การยุบพรรคก้าวไกล อาจไม่ใช่ชัยชนะของชนชั้นนำ ทหาร และกษัตริย์นิยม
2024.08.10
เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา การตัดสินคดีทางการเมืองครั้งสำคัญที่ประชาชนชาวไทยและประชาคมโลกต่างจับตามองเพิ่งผ่านพ้นไป เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ยุบพรรคก้าวไกล โดยตุลาการทั้ง 9 คน มีมติเอกฉันท์ว่า “ไม่มีทางเลือกอื่น” นอกจากต้องสั่งยุบพรรค เพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์
คำวินิจฉัยของตุลาการทั้ง 9 คน ระบุว่า การเรียกร้องให้ปฏิรูปมาตรา 112 หรือปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ผ่านกระบวนการทางการเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมาย เทียบเท่าได้กับการเป็นความพยายามล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์
การถูกกล่าวหาว่าพยายามล้มล้างระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ โดยกลุ่มชนชั้นนำฝ่ายทหารและชนชั้นนำฝ่ายกษัตริย์นิยมที่เคยล้มล้างทั้งรัฐธรรมนูญและรัฐบาล ที่ได้รับการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยซ้ำแล้วซ้ำเล่านั้น ดูเป็นเรื่องตลกร้ายที่ยากจะยอมรับได้ แต่นั่นก็ไม่น่าแปลกใจ
นับตั้งแต่การรัฐประหารครั้งล่าสุดในปี 2557 และการบังคับให้ประชาชนใช้รัฐธรรมนูญที่เสื่อมถอย ชนชั้นนำฝ่ายทหารและชนชั้นนำฝ่ายกษัตริย์นิยมได้ใช้ตุลาการเป็นเครื่องมือหลักในการทำให้ฝ่ายตรงข้ามหัวก้าวหน้าในประเทศอ่อนแอลง
การตัดสินล่าสุดก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสงครามที่ใช้การถดถอยของกระบวนการยุติธรรมเป็นอาวุธเท่านั้น
แต่กลุ่มชนชั้นนำที่สนับสนุนสถาบันกษัตริย์นั้น สามารถขัดขวางพรรคก้าวไกลในการโหวตผู้นำของเขาให้เป็น นายกรัฐมนตรี ได้อย่างง่ายดาย ทั้งยังสามารถเสียบพรรคการเมืองที่มีทหารหนุน 2 พรรค ให้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งใน 11 พรรคร่วมรัฐบาล แม้ว่าพรรคทั้งสองนั้นจะพ่ายแพ้คะแนนเสียงเลือกตั้งก็ตาม
ดังนั้นพวกเราจึงจำเป็นต้องตั้งคำถามสามข้อ อาทิ ทำไมพวกเขาถึงทำเช่นนั้น จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป และมันจะส่งผลเสียย้อนกลับมาที่ตัวเองหรือไม่
ทำไมพวกเขาจึงทำเช่นนั้น
การยุบพรรคการเมือง เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของชนชั้นนำฝ่ายกษัตริย์นิยม หลังการรัฐประหารในปี 2549
ฝ่ายทหารได้สั่งการการยุบพรรคไทยรักไทยของทักษิณ ชินวัตร ตามมาด้วยการยุบพรรคพลังประชาชน ซึ่งเป็นพรรคที่สืบทอดนโยบายและอุดมการณ์ต่อมาจากพรรคไทยรักไทยในปี 2551
หลังจากนั้นศาลได้ยุบพรรคไทยรักษาชาติก่อนการเลือกตั้งในปี 2562 และยุบพรรคอนาคตใหม่ทันทีหลังจากนั้นไม่นาน
ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา มีผู้ถูกจับกุมทั้งสิ้น 272 คน ในข้อหาฝ่าฝืนมาตรา 112 หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
แต่ใช่ว่าผู้ถูกกล่าวหาทุกคนได้ถูกนำตัวขึ้นศาล หรือถูกตัดสินว่ามีความผิด เพราะศาลได้ใช้เงื่อนไขการประกันตัวแบบมีเงื่อนไข เพื่อปิดปากผู้ถูกกล่าวหาหลายรายเช่นกัน
หากไม่มีการทำรัฐประหาร ระบบตุลาการก็เป็นเครื่องมือเดียวที่ชนชั้นนำฝ่ายกษัตริย์นิยมใช้ เพื่อลดทอนเสียงของฝ่ายหัวก้าวหน้า
การครอบงำระบบตุลาการโดยกลุ่มกษัตริย์นิยม ผ่านทางคณะองคมนตรี โดยสมาชิกคณะฯ 2 ใน 19 คน เป็นอดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ ขณะที่อีก 2 คน เป็นเจ้าหน้าที่อาวุโสจากกระทรวงยุติธรรม และสมาชิก 10 คน จากทั้งหมด 19 คน เป็นอดีตนายพล
ศาลได้ตัดสินหลายคดีหลังรัฐประหารในปี 2557 ที่ทำให้แนวคิดเรื่องความเป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมกลายเป็นเรื่องน่าขบขัน มันกลายเป็นเสมือนเครื่องมือในการบังคับใช้กฎหมายของสถาบันกษัตริย์
จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และคณะกรรมการบริหารพรรคอีก 10 คน ถูกตัดสิทธิ์การเมืองเป็นเวลา 10 ปี
นอกจากนี้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของอดีตพรรคก้าวไกลที่เหลืออยู่ 143 คน ได้ย้ายไปยังพรรคใหม่ ซึ่งเปิดตัวในวันศุกร์นี้ในนาม “พรรคประชาชน” โดยเปลี่ยนชื่อมาจากพรรคเดิมที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2555 คือ “พรรคถิ่นกาขาวชาววิไล” ซึ่งเป็นพรรคที่ถูกขนานนามว่าเป็นพรรคสำรองของพรรคก้าวไกล
โดยหัวหน้าพรรคยืนยันว่าครั้งนี้จะไม่มี “งูเห่า” แยกพรรคเหมือนในปี 2563
พรรคใหม่นี้จะนำโดย ณัฐพงศ์ เรืองปัญญาวุฒิ อดีตรองเลขาธิการฝ่ายพัฒนาระบบข้อมูลและดิจิทัลพรรคก้าวไกล โดยมี ศิริกัญญา ตันสกุล อดีตรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นรองหัวหน้าพรรคใหม่ด้วย
การเข้าครอบครองพรรคที่มีอยู่แล้ว ทำให้ผู้นำไม่ต้องผ่านกระบวนการจดทะเบียนพรรคใหม่และตั้งสาขาทั่วประเทศ
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสมาชิกพรรคจะพ้นจุดอันตราย เนื่องจากมีสมาชิกพรรค 44 คน รวมถึง สส. ปัจจุบัน 26 คน ที่เป็นเป้าหมายของการร้องเรียนจากกลุ่มกษัตริย์นิยม และอาจถูกสั่งห้ามไม่ให้ลงสนามการเมืองไปตลอดชีวิต
จะส่งผลเสียย้อนกลับมาที่ตัวเองหรือไม่
การยุบพรรคและการใช้มาตรา 112 เป็นเครื่องมือที่ส่งผลร้ายแรง และเป็นเครื่องมือที่ให้ผลลัพธ์ที่เป็นไปได้หลายทาง
สำหรับชนชั้นนำกลุ่มกษัตริย์นิยมแล้ว การยุบพรรคอนาคตใหม่ในปี 2563 ไม่ได้ทำให้ปัญหาหายไป
พรรคอนาคตใหม่เป็นพรรคที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับสามในการเลือกตั้งปี 2562 โดยโกยคะแนนเสียงได้เกือบ 6.3 ล้านคะแนน ซึ่งทำให้ได้ที่นั่งในรัฐสภามาถึง 81 ที่ หรือคิดเป็น 17.3% ในขณะนั้น เสียงสนับสนุนส่วนใหญ่ของพรรคมาจากคนที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร
เมื่อเวลาผ่านไปสี่ปี พรรคก้าวไกลได้เติบโตเป็นพลังการเมืองระดับชาติ โดยได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดในการเลือกตั้งปี 2566 โดยกวาดที่นั่งในรัฐสภาไปได้ 151 ที่นั่ง หรือคิดเป็น 38% ของทั้งหมด ซึ่งเพิ่มขึ้น 86%
พรรคก้าวไกลเพิ่มจำนวนคะแนนเสียงถึง 130% เป็น 14.4 ล้านเสียง และได้รับที่นั่งทั่วประเทศ รวมถึงในเขตฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย โดยเพิ่มจำนวนที่นั่งในเขตเลือกตั้งจาก 31 เป็น 112 ที่นั่ง
ในการเลือกตั้งปี 2562 ผลสำรวจชี้ว่า 19% ของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งต้องการให้ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตผู้ก่อตั้งและผู้นำพรรคอนาคตใหม่ เป็นนายกรัฐมนตรี
ในปี 2566 ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง 31% ต้องการให้พิธา เป็นนายกรัฐมนตรี และตั้งแต่นั้นมา ความนิยมของเขาเพิ่มขึ้น โดยมีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งกว่า 40% ต้องการให้เขาเป็นนายกรัฐมนตรี
พิธา ไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ เพราะมีบทบัญญัติพิเศษในรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ให้อำนาจสมาชิกวุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้มีสิทธิในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี
นั่นหมายความว่า พรรคหรือพรรคร่วมต่าง ๆ ต้องการเสียงข้างมากที่ไม่ใช่แค่ 251 เสียงในการโหวตเลือกนายกฯ แต่พรรคนั้น ๆ ต้องการเสียงข้างมากกว่าเดิมให้ได้ถึง 376 เสียง เนื่องจากคาดว่าสมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับการแต่งตั้งจากทหารจะลงคะแนนเสียงร่วมกันเป็นกลุ่ม
แต่เมื่อวาระ 6 ปี ของวุฒิสภาและสิทธิพิเศษสิ้นสุดลง พวกเขาก็ไม่มีบทบาทนั้นอีกต่อไป
ดังนั้น คำถามต่อมาก็คือ พรรคก้าวไกลในรูปแบบใหม่สามารถเดินต่อเพื่อมุ่งไปสู่การเลือกตั้งครั้งต่อไปได้หรือไม่
พวกเขาจะสามารถเข้าใกล้การได้เสียงข้างมาก 251 ที่นั่ง หรือสามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมกับพรรคร่วมที่เหนียวแน่นภายในเดือนพฤษภาคม 2570 ได้หรือไม่
กลุ่มทหารและกลุ่มชนชั้นนำฝ่ายกษัตริย์นิยมกำลังเดิมพันว่า นั่นไม่สามารถเกิดขึ้นได้ การที่พรรคพ่ายจากการถูกกฎหมายเล่นงานเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทั้งการตัดสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปี ของผู้นำอย่างพิธา ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้นำที่มีเสน่ห์ทรงพลังที่สุดคนหนึ่ง จะทำให้ภาพลักษณ์ของพรรคดูอ่อนแอลง
แต่การกระทำดังกล่าวกลับมองข้ามความเป็นจริงของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและรุ่นของกลุ่มคนอย่างชัดเจน ดังจะเห็นได้จากปี 2562
ไม่เคยมีการออกมาเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
แต่วันนี้มันไม่ใช่เรื่องของคนกลุ่มเล็ก ๆ อีกต่อไปแล้ว และมันเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่มีการตั้งคำถามที่เกี่ยวกับการสืบราชสมบัติและอนาคตของสถาบันกษัตริย์
ทางด้าน เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เองก็มีปัญหาทางกฎหมายและอาจถูกบังคับให้ออกจากตำแหน่งภายในเดือนนี้
พรรคเพื่อไทยได้โยนความน่าเชื่อถือในการปฏิรูปทิ้งไป เมื่อตอนจัดตั้งรัฐบาลร่วมกับพรรคที่มีสายสัมพันธ์กับทหารทั้งสองพรรค และได้ทำลายความสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มผู้สนับสนุนของตนเอง
ในขณะที่มีความเป็นไปได้ที่ทักษิณอาจจะกลับมาเล่นการเมือง แต่คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของเขา ทำให้เขาต้องถูกควบคุมในพื้นที่จำกัด
อีกทั้งนโยบายและแผนการปฏิรูปเศรษฐกิจต่าง ๆ ของพรรคเพื่อไทยก็ไม่ประสบความสำเร็จตามที่วางแผนไว้
ถึงแม้จะไม่ได้อยู่ในรัฐบาล พรรคก้าวไกลก็เป็นพรรคที่มีประสิทธิภาพอย่างมากในการผลักดันวาระทางกฎหมาย ซึ่งทำให้พวกเขาแตกต่างจากสมาชิกจากรัฐบาลผสม
พรรคก้าวไกลได้ทำงานอย่างยอดเยี่ยมในการสรรหาสมาชิกที่เป็นเยาวชนและมีความสามารถที่เป็นตัวแทนของความต้องการของคนไทยรุ่นใหม่และมีแนวคิดก้าวหน้า
ในปี 2566 ผู้คนลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเพราะอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง
แต่ความหวังของพวกเขาถูกสกัดกั้นโดยสถาบันที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์ผลประโยชน์ของชนชั้นนำฝ่ายทหารกษัตริย์นิยม
ซึ่งทำให้หลักการความเป็นอิสระของกระบวนการยุติธรรมกลายเป็นเรื่องตลก เพราะมีการปกครองโดยกฎหมาย แต่ไม่ใช่การปกครองโดยหลักนิติธรรม
พรรคก้าวไกลประสบกับความพ่ายแพ้ แต่พวกเขาจะยังคงทำงานหนัก สร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์ และผลักดันการปฏิรูปที่มีความหมายต่อไป
หนทางเดียวที่พรรคก้าวไกลจะต่อสู้กับรัฐประหารทางกระบวนการยุติธรรมคือ การขยายฐานการสนับสนุนของพวกเขา
ซาคารี อาบูซา เป็นอาจารย์ประจำที่เนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ และอาจารย์พิเศษ ที่มหาวิทยาลัยจอร์จ ทาวน์ ในกรุงวอชิงตัน ความคิดเห็นที่แสดงไว้ในบทความนี้เป็นของผู้เขียนเอง และไม่ได้สะท้อนถึงจุดยืนของกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ เนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ หรือ เบนาร์นิวส์