรรมดา ไม่ได้มีความมุ่งหมายที่จะแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้ หรือก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่มีความหมายแต่อย่างใด รวมทั้งปฏิบัติการของกองทัพในหลายกรณีก็ทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ลงไปอีก

แทนที่จะใช้โอกาสที่ความรุนแรงลดลงไปเพื่อเข้าให้ถึงประชากรในชายแดนใต้ให้มากขึ้น พวกเขากลับเดินหน้านโยบายต่างๆ ที่สร้างความแปลกแยกระหว่างกันให้มากขึ้น

ซาคารี อาบูซา เป็นอาจารย์ประจำที่เนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ ในวอชิงตัน และเป็นผู้เขียนหนังสือชื่อ “Forging Peace in Southeast Asia: Insurgencies, Peace Processes, and Reconciliation” ความคิดเห็นที่แสดงไว้ในบทความนี้เป็นของผู้เขียนเอง และไม่ได้สะท้อนถึงจุดยืนของกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ เนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ หรือ เบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง