การเลือกตั้งในกรุงเทพ อาจทำนายผลการเลือกตั้งระดับชาติ

บทวิเคราะห์โดย ซาคารี อาบูซา
2022.06.01
การเลือกตั้งในกรุงเทพ อาจทำนายผลการเลือกตั้งระดับชาติ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนใหม่ ทำพิธีสักการะศาล ในวันแรกที่เดินทางมาที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร หลังการเลือกตั้ง วันที่ 1 มิถุนายน 2565
รอยเตอร์

เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ชาวกรุงเทพฯ ได้ออกมาเลือกตั้งผู้ว่าราชการคนใหม่ ซึ่งนายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้สมัครอิสระ และอดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งถูกปลดโดยคณะรัฐประหารเมื่อปี 2557 ได้รับคะแนนโหวตสูงสุด

การเลือกตั้งครั้งนี้มีเหตุผลที่สำคัญบางประการ

นายชัชชาติ ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งโดยใช้แนวคิดนโยบายก้าวหน้าเพื่อพัฒนาเมือง ชนะด้วยคะแนนเสียงเลือกตั้ง 51% ของผู้มาใช้สิทธิ หรือ 1.38 ล้านคะแนน และได้รับคะแนนเกิน 50% จากทุกเขตในกรุงเทพฯ ที่มีทั้งหมด 50 เขต

การเลือกตั้งผู้ว่าฯ ครั้งนี้สำคัญสำหรับการเลือกตั้งระดับชาติ ซึ่งอาจมีขึ้นในเดือนมีนาคมปี 2566

พลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง ได้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ จากการแต่งตั้งของรัฐบาลทหารเมื่อปี 2559 ผู้ที่ได้เปรียบทางการเมืองและได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลทหาร

เขาต้องอับอายเพราะมีคะแนนตามมาอันดับที่ 5 ด้วยเสียงสนับสนุนเพียง 8% พลตำรวจเอก อัศวิน ซึ่งเข้ามารับตำแหน่งแทน ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร อดีตผู้ว่าฯ ซึ่งได้รับการเลือกตั้งถึงสองสมัย ถูกชาวกรุงเทพฯ ตำหนิว่า ไม่สามารถบริหารจัดการปัญหาเมืองที่มีอยู่มากมาย พลตำรวจเอก อัศวิน ลาออกจากตำแหน่งในเดือนมีนาคม เพื่อลงสมัครแข่งขันการเลือกตั้ง แต่ยังทำหน้าที่รักษาการผู้ว่าฯ อยู่

ในบรรยากาศของประเทศที่เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกของประชาชน ส่งให้ผลการเลือกตั้งของนายชัชชาติดีเกินคาด ขณะที่สำหรับ พลตำรวจเอก อัศวิน แย่เกินกว่าที่คิด จากโพลสำรวจความเห็นประชาชนหนึ่งสัปดาห์ก่อนการเลือกตั้ง นายชัชชาติมีคะแนนสนับสนุนราว 40% และพลตำรวจเอก อัศวินอยู่อันดับ 3 ด้วยคะแนน 14%

แต่ความพ่ายแพ้ของ พลตำรวจเอก อัศวิน อาจเป็นสัญญาณบอกปัญหาใหญ่ของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะพรรคการเมืองของทหาร ทั้งเศรษฐกิจก็ยังคงชะงักงัน แม้ว่าประเทศจะเปิดธุรกิจการท่องเที่ยวอีกครั้งแล้วก็ตาม การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ประเทศไทยสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่าทางด้านการแพทย์ ระบบการแพทย์และการบริหารสาธารณสุขที่ยอดเยี่ยมของประเทศไทยประสบความสำเร็จในจุดที่นักการเมืองไม่ต้องทำอะไร

การระบาดก่อให้เกิดปัญหาความไม่เท่าเทียมด้านรายได้ในประเทศอย่างมหาศาล ซึ่งไทยนับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก จากการสำรวจประจำปีของสถาบัน Credit Suisse ความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงของการแพร่ระบาดเกิดขึ้น เพราะระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยวและการส่งออกเป็นหลัก

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พยายามทำใจดีสู้เสือ โดยอ้างว่าเป็นเพียงการเลือกตั้งใน “จังหวัดเดียว” ที่ “ไม่สะท้อนอะไรกับผมนี่” ซึ่งแท้จริงแล้วช่างเป็นเรื่องน่าขันที่พูดเช่นนั้น

กรุงเทพมหานคร มีประชากร 11 ล้านคนจากทั้งหมด 70 ล้านคนของประเทศ คิดเป็น 16% ที่ถือว่าเป็น 25% ของจีดีพีในประเทศ และได้รับงบประมาณ 75% องรายจ่ายทั้งหมดของรัฐบาล ถ้านั่นไม่ใช่มาจากความได้เปรียบทางการเมือง แล้วเป็นอะไรได้อีก

ชัยชนะจากการเลือกตั้งของนายชัชชาติ ยังเป็นการชี้วัดอีกประการหนึ่งคือ นายชัชชาติและผู้สมัครรับเลือกตั้งจากพรรคฝ่ายค้านอีกสองคน ได้รับคะแนนเสียงรวมกันถึงสองในสามของคะแนนเสียงทั้งหมด

เห็นได้ชัดว่า ชาวกรุงเทพฯ กำลังมองหาคนหน้าใหม่และความคิดใหม่ ๆ เบื่อหน่ายกับกองทัพที่รวบอำนาจบริหารมาแล้วถึงแปดปีอย่างไร้ความสามารถและมีการทุจริตคอร์รัปชัน

สัญญาณของสิ่งที่จะเกิดขึ้น

เป็นที่แน่ชัดด้วยว่าสถาบัน เช่น กองทัพ พรรคการเมืองฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลทหาร และกลุ่มผู้ภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ ย่อมไม่สบายใจและกังวลเมื่อรู้ผลการเลือกตั้ง

ไม่น่าแปลกใจเลยที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ผู้สนับสนุนสถาบันฯ ออกมาเรียกร้องให้ตรวจสอบผลการเลือกตั้งทันที โดยกล่าวหาว่า ซื้อเสียงด้วยป้ายหาเสียง หรือการปลดป้ายหาเสียงช้า ซึ่งไร้สาระสิ้นดี

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ได้รับรองผลการเลือกตั้ง นายชัชชาติ มีหลายสิ่งที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมกลัว เพราะยังหนุ่ม, หัวก้าวหน้า, มีเสน่ห์ดึงดูด, เป็นที่ชื่นชอบ, และใกล้ชิดกับครอบครัวชินวัตร เขาจึงเป็นภัยคุกคามต่อ 8 ปี ของการเมืองที่ล้าหลัง  

ทั้งหมดนี้ทำให้เกิดคำถามใหญ่กว่านั้น ก็คือ กองทัพจะพยายามหากลโกงการเลือกตั้งปี 2566 อย่างไร ในเมื่อพวกเขาไม่เป็นที่ชื่นชอบเลย

ในการสำรวจความคิดเห็นสาธารณะ ที่จัดทำโดยสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) พรรคพลังประชารัฐถูกมองว่า สูญเสียผู้สนับสนุนมากกว่าครึ่ง ตั้งแต่ต้นปี 2563 จากร้อยละ 17 เป็นร้อยละ 8 ในเดือนเมษายน 2565

ในเวลานั้น พรรคเพื่อไทยได้รับการสนับสนุนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 20 เป็นร้อยละ 25 ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างสม่ำเสมอ และในขณะที่ พรรคก้าวไกลลดลงอย่างมากตั้งแต่ต้นปี 2563 แต่ช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องจากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน

จากผลโพลนิด้า การสนับสนุน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลดลงจากประมาณร้อยละ 30 เหลือร้อยละ 13 ซึ่งเห็นได้ชัดว่าประยุทธ์เป็นฝ่ายเสียเปรียบ และแม้แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงอย่าง พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ของพรรคพลังประชารัฐ และพลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา ก็ยังกล่าวกับสื่อว่า อาจหาคนมารับตำแหน่งแทนประยุทธ์

และในขณะที่ พลเอก ประยุทธ์ อาจถูกมองว่าเป็นฝ่ายเสียเปรียบในการเลือกตั้ง แต่ปัญหาของพรรคพลังประชารัฐ คือไม่มีใครในพรรคที่น่าสนใจ หรือได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในระดับประเทศ นอกจาก พลเอก ประวิตร และพลเอก อนุพงษ์ วุฒิสมาชิก ที่ทั้งสูงวัยและไม่เป็นที่นิยมของประชาชนนัก

หากใครคิดว่า ผมช่างดูถูก พลเอก ประยุทธ์ มากไป ให้พิจารณาข้อเท็จจริงเหล่านี้ : พลเอก ประยุทธ์ จะได้เป็นนายกฯ หรือไม่ ถ้าไม่ใช่เพราะรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยทหาร ที่ทำให้พรรคการเมืองใหญ่อ่อนแอลง การแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างไม่ยุติธรรมเพื่อเอาชนะฝ่ายค้าน และการบิดเบือนคะแนนเสียงเลือกตั้ง

กีดกันพรรคฝ่ายค้าน

เขาจะเป็นนายกฯ หรือไม่ ถ้าไม่ใช่เพราะรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกับที่ใช้ กกต. ยุบพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ใช้ตุลาการเป็นเครื่องมือตั้งข้อกล่าวหาให้ฝ่ายค้าน แต่งตั้งวุฒิสภา ปิดปากฝ่ายตรงข้ามด้วยข้อหาหมิ่น และใช้ระบบบัญชีรายชื่อพรรคที่ทำให้พรรคการเมืองที่ใหญ่ที่สุดเสียเปรียบ

ภายใต้ระบบเวสต์มินสเตอร์ ประชาธิปไตยแบบรัฐสภา พรรคที่มี ส.ส. มากที่สุดมีสิทธิ์จัดตั้งรัฐบาล แต่พรรคเพื่อไทยกลับไม่ได้สิทธิ์นั้นในปี 2562

คดีความฟ้องร้องฝ่ายตรงข้ามยังคงไม่ลดละ เมื่อเดือนเมษายน 2565 ศาลกล่าวหานายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ด้วยกฎหมายหมิ่นพระมหากษัตริย์ที่รุนแรง จากความกังวลของธนาธรเกี่ยวกับบริษัทที่กษัตริย์เป็นเจ้าของ ซึ่งไม่มีประสบการณ์ผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 และรัฐบาลยังคงเดินหน้าผลักดันร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร (พ.ร.บ. เอ็นจีโอ) ซึ่งถูกต่อต้านเพราะเชื่อว่าสามารถใช้ปิดปากการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาลได้

เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ของพรรคพลังประชารัฐเล็กน้อย หลังจากที่เคยออกแบบรัฐธรรมนูญให้พรรคใหญ่อ่อนแอ พรรคพลังประชารัฐก็ดูเหมือนต้องกลับมาคิดใหม่ เพราะตัวเองก็กลายมาพรรคที่ใหญ่เป็นอันดับสอง และดูเหมือนจะไม่ขาดปัจจัยการเงิน ที่สำคัญกว่านั้น ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา พรรคต้องเผชิญกับความท้าทายในการบริหารรัฐบาลผสมที่ประกอบด้วยพรรคเล็ก ๆ มากมาย

เมื่อเดือนกันยายน 2564 รัฐสภาได้ผ่านการแก้ไขกฎหมายการเลือกตั้ง ซึ่งอาจเอื้อประโยชน์ต่อพรรคใหญ่ รวมถึงพรรคพลังประชารัฐ และพรรคเพื่อไทยฝ่ายค้าน

การแก้ไข คือการใช้ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ซึ่งใบแรก ใช้สำหรับเลือกผู้สมัครแบบแบ่งเขต และใบที่สอง ใช้สำหรับเลือกผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง

จำนวน ส.ส. ที่จะได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจะเพิ่มขึ้นจาก 50 คน เป็น 400 คน ในขณะที่ ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคการเมืองตามสัดส่วนจะลดลง 50 คน เหลือ 100 คน

การแก้ไขเพียงเท่านั้นไม่น่าจะเพียงพอให้กองทัพสามารถรักษาอำนาจไว้ได้ ในขณะที่ประชาชนยังคงต้องการคนหน้าใหม่ เข้ามาบริหารและนำพาประเทศไปข้างหน้า ซึ่งหากรัฐบาลตัดสิทธิ์คนหน้าใหม่เหล่านั้น ประเทศก็อาจจะเข้าสู่เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองรอบใหม่

ซาคารี อาบูซา เป็นอาจารย์ประจำที่เนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ และอาจารย์พิเศษ ที่มหาวิทยาลัยจอร์จ ทาวน์ ในกรุงวอชิงตัน ความคิดเห็นที่แสดงไว้ในบทความนี้เป็นของผู้เขียนเอง และไม่ได้สะท้อนถึงจุดยืนของกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ เนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ มหาวิทยาลัยจอร์จ ทาวน์ หรือ เบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง