อดีตนายกรัฐมนตรีไทยกับการตกเป็นเหยื่อการรัฐประหารทางตุลาการ

บทวิเคราะห์โดย ซาคารี อาบูซา
2024.08.16
อดีตนายกรัฐมนตรีไทยกับการตกเป็นเหยื่อการรัฐประหารทางตุลาการ เศรษฐา ทวีสิน ให้สัมภาษณ์หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นสภาพจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ณ ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ วันที่ 14 สิงหาคม 2567
เอเอฟพี

การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ถอดถอนอดีตนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ออกจากตำแหน่งในสัปดาห์นี้ด้วยคะแนนเสียง 5 ต่อ 4 เสียง ซึ่งเกิดขึ้นภายหลังจากที่มีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกลเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ถือเป็นความเสี่ยงทางการเมือง

กลุ่มกษัตริย์นิยมได้คำนวณอย่างผิดพลาดที่นำศาลที่ใช้อำนาจเชิงรุกมาเป็นเครื่องมือ ที่อาจทำให้หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและลูกสาวของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร อย่างแพทองธาร ชินวัตร จะเลือกไม่ลงชิงเก้าอี้นายก ส่งผลให้ผู้สมัครที่ถูกมองว่าเป็นที่ยอมรับได้จากกลุ่มชนชั้นนำทหารและชนชั้นนำกลุ่มกษัตริย์นิยมมีโอกาสนั่งตำแหน่ง

กลุ่มคนที่ได้รับการเสนอชื่อเหล่านี้รวมไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคภูมิใจไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค จากพรรครวมไทยสร้างชาติ และ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ จากพรรคพลังประชารัฐ ผู้ซึ่งเป็นผู้นำการรัฐประหารในปี 2549 และ 2557 ที่โค่นอำนาจจากพ่อและอาของแพทองธาร

แต่การที่ใครซักคนในกลุ่มแคนดิเดตนายกดังกล่าวจะก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปได้นั้น จำเป็นต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งครองที่นั่งในรัฐสภา 141 ที่นั่ง หรือ 45% จากทั้งหมด 312 ที่นั่งในรัฐบาลผสม

พรรคเพื่อไทยไม่ยอมกับเรื่องนี้ และจะยังคงทำหน้าที่เป็นพรรคผู้นำรัฐบาลต่อไป

ในตอนนี้ พรรคเพื่อไทยดูเหมือนจะตั้งใจที่จะรักษารัฐบาลผสมไว้ตามเดิม โดยเน้นเล่นเกมระยะยาว

แต่หลายคนในพรรคเพื่อไทยรู้สึกถูกทรยศจากการละเมิดข้อตกลงใหญ่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ซึ่งรวมถึงข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพต่อทักษิณ ข้อตกลงใหญ่ที่ตกลงกันหลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2566 ทำให้กองทัพได้ที่นั่งในโต๊ะเจรจา ส่วนทักษิณก็ได้กลับบ้าน

ข้อตกลงนี้ยังทำให้พรรคเพื่อไทยเปลี่ยนจากฝ่ายค้านต่อต้านอำนาจทหาร กลายมาเป็นพันธมิตรกับกลุ่มพรรคที่กองทัพหนุนหลังและกลุ่มอนุรักษ์นิยมอื่นๆ เพราะเหตุใดพรรคเพื่อไทยต้องทำงานกับพรรคที่กองทัพหนุนหลัง ในเมื่อสถาบันที่ไม่ได้รับการเลือกตั้งยังคงละเมิดข้อตกลงใหญ่นี้อยู่

เนื่องจากวุฒิสภาชุดใหม่จะไม่มีบทบาทในการเลือกนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ดังนั้นเสียงข้างมากธรรมดา (ไม่ใช่ 376 เสียงข้างมากพิเศษ) จึงเพียงพอ นั่นหมายความว่าพรรคแพทองธารอาจบีบให้พรรคชาติไทย (36 ที่นั่ง) และพรรคพลังประชารัฐ (39 ที่นั่ง) ออกจากรัฐบาลได้ โดยสมมุติว่าพรรคร่วมรัฐบาลที่เหลือจะคงอยู่ต่อไป แม้ว่าการทำเช่นนั้นจะมีความเสี่ยงในตัวของมันเองก็ตาม

อำนาจที่ไม่ได้ใช้คืออำนาจที่สูญเสียไป

คำตัดสินของศาลถอดถอนนายกฯ เศรษฐา ทำให้หลายคนประหลาดใจ

ประการแรก การขึ้นดำรงตำแหน่งของเขาถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของดีลใหญ่ที่ทำขึ้นระหว่างทักษิณกับกลุ่มชนชั้นนำทหารและกลุ่มชนชั้นนำกลุ่มกษัตริย์นิยม และเมื่อพิจารณาจากความเป็นจริงของการเลือกตั้งที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าพรรคสองพรรคที่ได้รับการหนุนหลังโดยทหารต่างล้มเหลวในการเลือกตั้ง การขึ้นมาของเพื่อไทยจึงเป็นตัวเลือกที่แย่น้อยที่สุด

นายเศรษฐาไม่ได้ประณามการคำวินิจฉัยของศาลเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม เรื่องการยุบพรรคก้าวไกล ซึ่งทำให้หลายคนเชื่อว่าพรรคเพื่อไทย (ซึ่งเป็นผู้สืบทอดอำนาจจากพรรคที่ถูกยุบไปแล้วสองพรรค) ได้ขายวิญญาณให้กับกองทัพไปหมดแล้ว

ประการที่สอง ทนายความของเขา นายวิษณุ เครืองาม เคยดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีของอดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุดและนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พรรคการเมืองฝ่ายทหารนิยมและอนุรักษ์นิยมจะไม่รับคดีที่ก่อให้เกิดข้อโต้แย้งนี้หากไม่ได้รับการยินยอม

ซึ่งแตกต่างจากคำตัดสินที่ยุบพรรคก้าวไกล ศาลไม่ได้มีมติเอกฉันท์ในการตัดสิน โดยศาลมีคำวินิจฉัยต่อคดีนี้ด้วยคะแนนเสียง 5 ต่อ 4 เสียง และคำในวันนั้นศาลก็ตัดสินด้วยมติ 5 ต่อ 4 เสียง

TH-Abuza-2.jpg
แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และลูกสาวของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร หลังการแถลง ที่สำนักงานใหญ่พรรคเพื่อไทย กรุงเทพฯ วันที่ 27 ตุลาคม 2566 (ศักดิ์ชัย ลลิต/เอพี)

เห็นได้ชัดว่าผู้พิพากษา 4 คนเข้าใจว่านี่เป็นการละเมิดดีลใหญ่ ที่อาจทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางการเมือง ไม่มีใครในกลุ่มนั้นอยากเห็นแพทองธารเป็นนายกรัฐมนตรี หรือสนับสนุนการเลือกตั้งในตอนนี้ที่ซึ่งวุฒิสภาไม่มีบทบาทในการเลือกนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป

บางคนอาจเห็นความหน้าไหว้หลังหลอกของคำตัดสินนี้ ท้ายที่สุดแล้ว พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชาได้เลือก รอ. ธรรมนัส พรหมเผ่า ซึ่งถูกศาลออสเตรเลียตัดสินว่ามีความผิดฐานลักลอบขนเฮโรอีน เข้ามาเป็นคณะรัฐมนตรี

แต่ท้ายที่สุดแล้วศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำตัดสินที่ทำให้นายเศรษฐาไม่ได้ไปต่อในฐานะนายกรัฐมนตรี เพราะนี่ยังคงเป็นเครื่องมือหลักของกลุ่มชนชั้นนำในการเพิกถอนสิทธิของผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่พวกเขาดูถูกเหยียดหยาม พวกเขามีอำนาจและต้องการให้ทุกคนได้รับการเตือนใจถึงเรื่องนี้ 

นอกจากการรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งเมื่อปี 2549 และ 2557 แล้ว นี่นับเป็นครั้งที่สามแล้วที่ศาลได้เข้าแทรกแซงและโค่นล้มรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งเมื่อปี 2551 ซึ่งรวมทั้งนายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เมื่อปี 2551

อาวุธแห่งการเพิกถอนสิทธิ

ผู้นำกองทัพชี้แจงอย่างชัดเจนว่าการรัฐประหารในปี 2557 และรัฐธรรมนูญปี 2560 มีจุดประสงค์เพื่อให้การรัฐประหารในอนาคตไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป การรัฐประหารโดยตุลาการเพียงพอที่จะทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ได้รับสิทธิ และทำให้ฝ่ายค้านอ่อนแอและไม่สามารถได้รับการสนับสนุน

และหากพวกเขาไม่สามารถหยุดยั้งประชาธิปไตยได้ ศาลก็สามารถให้พรรคการเมืองต้องถอยห่างได้ ตั้งแต่ปี 2549 เพียงปีเดียว ศาลได้มีคำสั่งยุบพรรคไปแล้วถึง 5 พรรคการเมือง พวกเขาได้สั่งยุติบทบาทผู้บริหารพรรคอนาคตใหม่ 21 คน และมีแนวโน้มที่จะสั่งเพิ่มอีก 44 คน จากกิจกรรมทางการเมืองในคดีที่ยังไม่ได้ข้อสรุป แม้ว่าดูเหมือนว่าการแก้ไขจะออกมาแล้วก็ตาม นี่คือสงครามการบั่นทอนสิทธิทางกฎหมาย

แม้ว่ากลุ่มคนชั้นชั้นนำอาจไม่สามารถหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงทางประชากรและสังคมได้ แต่พวกเขาสามารถทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอลงได้ในระดับสถาบัน ยุติบทบาทผู้นำที่มีเสน่ห์ที่สุด และพยายามบังคับให้จัดตั้งรัฐบาลผสมที่เปราะบางซึ่งสามารถโค่นล้มได้อย่างรวดเร็ว

อย่างน้อยที่สุด คดีความเหล่านี้ก็ต้องใช้ทั้งเวลาและทรัพยากรไปอย่างมาก การกระทำดังกล่าวทำให้การบริหารงานของรัฐบาลเสียสมาธิ ศาลมุ่งหวังที่จะป้องกันไม่ให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเริ่มที่จะมีความสำเร็จทางการเมืองและกฎหมาย ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นความชอบธรรมในสายตาประชาชน

สำหรับกลุ่มชนชั้นนำทหารและชนชั้นนำกลุ่มกษัตริย์นิยม มีแหล่งที่มาของความชอบธรรมเพียงแหล่งเดียว นั่นคือสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่สถาบันพระมหากษัตริย์กลับอ่อนแอและไม่มั่นคง จึงจำเป็นต้องมีกองทัพและตุลาการมาปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์จากพลังของประชาธิปไตย

ซาคารี อาบูซา เป็นอาจารย์ประจำที่เนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ และอาจารย์พิเศษ ที่มหาวิทยาลัยจอร์จ ทาวน์ ในกรุงวอชิงตัน ความคิดเห็นที่แสดงไว้ในบทความนี้เป็นของผู้เขียนเอง และไม่ได้สะท้อนถึงจุดยืนของกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ เนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ หรือ เบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง