กลุ่มอนุรักษ์นิยมเปิดศึกกดดันศาลพิพากษาคดีพรรคก้าวไกล

บทวิเคราะห์โดย ซาคารี อาบูซา
2023.12.27
กลุ่มอนุรักษ์นิยมเปิดศึกกดดันศาลพิพากษาคดีพรรคก้าวไกล ผู้สนับสนุนนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ รวมตัวประท้วงในกรุงเทพฯ หลังจากคู่แข่งที่เป็นพรรคอนุรักษ์นิยมพยายามไม่ให้พรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาล เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2566
รอยเตอร์

หลังจบการเลือกตั้ง ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ของไทยได้สิ้นสุดลงแล้ว

ฝ่ายทหารและกลุ่มผู้จงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์กีดกันการจัดตั้งรัฐบาลร่วมของพรรคก้าวไกลได้สำเร็จ ผ่านการทำงานของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่พวกเขาแต่งตั้ง ซึ่งพรรคก้าวไกลเป็นพรรคที่ชิงเก้าอี้ไปได้มากที่สุดจากผลการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม

แม้พรรคก้าวไกลจะถูกผลักไปเป็นพรรคฝ่ายค้าน ชนชั้นนำฝ่ายทหารและกลุ่มรอยัลลิสต์ก็ยังรู้สึกตะขิดตะขวงใจเป็นอย่างมากกับพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนก่อนของพรรค นั่นคือนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พวกเขาจึงออกโรงเปิดศึกกับศาลให้พิพากษานายพิธา ให้มีความผิดและออกคำตัดสินที่ไม่เป็นผลดีกับพรรคก้าวไกล เพื่อสร้างสถานการณ์ที่ยากลำบากให้กับพวกเขาในชั้นศาล และคาดหวังว่าจะเกิดการยุบพรรคในท้ายที่สุด

ถึงแม้ว่าชนชั้นนำเหล่านี้จะระมัดระวังตัวในช่วงหลายเดือนหลังการเลือกตั้ง เนื่องจากกลัวว่าจะมีปฏิกิริยาตอบโต้อย่างรุนแรงจากการขัดขวางเจตจำนงของประชาชน แต่ตอนนี้พวกเขากำลังเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านพรรคก้าวไกลและผู้นำพรรค ด้วยความมุ่งมั่นและแน่วแน่

ขณะที่พรรคการเมืองซึ่งมีทหารหนุนหลัง พิสูจน์ให้สังคมเห็นแล้วว่ามีศักยภาพต่ำในการปกครองบ้านเมือง และไม่สามารถเรียกความนิยมจากมวลชนได้ พวกเขากลับเชี่ยวชาญในการขัดขวางไม่ให้พรรคก้าวไกลจัดตั้งรัฐบาลและใช้ข้อกฎหมายเป็นเครื่องมือในการกดดันผู้นำพรรค

ความท้าทายทางกฎหมายลำดับแรกที่พรรคก้าวไกลต้องเผชิญ คือการสู้คดีการถือครองหุ้นสื่อมวลชนที่ปิดกิจการไปแล้วอย่าง บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) 4.2 หมื่นหุ้น ของนายพิธา ซึ่งเป็นหุ้นที่เขาถือครองในฐานะผู้จัดการมรดก

พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 ระบุไว้ว่าบุคคลที่ “เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ” เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ในกรณีนี้ไอทีวีถือว่าเป็นสื่อมวลชนที่ไม่ได้ออกอากาศหรือรายงานข่าวใด ๆ ก็ตามมาตั้งแต่ปี 2550

นายพิธาจึงมีความมั่นใจว่าตนเองจะสู้คดีได้ ก่อนที่ศาลจะประกาศคำพิพากษาในวันที่ 24 มกราคม 2567

TH-pic-2.JPG

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตผู้สมัครนายกรัฐมนตรีของไทย หลังการพิจารณาคดีที่เกี่ยวข้องกับการถือครองหุ้นสื่อ ที่ศาลรัฐธรรมนูญในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2566 (ลิลเลียน สุวรรณรัมภา/เอเอฟพี)

เมื่อวันที่ 6 ก.พ. 2562 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้นำพรรคอนาคตใหม่ในขณะนั้น สิ้นสมาชิกภาพ ส.ส. เนื่องจากพรรคละเมิดกฎหมายเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญจากผลการเลือกตั้งปีพ.ศ. 2561 จึงต้องจับตาดูว่าศาลและคณะกรรมการการเลือกตั้งจะตัดสิทธิพรรคก้าวไกลให้มีความผิดในกรณีเดียวกันหรือไม่

แต่เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าทางฝ่ายอนุรักษ์นิยมกังวลเป็นอย่างมาก ว่าการตัดสิทธินายพิธากรณีถือหุ้นไอทีวี จะปลุกระดมการประท้วงในกรุงเทพมหานคร เนื่องจากพรรคก้าวไกลชนะที่นั่งมากถึง 32 จาก 33 ที่นั่ง

ขณะที่การตัดสิทธิ์ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณา พรรคก้าวไกลยังต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายทางกฎหมายลำดับที่สอง ซึ่งเกี่ยวข้องกับบทลงโทษอันร้ายแรงของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่าด้วยการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ หรือที่รู้จักกันในนามกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระมหากษัตริย์

ที่ผ่านมาศาลรัฐธรรมนูญได้รับคำร้องพิจารณาคดีปมนายพิธา อดีตหัวหน้าพรรคก้าวไกลเสนอร่างกฎหมายแก้ไขยกเลิกมาตรา 112 เพื่อปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์โดยใช้เป็นนโยบายหาเสียง ซึ่งคำร้องอ้างว่าการกระทำนี้มีจุดประสงค์เพื่อ “ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” โดยศาลจะพิพากษาคดีนี้ในวันที่ 31 มกราคม 2567 

หากศาลตัดสินไม่ยุบพรรคก้าวไกล สังคมจะได้เห็นความพยายามในการกดดันการพิพากษาของศาลอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากฝ่ายสนับสนุนทหารและสถาบันพระมหากษัตริย์ใช้วิธีการนี้มาแล้วอย่างแยบยลในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 ช่วงที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตผู้นำพรรคอนาคตใหม่และสมาชิกพรรคอีก 15 คนถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 10 ปีตามคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ

TH-pic-3.JPG

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ขณะกล่าวสุนทรพจน์ที่การประชุมเอเปก 2023 นครซานฟรานซิสโก แคลิฟอร์เนีย เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 (รอยเตอร์)

รัฐบาลชุดปัจจุบันที่นายเศรษฐา ทวีสิน จากพรรคเพื่อไทยขึ้นแท่นเป็นนายกรัฐมนตรี ไม่มีจุดมุ่งหมายใด ๆ ที่จะท้าทายอำนาจของผู้มีตำแหน่งใหญ่โตทางฝั่งทหาร การปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์จึงยิ่งไม่อยู่ในเป้าหมายของรัฐบาลชุดนี้โดยสิ้นเชิง

พรรคเพื่อไทยซึ่งชนะการเลือกตั้งเป็นอันดับที่สองตามผลการเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม เคยตั้งตัวเป็นปรปักษ์กับฝั่งอนุรักษ์นิยมมาก่อน แต่หลังจากที่พรรคจัดตั้งรัฐบาลที่สนับสนุนฝ่ายอนุรักษ์นิยม โดยเลือกพรรคการเมืองที่มีผู้สนับสนุนทหารและสถาบันพระมหากษัตริย์เข้ามาร่วมรัฐบาล พรรคเพื่อไทยก็แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่า ไม่มีความสนใจที่จะออกแนวทางเพื่อปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ซ้ำยังยืนยันที่จะบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 ที่รัฐบาลทหารชุดก่อนใช้เพื่อปราบปรามผู้เห็นต่างระหว่างการชุมนุม ในปี 2565 ต่อไป

แกนนำนักศึกษารวมถึงผู้ประท้วงที่ยึดแนวทางการอดอาหารในสมัยนั้น เวลานี้จำต้องหยุดการออกมาเคลื่อนไหวเพราะติดข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพพระมหากษัตริย์ แต่เมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ศาลอาญา พิพากษาจำคุก น.ส. รักชนก “ไอซ์” ศรีนอก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกล ในความผิดฐานหมิ่นสถาบันกษัตริย์เป็นเวลา 6 ปี โดยไม่รอลงอาญา จากการทวีตด้วยบัญชีทวิตเตอร์ @nanaicez ซึ่งปัจจุบันใช้ชื่อ X เพื่อวิจารณ์รัฐบาลเรื่องการจัดการวัคซีนโควิด-19 และการรณรงค์ #28กรกฎาร่วมใจใส่ชุดดำ ก่อนที่เธอจะลงสมัครเลือกตั้งในฐานะสส. พรรคก้าวไกลและคว้าเก้าอี้ในสภาไปได้สำเร็จ

ย้อนไปเมื่อเดือนกันยายน ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 4 ปี ทนายอานนท์ นำภา แกนนำด้านสิทธิมนุษยชนในข้อหาดูหมิ่นสถาบันเบื้องสูง โดยคดีนี้ถือเป็นคดีมาตรา 112 คดีแรกที่ศาลพิพากษาทนายอานนท์ ซึ่งเขายังติดคดีมาตราเดียวกันนี้อยู่อีกถึง 14 คดีด้วยกัน ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดเจนว่าผู้มีอำนาจรัฐมีความพยายามที่จะใช้กระบวนการทางกฎหมายเพื่อสยบการทำงานของฝ่ายค้าน

ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 จนถึงปลายเดือนพฤศจิกายนในปีเดียวกัน ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาถึง 262 ราย ด้วยข้อหาทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เสื่อมเสียชื่อเสียง มีผู้ถูกกล่าวหา 135 ราย ถูกฟ้องมาตรา 116 (ยุยงปลุกปั่นฯ) และอีก 195 ราย ในข้อหาละเมิดพ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์

แต่เหล่าผู้สนับสนุนทหารและสถาบันพระมหากษัตริย์ของรัฐบาลนายกเศรษฐา ควรจะก้าวย่างอย่างระมัดระวังเมื่อคิดจะดำเนินการใด ๆ ก็ตามเพื่อขัดขวางการทำงานของพรรคก้าวไกล เนื่องจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นรัฐบาลชุดปัจจุบันที่ไม่ได้รับการเลือกตั้งมาเป็นอันดับหนึ่งจากการเลือกของประชาชนยังคงถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์รายงานเมื่อวันพฤหัสบดีว่า สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ระบุว่าพรรคก้าวไกลยังคงรั้งตำแหน่งพรรคที่ได้รับความนิยมอย่างท่วมท้นจากคะแนนเสียง 44% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ในขณะที่พรรคเพื่อไทยได้รับคะแนน 24% ซึ่งยังถือว่าเป็นตัวเลขที่ห่างไกลจากอันดับแรก โดยพรรคประชาธิปัตย์ได้คะแนนเสียง 3.6% และพรรคอื่น ๆ รวมถึงพรรคฝ่ายทหารอีก 2 พรรคได้คะแนนเพียงแค่ 1.85% เท่านั้น 

ถึงแม้ว่าพวกเขาจะต้องระมัดระวังในการสลายอำนาจพรรคก้าวไกล และดำเนินการตามเจตจำนงของตนเองเนื่องจากไม่ถูกตรวจสอบ แต่ท้ายที่สุดพรรคที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่งอาจจะได้รับโอกาสที่ประชาชนใฝ่ฝันให้พวกเขาได้ทำ นั่นคือการปกครองบ้านเมือง

ซาคารี อาบูซา เป็นอาจารย์ประจำที่เนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ ในกรุงวอชิงตัน ความคิดเห็นที่แสดงไว้ในบทความนี้เป็นของเขาเอง และไม่ได้สะท้อนถึงความคิดเห็นของกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ เนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ หรือเบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง