ความจริงใจของไทยกับข้อเสนอ “หยุดยิงชั่วคราว” เดือนรอมฎอน
2023.04.10

ในสารจากคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งดูเหมือนเป็นการโหมโรงต้อนรับเดือนแห่งการถือศีลอด ฝ่ายไทยได้เรียกร้องให้ขบวนการบีอาร์เอ็นลดละความเป็นปฏิปักษ์ต่อกันในเดือนรอมฎอนอันศักดิ์สิทธิ์นี้
ในสารที่คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขของไทยได้เสนอผ่านสาธารณชนไปยังบีอาร์เอ็นให้ยุติความรุนแรงในเดือนรอมฎอนนี้ มีเนื้อความว่า ทางคณะฯ “มีเจตนารมณ์ให้เกิดบรรยากาศที่ดีและปราศจากความรุนแรงตลอดห้วงเดือนรอมฎอน เพื่อให้พี่น้องประชาชนสามารถปฏิบัติศาสนกิจได้อย่างปลอดภัย” ในพื้นที่ที่มีประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม
เพราะว่าในปีนี้ เดือนถือศีลอดทับซ้อนกับเทศกาลสงกรานต์ของไทยพุทธ ทางฝ่ายไทยจึงได้เชื้อเชิญบีอาร์เอ็นให้ “ร่วมสร้างบรรยากาศที่ดีและปราศจากความรุนแรง ในห้วงเวลาอันประเสริฐนี้ ซึ่งในปีนี้ยังตรงกับช่วงเทศกาลสงกรานต์อีกด้วย”
ถ้ามองโดยผิวเผิน ในสายตาของนักสังเกตการณ์และสาธารณชนทั่วไป แนวคิดนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่น่าอภิรมย์ แต่สำหรับผู้ที่ติดตามความขัดแย้งในพื้นที่นี้อย่างใกล้ชิดแล้ว การนำเรื่องวันหยุดทางศาสนาใด ๆ ก็ตามมาใช้ปนเปกับทางการเมือง ไม่ได้ช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้น
สำหรับนายอาเต็ฟ โซ๊ะโก ประธานคณะกรรมการกำกับยุทธศาสตร์ เดอะ ปาตานี ซึ่งเป็นกลุ่มสนับสนุนการตัดสินใจในอนาคตตนเองของประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว เขาเห็นว่า “การเสแสร้งที่อยู่เบื้องหลังของทางการไทยเป็นสิ่งที่ไม่มีความจำเป็น”
“ถ้าหากว่าเขาต้องดำเนินการหยุดยิงจริง เขาต้องทำให้ถูกต้อง เช่น การยอมรับข้อเสนอจากฝ่ายบีอาร์เอ็นว่า ให้มีการร่วมร่างข้อตกลงกันว่าจะให้มีผู้ร่วมสังเกตการณ์นานาชาติมอนิเตอร์เหตุการณ์พื้นที่” นายอาเต็ฟกล่าว
ในการเจรจาเต็มคณะในประเทศมาเลเซียเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ฝ่ายบีอาร์เอ็นหวังว่าจะมีการเจรจาเรื่องนี้ แต่ฝ่ายไทยกลับมีเรื่องอื่นอยู่ในใจ
ประเทศไทยไม่มีความประสงค์ที่จะอนุญาตให้นานาชาติเข้าร่วมกระบวนการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนใต้มากนัก เป็นที่เข้าใจกันว่าไม่ว่าจะเป็นคนหรือองค์กรต่างชาติใด หากเข้าร่วมกระบวนการก็ต้องกระทำภายใต้เงื่อนไขของฝ่ายไทยเท่านั้น
สำหรับหลาย ๆ คน การยื่นข้อเสนอสันติสุขเป็นเพียงการประชาสัมพันธ์ต่อสาธารณชนให้ได้รับรู้เท่านั้น เช่นเดียวกับสารจาก พล.อ. วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข ซึ่งได้แสดงความหวังว่าความขัดแย้งที่มีมาอย่างยาวนานนี้จะสงบลงได้ภายในเวลาสองปี และยินดีรับฟังข้อเสนอใด ๆ ที่จะทำให้การพูดคุยคืบหน้าไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงกลางของการรณรงค์หาเสียงนี้
ส่วนบีอาร์เอ็น มองไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องเจรจากับฝ่ายไทยที่ให้ความสนใจอยู่กับการหาเสียงเลือกตั้งเท่านั้น และได้บอกว่าจะไม่พบปะกับคณะผู้แทนฝ่ายไทยไม่ว่าระดับใด ๆ ในช่วงนี้ จนกว่าจะมีรัฐบาลใหม่
เมื่อมองดูแล้ว การเสนอของฝ่ายไทย เป็นสิ่งที่ลอกแบบมาจากคู่มือชั้นเชิงของบีอาร์เอ็น
ในเดือนเมษายน 2563 เมื่อประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในเอเชียอาคเนย์โดนโควิด-19 กระหน่ำ บีอาร์เอ็นได้ประกาศการหยุดยิงเพียงฝ่ายเดียว เพื่อให้ทางการไทยสามารถให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมต่อประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้ได้ โดยที่เจ้าหน้าที่สาธารณสุขไม่ต้องกังวลว่าจะโดนลูกหลงจากการปะทะของสองฝ่าย
เจ้าหน้าที่ตรวจอุณหภูมิร่างกายของผู้สัญจรไปมาในจังหวัดยะลา ขณะที่มีการระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอน วันที่ 27 เมษายน 2563 (สุรพันธุ์ บุญถนอม/รอยเตอร์)
แม้ว่านักเคลื่อนไหวพื้นที่จะร้องขอให้ทางทหารไทยเพลาการปฏิบัติการลง และให้ตอบรับข้อเสนอที่เป็นมิตรจากบีอาร์เอ็น กองทัพบกกลับส่งทหารออกกวาดล้างกองกำลังบีอาร์เอ็นที่หลบอยู่ในหมู่บ้านในพื้นที่ห่างไกล บีอาร์เอ็นกล่าวว่า “เซล” ปฏิบัติการเหล่านี้ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเซลอื่น ๆ ที่ก่อเหตุ พวกเขาไม่ได้ลงมือแต่ปฏิบัติตามข้อเสนอหยุดยิงของบีอาร์เอ็นอยู่
อย่างไรก็ตาม ใน 24 เดือนแรกของการหยุดยิงฝ่ายเดียว นับตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2563 ถึง 2565 ทหารไทยยิงผู้ก่อเหตุฝ่ายบีอาร์เอ็นเสียชีวิตจำนวนหลายสิบศพในระหว่างการปิดล้อมบ้านพักที่หลบซ่อนหลายครั้ง ซึ่งมีการใช้กำลังเจ้าหน้าที่จำนวนมากกว่า และมีอาวุธที่เหนือกว่า
ผู้ก่อเหตุรุนแรงบีอาร์เอ็นราว 64 คน ถูกสังหารโดยเจ้าหน้าที่ไทย มีเพียงรายเดียวที่ยอมมอบตัว ส่วนพวกที่ยิงต่อสู้จนตัวตายนั้นรู้ดีว่าโอกาสหลบหนีรอดไปได้นั้นแทบไม่มี หรือไม่มีทางเป็นไปได้เลย
ส่วนเดือนรอมฎอนในปีนี้ก็ไม่เว้นว่างจากความรุนแรง โดยเจ้าหน้าที่รายงานว่ามีเหตุการณ์รุนแรงที่เชื่อว่าเกิดจากฝีมือขบวนการก่อความไม่สงบแล้วอย่างน้อย 4 ครั้ง เช่น การยิงผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านบาดเจ็บในปัตตานี เมื่อวันที่ 29 มีนาคม, การวางระเบิดอาสาสมัคร ในปัตตานี บาดเจ็บ 2 ราย เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา, เหตุคนร้ายยิงเจ้าหน้าที่ อส.ตากใบ เสียชีวิตที่มัสยิดบ้านจาแบปะ เมื่อวันเสาร์นี้ และการโจมตีจุดตรวจฐานปฏิบัติการชุดคุ้มครองตำบลบุดี ในอำเภอเมืองยะลา แต่ไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ เมื่อวันอาทิตย์นี้
บีอาร์เอ็นรอผลการเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตาม บีอาร์เอ็นได้กดปุ่มหยุดเจรจาจนกว่าจะมีการตั้งรัฐบาลใหม่ในประเทศไทยให้เรียบร้อย ซึ่งแต่ละฝ่ายจะมีเวลากลับดูร่างแผนการเจรจาของฝ่ายตนได้ในระหว่างนี้
ในอดีตที่ผ่านมา มีปัญหาเรื่องความไม่ต่อเนื่องในการเจรจา กล่าวคือ รัฐบาลใหม่หมายถึงคณะพูดคุยคณะใหม่ ยังต้องรอดูกันต่อไปว่าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ชุดนี้ จะอยู่ต่อไปในรัฐบาลใหม่หรือไม่
ยังมีสิ่งที่ต้องทำอีกมากมายในภายภาคหน้า เพราะว่าการเจรจาได้มาถึงจุดที่สำคัญ
ทั้งฝ่ายไทย มาเลเซียในฐานะผู้อำนวยความสะดวกการเจรจา และฝ่ายบีอาร์เอ็นซึ่งพยายามอย่างหนักในการหาแนวทางที่ทุกฝ่ายยอมรับได้เพื่อผลักดันการเจรจาให้คืบหน้าต่อไป ยังมีสิ่งที่จะต้องระบุให้ชัดเจนอีก เช่น กระบวนการปรึกษาหารือสาธารณะ, การลดความรุนแรง และการหาทางออกทางการเมือง เพื่อยุติความขัดแย้งให้สำเร็จ
ในขณะนี้ การยอมให้ขบวนการแบ่งแยกดินแดนอื่น ๆ เข้าร่วมการเจรจาก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องนำมาพูดคุยกัน ฝ่ายไทยต้องหารให้กลุ่มอื่น ๆ เข้าร่วมด้วย แต่บีอาร์เอ็นเห็นว่ามันยังเร็วเกินไปที่จะให้พวกเขาร่วมโต๊ะเจรจาในระดับสูง อย่างไรก็ตาม บีอาร์เอ็นยินยอมที่จะพิจารณาอนุญาตให้กลุ่มอื่น ๆ เข้าร่วมการพูดคุยเชิงลึกในการพูดคุยระดับเทคนิค แหล่งข่าวในบีอาร์เอ็นคนหนึ่งระบุ
ดอน ปาทาน นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคง ในจังหวัดยะลา