เมียนมา, เพื่อนบ้าน รวมทั้งไทย จัดการเจรจา Track 1.5 โดยไร้สมาชิกอาเซียน
2023.04.28
ในสัปดาห์เดียวกันนี้ เมื่อสองปีก่อน อาเซียนได้เจรจาฉันทามติ 5 ข้อกับกองทัพพม่าที่ทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 และจับกุมผู้นำหลายคนของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของเมียนมา ฉันทามติดังกล่าวเป็นแผนงานเพื่อยุติความรุนแรงและเริ่มการเจรจาทางการเมือง แต่เหล่าผู้นำทหารไม่มีเจตนาที่จะปฏิบัติตามแต่อย่างใด
ฉันทามติดังกล่าวเรียกร้องให้ยุติความรุนแรงทันที จัดการเจรจาระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แต่งตั้งผู้แทนพิเศษอาเซียน จัดหาความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมโดยอาเซียน และให้ผู้แทนพิเศษอาเซียนไปเยือนเมียนมาเพื่อพบปะกับทุกฝ่าย
รัฐบาลทหารพม่าได้เพิกเฉยต่อฉันทามติมาโดยตลอด และสู้รบกับพลเรือนของเมียนมาในหลายต่อหลายจุด จนถึงวันนี้มีผู้เสียชีวิตแล้วถึงกว่า 4,000 คน และรัฐบาลทหารพม่าได้จับกุมพลเรือนกว่า 17,000 คน และกว่า 150 คนถูกทรมานจนถึงแก่ชีวิต หรือเสียชีวิตในระหว่างถูกควบคุมตัว
อาเซียนยังพยายามอย่างไร้ผลต่อไป ที่จะใช้ฉันทามติห้าข้อนั้นเป็นพื้นฐานสำหรับการเจรจาทั้งหมด อาเซียนทำให้ประชาชนชาวเมียนมาผิดหวัง เพราะแทบจะไม่ได้ทำอะไรอย่างอื่นเลย นอกจากปฏิเสธไม่ให้รัฐบาลทหารพม่าเข้าร่วมการประชุมอาเซียน
เมื่อเดือนมีนาคม ไทยข้ามหัวอาเซียนเมื่อจัดการเจรจา Track 1.5 กับรัฐบาลทหารพม่าและประเทศสมาชิกอาเซียนจำนวนหนึ่งที่มีความคิดเหมือนกัน ประเทศที่เข้าร่วมการเจรจาดังกล่าวได้แก่ประเทศเผด็จการอย่างกัมพูชา ลาว และเวียดนาม พร้อมด้วยจีน อินเดีย บังกลาเทศ และญี่ปุ่น
มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการเจรจานั้น และดูเหมือนจะโกรธที่ไทยเจรจาโดยตรงกับรัฐบาลทหารพม่า และไม่ให้อภิสิทธิ์แก่อินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนปี 2566
ไทยไม่สนใจหรือไม่รู้สึกผิด และแย้งว่านั่นเป็นการเจรจา Track 1.5 ซึ่งหมายความว่า มีเจ้าหน้าที่รัฐบาลพร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญนอกภาครัฐจำนวนไม่กี่คนเข้าร่วม แต่เจ้าหน้าที่เหล่านั้นไม่ได้ปฏิบัติหน้าที่ราชการ ทว่าหลายคนไม่เชื่อคำพูดที่พยายามปิดบังความจริงนั้น เพราะ วันนา หม่อน ลวิน รัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลทหารพม่า อยู่ในการเจรจานั้นด้วยในขณะปฏิบัติหน้าที่ราชการ ตรงตามที่ไทยต้องการ
สัปดาห์นี้ อินเดียเป็นเจ้าภาพจัดการเจรจา Track 1.5 ครั้งที่สองกับไทย กัมพูชา ลาว บังกลาเทศ เวียดนาม และจีน อินโดนีเซียเข้าร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์ในฐานะประธานอาเซียน
ไทยหัวใสที่ปล่อยให้อินเดียเป็นเจ้าภาพจัดการเจรจาครั้งนี้ เพื่อเลี่ยงคำวิพากษ์วิจารณ์ว่าไทยพยายามข้ามหัวอาเซียน แต่การเจรจาซึ่งมีขึ้นเมื่อวันที่ 25 เมษายนนี้ อาจถูกอ้างว่าเป็นการพบปะกันของประเทศเพื่อนบ้านที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์ในเมียนมา ตลอดจนประเทศอื่น ๆ ที่ต้องการพยายามหาทางออกสำหรับสถานการณ์ดังกล่าว
โหยหาความชอบธรรม
ทว่านี่กลับเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่นานาชาติจะมอบความชอบธรรมแก่รัฐบาลทหารตามที่รัฐบาลโหยหายิ่ง การเจรจานี้มีขึ้นหลังจากความพยายามทางการทูตที่ล้มเหลวของ บัน คี-มูน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ
ไทยได้ส่งรัฐมนตรีต่างประเทศและผู้แทนพิเศษด้านเมียนมาของไทยไปพบกับ พล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย ในกรุงเนปิดอว์ การกระทำทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ความสัมพันธ์กับรัฐบาลทหารพม่าที่ควรถูกคว่ำบาตรโดยประชาคมระหว่างประเทศ กลับสู่ปกติ
ยิ่งไปกว่านั้น เป็นการยากที่จะอดคิดไม่ได้ว่าประเทศเพื่อนบ้านพวกนั้นไม่ได้เข้าข้างรัฐบาลทหารพม่า
อินเดียมีความเป็นประชาธิปไตยน้อยลงภายใต้รัฐบาลที่ไร้เสรีของนายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมดี ผู้ที่อ่อนแอในการควบคุมพื้นที่ทางภาคตะวันออกของประเทศ อินเดียยังเกรงด้วยว่ารัฐบาลทหารพม่าจะพึ่งพาจีนมากขึ้นไปอีก อินเดียไม่ต้องการอย่างมากที่จะเห็นจีนมีอิทธิพลต่อชายแดนอีกด้านของอินเดีย
บังกลาเทศหวังที่จะสานสัมพันธ์กับเมียนมา เพื่อแลกเปลี่ยนกับการส่งตัวชาวโรฮิงญาหลายพันคนกลับไปยังรัฐยะไข่ของเมียนมา
ขณะที่ไทยมองตัวเองว่าเป็นต้นแบบทางการเมืองให้แก่รัฐบาลทหารพม่าในการจัดการเลือกตั้งและรักษาอำนาจไว้
ไม่ปล่อยให้เกิดความเสี่ยง
นอกจากจีนจะไม่ปล่อยให้เกิดความเสี่ยงอีกต่อไปแล้ว ยังได้เพิ่มความพยายามที่จะให้รัฐบาลทหารพม่าปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ท่อน้ำมัน และโครงสร้างพื้นฐาน Belt and Road Initiative ของจีน
เมื่อเร็ว ๆ นี้ จีนพยายามกดดันบรรดากลุ่มชาติพันธ์ุติดอาวุธ (ERO) กลุ่มต่าง ๆ ที่สนับสนุนรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาของเมียนมา หรือที่อาจจัดหาอาวุธให้แก่กองกำลังป้องกันประชาชนของฝ่ายตนอย่างเงียบ ๆ เนื่องจากกลัวว่ารัฐบาลทหารเมียนมาจะเสียเปรียบ
ขณะที่เมียนมาเพิ่มการโจมตีทางอากาศ กองทัพอากาศเมียนมาได้ละเมิดน่านฟ้าของไทย บังกลาเทศ และอินเดีย แต่ไม่มีประเทศใดยื่นคำร้องทางการทูต นี่เป็นสัญญาณที่ชัดเจนถึง NUG
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า หัวข้อการสนทนาของการเจรจา Track 1.5 ในอินเดียคือ ความเป็นได้ในการให้ NUG เข้าร่วมในกระบวนการเจรจา นี่ดูเหมือนจะไม่มีทางเป็นไปได้เลย เพราะรัฐบาลทหารปฏิเสธที่จะพูดคุยกับผู้นำของ NUG มาโดยตลอด และตราหน้าคนเหล่านั้นอย่างเป็นทางการว่าเป็น “ผู้ก่อการร้าย”
ดูเหมือนว่านี่เป็นความพยายามระงับคำวิพากษ์วิจารณ์ของนานาประเทศเกี่ยวกับการจัดการเจรจาดังกล่าวขึ้น
ขณะที่รัฐบาลทหารกำลังวุ่นอยู่กับการสู้รบหลายจุดที่ไม่มีทางชนะ แต่รัฐบาลทหารก็มีทฤษฎีแห่งชัยชนะ
กองทัพได้เพิ่มการโจมตีพลเรือน เพื่อข่มขวัญให้ยอมจำนน มีการฆ่าตัดหัวและตัดแขนขา ข่มขืน และทำลายบ้านเรือนมากขึ้น นอกจากนี้ยังได้เพิ่มการโจมตีทางอากาศ กองทัพทำเช่นนั้นได้ด้วยการเพิ่มงบประมาณ 50% สำหรับปี 2566 ให้แก่ตนเอง
รัฐบาลทหารพยายามมากขึ้นที่จะทำให้ NUG ขาดเงินทุน รวมทั้งการขู่ที่จะขังคุกเด็กที่มีเกมบนโทรศัพท์ ซึ่งรายได้จากเกมนั้นนำไปสนับสนุน NUG
หลังจากที่เพิ่งตัดสิทธิ์พรรคการเมืองจำนวนหนึ่งที่ไม่ลงทะเบียนภายใต้กฎหมายใหม่ว่าด้วยการเลือกตั้ง หรือที่สื่อสารกับ “กลุ่มก่อการร้าย” กองทัพพม่ายังคงวางแผนต่อไปสำหรับ “การเลือกตั้ง”
สมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) จำนวนกว่า 1,200 คนถูกขังอยู่ในเรือนจำ ขณะที่กองทัพพม่าได้ยึดทรัพย์สินของสมาชิก NLD จำนวนกว่า 600 คน
ประการสุดท้าย รัฐบาลทหารพม่าพยายามลดการสนับสนุนของ ERO ที่มีต่อ NUG โดยการเสนอข้อตกลงต่าง ๆ ให้ การยอมให้จีนกดดัน หรือปล่อยให้ความไม่ไว้วางใจต่อ NUG ปรากฏขึ้นเอง
รัฐบาลทหารเชื่อว่าตนได้เปรียบเรื่องเวลา และจะสามารถสู้จนชนะได้ ความชอบธรรมที่นานาประเทศมอบให้แก่ตนนั้นจะช่วยให้ตนบรรลุเป้าหมายนี้ได้
ซาคารี อาบูซา เป็นอาจารย์ประจำที่เนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ และอาจารย์พิเศษ ที่มหาวิทยาลัยจอร์จ ทาวน์ ในกรุงวอชิงตัน ความคิดเห็นที่แสดงไว้ในบทความนี้เป็นของผู้เขียนเอง และไม่ได้สะท้อนถึงจุดยืนของกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ เนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ มหาวิทยาลัยจอร์จ ทาวน์ หรือ เบนาร์นิวส์