โยงสัมพันธ์ ส.ว. ไทย กับนักธุรกิจเมียนมาที่ถูกจับ ประเด็นร้อนก่อนการเลือกตั้ง

บทวิเคราะห์โดย ซาคารี อาบูซา
2023.03.30
โยงสัมพันธ์ ส.ว. ไทย กับนักธุรกิจเมียนมาที่ถูกจับ ประเด็นร้อนก่อนการเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเข้าประชุมร่วมกันที่รัฐสภา ในกรุงเทพฯ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2563
ศักดิ์ชัย ลลิต/เอพี

ก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน และนายอุปกิต ปาจรียางกูร วุฒิสมาชิก มีการตอบโต้กันเรื่องความสัมพันธ์ของ นายอุปกิต กับนักธุรกิจเมียนมารายหนึ่งที่รัฐบาลสหรัฐฯ คว่ำบาตร ฐานลักลอบขายอาวุธเถื่อนและอาชญากรรมอื่น ๆ

การโต้เถียงกันนี้เผยให้เห็นความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างชนชั้นนำของทั้งไทยและเมียนมาที่หนุนโดยทหาร และยังสร้างความกังขาในสิทธิ์ของฝ่ายค้าน ในการตั้งคำถามกับบุคคลสำคัญของรัฐบาล และเสรีภาพของสื่อมวลชนในการรายงานเรื่องดังกล่าว

แม้จะปฏิเสธและบ่ายเบี่ยงเรื่องนี้ แต่นายอุปกิตได้เคยร่วมทำธุรกิจกับ นายตุน มิน ลัต นักธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับการเมืองมากที่สุดคนหนึ่งของเมียนมา ผู้ที่ถูกจับในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนกันยายน 2565 ในข้อหาฟอกเงินและค้ายาเสพติด

นายอุปกิต เป็นหนึ่งในวุฒิสมาชิก 250 คนที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลทหาร ครอบครัวของเขามีความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับกลุ่มชนชั้นนำและทหารระดับสูง บิดาของเขาเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ ระหว่างปี 2519 ถึง 2523 ในสมัยรัฐบาลของ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร และพล.อ. เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ซึ่งทั้งสองรัฐบาลได้รับการหนุนหลังจากทหาร

นายตุน มิน ลัต วัย 53 ปี มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ พล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย ผู้นำรัฐบาลทหารของเมียนมา และเป็นนายหน้าค้าอาวุธให้แก่กองทัพเมียนมา ผ่านกลุ่มบริษัทสตาร์แซฟไฟร์ที่ถูกคว่ำบาตร

เขาถูกกล่าวหาว่า นำเข้าอาวุธจากบริษัทของอิสราเอล คือ Elbit Systems, Israel Shipyards, Israel Aerospace Industries และครั้งหนึ่ง บริษัทสตาร์แซฟไฟร์เคยเป็นตัวแทนจดทะเบียนของ NORINCO กลุ่มบริษัทค้าอาวุธที่รัฐบาลจีนเป็นเจ้าของ ลูกสาวของ พล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย และทหารระดับสูงในกองทัพเมียนมา เป็นผู้ถือหุ้นของสตาร์แซฟไฟร์ด้วย

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้คว่ำบาตรนายตุน มิน ลัต, นางวิน มิน โซ ผู้เป็นภรรยา และสามบริษัทที่ทั้งคู่ถือหุ้นอยู่ คือ กลุ่มบริษัทสตาร์แซฟไฟร์ และบริษัทลูกสองบริษัท

นายตุน มิน ลัต และนายอุปกิต ได้เป็นเจ้าของบริษัทหลายแห่งร่วมกัน รวมทั้ง เดอะเมียนมา อัลลัวร์กรุ๊ป ซึ่งสร้างโรงแรมและบ่อนคาสิโน และบริษัทพลังงานหลายแห่ง รวมทั้ง ยูไนเต็ดพาวเวอร์ออฟเอเชีย และบริษัทลูกในเมียนมา ทั้งคู่เป็นหุ้นส่วนในธุรกิจของกันและกัน และมีเอกสารที่แสดงความเชื่อมโยงของสองคนนี้มานาน 24 ปี

เว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ประชาไทภาคภาษาอังกฤษรายงานว่า จากข้อกล่าวหาที่ยื่นฟ้องในเดือนธันวาคม 2565 หลังการจับกุมตัว นายตุน มิน ลัต เมื่อสามเดือนก่อนหน้านั้น ระบุว่า นาย ตุน มิน ลัต ใช้บริษัทของเขาและของนายอุปกิต เป็นตัวกลางในการโอนเงินที่ได้จากการขายยาเสพติดไปยัง บริษัท อัลลัวร์ กรุ๊ป (พีแอนด์อี) ของเขา ซึ่งซื้อกระแสไฟฟ้าจากยูไนเต็ดพาวเวอร์ออฟเอเชีย และขายให้แก่พื้นที่ตามชายแดนเมียนมา เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2566 นายตุน มิต ลัต และจำเลยอีกสามคน ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาและไม่สารภาพยอมรับผิด

นายอุปกิตอ้างว่า เมื่อตอนที่เขาได้รับแต่งตั้งเป็นวุฒิสมาชิก เขาได้ขายหุ้นของเขาไปแล้วในปี 2562 ให้แก่สองบริษัทที่เขามีผลประโยชน์ร่วมมาก แต่เขายังคงมีผลประโยชน์บางส่วนในบริษัทเหล่านั้น ลูกเขยของเขาก็เคยมีหุ้นในทั้งสองบริษัท และยังเคยดำรงตำแหน่งกรรมการของหนึ่งในบริษัทนั้นด้วย

ผมยอมรับมาตั้งแต่ต้น ตั้งแต่วันแรก ตั้งแต่ ตุน มิน ลัด เขาโดนจับว่า ผมรู้จักกับเขา ผมรู้จักมาเป็นสิบ ๆ ปีแล้ว ผมไปทำธุรกิจในบ้านเขา ผมก็ปรึกษาเขา เวลาเขามาทำธุรกิจในบ้านผม เขาก็ปรึกษาผมนะครับ แต่ไม่ได้หมายความว่า ผมอยู่เบื้องหลังอย่างโง้นอย่างงี้ … ผมขอสาบานต่อหน้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมดในสากลโลก ผมและครอบครัวไม่เคยยุ่งเกี่ยวกับธุรกิจยาเสพติด” นายอุปกิตกล่าว

เรื่องฉาวโฉ่อะไรบ้าง

ในแวดวงการเมืองไทย กรณีข้อกล่าวหา ส.ว. พัวพันกับเจ้าพ่อยาเสพติดนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน เพราะเมื่อปี 2562 พรรคพลังประชารัฐ แกนนำรัฐบาล ได้รอดพ้นจากความอื้อฉาวโกลาหล เนื่องจากก่อนหน้านั้นมีการเปิดเผยออกมาว่า ศาลออสเตรเลียได้ตัดสินโทษ นายธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร ฐานลักลอบขนยาเสพติดเข้าออสเตรเลีย

แต่กรณีของนายอุปกิตนี้ยิ่งหนักกว่า เพราะความเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับรัฐบาลทหารของเมียนมา ที่ได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ในระหว่างเข้าตรวจค้นห้องพักคอนโดฯ ในกรุงเทพฯ ของนายตุน มิน ลัต เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจยึดทรัพย์สินมูลค่าราว 1,400 ล้านบาท รวมทั้งทรัพย์สินของบุตรสองคนของพล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย ผู้นำรัฐประหารในเมียนมา มูลค่ากว่า 35 ล้านบาท คือ โฉนดที่ดินปี 2560 ของคอนโดมิเนียมหรู 4 ห้องนอนในโครงการเดียวกันนั้น และสมุดบัญชีสองเล่ม เบนาร์นิวส์รายงาน

จากนั้น มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไทยได้ออกหมายจับ นายอุปกิต เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2565 แต่ก็ถอนหมายจับ ในวันเดียวกันนั้นเอง

เอกสารภายในของศาล ซึ่งถูกโพสต์ลงในหน้าเฟซบุ๊กของนายรังสิมันต์ โรม โฆษกพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ระบุเหตุผลของการถอนหมายจับดังกล่าว ซึ่งอ้างว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูงไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่ถูกต้อง

ต่อมา มีการส่งหมายเรียกแก่ นายอุปกิต เพื่อมาให้เจ้าหน้าที่สอบปากคำ แต่ก็ยังไม่มีการสอบปากคำเกิดขึ้น

เมื่อเริ่มเป็นข่าวอื้อฉาว นายอุปกิตจึงออกมาโจมตีบ้าง

เขาปฏิเสธข้อกล่าวหาที่มีต่อเขาและลูกเขยของเขาคือ ดีน กุลตูลา (Dean Gultula) ซึ่งถูกจับกุมและถูกตั้งข้อหาพร้อมกับนายตุน มิน ลัต นายอุปกิต บอกว่า นั่นเป็น “ข่าวปลอม

เจ้าหน้าที่ตำรวจสองนายที่ขอหมายจับถูกย้ายไปประจำการที่อื่น คนหนึ่งถูกย้ายไปไกลที่จังหวัดชัยภูมิ เมื่อมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกิดขึ้น ผู้บัญชาการตำรวจได้สั่งให้มีการสอบสวนอย่างละเอียด แต่ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธว่า เจ้าหน้าที่สองคนนั้นไม่ได้ถูกลงโทษ และบอกว่าการย้ายนั้นเป็นเรื่องปกติ

นายอุปกิตยังยื่นฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจสองนายดังกล่าว ต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

เมื่อวันที่ 15 มีนาคม หนึ่งในเจ้าหน้าที่ตำรวจสองนายนั้นถูกปลด ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชน และสมาคมตำรวจ สมาคมโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และสมาคมพนักงานสอบสวน ได้ออกแถลงการณ์ร่วมฉบับหนึ่ง

ในระหว่างการอภิปรายของรัฐสภาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ นายรังสิมันต์ ได้ตำหนิรัฐบาลที่ล้มเหลวในการจัดการกับยาเสพติดปริมาณมหาศาลที่ถูกนำเข้ามาในไทยจากเมียนมา

แม้เขาจะไม่ได้เอ่ยชื่อนายอุปกิตออกมา แต่เขาก็พาดพิงถึงความเชื่อมโยงของ ส.ว. คนดังกล่าวกับนายตุน มิน ลัต

นายอุปกิต ปฏิเสธข้อกล่าวหาเหล่านั้น และได้ยื่นฟ้องนายรังสิมันต์ ฐานหมิ่นประมาท โดยเรียกค่าเสียหาย 100 ล้านบาท พร้อมกับฟ้องทนายความคนหนึ่ง และผู้ดำเนินรายการสองคนของไทยพีบีเอสที่สัมภาษณ์เขา อีกสองคดี ฐานหมิ่นประมาท

ในการอภิปรายของรัฐสภาอีกครั้ง นายรังสิมันต์ได้เรียกร้องให้มีการสอบสวนกรณีกล่าวหาว่ามีการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งให้สอบสวนอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา หลังจากนั้นเขาก็ได้เรียกร้องให้มีการตรวจสอบทรัพย์สินของนายอุปกิต

คณะกรรมการศาลฎีกา

ประธานศาลฎีกาพยายามเบี่ยงเบนการสอบสวนของรัฐสภา โดยได้ตั้งคณะกรรมการค้นหาข้อเท็จจริงของเขาเองขึ้น

ด้วยความกลัวว่าข่าวเรื่องความเชื่อมโยงระหว่างนายอุปกิต และนายตุน มิน ลัต อาจส่งผลกระทบทางการเมืองก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพรรคพวก จึงได้ออกมาโจมตีนายรังสิมันต์

พล.อ. ประยุทธ์ ปฏิเสธว่าไม่ได้ช่วยนายอุปกิต หรือไม่ได้แทรกแซงให้หยุดการสอบสวน

แต่นายอุปกิตและวุฒิสมาชิกอีก 249 คน มีบทบาทสำคัญในการเลือกนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ ซึ่งได้รับคะแนนนิยมน้อยในการสำรวจความคิดเห็นเมื่อเร็ว ๆ นี้ของผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียง จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากวุฒิสมาชิกเหล่านี้ นอกจากนี้ นายอุปกิตยังเป็นเจ้าของตึก ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของพรรครวมไทยสร้างชาติของ พล.อ. ประยุทธ์ ด้วย

ตอนนี้ นายรังสิมันต์ ผู้เป็นสมาชิกพรรคฝ่ายค้าน ส.ส. พรรคก้าวไกล กำลังเผชิญอันตรายทางการเมือง เพราะเขาไม่ตอบหมายเรียกสองหมายของตำรวจ หลังจากถูกกล่าวหาในคดีหมิ่นประมาท ทั้ง ๆ ที่ตัวเขาได้รับการคุ้มครองจากรัฐธรรมนูญในฐานะสมาชิกรัฐสภา ทำให้ผู้คนยิ่งสงสัยกันมากขึ้นว่านี่เป็นความพยายามที่มีแรงจูงใจทางการเมืองที่จะสงบปากสงบคำโฆษกพรรคก้าวไกลคนนี้ ก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอีกไม่นานนี้หรือไม่

ขณะเดียวกัน เป็นที่คาดกันว่าสภาบริหารแห่งรัฐ ซึ่งเป็นชื่อทางการของรัฐบาลทหารเมียนมา จะผลักดันให้มีการปล่อยตัวนายตุน มิน ลัต เพื่อให้เขาถูกส่งตัวกลับเมียนมาไปสร้างความมั่งคั่งให้แก่รัฐบาลทหารเมียนมา ครอบครัวของคนในรัฐบาล และเป็นนายหน้าขายอาวุธให้แก่รัฐบาลทหารต่อไป

รัฐบาลของพล.อ. ประยุทธ์ ถูกคนจำนวนมากมองว่าเห็นอกเห็นใจรัฐบาลทหารเมียนมา เนื่องจากตัวเขาเองก็ยึดอำนาจการปกครองด้วยการทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 เช่นกัน ก่อนที่จะกระชับอำนาจของตัวเองโดยกระบวนการทางการเมืองที่บกพร่อง ซึ่งรัฐบาลทหารเมียนมาก็คงอยากจะเลียนแบบเช่นกัน

ทั้งหมดนี้เป็นการทดสอบระบบกฎหมายของไทย ถ้าไม่มีการสอบสวนนายอุปกิต ซึ่งน่าจะเป็นเช่นนั้นจริง ๆ ก็จะเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นนำที่หนุนโดยทหารทั้งในไทยและเมียนมา ก็ยังดำเนินต่อไปเหมือนเดิม

ซาคารี อาบูซา เป็นอาจารย์ประจำที่เนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ และอาจารย์พิเศษ ที่มหาวิทยาลัยจอร์จ ทาวน์ ในกรุงวอชิงตัน ความคิดเห็นที่แสดงไว้ในบทความนี้เป็นของผู้เขียนเอง และไม่ได้สะท้อนถึงจุดยืนของกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ เนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ มหาวิทยาลัยจอร์จ ทาวน์ หรือ เบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง