แม่ทัพภาคที่ 4 คนใหม่: นำยุทธวิธีใด ประสานดับไฟใต้
2018.10.01
ยะลา

พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์เข้าเยี่ยมคารวะจุฬาราชมนตรีเพื่อแนะนำตัวเองอย่างเป็นทางการ ก่อนเข้ารับตำแหน่งใหม่ในฐานะแม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งต้องรับผิดชอบต่อการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ขณะที่ปัญหาความขัดแย้งส่วนใหญ่จากกลุ่มแบ่งแยกดินแดนถูกจำกัดอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม หากการเข้าเยี่ยมบุคคลสำคัญ ที่เป็นผู้นำกิจการอิสลามครั้งนี้ ถือเป็นสัญลักษณ์และการแสดงไมตรีจิตอันดี
อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 พลโท ปิยวัฒน์ นาควานิชไม่ได้เหลือช่องงานหรือโอกาสให้ พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ สานต่อมากนัก แต่กลับทิ้งภาระหลายประการและปัญหาให้ต้องสาง ก่อนอำลาตำแหน่ง
ผู้สังเกตการณ์จำนวนมาก รวมทั้งลูกน้องใต้สังกัดเห็นว่าพลโท ปิยวัฒน์ นาควานิช ซึ่งนิยมการพูดจาแบบตรงไปตรงมาและมีแนวทางการแก้ปัญหาแบบยิงโดยไม่เล็งนั้น ไม่ก่อผลดีต่อกลยุทธ์ดับไฟใต้ในพื้นที่ที่เกิดเหตุการณ์รุนแรง จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตร่วม 7,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิม นับตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 เป็นต้นมา
แต่ดูเหมือนพลโท ปิยวัฒน์ นาควานิชไม่เห็นว่าแนวทางของตน เป็นการทำให้ช่องว่างระหว่างรัฐไทยกับชาวมุสลิมในพื้นที่กว้างยิ่งขึ้นไปอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักเคลื่อนไหวทางการเมืองและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนรุ่นใหม่ ที่เรียกร้องให้มีการพิจารณามาตรการความมั่นคงที่สร้างความขัดแย้ง และการให้ข่าวเกินจริง
หลายวันก่อนที่จะมีคำสั่ง พลโท ปิยวัฒน์ นาควานิชได้ส่งกองกำลังผสมที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารจำนวน 1,000 นาย ออกปฏิบัติการไล่ล่าในพื้นที่ 2 ตำบลของอำเภอหนองจิก ในจังหวัดปัตตานี หลังจากที่หน่วยทหารลาดตระเวนถูกซุ่มโจมตีในวันที่ 11 กันยายน ศกนี้ อันเป็นเหตุให้มีทหารเสียชีวิต 2 นาย บาดเจ็บ 4 นาย และขวัญกำลังใจของทหารตกถึงจุดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์
พลโท ปิยวัฒน์ นาควานิชได้กำหนดให้หมู่บ้านเหล่านี้อยู่ภายใน “พื้นที่ควบคุม” ซึ่งอนุญาตให้กำลังทหารและตำรวจสามารถตรวจค้นบ้านเรือนและกักกันบุคคลได้ตามที่เห็นว่าเหมาะสม เหตุการณ์ดังกล่าวนี้ดำเนินไปเป็นเวลานานเกือบสัปดาห์
นอกจากนั้น พลโท ปิยวัฒน์ ยังพิจารณาที่จะตั้งข้อหาสมาชิกในครอบครัวของผู้ต้องสงสัยว่า เป็นผู้ก่อความไม่สงบในหมู่บ้านทั้งสองแห่ง หากพบว่ามีการให้ความช่วยเหลือหรือที่หลบซ่อนแก่ผู้ก่อความไม่สงบ
แม้ว่ากฎหมายพิเศษว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินให้อำนาจพลโท ปิยวัฒน์ในการนำมาตรการเพิ่มเติมมาใช้ แต่การส่งกำลังเข้าควบคุมพื้นที่ 2 ตำบลของอำเภอหนองจิกกลายเป็นหายนะอันใหญ่หลวงในทางการเมือง และเป็นแบบอย่างที่ไม่พึงปรารถนา ซึ่งจะเป็นภาระหนักสำหรับ พลโท พรศักดิ์ที่เข้ามารับช่วงแทน
นอกจากนั้น พลโท ปิยวัฒน์ยังให้ชาวบ้านแสดงใบอนุญาตและทะเบียนยานพาหนะส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นเรือหรือรถยนต์ และอาวุธปืนของตน เพื่อให้ทหารตรวจอีกด้วย
สหพันธ์นิสิตนักศึกษานักเรียนและเยาวชนปาตานี (เปอร์มัส) ตอบโต้กลับด้วยการส่งกลุ่มนักเคลื่อนไหวเยาวชนไปยังอำเภอหนองจิก เพื่อพูดคุย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการเข้าถึงชาวบ้านในพื้นที่ ชาวบ้านจำนวนมากกล่าวว่า ตนเองรู้สึกหวาดกลัวที่จะออกจากบ้าน หรือแม้กระทั่งจะไปละหมาดที่มัสยิดในหมู่บ้าน เพราะเกรงว่าจะถูกจับกุมตัวโดยพลการ
เปอร์มัสออกแถลงการณ์เข้ม เรียกร้องให้พลโท ปิยวัฒน์ยุติมาตรการลงโทษแบบเหมารวมและยกเลิกกฎอัยการศึก ที่อดีตนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน เรียกว่า “ใบอนุญาตฆ่า”
เปอร์มัส ซึ่งเป็นเครือข่ายนักศึกษาที่เคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อเรียกร้องสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเองของประชาชนในพื้นที่นี้ ได้ออกแถลงการณ์ประณามมาตรการความมั่นคงของ พลโท ปิยวัฒน์ ว่าขัดต่อหลักมนุษยธรรม
กฎอัยการศึกอนุญาตให้มีการกักขังหน่วงเหนี่ยวบุคคลได้ 30 วัน โดยไม่ต้องมีการตั้งข้อหาอย่างเป็นทางการหรือทนายความ นอกจากนั้น ยังให้นิรโทษกรรมแก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ดังกล่าว ทั้งยังกำหนดให้ชาวบ้านที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัย ต้องแบกภาระในการพิสูจน์ข้อเท็จจริง ว่าเจ้าหน้าที่ผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการบุกจู่โจมหรือเหตุการณ์ทำนองเดียวกันกระทำโดยเจตนาร้าย
ฝ่ายผู้สนับสนุน พลโท ปิยวัฒน์ออกมาถือป้ายแสดงข้อความหยาบคายไม่แพ้กัน โดยกล่าวโทษนักเคลื่อนไหวเยาวชน และโจมตีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (มอ.) ที่ผลิตนักศึกษาหัวรุนแรง
ป้ายดังกล่าวมีข้อความว่า ทำไมเปอร์มัสจึงปกป้อง “อาชญากร” พร้อมทั้งยื่นคำร้องต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ โดยกล่าวหาว่า นักเคลื่อนไหวกระทำการขัดขวางกระบวนการยุติธรรม
เปอร์มัสกล่าวว่าองค์กรของตนได้ผ่านเหตุการณ์ที่เลวร้ายกว่านี้มาก่อน และไม่รู้สึกวิตกกับชาวพุทธรักชาติไม่กี่คนที่มีวาระซ่อนเร้น
สมาชิกของเปอร์มัสกล่าวติดตลกว่า เพื่อให้ดูเหมือนว่าการประท้วง 90 นาทีนี้ มีคนหลายเชื้อชาติร่วมชุมนุม ผู้จัดการประท้วงได้นำชาวมุสลิมจำนวนหยิบมือมาร่วมประท้วงด้วย
มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ออกจดหมายเปิดผนึกโต้ตอบกลุ่มคลั่งชาติ ซึ่งมีผู้นำอยู่เบื้องหลังกรณีการห้ามนักเรียนสวมฮิญาบไปโรงเรียน เมื่อไม่นานมานี้
ในทำนองเดียวกัน กลุ่มชาวพุทธรักชาติกำลังพยายามที่จะจัดการแยกครัวไทยพุทธ ในโรงพยาบาลจังหวัดยะลา โดยอ้างถึงสิทธิเสมอภาคและความยุติธรรม พร้อมทั้งความวิตกกังวลของชาวไทยจำนวนหนึ่งในประเทศ ที่เกรงว่าชาวมุสลิมกำลังบั่นทอนวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของชาวไทยอื่น ๆ
ขณะนี้ ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า พลโท พรศักดิ์จะนำกลเม็ดและกลยุทธ์แบบใดมาใช้ แต่ทหารในพื้นที่นี้กล่าวกันว่า ช่วงที่ พลโท พรศักดิ์ดำรงตำแหน่งนี้จะเป็นช่วงเวลาที่มีการประนีประนอมและปรองดอง หรืออย่างน้อยที่สุดก็จะนำพาชาวไทยและชาวมุสลิมก้าวไปสู่แนวทางนั้นด้วยกัน
ดอน ปาทาน เป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงและการพัฒนาสำหรับองค์กรระหว่างประเทศ และทำงานอยู่ในประเทศไทย ความคิดเห็นที่แสดงในงานเขียนชิ้นนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียนเท่านั้น ไม่ใช่ของเบนาร์นิวส์