กองทัพไทยเผชิญการถูกวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น

บทวิเคราะห์โดย ซาคารี อาบูซา
2020.04.24
200424-TH-ABUZA-1000.JPG ทหารในขบวนสวนสนามประจำปี ในพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษกของรัชกาลที่ 10 ที่กองพันทหารม้า จังหวัดสระบุรี วันที่ 18 มกราคม 2563
รอยเตอร์

การปฏิบัติการของกองทัพไทยหลายประการเป็นที่น่าตกใจมาก ที่มักจะดำเนินการเพื่อประโยชน์ของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการรัฐประหารในปี 2549 และ 2557 นั้น ก็จบลงด้วยการลาออกของรัฐบาลพลเรือน ตามความต้องการของคณะทหารผู้ก่อการ และหลังจากนั้นก็ดำเนินการให้มีการลงประชามติ เพื่อรับรองรัฐธรรมนูญใหม่ที่ดำเนินการร่างโดยรัฐบาลทหาร เสมือนเป็นสิ่งที่ดีสุดที่ประชาชนได้รับแล้ว

การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นตามมา ก็มีการใช้กฎหมายเลือกตั้งเพื่อกีดกันบางพรรคการเมืองไม่ให้ตั้งรัฐบาล และผลก็เป็นไปตามที่คาด พรรคการเมืองที่ได้คะแนนนำ ก็ไม่สามารถตั้งพรรคการเมืองได้ และมีการยุบพรรคที่อยู่ฝ่ายเดียวกันกับพรรคที่มีคะแนนนำไปด้วย   อย่างไรก็ตาม รัฐบาลที่หนุนโดยทหารนั้นก็ไม่มีความสามารถในการบริหารจัดการเศรษฐกิจ ทำให้อัตราการเติบโตไม่เป็นไปอย่างที่คาด

ตลอดเวลาที่เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวในระดับต่ำ งบประมาณที่กองทัพไทยได้รับก็เพิ่มขึ้นตลอดเวลา แม้ว่าไม่มีภัยคุกคามจากภายนอกประเทศเลยด้วยซ้ำ งบประมาณที่กองทัพไทยได้นั้นเพิ่มขึ้นจาก 115 แสนล้านบาท (หรือ 3,550 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ในปี 2549 ไปเป็น 233 แสนล้านบาท (71,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ในปี 2563 หรือเพิ่มขึ้น 103 เปอร์เซ็นต์

ในขณะที่กองทัพกล่าวประณามนักการเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชัน แต่ก็ไม่เคยจะเอ่ยถึงว่า นายทหารระดับสูงมากมาย ร่ำรวยขึ้นมาได้อย่างไร กองทัพไทยนั้น มีจำนวนนายพลมากอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลก โดยมีนายพลประจำการอยู่มากกว่า 1,100 นาย ซึ่งเท่ากับมี นายพล 1 คน ต่อทหาร 300 คน

การรับมือการระบาดใหญ่โควิด-19 ที่ขลุกขลักไม่มีประสิทธิภาพนัก เป็นการดำเนินการของรัฐครั้งล่าสุดที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่การเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562 ซึ่งบั่นทอนความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อกองทัพลงไปมากอย่างเห็นได้ชัด

ชายไทยต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร แม้ว่าจะไม่ค่อยอยากจะเข้าประจำการนัก กองทัพบกได้ออกมาปกป้องการเกณฑ์ทหาร โดยกล่าวว่า เป็นส่วนสำคัญมากของความมั่นคงของประเทศ แต่กองทัพได้เผชิญกับข่าวอื้อฉาวหลายครั้ง เกี่ยวกับการนำเอาทหารเกณฑ์มาเป็นคนรับใช้ในบ้านของนายทหาร นอกจากนี้ก็ยังมีกรณีที่ทหารที่มีอายุน้อย ๆ ยศไม่สูงมากตายในลักษณะที่น่าสงสัย ซึ่งทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชน

นอกจากนี้ บรรดาญาติพี่น้องของผู้ต้องสงสัยว่า เป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในชายแดนใต้ของไทย ซึ่งตายในขณะอยู่ในการควบคุมของทหาร ก็ออกมาโวยวายว่า การตายไม่ได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ จากนั้น ก็มีเหตุยิงชาวบ้านในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เสียชีวิต ซึ่งตอนแรกกองทัพบกไทยบอกว่าคนเหล่านี้เป็นกลุ่มแบ่งแยกดินแดนเสียชีวิตในการปะทะ แต่ต่อมา ก็ต้องออกมาให้ข้อมูลใหม่ว่าคนที่ถูกยิงตายเป็นชาวบ้านธรรมดา รวมถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็คือ ทหารในจังหวัดทางภาคอีสาน ซ้อมผู้ต้องสงสัยว่าค้ายาเสพติดจนถึงแก่ชีวิต และน้องชายของเขาก็ได้รับบาดเจ็บสาหัส เมื่อถูกประชาชนตั้งคำถามกับการกระทำเหล่านี้ กองทัพก็ต้องออกมาประกาศว่า จะตั้งข้อหากับกลุ่มทหารที่เกี่ยวข้อง

เมื่อตกอยู่ภายใต้แรงกดดันของประชาชน กองทัพก็มักจะให้คำมั่นเสมอว่า จะสอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป การสอบสวนก็อาจไม่มีความก้าวหน้า และส่วนใหญ่ข้อกล่าวหาก็จะถูกยกฟ้องไป บางกรณี อาจเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม อาจจะถูกตัดสินว่ามีความผิดในขั้นต้น แต่ในที่สุดพวกเขาก็จะได้รับอิสระในชั้นอุทธรณ์ หรือสูงกว่านั้น จะเห็นได้ว่า การไม่ต้องรับผิดชอบ ถูกดำเนินคดีทางกฎหมายใด ๆ เกิดขึ้นหลายครั้งหลายหน

การขัดผลประโยชน์กันระหว่างทหารชั้นผู้น้อยกับทหารระดับสูง ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชา เป็นสาเหตุของการกราดยิงผู้บริสุทธิ์ครั้งร้ายแรงที่สุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นประเทศไทย ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 29 คนและประชาชนมากกว่า 60 คนได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์กราดยิงที่นครราชสีมา เหตุการณ์สะเทือนขวัญครั้งนั้น นำไปสู่คำถามว่า ทหารจัดการกับทรัพย์สินของรัฐอย่างไร รวมทั้งการโกงกินที่เกิดขึ้นโดยนายทหารระดับสูง แม้ว่ากองทัพบกจะรับปากว่า จะจัดการสอบสวนและจะถ่ายโอนทรัพย์สินบางอย่าง เพื่อให้เกิดความโปร่งใส แต่ก็ไม่ได้ดำเนินการใด ๆ มากไปกว่านี้

พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบก ปฏิเสธข้อเรียกร้องให้เขาลาออกจากตำแหน่งหลังเกิดเหตุกราดยิง ซึ่งตอกย้ำว่ากองทัพนั้นอยู่นอกเหนือการตรวจสอบ และไม่สามารถเรียกร้องให้รับผิดชอบกับความผิดพลาดใด ๆ ได้

อย่างไรก็ตาม การรับมือกับปัญหาที่ตามมาจากโรคระบาดใหญ่ที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดความไม่พอใจขึ้นทั่วไป  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วง  นโยบายที่รัฐบาลออกมาก็ไม่ชัดเจน เต็มไปด้วยความขัดแย้ง การสื่อสารมีปัญหา รวมทั้งการนำนโยบายไปปฏิบัติก็เต็มไปด้วยความสับสน พล.อ.ประยุทธ์มักจะแก้ไขสิ่งที่พูดไปแล้วบ่อยครั้ง และบางครั้งเลือกใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสมกับสถานการณ์

ด้าน นายอนุทิน ชาญวีรกุล รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ไม่มีความสามารถที่จะบริหารจัดการกับการระบาดได้ และก็แสดงอารมณ์พลุ่งพล่านออกมาบ่อยครั้ง เช่น ตำหนินักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมทั้งเจ้าหน้าที่กระทรวงที่ติดเชื้อโควิด-19 ทำให้เกิดเสียงสะท้อนจากประชาชนที่ไม่พอใจท่าทีของเขาอย่างมาก อย่างไรก็ตาม นายอนุทินนั้นมาจากพรรคการเมืองที่เป็นส่วนสำคัญในรัฐบาลผสมซึ่งมีเสียงสนับสนุนปริ่มน้ำ ดังนั้น นายกรัฐมนตรีจึงไม่สามารถจะปลดเขาออกไปได้

ในขณะที่ไทยมีคนที่ติดเชื้อไม่ถึง 3,000 คน และมีผู้เสียชีวิต 50 ราย ซึ่งทำให้รัฐบาลมีเวลาหายใจบ้าง เพราะเป็นผลงานที่ดี ที่สามารถลดผลกระทบของการระบาดไปได้อย่างมาก

แม้ว่า รัฐบาลที่หนุนโดยทหารนี้ จะดูเหมือนไม่สามารถตัดสินใจดำเนินนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพ ในการบริหารจัดการกับโรคระบาด แต่โชคดีที่ระบบสาธารณสุข และระบบประกันสุขภาพอันแข็งแกร่งที่มีอยู่เดิม ทำให้สามารถควบคุมโรคระบาดเอาไว้ได้ในระดับหนึ่ง จากดัชนีความมั่นคงทางสุขภาพโลกนั้น ประเทศไทยมีระบบสาธารณสุขที่เตรียมพร้อมมากที่สุดในภูมิภาคนี้ และเป็นประเทศแรก ๆในภูมิภาคนี้ ที่จะเห็นเส้นโค้งของกราฟแสดงการติดเชื้อราบเป็นแนวนอน ไม่พุ่งขึ้นอย่างประเทศอื่น อย่างไรก็ตาม จำนวนการตรวจหาผู้ติดเชื้อในประเทศไทยนั้นยังอยู่ในอัตราต่ำมาก

ในขณะเดียวกัน กองทัพก็ถูกกล่าวหาว่า เป็นตัวเร่งการแพร่ระบาดของไวรัส สนามมวยลุมพินีซึ่งเป็นของกองทัพบก ทำให้เกิดการติดเชื้อในประชาชนมากกว่า 100 ราย เมื่อจัดการแข่งขันชกมวยขึ้น แม้ว่าจะมีคำเตือนจากการกีฬาแห่งประเทศไทยว่า ไม่ควรจัด แล้วก็ตาม ซึ่งก็ทำให้เกิดคำถามขึ้นอย่างมากว่า ทำไมกองทัพบกจึงไม่ทำตามคำแนะนำให้เว้นระยะห่าง ดังที่รัฐบาลมีมาตรการออกมา

คำพูดของ พลเอกประยุทธ์ ที่บอกว่าจะส่งจดหมายถึงตระกูลนักธุรกิจที่ร่ำรวย 20 อันดับของประเทศ เพื่อให้มีส่วนร่วมในการต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19 ทำให้หลายฝ่ายมองว่ารัฐบาลอาจจะไม่มึความสามารถและทรัพยากรเพียงพอ ในการบริหารจัดการกับวิกฤต และนอกเหนือไปจากนั้นวิกฤตที่เกิดขึ้นนี้ รัฐบาลไม่สามารถจะโทษว่าเป็นฝีมือของนายทักษิณ ชินวัตรได้อย่างที่เคยทำมา

การเรียกร้องการมีส่วนร่วมของตระกูลที่ร่ำรวย 20 ตระกูลนั้น ทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยหวนรำลึกขึ้นมาอีกครั้งว่า ไทยเป็นประเทศที่มีความไม่เท่าเทียมในการจัดสรรความมั่งคั่งสูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ซึ่งเป็นแนวโน้มที่เร่งตัวขึ้นมา ตั้งแต่การรัฐประหาร เมื่อปี 2549

การประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียวของขบวนการบีอาร์เอ็น ในจังหวัดชายแดนใต้ของไทย อันเนื่องมาจากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ สมเหตุผล และได้รับการยอมรับอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ทหารก็ไม่ได้ประกาศการหยุดยิงตามไปด้วย เพราะนั่นจะดูเหมือนเป็นการยอมรับสถานะของขบวนการแบ่งแยกดินแดน

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่รัฐบาลหนุนโดยทหารถือว่าเป็นคู่แข่งทางการเมืองที่สำคัญ และพยายามใช้กระบวนการทางกฎหมายทุกอย่างเพื่อบีบเขา อย่างเช่น ปลดออกจากการเป็นผู้แทนราษฎร ฟ้องร้องด้วยข้อหาต่าง ๆ แต่ความเคลื่อนไหวของนายธนาธรกลับตอกย้ำให้เห็นว่า รัฐบาลที่หนุนโดยทหารนั้นขาดวิสัยทัศน์แห่งผู้นำ นายธนาธรได้เปลี่ยนโรงงานของครอบครัวให้มาผลิตเครื่องช่วยหายใจ รวมทั้งห้องตรวจร่างกายความดันลบ และจัดส่งให้กับโรงพยาบาลในชนบท 12 แห่ง

ความเคลื่อนไหวของนายธนาธรนี้ ทำให้เกิดภาพที่ขัดแย้งกับตัวนายกรัฐมนตรีขึ้นมา และทำให้เกิดภาพเปรียบเทียบกับบรรดากลุ่มคนชั้นนำที่มีความใกล้ชิดกับทหารมาเป็นเวลานาน แต่ไม่ได้เดินหน้าสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่ประเทศและประชาชน ในห้วงแห่งความยากลำบากนี้เท่าที่ควร

การปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นหน้าที่ที่ถูกระบุไว้ในกฎหมายหลักของชาติ และทหารก็มักจะหยิบยกขึ้นมา เพื่อเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองเสมอมา

ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์กองทัพอย่างหนาหู กองทัพเรือก็ได้เลื่อนแผนการซื้อเรือดำน้ำจากจีนอีก 2 ลำออกไปก่อน ในขณะเดียวกัน กองทัพบกก็ได้เลื่อนการซื้อรถหุ้มเกราะ 50 คัน มูลค่า 4.5 พันล้านบาทออกไป หลังจากข่าวการขออนุมัติงบรั่วไหลออกมายังสื่อมวลชน ซึ่งตามแผนเดิมจะเดินหน้าโครงการต่อไป แม้ในครึ่งหลังของเดือนเมษายน ซึ่งได้สะท้อนถึงการไม่ฟังเสียงประชาชนของกองทัพบก

กองทัพได้ออกมาประกาศว่าจะโอนย้ายงบประมาณ 33 เปอร์เซ็นต์ ตามนโยบายสู้โควิดของรัฐบาล จะแน่ใจได้อย่างไรว่า การโอนย้ายงบนั้นจะเกิดขึ้นจริง ๆ นอกจากนี้ กองทัพก็ยังประกาศลดงบประมาณลง 7.7 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งน้อยกว่าที่รัฐบาลขอไว้ที่ 10 เปอร์เซ็นต์ จากทุกกระทรวง

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว บรรดาเหล่านายพลยังจะสงสัยอีกหรือว่า ทำไมความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกองทัพไทยจึงลดต่ำลงอย่างมาก ในช่วงที่ผ่านมา

ซาคารี อาบูซา เป็นอาจารย์ประจำที่เนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ และมหาวิทยาลัยจอร์จ ทาวน์ ในกรุงวอชิงตัน และเป็นผู้เขียนหนังสือชื่อ “Forging Peace in Southeast Asia: Insurgencies, Peace Processes, and Reconciliation” ความคิดเห็นที่แสดงไว้ในบทความนี้เป็นของผู้เขียนเอง และไม่ได้สะท้อนถึงจุดยืนของกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ เนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ มหาวิทยาลัยจอร์จ ทาวน์ หรือ เบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง