กลุ่มอำนาจเก่า พยายามอย่างหนักเพื่อคงอำนาจ

บทวิเคราะห์โดย ซาคารี อาบูซา
2022.07.28
กลุ่มอำนาจเก่า พยายามอย่างหนักเพื่อคงอำนาจ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย (ขวา) ทักทายต้อนรับ นายอิสมาอิล ซาบรี ยาคอบ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เมื่อเดินทางมาถึง ทำเนียบรัฐบาล ในกรุงเทพฯ 25 กุมภาพันธ์ 2565
แจ็ค เทย์เลอร์/เอพี

ประเทศไทยและมาเลเซียต่างได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วง โดยเฉพาะจากวิกฤตโควิด-19

แต่ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา การเมืองในทั้งสองประเทศกลับถอยหลังลงคลองมากขึ้น ซึ่งได้บั่นทอนความหวังที่จะมีนโยบายใหม่ ๆ มารับมือกับปัญหาเศรษฐกิจหลังวิกฤตโควิด ความไม่เท่าเทียมกันที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และความสามารถในการจัดการกับความแตกแยกอย่างมากทางสังคม

ไทยจะจัดให้มีการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2566 และมาเลเซียในเดือนกันยายนปีเดียวกัน

เห็นได้ชัดว่าประชาชนทั้งสองประเทศต้องการความเปลี่ยนแปลง มีกลุ่มหัวก้าวหน้าที่ต้องการพลิกระบบการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศ แต่พวกอำนาจเก่าทางการเมืองในทั้งสองประเทศก็กำลังพยายามอย่างหนักที่จะปิดปากคนกลุ่มนี้

ประเทศไทย 

การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อเดือนพฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นถึงความพอใจอย่างชัดเจนต่อผู้สมัครหัวก้าวหน้า โดยเฉพาะจากชนชั้นกลางในเขตเมือง ผู้เอือมระอากับความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลทหารในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ อดีตรักษาการ ผู้ว่าฯ ที่รัฐบาลทหารสนับสนุนและลงสมัครด้วย ได้คะแนนโหวตต่ำอย่างน่าขายหน้าเป็นอันดับ 5

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีจำนวน 10 คน รอดอย่างสบาย ๆ จากการโหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจ ซึ่งครั้งนี้นับเป็นครั้งที่สี่ที่มีขึ้นนับตั้งแต่ปี 2562 ทั้งนี้เป็นเพราะรัฐบาลมีเสียงข้างมากในสภา แต่เป้าหมายการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลครั้งนี้คือ เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของนายกรัฐมนตรี ผู้ไม่เป็นที่นิยมของประชาชน และพรรคร่วมรัฐบาล ก่อนการเลือกตั้งปี 2566

หนึ่งในผู้ที่ถูกโหวตไม่ไว้วางใจคือ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

นายอนุทิน เป็นหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ซึ่งมี ส.ส. 51 ที่นั่ง (ร้อยละ 10) ในสภา และเป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่สำคัญของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พรรคภูมิใจไทยอยู่ในสถานะที่ค่อนข้างลำบากในการเลือกตั้งครั้งต่อไป

ขณะที่ พรรคฝ่ายค้านกำลังมุ่งความพยายามไปที่พรรคร่วมรัฐบาลที่มีจุดอ่อนมากกว่า

จากผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ถามว่าต้องการให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรี ลูกสาววัย 35 ปี ของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้คะแนนสูงกว่า พลเอก ประยุทธ์ มาก และ พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ได้คะแนนการสนับสนุนจากประชาชนถึงร้อยละ 36 ตามด้วยพรรคก้าวไกล (ร้อยละ 18) พรรคพลังประชารัฐที่เป็นพรรครัฐบาล ได้คะแนนเพียงร้อยละ 7

 220728-th-my-abuza-politics1.jpg

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี (ขวา) พูดคุยกับ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ หลังจากได้รับคะแนนไว้ใจจาก ส.ส. ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ที่รัฐสภา ในกรุงเทพฯ วันที่ 23 กรกฎาคม 2565 (ศักดิ์ชัย ลลิต/เอพี)  

ไม่เป็นที่แน่ชัดว่า พลเอก ประยุทธ์ จะได้รับตำแหน่งนายกฯ อีกวาระหรือไม่ แม้ตนเองหวังว่าว่าได้ก็ตาม แม้พรรคร่วมรัฐบาลก็พยายามตีตัวออกห่างจากเขาในบางครั้ง เนื่องจากความไม่เป็นที่นิยมและการจัดการเศรษฐกิจอย่างผิดพลาดของเขา

พลเอก ประยุทธ์ก็ได้รู้แล้วว่าสมาชิกพรรคร่วมรัฐบาลจำนวน 16 คน เอาใจออกห่าง พปชร. แล้ว และไม่นานมานี้ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้นำรัฐประหารอีกคน บอกว่า เรื่องรัฐประหาร ประยุทธ์ทำคนเดียว 

พรรคร่วมรัฐบาลมองว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นตัวถ่วงในการเลือกตั้งครั้งต่อไป แต่ พปชร. ก็ไม่สามารถหาคนอื่นที่มีภาษีดี ท่าทางดี และเป็นที่นิยม มาแทนเขาได้

ทหารยังคงมีข้อได้เปรียบหลายอย่างในการเลือกตั้ง รวมทั้งวุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด ซึ่งจะเป็นผู้ออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี ระบบปาร์ตี้ลิสต์ที่ไม่มีใครเข้าใจ การแบ่งเขตเลือกตั้งอย่างไม่ยุติธรรม การแบ่งสัดส่วนเสียงอย่างไม่เหมาะสม กฎหมายมากมายที่ทำให้ฝ่ายค้านเสียเปรียบ และคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ปราศจากความเป็นเอกเทศ

รัฐบาลยังคงใช้มาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นอาวุธต่อไป เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ตั้งข้อหา นายปิยบุตร แสงกนกกุล หัวหน้าพรรคก้าวไกล ฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

อดีตหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านที่เป็นที่นิยมในหมู่คนรุ่นใหม่ ก็ได้เผชิญกับความท้าทายทางกฎหมายและข้อหาอาญามากมาย ก่อนการเลือกตั้งเสียอีก จึงต้องรอดูกันว่า จุดยืนทางการเมืองของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พรรคอนาคตใหม่ จะขยับกลับมาในวงจรการเมืองได้แค่ไหน หลังจากที่เขาก่อตั้งพรรคนี้ขึ้นมา และยังชนะที่นั่งในสภามากเป็นอันดับที่สามในปี 2562

เจ้าหน้าที่ของไทยออกมายอมรับว่า มีการใช้ซอฟต์แวร์สอดส่องผู้ต่อต้านรัฐบาลเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย ขณะเดียวกัน สภายังคงพิจารณาผลักดัน ร่างพ.ร.บ.เอ็นจีโอ ต่อไป แม้จะได้รับการต่อต้านจากฝ่ายตรงข้าม

มาเลเซีย

ในการเลือกตั้งทั่วไปปี 2561 ของมาเลเซีย ประชาชนรู้สึกไม่พอใจอย่างหนักกับการทุจริตและการเมืองคร่ำครึที่ยึดเชื้อชาติเป็นหลัก จนเป็นผลให้แนวร่วมพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล หรือ Barisan Nasional ที่นำโดยชาวมาเลย์ พ่ายแพ้การเลือกตั้งเป็นครั้งแรกในรอบ 61 ปี ทั้งที่ก่อนหน้านั้นมีความหวังเพียงริบหรี่เท่านั้นที่มาเลเซียจะก้าวพ้นการเมืองอัตลักษณ์แบบเก่า และยอมรับพรรคการเมืองที่ไม่ยึดถือระบบเชื้อชาติ

แต่ความเปลี่ยนแปลงนั้นอยู่ได้ไม่นาน โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 พรรคการเมืองที่นำโดยชาวมาเลย์ ทั้งภายในรัฐบาลเองและฝ่ายค้านที่ไร้เกียรติ ได้ก่อรัฐประหารทางการเมืองและจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้น โดยล้มล้างเจตจำนงของผู้ออกเสียงเลือกตั้งครั้งที่เพิ่งผ่านมา

รัฐบาลของนายอิสมาอิล ซาบรี ยาค็อบ เป็นรัฐบาลผสมที่อ่อนแอ พรรคร่วมรัฐบาลต่างแข่งกันเอาผลประโยชน์ สมาชิกแต่ละคนพยายามแย่งชิงคะแนนเสียงจากผู้มีสิทธิ์ออกเสียงกลุ่มเดียวกัน

นายอิสมาอิล ซาบรี นายกรัฐมนตรี เป็นคนประนีประนอมที่มีฐานสนับสนุนเพียงเล็กน้อย ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเขามาจากชนชั้นนำที่ทุจริตและเสื่อมเสียในพรรคอัมโน ผู้ที่กลับคืนสู่อำนาจอีกครั้ง

นายนาจิบ ราซัก อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกตัดสินว่ามีความผิดในคดีที่เกี่ยวข้องกับบริษัทในเครือของกองทุนวันเอ็มดีบี แม้กระนั้นเขาก็ยังต้องการแก่งแย่งชิงอิทธิพลต่อไป

การอุทธรณ์ครั้งสุดท้ายของเขาจะมีขึ้นในกลางเดือนสิงหาคม แต่แม้ศาลจะยืนตามคำตัดสินเดิม ก็ยังเป็นที่สงสัยกันว่า เขาจะได้รับโทษจริงหรือไม่ 

 220728-th-my-abuza-politics2.jpg

นายนาจิบ ราซัก อดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย (กลาง) มาถึงศาลสูงกัวลาลัมเปอร์ เพื่อฟังคำตัดสินในการพิจารณาคดีทุจริตครั้งแรกของเขา ซึ่งเชื่อมโยงกับเรื่องอื้อฉาวทางการเงิน 1MDB เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2563 [เอส. มาห์ฟุซ/เบนาร์นิวส์]

กลุ่มอำนาจเก่าในพรรคอัมโน ได้พยายามลิดรอนอำนาจของตุลาการ แม้ผู้พิพากษาที่ตัดสินคดีของนายนาจิบ เองก็เคยโดนข้อหาทุจริตมาก่อน การใช้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตของมาเลเซียเป็นอาวุธในการปราบปรามคู่แข่งทางการเมือง ส่งผลให้บรรดาทนายความในประเทศ ผู้มองว่าการกระทำนี้เป็นการทำลายระบบตุลาการที่เป็นเอกเทศของประเทศ หยุดงานประท้วงกัน

ความคลั่งชาติและการสิ้นสุดความอดทนของชาวมาเลย์กำลังเพิ่มมากขึ้น ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลต่างพยายามเอาอกเอาใจผู้มีสิทธิ์ออกเสียงชาวมาเลย์ การโยนความผิดให้ชนกลุ่มน้อยมักเป็นวิธีที่ได้ผลในการรณรงค์หาเสียงที่นักการเมืองชาวมาเลย์ใช้กัน

ขณะที่นายกฯ อิสมาอิล ซาบรี ต้องกังวลเกี่ยวกับการถูกโจมตีจากรัฐบาลผสมของเขาเอง และความท้าทายในการเป็นผู้นำเก่าจากพรรคอัมโน อย่างนายอาหมัด ซาฮิด ฮามิดี และนายนาจิบ แต่เขาไม่ต้องเป็นกังวลกับปัญหาความท้าทายจากฝ่ายค้าน

พรรคยุติธรรมประชาชน (The People’s Justice Party - PKR) ได้เผชิญกับความท้าทายในการเป็นผู้นำและความขัดแย้งภายในพรรคเอง นายอันวาร์ อิบราฮิม อดีตรองนายกรัฐมนตรี ปฏิเสธที่จะโอนอำนาจให้แก่ผู้นำรุ่นใหม่ ก่อให้เกิดความแตกแยกขึ้นภายในพรรค นี่เป็นการถอยหลังอย่างรุนแรงจากปี 2561 เมื่อพรรคนี้ได้รับที่นั่งในสภามากที่สุด

แม้พรรคกิจประชาธิปไตย (Democratic Action Party - DAP) จะยังคงแข็งแกร่ง และมีผู้นำรุ่นใหม่ที่มีท่าทีน่าสนใจ เช่น ลก เซียว ฟุก (แอนโธนี ลก) ผู้ที่สามารถดึงดูดผู้สมัครที่มีภาษีดี มีความสามารถ และไร้มลทิน มาเข้าพรรคและส่งคนเหล่านี้ลงสนามเลือกตั้ง แต่มีข้อจำกัดการเลือกตั้งที่ว่า พรรคที่ประชาชนทั่วไปมองว่าเป็นพรรคชาติพันธุ์จีน จะสำเร็จได้แค่ไหนในระดับประเทศ

เมื่อฝ่ายตรงข้ามกำลังวุ่นวาย นาจิบ และซาฮิด และนักการเมืองกลุ่มอำนาจเก่าคนอื่น ๆ ต่างเห็นลางไม่ดี จึงเร่งให้มีการเลือกตั้งเร็วขึ้นภายในสองสามเดือนข้างหน้านี้ โดยหวังที่จะรอดพ้นจากคดีคดีความทางกฎหมาย หากดูเหมือนว่า อิสมาอิล ซาบรี ตั้งใจที่จะชะลอการเลือกตั้งออกไปให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะไม่แน่ใจว่าเขาหรือนายนาจิบ จะได้เป็นผู้นำของพรรคหรือไม่ 

สำคัญจริงหรือ 

นักการเมืองกลุ่มอำนาจเก่าในทั้งสองประเทศกำลังพยายามผลักดัน และจะทำทุกวิถีทางเพื่อรักษาอำนาจไว้ 

ในไทย มีความเป็นไปได้มากที่จะเกิดการประท้วงอย่างรุนแรงในกรุงเทพฯ ขึ้นอีกครั้ง ถ้าเจตจำนงของประชาชนถูกขัดขวางอีกครั้ง อย่างที่หลาย ฯ คน คาดว่าจะเกิดขึ้น 

ในมาเลเซีย ความกังวลเกี่ยวกับความรุนแรงทางการเมืองบนท้องถนนมีน้อยกว่าไทย แต่การประท้วงเรื่องราคาอาหารและเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นมีอยู่เรื่อย ๆ และอาจกลายไปเป็นความเคลื่อนไหวที่ใหญ่ขึ้นเพื่อต่อต้านรัฐบาล 

ทั้งสองกรณี การกลับมาของกลุ่มอำนาจเก่า จะทำให้ทั้งสองประเทศถอยหลังลงคลอง ในขณะที่ทั้งสองประเทศจำเป็นต้องมีการปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจอย่างจริงจัง เพื่อคงความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ

ซาคารี อาบูซา เป็นอาจารย์ประจำที่เนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ และอาจารย์พิเศษ ที่มหาวิทยาลัยจอร์จ ทาวน์ ในกรุงวอชิงตัน ความคิดเห็นที่แสดงไว้ในบทความนี้เป็นของผู้เขียนเอง และไม่ได้สะท้อนถึงจุดยืนของกระทรวงกลาโหมของสหรัฐฯ เนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ มหาวิทยาลัยจอร์จ ทาวน์ หรือ เบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง