บีอาร์เอ็นส่งสัญญาณต้อนรับรัฐบาลใหม่ด้วยเหตุระเบิด
2023.09.14
ปัตตานี
เมื่อปลายเดือนที่แล้ว กลุ่มแบ่งแยกดินแดนได้เขย่าขวัญหน่วยงานรักษาความมั่นคงด้วยการโจมตีพร้อมกันในหลายจุดของชายแดนใต้ ซึ่งเกิดขึ้นเป็นเวลายาวนานกว่าการโจมตีแล้วหลบฉากหนีตามปกติ
การโจมตีอย่างต่อเนื่องนี้เกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังจากที่รัฐสภาเลือก นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ โดยความรุนแรงของการโจมตีครั้งนี้สร้างความปั่นป่วนให้กับผู้พิทักษ์ความมั่นคงไทย นับเป็นเวลายืดเยื้ออีกหลายเดือนหลังผ่านพ้นการเลือกตั้ง และในที่สุดเมื่อรัฐบาลชุดใหม่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ การพูดคุยสันติสุขระหว่างรัฐบาลไทยและบีอาร์เอ็น หรือขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบหลักในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ก็คาดว่าน่าจะกลับมาดำเนินการอีกครั้ง
ขบวนการบีอาร์เอ็นใช้ปืนกลเอ็ม 60 ในการโจมตีครั้งแรกจากสามครั้งล่าสุด ในอำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นอาวุธหนักของทหารที่ต้องใช้คนสองคนในการควบคุม และมีการใช้ระเบิดมือ
จากเหตุการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง 4 นาย นั่นคือ ตำรวจ 2 นายและเจ้าหน้าที่อาสาสมัคร 2 ราย เสียชีวิต และตำรวจอีก 4 นาย ได้รับบาดเจ็บระหว่างการปะทะที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม ที่ผ่านมา การก่อเหตุรุนแรงครั้งนี้กินเวลานานกว่า 10 นาที นับเป็นช่วงเวลาการโจมตีโดยกลุ่มบีอาร์เอ็นที่ยาวนานมาก
เจ้าหน้าที่ทหารระบุว่า ในการโจมตีครั้งที่สอง ซึ่งเกิดขึ้นทันทีหลังจากครั้งแรก เจ้าหน้าที่ตำรวจถูกได้ถูกซุ่มยิงขณะผ่านหน้าวัดแห่งหนึ่ง ขณะเดียวกัน ห่างออกไปเพียง 1 กิโลเมตร เกิดเหตุระเบิดอย่างรุนแรงทำให้เสาไฟฟ้าล้ม และเกิดกลุ่มควันขนาดใหญ่ ทำให้กลุ่มก่อความไม่สงบบีอาร์เอ็นสามารถหลบหนีได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ซึ่งไม่ประสงค์ออกนามเพราะไม่ได้รับอนุญาตให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว กล่าวอีกว่า ระเบิดข้างทางมักจะเกิดขึ้นก่อนการซุ่มยิงโดยกลุ่มกบฏ แต่การยิงปะทะ ปกติมักใช้เวลาไม่นานเกินสามนาที
“ผมจำไม่ได้เลยว่ากลุ่มแบ่งแยกดินแดนใช้ปืนเอ็ม 60 ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่ เรารู้แค่ว่าพวกเขาได้ปืนเหล่านี้มาจากการปล้นปืนค่ายปิเหล็ง” เจ้าหน้าที่กล่าว ซึ่งหมายถึงการปล้นอาวุธของกลุ่มบีอาร์เอ็นเมื่อเดือนมกราคม 2547 ที่พวกเขาได้ขโมยอาวุธมากกว่า 350 ชิ้นจากคลังอาวุธของกองพันทหารบกในจังหวัดนราธิวาส
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี อ่านแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ในกรุงเทพฯ วันที่ 11 กันยายน 2566 (เอพี)
เจ้าหน้าที่ยังกล่าวด้วยว่า สิ่งที่รบกวนใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับเหตุโจมตีในจังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 28 ส.ค. ที่ผ่านมา ก็คือ มีการบันทึกวิดีโอขณะก่อเหตุจำนวนหลายคลิปและถ่ายจากหลายมุม โดยวิดีโอบางส่วนถูกถ่ายจากตำแหน่งที่กลุ่มก่อเหตุกำลังทำการยิง ส่วนภาพอื่น ๆ ก็ถูกถ่ายจากตำแหน่งที่ "ปลอดภัย" ราวกับว่าคนถ่ายวิดีโอรู้เรื่องนี้ล่วงหน้าก่อนการโจมตี
อย่างไรก็ตาม วิดีโอเหล่านี้ถูกโพสต์บนสื่อสังคมออนไลน์ ก่อนจะถูกลบออกอย่างรวดเร็ว เพื่อที่จะทำลายหลักฐานว่า ผู้โพสต์คือใคร และทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสับสน
นายกฯ คนใหม่ ไม่ได้ใส่ใจมากนัก
นักเคลื่อนไหวบางคนในภูมิภาค เช่น นายอาเต็ฟ โซะโก ผู้นำกลุ่มเดอะปาตานี ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำงานด้านการเมือง เพื่อสนับสนุนเจตจำนงของประชาชนในพื้นที่ความขัดแย้ง มองว่าการโจมตีต่อเนื่องครั้งนี้เป็นแนวทางของบีอาร์เอ็นในการ “ต้อนรับ” รัฐบาลชุดใหม่
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง นี่เป็นสัญญาณของสิ่งต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นสำหรับรัฐบาลของนายเศรษฐา ผู้ซึ่งในการกล่าวแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในสัปดาห์นี้ ได้เรียกร้องให้ประชาชนชาวไทยจากทุกเชื้อชาติ ศาสนา และอุดมการณ์ อยู่ร่วมกันอย่างปรองดอง
แต่เขาไม่ได้กล่าวถึงพื้นที่ชายแดนใต้เลยในการแถลงนี้ แม้จะเป็นพื้นที่ซึ่งมีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 7,300 ราย นับตั้งแต่ต้นปี 2547 เป็นต้นมา จากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับการก่อความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนใต้ ที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมมลายู
“เศรษฐาดูเหมือนจะไม่สนใจความขัดแย้งที่ปาตานี และเขาถูกรายล้อมไปด้วยผู้ที่ไม่อยากเห็นกระบวนการสันติภาพกลายเป็นวาระแห่งชาติ เพราะความขัดแย้งอาจนำไปสู่ในวาระนานาชาติได้” อัสมาดี บือเฮง นักเขียนชาวปัตตานีและผู้แต่ง “ระหว่างทางศรัทธา” ซึ่งตีพิมพ์เมื่อเดือนมีนาคม 2566 ระบุ
“การทำให้เป็นวาระนานาชาติ จะหมายถึงการแทรกแซงจากภายนอก และประเทศไทยไม่เคยต้องการให้เป็นเช่นนั้น” อัสมาดี กล่าวเพิ่มเติม
ที่ผ่านมาความขัดแย้งและการก่อความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ รวมถึงการเจรจาสันติภาพที่มาเลเซียเป็นตัวกลางให้รัฐบาลไทยและบีอาร์เอ็น มักถูกพรรคการเมืองของไทยมองข้ามไป
นั่นรวมถึงพรรคคนมลายูท้องถิ่น อย่างพรรคประชาชาติ ที่ทำคะแนนได้ดีในการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค. ซึ่งพรรคนี้หาเสียงโดยเน้นอัตลักษณ์ของชาวมุสลิมในท้องถิ่น โดยได้รับที่นั่งในรัฐสภาถึง 9 ที่นั่งจากทั้งหมด 15 ที่นั่งที่เป็นตัวแทนของประชาชนในภูมิภาค
ในสถานการณ์ที่เป็นประโยชน์ พรรคประชาชาติก็จะแสดงท่าทีที่เคร่งครัดในศาสนาอิสลาม และหันไปหาเสียงกับชนกลุ่มน้อยทางศาสนาในภูมิภาค เช่น การประณามการทำให้กัญชาถูกกฎหมายของประเทศไทยด้วยเหตุผลทางศีลธรรม แต่พรรคก็กลับเมินเฉยต่อกระบวนการสันติภาพและการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในพื้นที่
ประเด็นนี้ก็ไม่ได้รับความสนใจจากประชาชนไทยทั่วไป ซึ่งไม่เห็นใจผู้ที่ต้องเผชิญกับเรื่องราวความเป็นมาและอัตลักษณ์ที่รัฐไทยสร้างขึ้น หลายคนมองว่าการที่ชาวมลายูมุสลิมปฏิเสธที่จะยอมรับอัตลักษณ์ไทย เป็นความท้าทายประเทศชาติโดยตรง
ประชาชนลงคะแนนเสียงที่หน่วยเลือกตั้งระหว่างการเลือกตั้งทั่วไป จังหวัดปัตตานี วันที่ 14 พฤษภาคม 2566 (เอเอฟพี)
แหล่งข่าวที่เชื่อถือได้รายงานว่า พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง หัวหน้าพรรคประชาชาติ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมคนใหม่ จะได้รับการทาบทามให้เป็น ประธานคณะกรรมาธิการกำกับดูแลกระบวนการสันติภาพ แม้ว่าเขาจะไม่ยอมตอบคำถามใดเกี่ยวกับความเป็นไปได้นี้ก็ตาม ที่ผ่านมาตำแหน่งนี้มักจะตกเป็นของนายกรัฐมนตรี
พ.ต.อ. ทวี มีประวัติการทำงานและเกี่ยวข้องกับพื้นที่ชายแดนใต้โดยส่วนตัวมาอย่างช้านาน โดยเขาเคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ของศูนย์บริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่มีหลายหน่วยงาน ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งถูกโค่นล้มด้วยรัฐประหาร เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 นอกจากนี้ยังเป็นผู้รื้อฟื้นการนำกระบวนการสันติภาพระหว่างไทยและบีอาร์เอ็นกลับมา ซึ่งเริ่มขึ้นในกรุงกัวลาลัมเปอร์เมื่อสิบปีก่อน
หาก พ.ต.อ. ทวี รับตำแหน่งนี้ อาจต้องเผชิญความท้าทายอย่างมาก
การที่เขาใกล้ชิดกับครอบครัวชินวัตรนั้น มีราคาที่ต้องจ่าย มันทำให้เขาอยู่ฝั่งตรงข้ามกับฝ่ายกองทัพที่เป็นอนุรักษ์นิยม แม้ว่าพรรคประชาชาติอาจเป็นส่วนหนึ่งของแนวร่วมรัฐบาลชุดใหม่ของเศรษฐา ซึ่งรวมถึงพรรคฝ่ายทหารด้วย แต่ความแตกแยกทางการเมืองยังคงมีให้เห็นอยู่มาก
ยิ่งไปกว่านั้น กองทัพไทยไม่เคยชอบความคิดที่จะเจรจากับกลุ่มกบฏ เพราะพวกเขาเชื่อว่าวิธีการทางทหารสามารถยุติการก่อความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ที่ดำเนินมายาวนานได้
ที่ผ่านมากองทัพเลือกที่จะเรียกขบวนการแบ่งแยกดินแดนว่า เป็นกลุ่มอาชญากร ซึ่งเป็นไปในลักษณะเดียวกันกับกระทรวงการต่างประเทศที่เคยใช้คำนี้ พวกเขาคิดว่าการยอมรับสถานะทางการเมืองของกลุ่มก่อความรุนแรงมีแต่จะช่วยสร้างความชอบธรรมให้กับขบวนการแบ่งแยกดินแดนเท่านั้น
ดอน ปาทาน เป็นนักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงในประเทศไทยที่ทำงานเกี่ยวกับความขัดแย้งและการก่อความไม่สงบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความคิดเห็นในงานเขียนนี้เป็นความคิดเห็นของผู้เขียนเอง ไม่ใช่ของเบนาร์นิวส์