ชายแดนใต้เริ่มเห็นความหวังสันติสุข หลังยุติการปะทะพักใหญ่
2022.05.16
ยะลา
ความหวังที่จะเกิดสันติภาพในชายแดนใต้อีกครั้ง หลังจากมีการตกลงร่วมยุติความรุนแรงตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ระหว่างกองทัพไทยและกลุ่มก่อความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
ผู้สังเกตการณ์ให้ความเห็นว่า ข้อตกลงยุติความรุนแรงที่ได้ประกาศในวันที่ 1 เมษายน หลังจากมีการพูดคุยสันติสุขเป็นเวลา 2 วันเต็ม ระหว่างคู่เจรจาของรัฐไทยและกลุ่มผู้แทนจากบีอาร์เอ็น (Barisan Revolusi Nasional) ชี้ให้เห็นถึงความหวังที่สองฝ่ายยังคงต้องการหวนคืนสันติสุขในพื้นที่
ข้อตกลงดังกล่าวมีความตรงไปตรงมา โดยรัฐไทยตกลงที่จะไม่จับกุมผู้ร่วมขบวนการ ในขณะที่ กลุ่มบีอาร์เอ็นยืนยันว่าจะไม่ก่อเหตุการณ์รุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอน และช่วงวันวิสาขบูชา ซึ่งหมายถึงวันที่ 15 เดือนพฤษภาคมในปีนี้
ความหวังครั้งใหญ่เกิดขึ้นเมื่อมีการประกาศว่า ผู้ร่วมขบวนการสามารถมาพบปะสมาชิกครอบครัวที่มัสยิดทั่วพื้นที่ขัดแย้งได้ ในห้วงเวลา 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน ซึ่งสิ้นสุดลงในวันที่ 1 พฤษภาคม แต่ทว่าข้อตกลงนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นจริง
นายอาเต็ฟ โซ๊ะโก ผู้นำกลุ่มเดอะปาตานี ซึ่งเป็นกลุ่มรณรงค์การเมืองในท้องถิ่น ให้ความเห็นว่า การที่ผู้ร่วมขบวนการจะออกมาในที่สาธารณะ อย่างเช่นมัสยิด แทบจะเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากเป็นความเสี่ยงครั้งใหญ่
นายอาเต็ฟกล่าวอีกว่า ความไม่ไว้วางใจยังมีอยู่สูง
ที่ผ่านมารัฐไทยไม่เคยตกลงที่จะหยุดการจับกุม แม้ว่าทางกลุ่มบีอาร์เอ็นเคยประกาศยุติความรุนแรง ในเดือนเมษายน ปี 2563 หลังจากเลขาธิการสหประชาชาติ นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เรียกร้องให้มีการยุติความรุนแรงทั่วโลกเนื่องด้วยวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 แต่รัฐไทยยังคงเดินหน้าจับกุมผู้เข้าร่วมขบวนการบีอาร์เอ็น แม้ว่าพวกเขาจะหลบหนีไปยังหมู่บ้านห่างไกล
นอกจากนี้ในระยะเวลากว่า 2 ปี รัฐไทยได้สังหารผู้ร่วมขบวนการบีอาร์เอ็นไปกว่า 60 คน อ้างอิงจากที่ผู้เขียนรวบรวมตัวเลขสถิติจากทุกแหล่งข่าว โดยกองทัพไทยเคยให้สัมภาษณ์ว่า พวกเขาคิดว่าการที่ผู้ร่วมขบวนการเลือกที่จะต่อสู้จนถึงชีวิตแทนที่จะยอมแพ้เป็นสิ่งที่น่าประหลาดใจ เพราะโอกาสที่จะรอดชีวิตมีน้อยมาก
“นี่คือวิถีแห่งการแสดงเจตจำนงมุ่งมั่นต่อการมีเอกราช” อัสมาดี บือราเฮง สมาชิกคนสำคัญของกลุ่มเดอะปาตานี
ด้านผู้เชี่ยวชาญทางการเมืองไทยอย่าง รศ.ดร ปณิธาน วัฒนายากร หัวหน้าคณะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เห็นว่า ความทุ่มเทของผู้ร่วมขบวนการเป็นสิ่งที่น่าสนใจ และความมุ่งมั่นของผู้ร่วมขบวนการนี้เอง คือความท้าทายหลักในการพยายามแก้ไขปัญหาความไม่สงบ
“รัฐบาลไทยเห็นแนวโน้มเหตุการณ์ความรุนแรงในชายแดนใต้ที่น้อยลงอย่างมีนัยยะสำคัญในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดี” รศ.ดร. ปณิธาน กล่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม เราควรตระหนักอยู่เสมอว่า ผู้เข้าร่วมขบวนการมีความมุ่งมั่นมากเพียงใด และเห็นสภาพความขัดแย้งที่มีอยู่ในปัจจุบันซึ่งจะส่งผลต่อการประสบความสำเร็จในการต่อต้านความไม่สงบได้
ความพยายามในการเรียกกลุ่มบีอาร์เอ็น เข้าร่วมเจรจาเป็นสิ่งที่สอดคล้องกับข้อบัญญัติในเรื่อง การสร้างชาติให้เป็นปึกแผ่นภายใต้หลักรัฐธรรมนูญ แต่ทว่ามีเจ้าหน้ารัฐและทหารจำนวนหนึ่งยังไม่เห็นด้วยกับความพยายามนี้
ผู้โดยสารนั่งรถเครื่องรับจ้างที่ด่านตรวจ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและอาสาสมัครป้องกันภัยพลเรือนรักษาการณ์ ในจังหวัดนราธิวาส หลังจากมีผู้เสียชีวิต 15 รายและบาดเจ็บ 5 ราย จากการโจมตีโดยผู้ต้องสงสัยกลุ่มปฏิบัติการด้วยอาวุธ ในจังหวัดยะลา วันที่ 6 พฤศจิกายน 2562 (เอเอฟพี)
ผู้นำทหารระดับสูงบางรายในประเทศไทยยังเห็นว่า การที่กลุ่มบีอาร์เอ็นจะให้ความสำคัญกับหลักรัฐธรรมนูญของไทยนั้น เป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลามหาศาล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ระยะยาวสู่การยอมรับระดับหนึ่งในประเทศไทย และความชอบธรรมในระดับนานาชาติ
แต่หากมองในเชิงทฤษฎี กลุ่มบีอาร์เอ็นยังเชื่อว่า อาจมีความเป็นไปได้ ถ้าหากกลุ่มของพวกเขา จะไม่ได้รับการขนานนามว่า เป็นองค์กรอาชญากรรมอย่างที่เคยเป็นมา และหากว่าประชาคมนานาชาติจะตอบสนองในทางบวกต่อความคับข้องใจที่ชอบด้วยกฎหมายของตน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง การมีอิสรภาพยังคงเป็นเป้าหมายสูงสุดของพวกเขา
ขณะเดียวกัน ผู้เข้าร่วมกระบวนการในระดับปฏิบัติการของบีอาร์เอ็น ก็ต้องการรู้ว่าหากพวกเขาน้อมรับหลักรัฐธรรมนูญ จะนำไปสู่จุดจบของการเรียกร้องอิสรภาพหรือไม่ ถ้าหากเป้าหมายทางการเมืองที่ตั้งไว้เป็นไปไม่ได้ อาจมีการแตกแขนงของกลุ่มบีอาร์เอ็นโดยผู้เห็นต่าง ซึ่งหากเรากลับไปดูที่มาตราแรกของรัฐธรรมนูญ ระบุอย่างชัดเจนว่า ประเทศไทยต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้
การเคลื่อนไหวอย่างลับ ๆ
อย่างไรก็ตาม ยังมีองค์กรพัฒนาเอกชน ทั้งในและต่างประเทศจำนวนมากให้ความสนใจในการร่วมแก้ปัญหาความขัดแย้งและการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ระหว่างไทยและบีอาร์เอ็น แต่การเข้าถึงผู้มีอำนาจตัดสินใจหลัก - ผู้นำสูงสุดของขบวนการ - ได้พิสูจน์แล้วว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้
แหล่งข่าวทางทหารกล่าวว่า บีอาร์เอ็นเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวแบบลับ และใครก็ตามที่เข้าสู่พื้นที่สาธารณะ จึงถือเป็นคนที่ขบวนการ "ละทิ้งได้" มีข้อโต้แย้งว่า แล้วจะขยายไปถึงผู้เจรจาของบีอาร์เอ็นทั้งเจ็ดคนหรือไม่ และมีข้อกังขาว่าพวกเขาจะสามารถทำตามสิ่งที่ตกลงได้จริงหรือไม่ ขณะที่ความสามารถในการควบคุมผู้ร่วมขบวนการในระดับปฏิบัติการมีน้อยกว่าฝ่ายรบของกลุ่ม
ซึ่งในขณะเดียวกัน การตัดสินใจของกลุ่มบีอาร์เอ็นที่จะเข้าร่วมเจรจาภายใต้หลักรัฐธรรมนูญไทย ก็อาจจะช่วยตอกย้ำเจตจำนงแก่ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวในการแบ่งแยกดินแดนของบีอาร์เอ็นที่มีมาอย่างยาวนาน
ตัวอย่างของเหตุการณ์ที่เห็นได้ชัดก็คือ การโจมตีสองครั้งของกลุ่มพูโล หรือองค์การปลดปล่อยปาตานี ในเช้าวันที่ 15 เมษายน ที่ทำให้ชาวบ้านเสียชีวิตหนึ่งราย และทหารได้รับบาดเจ็บสามนาย ในช่วงเวลาเดียวกันกับที่กลุ่มบีอาร์เอ็นและรัฐไทยมีการเจรจาเพื่อยุติความรุนแรง เหตุการณ์ดังกล่าว นายกัสตูรี มาห์โกตา หัวหน้ากลุ่มพูโล ได้แสดงความรับผิดชอบต่อการโจมตีที่เกิดขึ้นและให้เครดิตกับกลุ่ม G5 ซึ่งเป็นกลุ่มปฏิบัติการย่อยของขบวนการแบ่งแยกดินแดน พร้อมกับประกาศว่า จะเข้าร่วมเจรจากับรัฐไทย แต่ยืนยันอีกว่า ไม่ต้องการอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญไทย
กลุ่มพูโล และอีกหลายกลุ่มที่อยู่ในขบวนการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งอยู่ภายใต้องค์กรร่มที่ชื่อว่า มาราปาตานี ถูกกีดกันจากโต๊ะเจรจา หลังจากมีการเจรจาระหว่างรัฐไทยและกลุ่มบีอาร์เอ็น ที่เริ่มขึ้นในเดือนมกราคม ปี 2563
ในขณะที่กลุ่มพูโลกำลังวางแผนการเคลื่อนไหวของกลุ่มตนเองในอนาคต ผู้เข้าร่วมเจรจาหลักจากกลุ่มมาราปาตานี นายสุกรี ฮารี ได้ปล่อยคลิปวิดีโอต่อสาธารณชนในยูทูบ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อร่วมฉลองการสิ้นสุดของเดือนรอมฎอน คล้ายกับเป็นการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ว่า กลุ่มมาราปาตานีควรได้รับเชิญให้เข้าร่วมโต๊ะเจรจาสันติภาพอีกครั้ง
ชาวมุสลิมในจังหวัดนราธิวาส ละหมาดที่มัสยิดในช่วงเดือนรอมฎอนอันศักดิ์สิทธิ์ของศาสนาอิสลาม วันที่ 5 เมษายน 2565 (เอเอฟพี)
นอกจากนี้กลุ่มพูโลเคยได้รับการยอมรับ และมีความแข็งแกร่งมากในช่วงปีทศวรรษ 2523 และหากมีการปรับแผนผังองค์กรให้สมบูรณ์อีกครั้ง โดยการจัดหาผู้เข้าร่วมขบวนการเพิ่ม โดยเฉพาะฝ่ายการเมืองและการทหาร เชื่อว่ากลุ่มอาจกลับมาสร้างความเข้มแข็งได้อีกครั้ง
ส่วนบีอาร์เอ็น ที่เริ่มกบดานและลดการเคลื่อนไหวเป็นเวลาประมาณสิบปี ตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 2533 และเริ่มก่อเหตุการณ์ความไม่สงบขึ้นอีกครั้งในวันที่ 4 มกราคม 2547 ด้วยการโจมตีกองกำลังทหารในจังหวัดนราธิวาส และปล้นอาวุธกว่า 350 รายการ การโจมตีครั้งนั้นถือว่าเป็นการเริ่มต้นศักราชใหม่ของขบวนการก่อความไม่สงบ ขณะที่ฝ่ายความมั่นคงของไทยไม่ทันระวังตัว
ขณะเดียวกัน แม้ว่ารัฐไทยจะอ้างว่าไม่เห็นฝ่ายกองกำลังกลุ่มพูโลออกปฏิบัติการ แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีกลุ่มพูโลอยู่ในพื้นที่ ซึ่งรัฐไทยเคยถูกซุ่มโจมตีเมื่อกลุ่มบีอาร์เอ็นกลับมาเริ่มปฏิบัติการอีกครั้งเมื่อ 18 ปีก่อน ดังนั้นจึงไม่มีใครอยากเผชิญกับความน่าตระหนกและอับอายเหมือนครั้งนั้น หากมีการกลับมาอีกของกลุ่มพูโล
ดอน ปาทาน เป็นนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงของไทย